พราหมณ์ : การแบ่งยุคทางศาสนาพราหมณ์ (ยุคพระเวท) (ตอนที่๑/๒)


การแบ่งยุคทางศาสนาพราหมณ์ ยุคพระเวท (ตอนที่๑/๒)

                  แต่เดิมศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ถูกเรียกว่า “สนตนธรรม” แปลว่า "ศาสนาสนต" แบ่งเป็น “สนา” หมายถึงไม่รู้จักตาย และ “ตน” แปลว่ากาย  ความหมายโดยรวม เป็นศาสนาที่ดำรงอยู่ “เป็นนิตย์” ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่มีวันรู้จักตาย เรื่อย ๆ เสมอ เชื่อกันว่า สนตนธรรม เกิดขึ้นเมื่อตั่งแต่แรกเริ่มสร้างโลก ต่อมาการเรียกชื่อศาสนามีผิดแผลกออกไปเช่น ไวทิกธรรม แปลว่า ธรรมที่ได้มาจากพระเวท อารยธรรม แปลว่า ธรรมอันดีงาม พราหมณธรรม แปลว่า คำสอนของพราหมณาจารย์ การเรียกชื่อนี้อยู่ในยุคที่พราหมณ์เป็นผู้มีอำนาจอย่างสูงสุด ผู้ไดไม่เชื่อคำสั่งสอนจะมีโทษหนัก ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสนานี้เรียกตัวเองว่า “พราหมณ์” ส่วนคำว่า หิงสาหมายถึง   ในประเทศไทยเรียกเป็น “ฮินดู” ซึ่งเป็นคำเรียกที่ไม่ถูกต้อง คำเรียกที่ถูกต้องคือ “หินทู” คำว่า “หินทูธรรม” จึงแปลว่าคำสั่งสอนสิทธิอหิงสา   ส่วนคำว่า ศาสนาพราหมณ์นั้น หมายถึงศาสนาของพระพรหม เป็นศาสนาที่เกิดจากพรหม

                ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาของชนเผ่าอารยัน อาศัยอยู่ในตอนกลางของทวีปเอเชีย เป็นชนเผ่าที่มีความรู้ความสามารถ มีวัฒนธรรมที่สูงกว่าชนเผาอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน เป็นกลุ่มชนทำมาหากินเช่นชนเผ่าโบราณจึงต้องมีการเคลื่อนย้ายไปเรื่อย ๆ มีการแบ่งกลุ่มแยกย้ายเดินทางไปหลายทิศทาง แต่กลุ่มสำคัญที่สุดคือกลุ่มที่เดินทางเข้าอินเดียบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือแล้วเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ด้วยสาเหตุนี้จึงมีชื่อเรียกชาวที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ว่า “ฮินทู” หรือ “ฮินดู”  และกลายเป็นชื่อเรียกของศาสนาด้วย

                ชาวอารยันมาพบเข้ากับชาวพื้นเมืองเผ่าหนึ่งที่เรียกว่า ทราวิด (Driavidian) หรือมิละขะ  หมายถึงคนป่า หรือ ทัสยุ หรือทาส อันหมายถึงทาสของอารยัน (เสฐียร พันธรังสี, ๒๕๔๙ : ๕๔)  พวกทราวิดมีวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาประจำของตนอยู่ก่อนแล้ว เช่นการนับถือธรรมชาติ นับถือเทพเจ้าประจำครอบครัว เทพเจ้าประจำหมู่บ้าน จากการที่ชาวอารยันได้อพยพเข้ามาในบริเวณแม่น้ำสินธุ เมื่อพบกับชาวพื้นเมือง เห็นว่าความเชื่อต่าง ๆ ของชาวพื้นเมืองและของตนมีความคล้ายกัน กล่าวคือมีเหตุผลเดียวกันคือการไม่รู้จักไม่เข้าใจธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องมีการยกย่องธรรมชาติต่าง ๆ ขึ้นเป็นเทพเจ้า การนับถือยอดเขาสูง การบูชาไฟ  การบูชาพระอาทิตย์  พระจันทร์ แต่เนื่องจากอารยธรรมของชาวอารยันนั้นมีสูงกว่า จึงได้ถ่ายทอดศิลปวิทยาการและความชื่อของตนให้กับชาวพื้นเมือง ในขณะเดียวกันชาวอารยันก็ได้รับการถ่ายทอดความเชื่อต่าง ๆ คือ ศาสนาของชาวพื้นเมืองเข้ามาด้วย การผสมผสานระหว่างของสองความเชื่อจึงทำให้เกิดแนวคิดใหม่ของศาสนาขึ้นมา เรียกว่าศาสนาพราหมณ์ ศาสนาคือเครื่องมือในการรวมกลุ่มคนให้มั่นคงตามหลักแห่งการรวมสังคม ที่มีว่า ไม่มีชาติใดกลุ่มใดหากไม่มีศาสนาประจำกลุ่ม ประจำชาติ หมู่คณะก็รวมกันไม่ติด ไม่สามารถตั่งเป็นกลุ่มเป็นชาติได้ เพราะชาติต้องอาศัยศาสนาเป็นเครื่องผูกพัน (เสฐียร พันธรังสี, ๒๕๔๙ : ๕๕) ศาสนาจึงเป็นเครื่องมือแห่งที่สำคัญที่ชาวอารยันสามารถพัฒนาศาสนาพราหมณ์ขึ้นจนเกิดประสิทธิภาพสามารถควบใช้คุมชาวพื้นเมืองได้อย่างมีประสิทธิผล เครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ควบคุมสังคมคือระบบวรรณะ หรือการแบ่งคนให้มีวรรณะต่างกัน โดยถือหลักจากการถือกำเนิดของวรรณะนั้น ๆ  แบ่งเป็นสี่วรรณะ ได้แก่ วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพทย์ วรรณะศูทร นอกจากนี้ยังมีวรรณะพิเศษคือ วรรณะจัณฑาล คือวรรณะชั้นต่ำ ไม่มีหน้าที่ในสังคม ชาวอารยันสร้างระบบวรรณะขึ้นมาเพื่อป้องกันเผ่าพันธุ์ของตนไม่ให้แปดเปื้อน อีกทั้งยังเป็นการจัดระเบียบทางสังคมให้ทุกกลุ่มคนทำงานตามหน้าที่ในแต่ละวรรณะของตน การทำหน้าที่ให้ถึงพร้อมนั้นก็เพื่อทำให้เทพเจ้าพึงพอใจ

  แสดงการเปรียบเทียบวัฒนธรรมของชาวทราวิดกับชาวอารยัน

 

อารยธรรม 

ทราวิด 

อารยัน 

สังคม 

สังคมเมือง

สังคมชนบท

วัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ 

ทองแดง ทองคำ เงิน สำริด หินมีค่า

ใช้เหล็กหลากหลาย

อาวุธ

ไม่พบการใช้เหล็ก

พบหมวกเหล็ก เกราะเหล็ก

อาชีพ

เกษตรกรรม

เร่ร่อนเลี้ยงสัตว์

ศาสนา

เทพเจ้าแม่ พระอิศวร ศิวลึงค์

สัตว์ ต้นไม้

บรรพบุรุษ

เทพเจ้าหลายองค์ เช่น พระอินทร์ พระพราย พระวรุณ พระอัคนี

บรรพบุรุษ

วัวที่สำคัญ

วัวเพศผู้

วัวเพศเมีย

ม้า

น้อยมาก

มากมาย

งานอดิเรก

กีฬาในร่ม พบตารางหมาก (รุก)

กีฬากลางแจ้ง แข่งม้า ล่าสัตว์

พิธีศพ

นิยมฝัง

นิยมเผา

                กาลต่อมาชาวอารยันได้แบ่งเทพเจ้าออกเป็นหมวดหมู่สูงต่ำ เป็น ๓ หมวด เพื่อความสะดวกในการนับถือ เซ่นสรวงบูชา ยัญญะกรรม   ประกอบด้วย เทพเจ้าบนสวรรค์ มีดวงอาทิตย์  พระจันทร์ เป็นต้น หมวดเทพเจ้าพื้นอากาศ มีพายุ วรุณ (ฝน) เป็นต้น เทพเจ้าบนผิวโลก มี ไฟ (อัคนี) ธรณี (แผ่นดิน) เป็นต้น (เสถียร พันธรังสี, ๒๕๔๙ : ๕๕)  มีกำหนดหน้าที่ของเทพเจ้าตามธรรมชาติ มีชื่อต่างกัน รูปร่างหน้าตาต่างกัน ยกย่องอำนาจของเทวะอย่างสูงสุด เทวะเป็นผู้มีอำนาจควบคุมมนุษย์ตั่งแต่เกิดจนตาย การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดขึ้นอยู่กับอำนาจของพระเจ้า ดังนั้นเทพเจ้าเหล่านี้ได้รับการบูชา เพราะเชื่อว่าให้ผลเป็นความสวัสดีแก่ผู้บูชา ผู้บูชานั้นมีผู้กระทำกิจในพิธีคือพราหมณ์ เพราะพราหมณ์เป็นผู้มีความสามารถในการติดต่อกับเทพเจ้าได้โดยการใช้พิธีกรรมเป็นสื่อกลาง ด้วยการที่มีเทพเจ้าหลายองค์ จึงมีพิธีกรรมมากมายตามแต่เทพเจ้าแต่ละองค์ ดังนั้นพิธีกรรมจึงเป็นส่วนสำคัญของศาสนาพราหมณ์              สามารถแบ่งยุคแห่งพัฒนาการทางศาสนาพราหมณ์ได้ ๓ ยุคด้วยกันคือ ยุคพระเวท ยุคมหากาพย์และทัศนะทั้ง ๖ และยุคใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน

 ยุคพระเวท

                ประมาณ ๑,๕๐๐ – ๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล จุดมุ่งหมายสำคัญของยุคนี้คือการทำให้เทพเจ้าพอพระทัย เพราะมีความเชื่อว่า การที่มนุษย์อยู่บนโลกอย่างมีความสุขได้เพราะเกิดมาจากการปกป้องมองเหล่าปวงเทพทั้งปวงที่ต่างก็ทำหน้าที่ตามปรากกฎทางธรรมชาติ เช่นฝ้าร้อง ฝ้าผ่า ฝนตก แผ่นดินไหว ฯลฯ หมวดเพื่อความพึงพอใจของเหล่าบรรดาเทพเจ้า นักปราชญ์ทางศาสนาพราหมณ์ในยุคนี้จึงต้องสวดมนต์สรรเสริญอำนาจของเทพเจ้า และประกอบพิธีกรรมเพื่อบูชาเทพเจ้าแต่ละองค์ เครื่องมือสำคัญของพราหมณ์ในยุคพระเวทย์ที่สร้างอำนาจให้แก่พราหมณ์ เปรียบได้ดั่งกุญแจไขประตูสวรรค์ นั่นคือ คัมภีร์พระเวท

                 ชาวอารยันได้รวบรวมบทสวดอ้อนวอนเทพเจ้าที่ใช้กันภายในวงศ์ตระกูลขึ้นเป็นหมวดหมู่ เป็นคัมภีร์ คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่าเวท คือ วิทยา อันได้แก่ความรู้ ถือเป็น ศรุติ ได้แก่วิทยาความรู้ที่ได้ฟังมาจากเทวะ (พรหม) อีกในหนึ่งเป็นเสียงทิพย์หรือเสียงสวรรค์ จึงจะประทานมาให้พราหมณ์ผู้ใหญ่สั่งสอนสืบต่อกันมา

               คำว่า “เวท” มาจากรากศัพท์ คือ ธาตุ วิทฺ แปลว่า “รู้, เข้าใจ, รับรู้, เรียนรู้” เมื่อนำมาใช้เป็นนามศัพท์ว่า เวท จะได้ความว่า ความรู้, ความรู้ถึงความเป็นจริง, ความรู้อันศักดิ์สิทธิ์   หากต้องการเข้าใจความหมายของคำว่าพระเวทจะต้องศึกษา “ษฎศาสตร์” คือศาสตร์ ๖ แขนง หรือที่เรียกกว่า “เวทางศาสตร์” คือความรู้เกี่ยวข้องที่ประกอบเข้ากันเป็นพระเวทย์ ศาสตร์ ๖ แขนงได้แก่ ศึกษาศาสตร์ สอนการอ่านทำนองของพระเวท ว่าจะอ่านได้อย่างไรบ้าง กัลปศาสตร์  สอนไว้ว่าพระเวทหรือคำแต่ละคำของพระเวทย์และมนต์ต่าง ๆ นั้น จะมีวิธีนำเอาไปใช้ที่ไหน อย่างไร            ไวยกรณ์ศาสตร์ สอนว่าคำแต่ละคำของพระเวทย์ พระมนต์  อุบัติขึ้นมาอย่างไร และออกเสียงอย่างไร นิรุกติศาสตร์ สอนเรื่องคำพูด หรือภาษาความเข้าใจและการรู้จักใช้ถ้อยคำให้ผู้อื่นเข้าใจ ฉันทศาสตร์ สอนว่ามนต์แต่ละมนต์ของพระเวทอ่านทำนองอย่างไร และมีวิธีการประพันธ์อย่างไร โชยติยศาสตร์ หรือโหราศาสตร์  กล่าวคือ ดาราศาสตร์ สอนถึงคติการโคจรของดวงดาว เพื่อประโยชน์การคำนวณเวลาอีกทั้งยังรวมถึงวิชาอุตุนิยมวิทยาด้วย หากผู้ใดมีความรู้เรื่องศาสตร์ทั้ง ๖ ผู้นั้นก็จะเข้าใจความหมดของพระเวทย์  ในภายหลังท่านมหาฤๅษีไทวปายนวยาสมุนี ได้แบ่งการศึกษาพระเวทออกเป็น ๔ เล่ม แต่ละเล่มยังแบ่งย่อยออกเป็นอุปเวท ประกอบด้วย

               ฤคเวท เป็นบทร้อยกรองที่ใช้สวดสรรเสริญเทพเจ้าต่าง ๆ ที่มีชื่อในคัมภีร์นี้  อุปเวทของฤคเวทคือ อายุรเวท คือแพทย์ศาสตร์  ยชุรเวท เป็นร้อยแก้วว่าด้วยระเบียบวิธีในการประกอบพิธีบูชายัญ หรือเรียกว่า ยัญญะกรรม สามเวท เป็นฉันท์สำหรับสวดในพิธีถวายน้ำโสมพระอินทร์และขับกล่อม   เทพเจ้าอื่น ๆ  รวมถึงสังคีตศาสตร์ด้วย และ อาถรรพเวท แสดงการใช้มนตร์เพื่อเกิดความดีนำมงคลมาใส่ตัวหรือสร้างผลร้ายขึ้นแก่ผู้อื่น แบ่งเป็นอุปเวทคือ ศิลปะเวท ได้แก่ศิลปะต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีอุปนิษัท  จำนวนหนึ่ง ที่รจนาขึ้นเพื่อบรรยายความหมายของพระเวท คำว่า อุปนิษัทนี้ สังกราจารย์กับสยันนะและอรรถกถาจารย์คนอื่น ๆ เรียกอุปนิษัทว่า เทววิทยา หรือความรู้เกี่ยวกับเทพเจ้า (สมัคร บูราวาศ, ๒๕๑๖ : ๑๕๙ – ๑๖๐) แต่จากหลักฐานในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาล ในคัมภีร์พระเวทอยู่เพียง ๓ คัมภีร์คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท ส่วน อาถรรพเวทไม่ปรากฏ (สุนทร ณ รังษี, ๒๕๒๑ : ๓)

              ในสมัยพระเวทนี้มีการ  แบ่งบุคคลในสังคมออกเป็น ๔ ประเภทเรียกว่าวรรณะ คำว่าวรรณะแปลว่าสี หมายถึงสีผิวของกาย การแบ่งบุคลในช่วงแรกชาวอารยันคงใช้วิธีการแบ่งตามสีผิวกาย กล่าวคือ ชาวอรยันเป็นผู้รบชนะคนพื้นเมืองจึงอยู่ในฐานะของผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นพวกผิวขาว ส่วนคนพื้นเมืองจะมีผิวสีดำ ต่อมาเมื่อเกิดคัมภีร์ฤคเวทขึ้นแล้ว และพัฒนาการของศาสนาได้ดำเนินมาจนกระทั้งเกิดคัมภีร์ ยชุรเวทและสามเวท การแบ่งชนชั้นของคนในสังคมจึงถูกแบ่งออกเป็น ๔ วรรณะ โดยถือหลักจากการถือกำเนิดของวรรณะนั้น ๆ ตามคำภีร์ ได้แก่

            ๑. วรรณะพราหมณ์ถือเป็นวรรณะสูงสุด เกิดมาจากพระโอฐของพรหม ทำหน้าที่นักบวช ศึกษาและสืบทอดคัมภีร์พระเวท เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าโดยการประกอบพิธีกรรมให้กับบุคคลทุกวรรณะ

            ๒. วรรณะกษัตริย์เกิดจากพระพาหาของพรหม ทำหน้าที่นักรบ นักปกครอง 

            ๓. วรรณะ แพทย์หรือ ไวศยะ เกิดจาก พระโสณีของพระเจ้า ทำหน้าที่เป็นพ่อค้า เกษตรกรรม และหัตถศิลป์

            ๔. วรรณะศูทร เกิดจากพระบาทของพรหม ทำหน้าที่เป็นกรรมการใช้ร่างกายแบกหาม

             วรรณะทั้ง ๔ มี บัญญัติไว้ในคำภีร์พระเวทอันเป็นหลักธรรมของศาสนาพราหมณ์ซึ่งทุกคนจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด สิ่งนี้เองทำให้อำนาจของพราหมณ์ก้าวขึ้นมาอยู่จุดสูงสุด  นอกจากวรรณะทั้ง ๔ ยังมีวรรณะพิเศษอีกคือ จัณฑาล คือกลุ่มวรรณะผู้ที่บิดา มารดาฝ่าฝืนกฎข้อห้ามเรื่องการมีคู่ครองข้ามวรรณะ คนกลุ่มนี้จะเป็นที่รังเกียจของวรรณะอื่น ๆ ทุกวรรณะ ถือว่าเป็นบุคคลนอกวรรณะ ในภายหลังได้ปรากฏวรรณะแตกย่อยไปอีกมากมายนับพันวรรณะ  ด้วยระบบควบคุมทางสังคมนี้เองทำให้มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมโดยตรง และในช่วงการเกิดพุทธศาสนา และศาสนาเชน บุคคลที่ไม่พอใจต่อระบบวรรณะจึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาใหม่จำนวนมาก มีผลทำให้ศาสนาพราหมณ์ต้องกระทบกระเทือนรุนแรง

งานวรรณกรรมในยุคพระเวทมี ๔ ชนิด คือ

             มนตร์หรือสังหิตา คือบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า การให้พร สูตรและบทสวดในการประกอบยัญญะพิธี เขียนเป็นร้อยกรออง พราหมณะ คือตำราร้อยแก้ว ปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบยัญพิธี ความสำคัญทางการปฏิบัติ และความสำคัญทางคัมภีร์อันเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรม อรัญกะ คือตำราเรื่องป่า การใช้ชีวิตในป่า อุปนิษัท คือหลักธรรมอันลึกซึ้งซึ่งเป็นปรัชญาเก่าแก่ของอินเดีย

              ในตอนปลายของยุคพระเวทย์ อิทธิพลของพราหมณ์ได้ก้าวถึงจุดสุดยอดของพิธีกรรมทางศาสนา ยัญญะกรรมมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น ยัญญะกรรมกลายเป็นสิ่งที่พราหมณ์ใช้บังคับเทพเจ้าให้อำนวยสิ่งที่ตนปรารถนา หากทำให้ถูกต้องตามระเบียบวิธี ยัญญะกรรมนั้นจะบังคับให้เทพเจ้าที่ออกชื่อถึงในพิธีจะต้องอำนวยสิ่งที่ประสงค์ให้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากทำผิดขั้นตอนไปแม้แต่เพียงนิด ผลก็จะเป็นย่างอื่นไปในทันที (สุนทร ณ รังสี, ๒๕๒๑ : ๙) ยัญญะกรรมมีพิธีการที่โหดร้ายรุนแรงขึ้น มีความเชื่อถึงการยัญญะกรรมที่จะได้อานิสงค์มากกว่าการทำยัญญะทั่วไป ประกอบด้วยยัญญะกรรม ๔ ประเภท ได้แก่    ๑. อัศวเมธะ ฆ่าม้าบูชายัญ ๒. โคเมธะ ฆ่าโคบูชายัญ ๓. ราชสูยะ ฆ่าช้างบูชายัญ ๔. นรเมธะ ฆ่าคนบูชายัญ
               

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

บรรณานุกรม

            สมัคร บุราวาศ. ปรัชญาพราหมณ์ในพุทธกาล. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๖.

            เสฐียร พันธรังสี. ศาสนาปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. ๒๕๔๙.

           สุนทร ณ รังษี. ปรัชญาอินเดีย ประวัติและลัทธิ. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : พิพิธวิทยา. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

            ประภัสสร บุญประเสริฐ. ประวัติศาสตร์เอเชียใต้. พิมพ์ครั้งที่ ๙. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ๒๕๔๘.

           http://www.old2005.mbu.ac.th/index.php?option=content&task=view&id=154&Itemid=89.สืบค้นเมื่อ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓.

คำสำคัญ (Tags): #พราหมณ์
หมายเลขบันทึก: 330573เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2010 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท