Education Hub - Hatyairatprachasun International Program


Education Hub - Hatyairatprachasun International Program

Asean Education Hub ตอนที่ 1 : ความจำเป็นของการมีศูนย์กลางการศึกษา
    
        การศึกษา เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมในทุกระดับโครงสร้าง ไม่ว่าจะในระดับครอบครัว หมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ กลุ่มประเทศ รวมทั้งระดับโลก การแลกเปลี่ยนและบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคม ซึ่งหมายถึงจะมีความเสรี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างประเทศสมาชิก ความพยายามในการสร้างศูนย์กลางการศึกษา จึงเป็นสิ่งมีความจำเป็น
        ความจำเป็นของศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน
        มีเหตุผลหลายประการด้วยกันที่สำนักข่าวแห่งชาติเห็นว่า เป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้อาเซียนขึ้นมา
        1. ความเข้าใจต่อกันเพื่อความสามัคคีกลมเกลียวระหว่างประเทศสมาชิก
        เป็น ที่ทราบกันดีว่า อาเซียนมีความหลากหลายอย่างมากในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม สังคม การเมืองการปกครอง สภาพภูมิประเทศ ระบบการศึกษา รวมทั้งประวัติศาสตร์ ที่แต่ละประเทศต่างมีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป และเท่าที่ผ่านมา ภายในอาเซียนเองมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ่อยครั้งอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ ที่ต่างเขียนเพื่อชาติพันธุ์ของตน ซึ่งทำให้เกิดรอยร้าวบาง ๆ ระหว่างกันมาโดยตลอด ดังนั้นการชำระประวัติศาสตร์อาเซียน จึงเป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจอันดีที่ตรงกันเพื่อประสาน รอยร้าวนั้นให้จางหายไปเพื่อให้บังเกิดความเข้าใจและความสามัคคีกลมเกลียว อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนเข้มแข็งมากขึ้นดังที่ตั้งความ หวังกันเอาไว้
        2. การแข่งขันในตลาดแรงงานหลังจากการเป็นประชาคมอาเซียน
        เมื่อ อาเซียนรวมกันเป็นประชาคม จะมีผลกระทบตามมามากมาย ซึ่งเป็นไปในทางด้านลบและด้านบวกต่อกลุ่มคนต่าง ๆ กัน อย่างไรก็ตามแม้จะไม่สามารถเปลี่ยนความตกลงซึ่งพิจารณาโดยส่วนรวมว่ามีผลดี มากกว่า แต่ระหว่างที่มีเวลา จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ได้รับผลกระทบจะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะ เกิด การสร้างความเข้าใจและการศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถปรับตัว ต่อการเป็นประชาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งถือเป็นรากฐานและอนาคตสำหรับประชาคมอาเซียน ที่จะต้องมีมาตรฐานด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่แบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ฯลฯ
        3. การยกระดับของอาเซียน
        การ มีความชัดเจนในการสร้างมาตรฐานด้านการศึกษา เป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์และภาพจริงที่ดีในสายตาของภาย นอกที่มองเข้ามา องค์ความรู้ที่สามารถแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้อย่างเสรี จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ภายนอกสามารถเข้าใจประชาคมอาเซียน และยกระดับโอกาสในการลงทุนภายในอาเซียนได้มากขึ้น อันเป็นการเอื้อประโยชน์ในทุกด้านแก่ประชาคมอาเซียนเอง
        เมื่อมีการตั้งเป้าเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์กลางการศึกษาอาเซียนขึ้นมา ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนก็มีความเชื่อมั่น และมีความกระตือรือร้นที่จะทำให้ประเทศไทย ซึ่งได้รับความเชื่อถือด้านการศึกษาอยู่พอสมควร สามารถยกระดับจนกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียนให้ได้ ทั้งนี้สำนักข่าวแห่งชาติจะนำเสนอถึงที่มา ความพร้อม และปัจจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียนของไทยในตอนต่อไป

        กนกวรรณ ขวัญคง เรียบเรียง

        ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ
              

      
ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : กรณัฏฐ์ ขวัญคง   Rewriter : ชูชาติ เทศสีแดง
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th


 วันที่ข่าว : 30 สิงหาคม 2552
          

    Asean Education Hub ตอนที่ 2 : ไทยในฐานะศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน
    
        สำนักข่าวแห่งชาติได้พยายามอธิบายถึงการสร้างศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียน พอให้ภาพรวมที่ชัดเจน รวมทั้งความจำเป็นในการมีศูนย์กลางการศึกษาอาเซียนไปในตอนที่แล้ว แต่ประเด็นสำคัญก็คือศูนย์กลางดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่ใด ประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียนถือว่าค่อนข้างมีความพร้อมในระดับหนึ่งต่อการเป็นศูนย์ กลางการศึกษาอาเซียน ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ต้องติดตามได้แก่ ความพร้อมของระบบการศึกษา ทรัพยากร รวมทั้งบุคลากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ เนื้อหาการเรียน หรือแม้กระทั่งผู้เรียนก็ตาม
        การดำเนินการของไทย...สู่ความเป็นศูนย์กลางการศึกษา
        ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการฯ เปิดเผยว่า สพฐ.มีแผนดึงดูดนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยม ศึกษาในโรงเรียนของ สพฐ.ที่ตั้งอยู่ตามชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งดึงดูดชาวต่างชาติให้ส่งลูกเข้าเรียนต่อใน ร.ร.มัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ตามจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยให้จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษที่มีมาตรฐานสากลระดับนานาชาติ
        โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการ ศึกษาในภูมิภาคอาเซียน (Education Hub) โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2553-2555 และใช้งบประมาณดำเนินการจากเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 โดยโรงเรียน 14 แห่งจะได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ไปพัฒนาให้มีมาตรฐานสากลและสอดคล้องเหมาะสม กับบริบทแต่ละพื้นที่เป็นไปตามความต้องการของผู้ปกครองนักเรียนต่างชาติที่ จะส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย โดยจะต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม มีศูนย์อัจฉริยภาพที่มีอุปกรณ์ครบครันเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาครู พัฒนาสื่อรองรับด้วย โดยโรงเรียนทั้ง 14 แห่งนั้นได้แก่ ร.ร.โยธินบูรณะ กทม. ร.ร.ยุพราชวิทยาลัย เชียงใหม่ ร.ร.โพธิสัมพันธ์พิทยาคาร ชลบุรี ร.ร.สตรีภูเก็ต ร.ร.ปทุมเทพพิทยาคาร หนองคาย ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยลัย สตูล ร.ร.พิชัยรัตนาคาร จ.ระนอง ร.ร.แม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ เชียงราย ร.ร.ประสาทวิทยาคาร สุรินทร์ ร.ร.กันทรลักษ์วิทยา ศรีสะเกษ ร.ร.นารีนุกูล อุบลราชธานี ร.ร.หาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ และ ร.ร.สรรพวิทยา ตาก
        ในระดับอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามผลักดันให้มหาวิทยาลัย 9 แห่งในประเทศไทยเป็นศูนย์ศึกษาในเอเชีย โดยประกอบด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เกษตรศาสตร์ขอนแก่น เชียงใหม่ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เทคโนโลยีสุรนารี มหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามข้อตกลงโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา ของอาเซียนได้ไม่ยากนัก
        การเตรียมความพร้อม
        ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ในส่วนของการดำเนินงานภาครัฐ ได้มีการผลักดันทั้งในระดับมัธยม และในระดับอุดมศึกษา ให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์การศึกษา แต่สิ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือ ในระดับบุคคลจำเป็นที่จะต้องมีการปลูกฝังนักเรียนไทยในด้านต่าง ๆ เช่นกัน ได้แก่
        1. สำนึกความเป็นเอกภาพของอาเซียน
        ขั้น ตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งในการสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้อาเซียนก็คือ การชำระประวัติศาสตร์อาเซียนที่จะต้องมีความเข้าใจตรงกัน ทั้งนี้เพื่อความเป็นเอกภาพและความสมัครสมานสามัคคีอันพึงมีในประชาคมเดียว กัน การปลูกฝังว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทยต่างมีไมตรีที่ดีต่อกันเสมอมา ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จะเป็นหนทางที่ดีที่จะสร้างพลังอันแข็งแกร่ง เพื่อให้เอื้อต่อการบูรณาการการศึกษาระหว่างกันของประเทศสมาชิกอาเซียน
        2. ความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ
        เนื่องจากอาเซียนมีความหลากหลายด้านภาษาเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงได้มีการเลือกให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการของอาเซียนเพื่อเป็น ตัวกลางในการสื่อสาร และแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังเป็นภาษาหลักที่มีการใช้อย่างกว้างขวางในโลก การปูพื้นฐานให้เด็กไทยมีความเข้าใจในภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ย่อมหมายถึงโอกาสของเด็กไทยที่จะมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียนได้
        3. สำนึกความเป็นเจ้าบ้านที่ดี
        การ ที่ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา ย่อมหมายถึงว่าประชาชนชาวไทยจะต้องเป็นเจ้าบ้านที่คอยดูแลและเอื้ออำนวยให้ ผู้เรียนผู้สอนจากนานาประเทศในอาเซียนให้สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้วย ไมตรีจิตในฐานะเจ้าบ้านที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้เรียนด้วยกันซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้าง ความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี
        แม้จะยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนของการเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียนของ ประเทศไทย ทว่าการดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นระบบจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้การ พัฒนา โดยเฉพาะในด้านการศึกษาเป็นไปอย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพสูงสุด ในฐานะคนไทย การเตรียมความพร้อมให้เยาวชนไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับเยาวชนจากอีก 9 ชาติที่เหลือได้ พร้อมกับความมีมนุษยธรรมที่ดี จะถือเป็นความสำเร็จสูงสุดในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียนของไทย

        กนกวรรณ ขวัญคง เรียบเรียง

        ชูชาติ เทศสีแดง บรรณาธิการ
              

      
ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : กรณัฏฐ์ ขวัญคง   Rewriter : ชูชาติ เทศสีแดง
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : http://thainews.prd.go.th


 วันที่ข่าว : 31 สิงหาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 330891เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2010 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท