การเรียนแบบเอาชีวิตเป็นตัวตั้งกับวิชาเป็นตัวตั้งต่างกันอย่างไร?


"การเรียนแบบทำแบบฝึกหัดเพื่อให้เกิดทักษะนี้ เป็นแนวคิดการศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม (University for Industry) ที่มุ่งผลิตกำลังคนเข้าสู่กองทัพอุตสาหกรรม แต่ของเราใช้แนวคิดการศึกษาเพื่อชุมชน (University for Community)"

การเรียนแบบเอาชีวิตเป็นตัวตั้งกับวิชาเป็นตัวตั้ง

บรรยายโดย...สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

บรรณาธิการโดย...สุมาลี สุนทรกิจพาณิชย์

โครงการอบรมอาจารย์หลักสูตรเสริมความพร้อมนักศึกษา

มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (สสวช.)

ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 

วันที่ ๒๒ – ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓

เมื่อเช้าผมนั่งคิดเรื่องเก่า ที่พวกเราพูดกันทุกครั้งที่มีการอบรมอาจารย์ ครึ่งหนึ่งของผู้เข้ารับการอบรม ณ ที่นี้เป็นคนใหม่ จึงขอพูดซ้ำเรื่อง ชีวิตเป็นตัวตั้งกับวิชาเป็นตัวตั้ง” ว่าต่างกันอย่างไร

http://gotoknow.org/file/surachetv/LifeOrientedVsSubjectOriented.jpg

จากตารางจะเห็นว่าหากใช้วิชาเป็นตัวตั้ง ก็เรียนจากโจทย์หรือแบบฝึกหัดในหนังสือ เช่น ถ้าเรียนคณิตศาสตร์ในหนังสือ อาจจะมีโจทย์แบบฝึกหัดให้เราสองสามร้อยข้อ แต่อาจไม่มีซักข้อเดียวที่เกี่ยวกับชีวิตเรา

 การเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เรามีงานให้นักศึกษาทำ เพราะเราเน้นการปฏิบัติ ต้องการให้งานทุกงานที่ทำ มีความเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งกับชีวิตจริงในปัจจุบัน เราไม่ทำแบบฝึกหัดที่ไม่เกี่ยวกับตัวเรา ไม่ทำสิ่งที่จะนำไปใช้ในอนาคต เพราะเราจัดการศึกษาตามปรัชญาการศึกษาผู้ใหญ่ ซึ่งไม่เน้นว่าหลังจบการศึกษาแล้ว จะไปทำอะไร อย่างไร ตรงกันข้ามเราเรียนในสิ่งที่ใช้ประโยชน์ทันทีในปัจจุบัน เรียนการทำแผนแม่บทชุมชน ก็เกิดแผนแม่บทชุมชนที่เป็นของจริงเลย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชุมชนของผู้เรียนในขณะเรียนเลย

วิธีการเขียนวัตถุประสงค์ในเค้าโครงการเรียนรู้ของเรา ที่เราเพิ่งตกลงกันใหม่ แต่ยังไม่ได้แก้ไขในเล่มนี้ เราจะเลิกเขียนว่า “หลังจากนักศึกษาเรียนเรื่องนี้แล้ว” จะสามารถ หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่เราจะเขียนใหม่ว่า “ขณะเรียน” นักศึกษาสามารถ หนึ่ง สอง สาม สี่ เพราะว่าเราเน้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทันที ซึ่งอยู่ในปรัชญาการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ ลองนึกดูว่าคนอายุ ๔๐ - ๕๐ ปี ถ้าต้องเรียนแล้วไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ แต่หลังตายนี่ไม่ได้ใช้แน่ สำหรับคนอายุ ๖๐ – ๗๐ ปี เพราะฉะนั้นการเรียนที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ก็คือการเรียนเพื่อที่จะจัดการอะไรบางอย่างในชีวิตและในชุมชน

ทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม เราเอาชีวิตในปัจจุบันเป็นตัวตั้ง จะทำอย่างไรให้ทุกงานที่ให้นักศึกษาทำ บูรณาการเข้ากับชีวิตจริง เหมือนกับวิชาคณิตศาสตร์ ที่อาจารย์พรรษา และอาจารย์ทวิช ยกตัวอย่าง อาจารย์พรรษา ยกตัวอย่างคณิตศาสตร์เรื่องปุ๋ย แต่ถ้าใครที่ชีวิตของตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปุ๋ย ก็หาเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องกับตนเป็นโจทย์

อย่างผมตอนนี้พบว่าตาขวาเริ่มเป็นต้อหิน หมอให้ยาหยอดตา ข้างขวดยาเขียนว่าใน ๑ เอ็มแอล (mL) ซึ่งผมก็เข้าใจว่าคือ ๑ มิลลิลิตร ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผมต้องทำความเข้าใจภาษาอังกฤษบางคำ และต่อมาใน ๑ เอ็มแอล จะประกอบด้วยไบมาโตพรอสท์ (bimatoprost) ๐.๓ มิลลิกรัม (mg.) ผมก็อยากรู้ว่าสิ่งที่ผมหยอดใส่ตาคืออะไร จึงไปค้นในอินเตอร์เน็ตดู ทราบว่าเป็นตัวช่วยลดความดันในตา ในยานั้นยังมีเบนซาลโกเนี่ยม (benzalkonium) ผมก็ไปเปิดดูในวิกี พีเดีย (Wiki-pedia) พบว่าเป็นสารกันไม่ให้ตัวยาเสีย นอกจากนี้ยังมีซิตริก แอซิด (citric acid) และโซเดียมคลอไรด์ (sodium chloride) ด้วย ค้นไปค้นมาพบว่าสาร ๒ ชนิดหลังนี้ เป็นสารสำหรับปรับความเป็นกรดเป็นด่างในตา

เรื่องยาหยอดตาเรื่องเดียว มันโยงเข้าสู่หลายเรื่องและยังบอกอีกว่าให้หยอดทุกๆ ๑๒ ชั่วโมง เพราะฤทธิ์ยามันไปได้แค่นั้น และถ้าลืมให้หยอดทันทีที่คิดได้ หากลืมเกิน ๖ ชั่วโมงให้ข้ามไปเลย ให้ไปหยอดรอบต่อไป เรื่องวิธีหยอดตา โยงผมไปหาวิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต ซึ่งผมต้องจัดการเวลาในชีวิต โยงเข้าหาคณิตศาสตร์ ซึ่งผมต้องรู้เรื่องการตวง ปริมาตร การวัด โยงเข้าสู่ภาษาอังกฤษ โยงเข้าสู่เคมี ให้ผมเข้าใจในเรื่องของความเป็นกรดเป็นด่าง

หากเอาปัญหาในชีวิตจริงของเราเป็นตัวตั้ง เราก็อยากรู้อยากเรียนเอง คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ก็บูรณาการเข้ามาเอง

ดังนั้น ถ้าผมหยอดตาอยู่ แล้ววิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เหล่านี้มาสอนผม แล้วมันตรง มันจะไม่เกิดอาการอย่างที่น้องนักศึกษาจากสุราษฎร์ธานี พูดเมื่อเช้าที่ว่าเคยเรียนวิชาการคิดและการตัดสินใจแบบเดิม แล้วอยากบอกอาจารย์ว่าไม่รู้เรื่อง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่อยากเรียน

ผมเข้าใจว่าเมื่อไรก็ตาม ที่เรารู้สึกว่าไม่อยากเรียน ก็คือคิดว่ามันไม่เกี่ยวอะไรกับฉัน ไม่รู้สึกว่ามันมีประโยชน์อะไร เป็นเรื่องรู้ไว้ใช่ว่า ซึ่งไม่ใช่วิสัยของผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่ ถ้าไม่อยากเรียนรู้ก็ไม่ใส่ใจ เพราะผู้ใหญ่มีทางเลือก รู้จักเลือก ผมไม่สนใจเรื่องซ่อมโทรศัพท์ มาชวนผมก็ไม่ไป ผมไม่สนใจเรื่องการสร้างบ้าน มาชวนผมก็ไม่ไป ผมสนใจเรื่องการเล่นดนตรี มาชวนผมไป เราเลือกได้

อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ของท่านทั้งหลาย เป็นหน้าที่ของอาจารย์เรา ที่จะทำอย่างไร ที่จะให้โจทย์ในทุกวิชา เป็นโจทย์ที่เกิดจากชีวิตเขา ในครอบครัวเขา ในชุมชนจริงของเขา คือเราไม่ไปเรียนในชุมชนอื่น เราอยู่ชุมชนไหนก็เรียนชุมชนนั้น ชุมชนสมัยใหม่อาจเป็นหน่วยงานก็ได้ เช่น ด.ต. เชาวฤทธิ์ สุคนธา เขาอยู่ในกองร้อย ตชด. ที่ ๓๒๖ กองร้อยนั่นเองคือชุมชนของเขา มีพรรคพวกมาเรียนเยอะแยะ เขาก็เอากองร้อยนั้นเป็นโจทย์ ว่าเขาจะอยู่ร่วมกันอย่างไร อย่างมีความสุข เพราะว่าถ้าไปใช้ที่อื่นเป็นโจทย์ ก็เหมือนแบบฝึกหัดอีก

การเรียนแบบทำแบบฝึกหัดเพื่อให้เกิดทักษะนี้ เป็นแนวคิดการศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม (University for Industry) ที่มุ่งผลิตกำลังคนเข้าสู่กองทัพอุตสาหกรรม แต่ของเราใช้แนวคิดการศึกษาเพื่อชุมชน (University for Community) ซึ่งเป็นนวัตกรรม และอาจไม่ใช่นวัตกรรมของไทยเท่านั้น แต่เป็นนวัตกรรมของโลกด้วย

เราให้เอาชีวิตตนเอง ครอบครัว ชุมชนเป็นโจทย์ แล้วก็บูรณาการกับชีวิตจริงในปัจจุบัน คำว่าวิชาเป็นตัวตั้ง เรามักจะจมอยู่กับคำตอบหรือความรู้สำเร็จรูปของคนอื่น คือเราไปสุดโต่งกับการให้ท่องจำความรู้มือสอง อย่างที่บางมหาวิทยาลัยใช้วิธีสอนแบบบล็อกคอร์ส ที่เรียนทีละวิชาแล้วสอบเลยทุกสัปดาห์ ขณะที่ยังไม่ลืม ของเราทำอย่างนั้นไม่ได้

เมื่อสองปีก่อน ผมไปสอนที่ลำปาง ถามว่าเมื่อวานอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมาสอนอะไร เรียนอย่างไร เขาบอกว่าวิชาวิสาหกิจชุมชน แต่เรียนกันบนกระดาน คือสามารถตอบได้ว่าวิสาหกิจชุมชนคืออะไร ทำอย่างไร แต่ไม่ได้ไปทำจริงในชุมชนตน จึงรับประกันได้ว่า ผู้เรียนทำไม่เป็นแน่นอน เพราะไม่ได้ทำจริง เหมือนกับท่านเรียนว่ายน้ำ เรียนซ่อมโทรศัพท์ เรียนจบในหนังสือ ลงน้ำก็ว่ายไม่เป็น ซ่อมมือถือที่เสียจริงๆ ก็ไม่เป็น วิสาหกิจชุมชนเรียนบนกระดาน ก็ทำไม่เป็น

เมื่อวานอาจารย์เสรีพูดถึงวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งมีหลายข้อ มีข้อหนึ่ง วัฒนธรรมอำนาจในระบบการศึกษาเดิม ในระบบการศึกษากระแสหลัก อาจารย์มีอำนาจมาก เพราะท่านเป็นคนประเมินเรา ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน คำตอบอยู่ที่ท่าน ยิ่งข้อสอบแบบปรนัย ก ข ค ง ถ้าเราไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ อาจารย์จะให้เราศูนย์ จริงๆ แล้ว เราอาจจะมีข้อ จ ก็ได้ เพราะประสบการณ์สอนเราว่าไม่มีคำตอบในคำตอบของอาจารย์ที่ให้มา แต่ว่าเราไม่มีทางเลือกเพราะว่าเราต้องใช้ดินสอสองบี (2B) ฝน ใช้คอมพิวเตอร์ตรวจ กลายเป็นการสร้างคนเข้าสู่สังคมปรนัยอย่างที่หมอโกมาตรพูดที่บ้านผู้หว่าน

 มหาวิทยาลัยชีวิตของเราไม่ใช่อย่างนั้น เราไม่ท่องจำความรู้มือสอง เราต้องสร้างความรู้มือหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการค้นคว้า ทดลอง สรุปประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในตนเอง ที่สำคัญต้องเชื่อในหัวใจตัวเองก่อน  หลายคนในที่นี้สอนวิชา สปช. ๒  ซึ่งเป็นวิชาที่เน้นเรื่องจิตใจ  เน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก มีกิจกรรมที่ให้วิเคราะห์ตนเองว่าเราเป็นคนประเภทไหน ตามธาตุทั้งสี่ เช่น คนธาตุน้ำใช้หนูเป็นสัญลักษณ์ ปรากฏว่าพอให้แบ่งกลุ่ม มีหนูเต็มห้อง มากที่สุด ลักษณะของหนูจะเป็นคนประเภทวางใจทุกคนในโลกนี้ รักทุกคน ยกเว้นตนเอง ถ้าให้ขึ้นมาพูดบนเวทีก็สั่น เพราะไม่วางใจในตนเอง ไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่เคยสร้างความรู้อะไร ไม่เคยสรุปอะไรขึ้นมาเป็นความรู้ของตนเอง

ทั้งหมดนี้คือ วิชาเป็นตัวตั้งกับชีวิตเป็นตัวตั้ง ที่ช่วยขยายความของอาจารย์เสรีเมื่อวาน.

หมายเลขบันทึก: 333126เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2010 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท