ร่วมช่วยกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากงานวิจัยทางการศึกษา


ดาวน์โหลดฟรี ชุดโปรแกรมช่วยวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยทางการศึกษาได้ที่ http://e-learning.vec.go.th/elearning/

การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) ที่มีวิสัยทัศน์ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” ต้องการความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ทุกระดับในการมีส่วนร่วม เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาทางการศึกษาอย่างเป็นระบบตรงตามปัญหาข้อเท็จจริงมี่เป็นอยู่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยงานวิจัยทางการศึกษาอย่างกว้างขวางในทุก ๆ ด้านอย่างครบถ้วน จึงจะมองเห็นความสำเร็จอยู่เบื้องหน้า สอดคล้องกับความคิดเห็นของวิทยากร เชียงกูลจากรายงานการวิจัยเรื่องสภาวะการศึกษาไทย ปี 2550 – 2551 (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2551) ว่า “การพัฒนาการศึกษาที่ถูกทางนั้น ต้องเปลี่ยนไปเน้นเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชนและชุมชน แทนเป้าหมายการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นด้านหลักอย่างที่ผ่าน ๆ มา การปฏิรูปการศึกษาจะสัมฤทธิ์ผล ต้องเน้นปัญหาเรื่องคุณภาพและความเสมอภาคของโอกาสในการได้รับการศึกษาของประชาชน และปัญหาการพัฒนาคุณภาพของครูอาจารย์ ต้องวิเคราะห์วิจัยเรื่องการจัดการศึกษาและการพัฒนาประเทศอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม และมองหาสาเหตุของความล้าหลังของการจัดการศึกษาอย่างวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อสาวให้ถึงปัญหารากเหง้าและการหาทางออกที่เป็นไปได้จริง การวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม หมายถึงการมองการจัดการศึกษาและการพัฒนาประเทศในความหมายกว้าง ที่รวมถึงการพัฒนาความฉลาดทั้งด้านปัญญา อารมณ์ จิตสำนึก เพื่อที่ประชาชนจะได้พัฒนาเข้มแข็งทางภูมิปัญญามากพอที่จะไปช่วยกันแก้ไขปัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจการเมือง สังคม วัฒนธรรม จิตใจของประชาชนทั้งประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน ต้องคิดทั้งในเชิงแก้ที่ระบบโครงสร้างการบริหารและการพัฒนาตัวบุคคลให้มีจิตสำนึกความเป็นครู มีความภูมิใจในการทำงานเพื่อพัฒนาคนและพัฒนาประเทศชาติควบคู่กันไป เพราะการมีคนดี คนเก่งนั้นแม้ระบบบริหารจะมีข้อจำกัดบ้าง พวกเขาก็จะพยายามหาวิธีทำให้เกิดผลดีต่อผู้เรียนเองได้ในทางใดทางหนึ่ง แต่ถ้าคนไม่ดี ไม่มีจิตสำนึก อุดมคติถึงจะวางระบบไว้ค่อนข้างดี พวกเขาก็จะหาช่องโหว่ หลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำตาม หรือทำไปอย่างแกน ๆ แบบไม่ตั้งใจไม่มีคุณภาพ แต่ถ้าระบบการบริหารไม่เอื้ออำนวยคนดี ๆ คนเก่ง ๆ ทำไปได้สักพักหนึ่งก็อาจท้อแท้ใจ หมดไฟในการทำงานไปก็ได้เท่านั้น จึงต้องปฏิรูปทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไป นอกจากการปฏิรูปการพัฒนาครูอาจารย์ ผู้บริหาร การคัดเลือกครูอาจารย์ ผู้บริหารให้มีคุณภาพและจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง และการปฏิรูประบบการบริการจัดการศึกษาภาครัฐแล้ว เราต้องคิดเรื่องการศึกษาในวงที่กว้างกว่าการทำงานของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ คือต้องคิดรวมถึงการพัฒนาพ่อแม่ ผู้ปกครอง ประชาชนทั้งประเทศ องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรชุมชน ภาคธุรกิจให้มีความรู้ความสนใจเรื่องการศึกษาเพิ่มขึ้น และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการศึกษามากขึ้น ทั้งโดยการเข้าไปเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา เข้าไปเป็นสมาคมผู้ปกครอง ศิษย์เก่า สมาคมการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบดูแล เสนอแนะ ผลักดัน การประเมินการศึกษา การจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรสังคมประชา องค์กรประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ให้ผู้เรียนมีทางเลือกอย่างหลากหลาย และส่งเสริมการแข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ การมีทางเลือกใหม่ ๆ สำหรับผู้เรียนเพิ่มขึ้น”

การวิจัย เป็นกระบวนการที่อาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาคำตอบให้แก่ปัญหาหรือคำถามต่าง ๆ เพื่อให้ได้คำตอบที่น่าเชื่อถือ กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการในการแสวงหาความรู้ใหม่ และสร้างความรู้ใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป การวิจัยทางการศึกษาหรือการวิจัยด้านการเรียนการสอน จึงเป็นตัวบ่งชี้ของความก้าวหน้าของศาสตร์ทางการสอน ดังจะเห็นได้จากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผลงานวิจัยเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะแรก ๆ มักทำตามความสนใจของผู้วิจัยเอง งานวิจัยจึงกระจัดกระจาย ต่อมาจึงได้มีการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยเพื่อให้เห็นภาพรวม ซึ่งสามารถบ่งบอกสถานภาพของการวิจัยของประเทศไทย จากการสังเคราะห์งานวิจัยพบว่า งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ทำเป็นวิทยานิพนธ์ และงานวิจัยของสถาบันการศึกษา เป็นงานวิจัยประยุกต์ งานวิจัยและพัฒนาและงานวิจัยพื้นฐานมีไม่ถึงร้อยละ 1 ระดับการศึกษาที่วิจัยพบว่า ทำมากที่สุดในระดับมัธยมศึกษา ประถมศึกษา และอุดมศึกษา งานวิจัยในระดับอาชีวศึกษาและก่อนประถมศึกษามีน้อยมาก งานวิจัยส่วนใหญ่ที่พบเป็นงานวิจัยในมิติของกระบวนการจัดการเรียนการสอน รองลงมาเป็นงานวิจัยมิติผู้เรียน งานวิจัยหลายมิติ และงานวิจัยมิติการสอน ส่วนงานวิจัยในมิติสภาพแวดล้อมมีน้อยมาก สำหรับในมิติเกี่ยวกับการเรียนการสอน พบว่ามีงานวิจัยเกี่ยวกับวิธีสอนมากที่สุด รองลงมาคือการใช้สื่อการสอน (ทิศนา, 2550: 451-471)

ครูทุกคน ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญ จึงต้องตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนอันสำคัญนี้ จะต้องพัฒนาตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งสร้างวัฒนธรรมทางวิชาชีพครูยุคใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อก้าวสู่ความเป็นครูมืออาชีพ ด้วยการจัดกระบวนการเรียนที่เหมาะสมเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนและการศึกษา ดังนั้นการวิจัย จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ใช้ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอนเพราะจะเป็นการช่วยพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอนได้ ครูต้องทำวิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนควบคู่กันไป

ทองพูล บุญอึ่ง (2544: 46-47) ได้กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครูที่จะก้าวสู่มืออาชีพไว้ดังนี้

…ครูมืออาชีพต้องถือว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ครูต้องวิเคราะห์หลักสูตร เตรียมการสอน จัดทำแผนการสอน พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน จัดทำ คิดค้น พัฒนาสื่อและนวัตกรรมการสอน และสามารถทำการวิจัยเป็น…

แต่คำว่า “การวิจัย” ดูเหมือนจะเป็นคำที่สร้างความรู้สึกว่า เป็นเรื่องยาก ครูไม่สามารถทำได้ มักสื่อความหมายว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินศักยภาพ อีกทั้งเป็นภาระที่หนักเกินไปสำหรับครู จึงมีคำถามจากครูว่า ครูจะทำการวิจัยได้หรือ และถ้าทำแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร (กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2542: 2; ผ่องพรรณ, 2543: 2)

จากการติดตามการทำวิจัยของครู พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นมากมายจากความไม่เข้าใจในกระบวนการวิจัย และปัญหาอื่น ๆ ได้แก่ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำวิจัย วิตกเกี่ยวกับการทำวิจัย และยังไม่เข้าใจขั้นตอนกระบวนและวิธีดำเนินการวิจัย และคิดว่าเป็นวิธีการที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน โดยขาดปัจจัยที่เอื้อต่อครูในการทำวิจัยมากที่สุดคือ วัสดุอุปกรณ์และแหล่งวิชาการ และปัจจัยในด้านบุคคล เช่น ความรู้ ความเข้าใจ งบประมาณ และความพร้อมในด้านเวลา และครูต้องการหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาสนับสนุน เช่น แหล่งวิชาการ วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณ ฯลฯ

การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ก็เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการและวิธีดำเนินการวิจัยที่ผู้วิจัยต้องมีความรู้ความเข้าใจและรู้จักเลือกใช้ตัวสถิติที่ถูกต้องกับงานวิจัยนั้น ๆ และยังต้องวิเคราะห์ข้อมูลตามสูตรสถิติที่ยุ่งยาก เพื่อให้ได้รับคำตอบจากโจทย์วิจัยหรือสมมติฐานที่ได้ตั้งไว้  ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคหนึ่งที่ครูกลัวและไม่กล้าทำวิจัย นอกจากนี้ครูผู้วิจัยส่วนใหญ่ ถ้าไม่วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติจากการคำนวณด้วยมือหรือใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณแทนมือ ก็จะใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติที่มีลิขสิทธิ์ค่อนข้างแพง เช่น SPSS เป็นต้น เพราะมีความสะดวกให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องรวดเร็วมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับในวงการวิจัย (สามารถอ้างอิงในการวิเคราะห์ข้อมูลในบทที่ 3 ได้เลย) แต่ครูผู้วิจัยก็ต้องมีความรู้และทักษะพื้นฐานในการใช้งานคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิตินั้น ๆ หากใช้งานไม่เป็นก็จะต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติที่ยุ่งยากเป็นจำนวนมาก รวมทั้งค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการจ้างวิเคราะห์สถิติสำหรับผู้ที่ไม่ได้วิเคราะห์สถิติด้วยตนเอง

ดังนั้น การพัฒนาชุดโปรแกรมช่วยวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยทางการศึกษานี้ เพื่อช่วยแบกรับภาระที่หนักของครู ช่วยให้ครูทำงานวิจัยได้ง่ายขึ้น และช่วยให้ครูสามารถพัฒนาการเรียนรู้และทำงานวิจัยด้วยตนเองได้ นับว่าเป็นงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบซอฟท์แวร์ประยุกต์ใช้กับงาน ที่เสริมสร้างศักยภาพการวิจัยให้กับครู พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ให้เป็นครูนักวิจัยมือใหม่  เป็นครูมืออาชีพ เป็นวิชาชีพที่มีคุณค่า ที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนที่มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ สามารถเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองและแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ช่วยวิจัยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ที่มีคุณภาพ และช่วยวิจัยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ภาคเอกชนและทุกภาคส่วน อันจะนำประโยชน์สุดท้ายไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยโดยรวมในยุคการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ. 2552-2561) และในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2542. วิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้. กรุงเทพฯ: กองวิจัยทางการศึกษา.

ทิศนา, 2550. ศาสตร์การสอน: องค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์.

ทองพูล บุญอึ่ง. 2544. “สู่ความเป็นครูมืออาชีพ”. ข้าราชการครู. 5 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2544): 46-47.

ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล. 2543. การวิจัยในชั้นเรียน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2551. ข่าวเด็น. (Online) Available: http://www.onec.go.th/
cms/new_highlightview.php?ID=112. (สืบค้นข้อมูล 28 สิงหาคม 2552).

หมายเลขบันทึก: 330374เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2010 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท