ประวัติมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง


มรดกจากประเทศจีนสู่ประเทศไทย

 

ต้นกำเนิดของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ในประเทศจีน

              แนวคิดของการจัดตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน โดยภิกษุหลวงปู่ไต้ฮงหรือไต้ฮงกง (ชีวประวัติของหลวงปู่ไต้ฮงหรือไต้ฮงกง ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุอำเภอเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๊ว มณฑลกวางตุ้ง ในสาธารณรัฐประชาชนจีน) ท่านเกิดที่เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง เมื่อพ.ศ.1582 สมัยราชวงศ์ซ้อง จากตระกูลลิ้ม เดิมชื่อ หลิงเอ้อ ครอบครัวของท่านสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินได้รับการศึกษาทั้งทางวิชาการและพุทธศาสนา สอบได้เป็นบัณฑิตระดับจิ้นซือ (บัณฑิตชั้นเอก) เมื่อ พ.ศ.1638 (ก่อนสมัยสุโขทัยเกือบ 200 ปี)  เข้ารับราชการเป็นนายอำเภอเซียวเฮง ของแคว้นเจียงเจี๊ยะ

             เมื่ออายุ 54 ปี และมาบวชเป็นพระในพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมเผยแพร่ธรรมะเป็นเวลายาวนานในมณฑลฮกเอี้ยน
เมื่อท่านเจริญอายุได้ 81 ปี ได้ธุดงค์มาจำพรรษาที่เข้าจำพรรษาที่ "อารามเล่งจั๊วโก๋วยี่" ในเขาปักซัว เขตอำเภอเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง  ต่อมาได้จาริกมาจำพรรษาที่ "วัดเมียนอัน" เป็นวัดเก่าๆ อยู่บนเขาปักซัวในเขตอำเภอเตี้ยเอี้ย และได้บูรณะสังขรณ์ใช้เป็นสถานที่เผยแพร่พระธรรม

               ในตำบลฮั่วเพ่ง ซึ่งมักจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่เป็นเนืองนิจ ทั้งเวลามีพายุ น้ำท่วม ไฟไหม้ โรคระบาด ภัยแล้ง ซึ่งจะมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ท่านก็เก็บศพไปฝังให้โดยไม่รังเกียจ ตั้งศาลารักษาโรคที่ริมโขดหินใหญ่ จัดหาอาหารสิ่งของให้ผู้ยากไร้ที่เดือดร้อน ชักชวนชาวบ้านและสานุศิษย์ให้ประกอบกิจกรรมการกุศลกันอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ จริยวัตรแห่งเมตตาธรรมของท่านนั้น ช่วยเหลือทั้งผู้มีชีวิตที่ยากไร้และผู้ตายที่ไร้ญาติ และขณะนั้นท่านเห็นผู้คนข้ามแม่น้ำเหลียงเจียงที่กว้างใหญ่ถึง 300 วา สายน้ำเชี่ยวตลอดปี เกิดเรือล่มคนจมน้ำตายเสมอ พระคุณเจ้าได้ชักชวนชาวบ้านบริจาคกำลังกาย กำลังทรัพย์ลงมือสร้างสะพานฮั่วเพ้งให้จนท่านมรณะภาพลงในปี 1670 สิริรวมอายุได้ 88 ปี และสะพานได้สร้างเสร็จในปี 1671 ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง 1 ปีเท่านั้น ส่วนบริเวณที่จะสร้างสะพานนั้นท่านได้เลือกตรงหน้าศาลเจ้าหลักเมือง และดูฤกษ์ยามสำหรับการเริ่มงาน

              ในวันที่เริ่มสร้างสะพานสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือ น้ำในแม่น้ำเกิดลดลงไปจนเกือบแห้งเป็นที่อัศจรรย์  บรรดาประชาชนและช่างต่างก็ก้มลงกราบท่านด้วยความศรัทธา ท่านกลับบอกว่า ให้กราบฟ้าดินเถิด  การครั้งนี้น้ำทะเลที่ปากแม่น้ำจะไม่ขึ้นลงเป็นเวลา 7 วัน เมื่อทราบเช่นนั้นพวกช่างจึงทำการสร้างรากฐานสะพานและสร้างถ้ำสำหรับระบายน้ำจำนวน 19 ถ้ำ จนแล้วเสร็จโดยใช้เวลา 7 วันพอดี วันต่อมาน้ำในแม่น้ำเหลียงเจียงก็ขึ้นลงตามปกติ การก่อสร้างสะพานจึงเป็นไปด้วยความราบรื่นจนกระทั่งเสร็จ จัดว่าเป็นสะพานหินที่มีความยาวมาก และตั้งชื่อสะพานนี้ว่า "ฮั่วเพ็ง" 

             หลังจากที่สร้างสะพานเสร็จท่านก็เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา และมรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริอายุได้ 85 ปี ชาวเมืองจึงได้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลและฝังร่างของท่านไว้ ณ ภูเขาฮั่วเพ็ง และยังสร้างศาลเจ้าประดิษฐานรูปเหมือน ไต้ฮงกงโจวซือไว้สักการบูชา มีนามว่า "ศาลเจ้าป่อเต็กตึ๊ง" มาจนทุกวันนี้ พระคุณของไต้ฮงกงแผ่ไพศาลชาวจีนตอนใต้เลื่อมใสศรัทธาตลอดมา ทุกยุคสมัย สร้างศาลาบุญเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระคุณท่านและสืบทอดกุศลเจตนาของท่าน 

            ปัจจุบันมีกุศลสถานสนองพระคุณ ในประเทศจีน 237 แห่ง และในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 40 แห่ง เช่น

            ศาลฮั่วเพ้งป่อเต็กโก๋วตึ๊ง ในตำบลฮั่วเพ้ง ซึ่งประดิษฐานพระรูปไต้ฮงกง และภาพวาดของท่านอายุราว 900ปี รวมทั้งแผ่นศิลาจารึกเรื่องราวของท่าน และปัจจุบันนี้สุสานของท่านที่ฮั่วเพ้ง ได้รับการบูรณะขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ในเขตทิวทัศน์สงบและสวยงาม ที่เนินเขาเฉียวเหวิ่ยบนเส้นทางหลวงสายกวางเจา-ซัวเถา อุทยานแห่งนี้มีความสง่า โอ่อ่า งดงามเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยหมู่อาคารหลายหลัง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ศาลาไต้ฮงกงซึ่งสร้างอย่างประณีต อยู่เบื้องหน้าสุสานไต้ฮงกง ถัดไปเป็นเนินเขาเขียวชอุ่มและป่าไม้ นอกจากนี้ ยังมีหออนุสรณ์ อาคารป่อเต็ก และศาลาหลายหลัง บรรยากาศและทิวทัศน์ที่สุขสงบชำระจิตใจให้ผ่องใส และรำลึกคุณอันแผ่ไพศาลของไต้ฮงกง กล่าวกันว่า เจตนารมณ์ไต้ฮงกงเปรียบเสมือนสายน้ำ ในแม่น้ำเหลียงเจียงที่ไหลลงสู่ทะเลใต้ แพร่สะพัดไปที่ทุกแห่ง ชาวจีนทางตอนใต้แถบแต้จิ๋วซัวเถาศรัทธาเลื่อมใสท่านมาก เมื่อท่านได้มรณภาพประชาชนจึงร่วมใจกันสร้างสถานที่สักการะบูชาเพื่อรำลึก  แล้วตั้งชื่อสถานที่นั้นว่า "ป่อเต็กตึ๊ง" (มีความหมายว่า คุณานุสรณ์) ตั้งแต่นั้นมา การเก็บศพไร้ญาติ การแจกยารักษาโรค และการสังคมสงค์เคราะห์ จึงเป็นงานหนึ่งที่ผู้ใจบุญมักกระทำ นอกเหนือจากการทำบุญทั่วไป  มีการตั้งหน่วยงานขึ้นในประเทศจีนอย่างกว้างขวาง พร้อมกับประดิษฐานรูปจำลอง "ภิกขุไต้ฮงโจวซือ" ไว้ทุกแห่งเพื่อเป็นสักการะ

 

การเผยแพร่แนวคิดมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง สู่ประเทศไทย

          การแสดงความเคารพเลื่อมใส การบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศถวายแก่หลวงปู่ไต้ฮง ซึ่งการกระทำดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดความเจริญสันติสุขสิริมงคลนานาประการแก่ผู้เจริญรอยตาม มีการสร้างกุศลสถาน “ป่อเต้กตึ๊ง” ขึ้นอย่างแพร่หลายในทั่วทุกพื้นที่และมากขึ้นเป็นลำดับซึ่งขณะนี้ในแผ่นดินจีน ต่อมาชาวจีนโพ้นทะเลผู้เคารพศรัทธาก็พากันจัดตั้งกุศลสถาน “ป่อเต็กตึ๊ง” ขึ้นในประเทศไทย กล่าวคือ ใน ปี พ. ศ. 2439 ประมาน 100 ปีล่วงมาแล้ว ชาวจีนเตี้ยเอี้ยชื่อ เบ๊จุ่นเซียง หรือ เบ๊ยุ่น ได้อัญเชิญรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงมาจากตำบลฮั่วเพ้งอำเภอแต้เอี้ย จังหวัดแต้จิ๋ว มลฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เพื่อสักการะบูชาและประดิษฐานไว้ที่บ้านย่านวัดเลียบ ประชาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาทราบข่าวก็พากันหลั่งไหลไปสักการะบูชามากขึ้นทุกวัน จนต้องย้ายไปประดิษฐานไว้ข้างสมาคมกว๋องสิว ถนนเจริญกรุง ในเวลาต่อมา มีพ่อค้าคหบดีผู้มีกุศลจิต12 ท่านโดยมีพระอนุวัตรราชนิยม (ฮง เตชะวาณิช) เป็นหัวหน้าได้เล็งเห็นกุศลเจตนาของผู้เลื่อมใส ศรัทธาหลวงปู่ไต้ฮง จึงได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินสร้างศาลาประดิษฐานรูปจำลองของหลวงปู่ไว้ให้เป็นกุศลสถานป่อเต้กตึ๊ง ถาวร ณ ถนนพลับพลาไชย ข้างวัดคณิกาผล กรุงเทพมหานคร

 

บทบาทของคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย 

           คนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย

           มาตยา องคนารค (2548 หน้า 19 ) กล่าวว่า นอกเหนือจากต้องเป็นเรื่องราวของมนุษย์แล้ว มนุษย์นั้นจะต้องเป็นมนุษย์ที่มีความสำคัญหรือมีบทบาทอย่างใดอย่างหนึ่งต่อสังคม บทบาทเช่นว่านั้น จะเกิดขึ้นมาเพราะตัวของมันเอง ในลักษณะปัจเจกบุคคล หรือในลักษณะที่เป็นกลุ่มชนขนาดใหญ่ หรือตัวแบบของกลุ่มที่มีบทบาทพอที่พอจะเป็นแบบอย่างหรือทำให้หรือไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งในสังคมได้ ประวัติศาสตร์เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับบุคลเหล่านี้  กลุ่มคนจีนในประเทศไทยเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา สมัยกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งปัจจุบัน จากประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นนี้ ทำให้คนไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบันมีบทบาทและอิทธิพลในสังคมไทย บทบาทเหล่านี้ มีทั้งทางด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  บทบาททางด้านสังคม และบทบาททางด้านสาธารณประโยชน์

           บทบาทด้านการเมือง : คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองภายในประเทศมากนักเพราะมุ่งแต่ประกอบอาชีพสร้างฐานะครอบครัว มีส่วนน้อยที่เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจนั่นเอง (วัลภา บุรุษพัฒน์, 2517 หน้า 33) 

           บทบาททางด้านเศรษฐกิจ  : คนไทยเชื้อสายจีน มีนิสัยขยันขันแข็ง อดทน มัธยัสถ์และเฉลียวฉลาดในการดำเนินธุรกิจ และมีความสามัคคี ทำให้สร้างฐานะได้เป็นปึกแผ่น เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจ (วัลภา บุรุษพัฒน์, 2517 หน้า 35) 

           บทบาททางด้านสังคม : คนไทยเชื้อสายจีน มีบทบาทด้านสังคมในสังคมไทย สมาคมของชาวจีนในประเทศไทยจัดได้ 3 ประเภท ได้แก่ (1) สมาคมบรรดาชาวจีนที่ใช้แซ่เดียวกัน สมาคมของผู้ที่มาจากท้องถิ่นเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน (2) สมาคมอาชีพและธุรกิจต่างๆและ (3) สมาคมเพื่อการกุศล (วัลภา บุรุษพัฒน์, 2517 หน้า 38)

           บทบาททางด้านสาธารณประโยชน์ : คนไทยเชื้อสายจีนมีบทบาททางด้านสาธารณประโยชน์ ดังที่ William Skinner (1967, หน้า 24) ได้กล่าวว่า คนไทยเชื้อสายจีนได้สร้างสังคมแห่งการมีน้ำใจช่วยเหลือกัน ให้การดูแลกันในเรื่องของการรักษาเจ็บไข้ได้ป่วย และการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งในบางกรณี ยังได้จัดงานศพและทำพิธีฝังศพให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

 

มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ในประเทศไทย 

           ประวัติการก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ในประเทศไทย 

            หลวงปู่ไต้ฮงภิขุ เป็นพระนักพัฒนา พระนักปฏิบัติพระนักสังคมสงเคราะห์ จริยวัตรอันงามงดของท่านในสมัยนั้น เป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบของงานสังคมสงเคราะห์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งในปัจจุบัน เช่นการเก็บศพไร้ญาติ ปลงศพ สงเคราะห์ยารักษาโรค  ตัดถนนหนทาง สร้างสะพาน สงเคราะห์คนยากไร้ อนาถาไร้ที่พึ่ง เป็นต้น ภายหลังท่านมรณภาพ  บรรดาผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาพากันสร้างอนุสรณ์สถานขึ้น เพื่อเป็นการรำลึก และสานต่อเจตนารมณ์ของท่านให้ยืนยาวมาตราบเท่าทุกวันนี้  เฉพาะในประเทศจีนเองมีศาลเจ้ากว่า  500  แห่ง  ภายใต้ชื่อ  “ป่อเต็กตึ๊ง”   報 德 堂

           ศาลเจ้าไต้ฮงกงในประเทศไทย สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมจีนตอนใต้และได้จัดตั้ง “ คณะเก็บศพไต้ฮงกง” ในเวลาต่อมาเพื่อทำการเก็บและจัดการงานศพ ผู้ยากไร้และอนาถา ในเขตกรุงเทพ ฯ ต่อมาภายหลัง“ คณะเก็บศพไต้ฮงกง”เปลี่ยนชื่อเป็น “ มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง ” หรือ “ป่อเต็กตึ๊ง”  บริหารงานในรูปคณะกรรมการ(ในเนื้อที่  2งาน 97 เศษหนึ่งส่วนสิบ ตารางวา ถนนเจ้าคำรพ  สามเพ็ง) วันที่1 กรกฎาคม2452โดยการนำของยี่กอฮงหรือพระอนุวัตร์ราชนิยม ต้นสกุล “เตชะ วนิช” กับพรรคพวกรวม 12 ท่าน ต่อมาเมื่อศาลเจ้าไต้ฮงกง และสำนักงานมูลนิธิ ฯสร้างเสร็จบริบูรณ์  ได้อัญเชิญรูปจำลองของหลวงปู่ที่นายเบ๊ยุ่น คหบดีนำมาจากประเทศจีน มาประดิษฐานที่ศาลเจ้าไต้ฮงกง

             ปี พ.ศ. 2453 การสร้างอาคารป่อเต็กตึ๊งได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเหนือทางเข้าตัวตึกด้านหน้าได้สลักภาษาจีนว่า ป่อเต็กตึ๊ง บนแผ่นศิลาขนาดใหญ่ ส่วนคูหาด้านหลังมีอักษรจีนว่า “ฮุกกวงโพ่วเจี่ย” มีความหมายว่า “แสงธรรมส่องทั่วหล้า”ภายในตัวตึกได้ประดิษฐานรูปจำลองหลวงปู่ไต้ฮงไว้สักการะบูชา และใช้สถานที่นี้เป็นสำนักงานดำเนินงานสาธารณกุศล เช่น เก็บศพไม่มีญาติ แจกยารักษาโรค ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นต้น

             ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2463 ได้มีประกาศกฏเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฏหมายลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช 2457 โดยผลของกฏหมายฉบับนี้ พระอนุวัตน์ราชนิยมจึงได้โอนกรรมสิทธิที่ดินสร้างศาลาป่อเต็กตึ๊งนี้ให้กับกรมพระนครบาล เมื่อวันที่15 ธันวาคม 2465 การดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลที่ศาลามูลนิธิป่อเต็กตึ๊งยังเป็นไปตามปรกติตลอดมา ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2479  เนื่องจากพ่อค้าคหบดีที่เป็นกรรมการในการดำเนินงานกุศล ได้ถึงแก่กรรมไปหลายท่าน กรรมการที่เหลืออยู่พร้อมด้วยบุตรหลานของกรรมการเก่าที่ได้ล่วงลับไปแล้วได้ประชุมปรึกษาหา รือกันเพื่อก่อตั้งมูลนิธิขึ้น ได้มีประกาศทางหนังสือพิมพ์จีนเชิญชวนนายกสมาคมต่างๆ เข้าร่วมพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับผิดชอบบริหารงานสาธารณกุศลในมูลนิธิสืบต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2480 ได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นมูลนิธิชื่อว่า “มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง” หมายเลขทะเบียน 11 มีเงินทุน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) มีกรรมการ 16 ท่าน

 

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

           มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ

           1. ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย และภัยอื่นๆ โดยทั่วไป

           2. จัดตั้งโรงพยาบาลใช้ชื่อว่า  “โรงพยาบาลหัวเฉียว”  รักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยทุกสาขาโรค

           3. จัดตั้งโรงเรียนและสถานศึกษา (มหาวิทยาลัย)

           4. ช่วยเหลือจัดการศพทั่วไป และจัดตั้งสุสานเพื่อการนี้ด้วย

           5. ส่งเสริมและบำรุงกิจกรรมด้านศาสนา วรรณกรรม ศิลปะ และ วิทยาศาสตร์

 

การดำเนินงานของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

            การดำเนินงานที่โดดเด่นของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มีดังนี้

           1)  งานบรรเทาสาธารณภัย และ ฌาปนกิจ เป็นงานแขนงหนึ่งซึ่งได้ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่ไต้ฮงยังมีชีวิตและสืบทอดต่อมาโดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ด้วยการสนับสนุนของหลายฝ่าย งานด้านนี้ได้ขยายขอบข่ายงานกว้างขวางออกไป มีศักยภาพในการปฏิบัติงานและพร้อมมูลด้วยพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ทันสมัย  มีหน้าที่ ดังนี้

                1) เก็บศพที่ตายผิดปกติ  ณ ที่เกิดเหตุ ทั้งทางบก และ ทางน้ำ ส่งโรงพยาบาลตำรวจ  โรงพยาบาลที่เป็นศูนย์ชันสูตรศพ  เพื่อทำการชันสูตร

                2) เมื่อมีอุบัติภัยที่กระทบกับมวลชนเป็นวงกว้าง มูลนิธิป่อเต็กตึ้งถือเป็นภารกิจที่ต้องยื่นมือเข้าบรรเทา ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้  เมื่อได้รับการตรวจสอบแล้วจะรีบรุดไปปฏิบัติภารกิจนั้นทันทีเช่นเพลิงไหม้ / ภัย สึนามิ / ตึกถล่ม  ฯ
                3) ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจบันทึกภาพพยานหลักฐานประกอบคดี ช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาพื้นที่เกิดเหตุให้คงสภาพเดิม  เพื่อเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี
                 4) บริการประชาชนในในงานต่าง ๆ เช่น  แนะนำขั้นตอน - ระเบียบต่าง ๆ ในการแจ้งเพื่อทำใบมรณบัตรช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ตามที่เจ้าพนักงานตำรวจร้องขอ เช่น  ช่วยจับงูเงี้ยวเข้าบ้าน  ช่วยลากรถที่เสียไปหาช่าง
                5) การนำผู้บาดเจ็บ  ณ  ที่เกิดเหตุส่งสถานพยาบาลเพื่อเยียวยาช่วยชีวิต  มีบุคลากร และ  อุปกรณ์ พร้อมมูล  สามารถดำเนินการช่วยชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ หรือ นำส่งโรงพยาบาล ซึ่งมูลนิธิฯ มีทั้ง  รถพยาบาลช่วยชีวิตขั้นสูง(รถAdvance)ในนามหัวเฉียวพิทักษ์ชีพประจำที่โรงพยาบาลหัวเฉียวและ  กู้ชีพขั้นพื้นฐาน(รถ Basic) ในนาม ป่อเต็กตึ๊งพิทักษ์ชีพ ขึ้นกับแผนกบรรเทาสาธารณภัยฯ

           2) งานเก็บศพ  ของ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง   เมื่อ  100  ปีก่อน กรุงเทพ ยังไม่เจริญ  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็น คู  คลอง  เต็มไปด้วยเรือกสวนผลไม้อุดมสมบูรณ์ ประชาชนสัญจรทางเรือ พายเรือหรือแจวขึ้นล่อง การเก็บศพทางน้ำ  ก็อาศัยเรือชาวบ้านนำศพขึ้นฝั่งแล้วนำขึ้นรถลาก ซึ่งเป็นรถที่มูลนิธิ ฯ สร้างขึ้นเอง   ลักษณะคล้ายเกวียนขนาดเล็ก ล้อไม้ 2 ล้อ  มีหลังคา  มีช่องพอดีสำหรับวางหีบศพ  ใช้คนลาก 1 คน ช่วยดันข้างหลังอีก 1  คน ระหว่างทางนำศพไปฝังจะเคาะกระป๋องขอทางคล้ายระฆังดัง“ป๋องแป๋ง ๆ”  เสียงวังเวง ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกรถเก็บศพ ว่า รถ “ป๋องแป๋ง” เรียก ป่อเต็กตึ๊ง ว่า มูลนิธิป๋องแป๋ง

             ต่อมาในสมัยรัชการที่  5- 6 บ้านเมืองพัฒนาเจริญขึ้น  การตัดถนนหนทางเพิ่มขึ้นมากมาย   ถนนเจริญกรุงเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จ  มีรถรางวิ่งจากหลักเมือง สุดทางที่ถนนตก การสัญจรสะดวกสบายขึ้นแต่รถยนต์มีน้อยนับคันได้ รถเก็บศพของป่อเต็กตึ๊งยังเป็นรถลากเช่นเดิม และมีรถสามล้อเพิ่มขึ้นมา รถสามล้อที่ปัจจุบันเรียกว่าสามล้อแดงที่ชาวบ้านใช้ส่งสินค้า ส่งน้ำแข็ง ตามตรอกซอกซอยในปัจจุบันนั่นเอง  แต่คงใช้ไม่สู้สะดวก ต่อมาจึงใช้รถยนต์ตู้และรถปิคอัพแทน ส่วนเรือเก็บศพทางน้ำ ได้เปลี่ยนจากเรือพายขนาดเล็ก  เปลี่ยนเป็น เรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ เจ้าหน้าที่เก็บศพทางน้ำมีเครื่องมือมนุษย์กบ  มีเครื่องช่วยหายใจ ส่วนการกู้ภัยทางบกนั้นมีเครื่องมือเพิ่มขึ้น  มีเครื่องตัดถ่าง เครื่องปั๊มลม มีรถกู้ภัยเอนกประสงค์ที่มีเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับงานกู้ภัย มีหัวฉีดน้ำ และ ถังบรรจุน้ำสำหรับงานดับเพลิง มีดวงโคมขนาดใหญ่กำลังไฟหลายพันแรงเทียน สำหรับใช้งานพื้นที่เกิดเหตุที่ต้องการแสงสว่างสูง เป็นต้น

              นอกจากนี้ การติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าพนักงานตำรวจ กับ หน่วยกู้ภัย ก็รวดเร็วขึ้น มีการประสานการปฏิบัติงานด้วยการสื่อสารทันสมัย ผ่าน ศูนย์วิทยุกรุงเทพฯ ที่ตั้งขึ้นมานั้น  มีส่วนอย่างมากในการเกื้อหนุนงานกู้ภัยอย่างมาก

             3) งานฌาปนกิจ   นั้นนอกจากจะดูแลในเรื่องของการรับศพจากโรงพยาบาลแผนกนิติเวชวิทยา กรมตำรวจ และ โรงพยาบาลอื่นแล้วยังมีหน้าที่ดูแลงานของสุสานและงานอื่น ๆอีกด้วย ดังนี้ (1)เก็บศพไร้ญาติจากโรงพยาบาลไปฝังยังสุสาน (2)  บริการญาติผู้เสียชีวิตในเรื่องของช่วยทำใบมรณบัตร, เคลื่อนย้ายศพตามคำขอของญาติ, ช่วยฌาปนกิจเฉพาะรายให้  ณ ฌาปนสถานที่มูลนิธิกำหนดช่วยค่าฌาปนกิจเฉพาะราย และบริการหีบศพและเสื้อผ้าแต่งศพ (3) จัดพิธีฌาปนกิจศพไร้ญาติ ศพไร้ญาติที่ฝัง ณ สุสานมูลนิธิฯ เมื่อครบกำหนดจะขุดขึ้นมาชำระล้างกระดูก และจัดพิธีฌาปนกิจรวม ตามพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อทุกประการและ (4) จัดตั้งโรงครัวสนับสนุนงานต่างๆ/ตั้งโรงครัวในจุดเกิดภัย เช่นจุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ / งานสึนามิ

            4) งานสุสาน  นอกจากเก็บศพจากโรงพยาบาล และที่ต่าง ๆ  แล้ว มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีสุสานฝังศพไร้ญาติ เป็นของตนเองมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง  สุสานในซอยดอนกุศล  เขตสาทรเป็นสุสานที่บริการโดยไม่คิดมูลค่าอันเก่าแก่เพียงแห่งเดียวที่อยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ ในจำนวน 13 ไร่เศษ  ที่ประชาชนในสมัยเมื่อประมาณ หนึ่งร้อยปีมาแล้วจำนวน  710 คน  มีจิตศรัทธาช่วยกันสมทบทุนซื้อไว้สำหรับเป็นสุสานสาธารณะ   แต่สภาพ  แวดล้อมในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวย  และ ไม่เหมาะสม ส่วนหนึ่งถูกเวณคืนทำทางด่วน  จึงจำเป็นที่ต้องย้ายสุสานไปอยู่ที่ ตำบลโรงเข้ อ.บ้านแพร้ว จ.สมุทรสาคร  จำนวน  44  ไร่ เป็นสุสานแห่งใหม่ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง   ซึ่งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้รับความร่วมมือจากผู้มีกุศลจิต เลื่อมใสศรัทธาจำนวนมากพากันมาบริจาคสร้างหลุมฝังศพไม่ขาดสาย  จนสามารถสร้างสุสานแห่งใหม่สำเร็จในปี  2540    ในเนื้อที่  44  ไร่ ประกอบด้วย   ศาลหลวงปู่ไต้ฮงเป็นอาคารประธานของอาณาบริเวณนี้  นอกจากจะมีอาคารสำหรับงานต่าง ๆ แล้วยังมีเตาเผาศพขนาดใหญ่ มีโรงทึมเป็นที่เก็บพัสดุและเป็นที่เก็บกระดูกที่ขุดขึ้นมาล้างทำความสะอาดและเก็บไว้รอฌาปนกิจรวม  มีหลุมฝังศพทั้งสิ้น  7,000 หลุม และ บ่วงหยิ่งหมอ หรือ หลุมฝังเถ้ากระดูกที่ผ่านการฌาปกิจแล้วอีก  1  หลุม  และยังมีพื้นที่ที่เตรียมขยายไว้อีกประมาณ 20 ไร่ร่องรอย หรือ อนึ่ง ศพที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งฝังไว้ที่หลุมฝังศพที่สมุทรสาครนั้น เมื่อญาติผู้ตายสงสัยว่าญาติตนเองซึ่งหายไปโดยไร้ ทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ส่งมาฝังที่สุสานของป่อเต็กตึ๊ง สามารถตรวจสอบหลักฐานได้ที่ฝ่ายงานฌาปนกิจ

             5) งานศูนย์วิทยุกรุงเทพ  การดำเนินงานของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ครอบคลุมในเรื่องเกี่ยวกับงานบรรเทาสาธารณภัย งานกู้ภัย งานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ งานบริการต่าง ๆและการประสานงานกับทางราชการในกิจการสาธารณประโยชน์อื่น ๆ งานเหล่านี้มีทั้งการปฏิบัติ งานที่ตั้ง  และ งานสนาม จำต้องอาศัยการประสานงาน  ซึ่งต้องการความรวดเร็ว  และ  ความถูกต้องแน่นอนของข่าวสาร  การประสานงานเช่นนี้ต้องอาศัยเครื่องมือสื่อสารคมนาคมที่มีประสิทธิภาพเป็นอุปกรณ์สนับสนุน โดยที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ดำเนินงานเพื่อสาธารณกุศลเหล่านั้นมานาน และมีผลงานเป็นที่ปรากฏแก่ทางราชการ  และ ประชาชนทั่วไป   จึงได้จัดตั้งข่ายร่วมวิทยุคมนาคม ในกิจการเพื่อสาธารณกุศล  หรือ สาธารณประโยชน์ โดยมีสถานีวิทยุคมนาคมหรือแม่ข่ายหรือ ศูนย์วิทยุควบคุมข่ายตั้งอยู่  ณ ที่ทำการของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มีชื่อศูนย์เรียกเป็นทางการว่า “ ศูนย์วิทยุกรุงเทพ ” ได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่10พฤศจิกายน  2532 และได้รับอนุมัติจากกรมไปรษณีย์โทรเลข

 

มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง กับสังคมไทย

                ปัจจุบันนี้ การบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ได้ขยายขอบข่ายงานไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งเป็นองค์กรการกุศล สังคมสงเคราะห์ขนาดใหญ่มีผลงานการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากจากภัยพิบัติต่างๆ อย่างครบวงจรชีวิต คือ เกิด แก่ เจ็บ และการตาย โดยไม่จำกัดชั้น วรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ และวัย เป็นที่ประจักษ์ชื่นชมจากจากผู้มีกุศลจิตทั้งหลายทั้งในและนอกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นอกจากจะมีโรงพยาบาลหัวเฉียวซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่ทันสมัยตามมาตรฐานขนาดใหญ่ สูง 22 ชั้น ที่สามารถช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกสาขาโรค  เพื่อให้การสงเคราะห์ส่งเสริมการศึกษาอันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติ ให้มีประสิทธิผลและกว้างขวางมากขึ้น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ปรับปรุงขยายวิทยาลัยหัวเฉียวให้เป็นมหาวิทยาลัย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้ว่า “มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ”  และในปี 2551 มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งยังได้จัดทำโครงการเพิ่มขึ้นอีก ๆได้แก่ (1) โครงการจัดสร้างศาลาที่พักผู้โดยสาร ในส่วนภูมิภาค (2) โครงการมอบเงินทุนการศึกษาต่อเนื่อง (3)โครงการสนับสนุนเงินก่อสร้างอาคารโรงเรียนจีนทั่วประเทศและ (4) โครงการแจกเครื่องอุปโภคบริโภคตามชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร  

              คนจีนคนไทยไม่ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน ดังที่ขจัดภัย บรุษพัฒน์ (2517 หน้า 87-88) กล่าวว่า ประเทศไทยนับว่าโชคดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ ทั้งนี้เพราะลักษณะนิสัยประชจำชาติอย่างหนึ่งของคนไทย คือความอะลุ้มอะล่วย ผ่อนปรน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น คุณลักษณะพิเศษอันนี้เองที่ช่วยให้ความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติระหว่างคนไทยและชาวจีนไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้แล้วยังเป็นพลังที่กระตุ้นให้ชาวจีนผสมผสานเข้าสู่สังคมไทยได้โดยง่าย และเมื่อชาวไทยเชื้อสายจีนได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ให้แก่คนในชุมชน ยิ่งทำให้มูลนิธิป่อเต็กตึ้งมีความผูกพันและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยในปัจจุบันและจากจากผลงานดังกล่าว คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยกย่อง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ให้เป็นหน่วยงานดีเด่นของชาติสาขาพัฒนาสังคม(ด้านสังคมสงเคราะห์)ประจำปีพุทธศักราช 2535  โดย ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ อดีตประธานมูลนิธิฯ ได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อ วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536

 

ประวัติศาสตร์จากเมืองจีน สู่ ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารในปัจจุบัน 

                 “ ด้านงานสังคมสงเคราะห์ของมูลนิธิ   นับวันจะขยายขอบข่ายการบริการช่วยเหลือสังคมให้กว้างขวางออกไปให้สมกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  6 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น  พระราชทานเงินให้  คณะเก็บศพไต้ฮงกง  ปีละ2 พันบาทเพื่อให้ดำรงความเป็นคณะเก็บศพไร้ญาติไว้ได้มาแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน”

 

สรุป

           1. ต้นกำเนิดของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มาจากประเทศจีน ประมาณ 900 ปีล่วงมาแล้ว  

           2. บทบาทโดยทั่วไปของชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย มีทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

           3. บทบาท ทางด้านสาธารณประโยชน์ของมูลนิธิชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยที่เด่นชัดได้แก่ มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

           4. การดำเนินงานของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ได้รับการสรรเสริญยกย่องว่าเป็นการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ทั้งยังสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย เกิดการยอมรับชาวไทยเชื้อสายจีนในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น

           5. อาสาสมัครของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีของสังคมไทยในเรื่องของความเสียสละเพื่อส่วนร่วม ความใฝ่รู้อบรมเพื่อพัฒนาทักษะการการปฐมพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น

           6. วัตถุประสงค์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ประสบความสำเร็จมาก เนื่องจากได้ดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ยาวนานและต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งยังได้ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก โดยไม่มีการเลือกหมู่เหล่าใดๆ (Without Discrimination)

 

---------------------------------------

 

         ได้รับการอุปการะเรื่องจาก : คุณพิมพิพรรธน์  มหามิตรจากภาควิชาประวัติศาสตร์

          เรียบเรียง : วาทิน ศานติ์ สันติ

 

บรรณานุกรม 

           ขจัดภัย บรุษพัฒน์. (2517). บทบาททางด้านการเมืองของชาวจีน. ใน ชาวจีนในประเทศไทย. ขจัดภัย บรุษพัฒน์ บรรณาธิการ.

 กรุงเทพ : แพร่พิทยาอินเตอร์เนชั่นแนล.

           วัลภา บุรุษพัฒน์. (2517). ความเป็นมาของชาวจีนในประเทศไทย. ใน ชาวจีนในประเทศไทย. ขจัดภัย บรุษพัฒน์ บรรณาธิการ.

 กรุงเทพ : แพร่พิทยาอินเตอร์เนชั่นแนล.

           บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์.(2543). การวิจัย การวัดและประเมินผล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ: ศรีอนันต์.

            มาตยา อิงคนารค. (2548). ประวัติศาสตร์นิพนธ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

           William Skinner. (1962). Chinese Society in Thailand: An Analytical History. 2nd ed. U.S.A.

           William Skinner. (1967). Leadership and Power in the Chinese Community of Thailand. 3rd ed. U.S.A.

           www.http://pohtecktung.org สืบค้นวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ป่อเต็กตึ้ง
หมายเลขบันทึก: 332137เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2010 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แวะมาเรียนรู้เรื่องราวดี ๆ ของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง
  • ขอบพระคุณที่แบ่งปันความรู้ค่ะ



ผมเป็นกู้ชีพในพื้นที่ยะลา รับผิดชอบ อ.รามันและอ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี มีกำลังอาสาสมัครในระบบ ห้าสิบกว่าคน เราชอบใและชื้นชมในการปฏิบัติงานของป่อเต็กตึ่งมากคับ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะขอศึกษาเรียนรู้ ถึงการบริหารให้ประสบผลสำเร็จของปอเต็กตึ่ง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยผม ว่าเราต้องทำยังใงถึงจะสำเร็จแบบนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท