brochill
วราวรรณ จันทรนุวงศ์(ศิริอุเทน)

Learning from Interpretive Research in Science Classroom


Learning from Interpretive Research

Learning from Interpretive Research in Science Classroom

……………….. 

Tobin G. K. (1991). Learning from Interpretive Research in Science Classroom. In J. J. Gallagher (ed.), Interpretive Research in Science Education. NARST, 197-216.

………………………….

วราวรรรณ  จันทรนุวงศ์(ศิริอุเทน)

………………

                นักวิจัยได้เรียนรู้อะไรจากการทำวิจัยเชิงตีความในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ ในงานนี้ Tobin (1991) ต้องการอธิบายถึงประสิทธิภาพของการวิจัยเชิงตีความ เพราะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำวิจัย เพราะจะช่วยให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษาพัฒนาขึ้น โดยเขาพยายามเชื่อมโยงการวิจัยเชิงตีความกับทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (constructivism) เนื่องจากนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษาต้องเรียนรู้การทำวิจัยที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียน ต้องเรียนรู้มากกว่าที่ผ่านมา ด้วยวิธีการ ด้วยกรอบทฤษฎีต่างๆ ในความเป็นนักวิจัยจะต้องสามารถจำแนก แยกแยะ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จากการเรียนการสอน ซึ่งปัจจุบันมี 2 กระบวนทัศน์ (paradigm) ที่แตกต่างกัน เขาสนับสนุนและพยายามอธิบายเปรียบเทียบกระบวนการวิจัยและกระบวนการเรียนรู้ว่าทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (constructivism) เป็นพื้นฐานของการวิจัยเชิงตีความ (interpretive research) เขาจึงนำเสนอความแตกต่างระหว่างญาณวิทยา(epistemology) ของกลุ่มที่เป็นเชิงปริมาณ (objectivist) กับเชิงคุณภาพ (subjectivist) ซึ่งเป็นของทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง

ในส่วนแรก เขาได้อธิบายถึงการนำทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง มาใช้ในการวิจัยเชิงตีความ การนำการวางแผนและการทำวิจัยมาอธิบายในลักษณะที่เป็นเชิงคุณภาพ โดยนักวิจัยจะต้องรู้สึกว่าตนเชื่อและเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญในการตัดสินใจเลือกวิธีการนี้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีการเดิมที่เป็น objectivist ซึ่งมักสันนิษฐานว่าต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เหมือนแบบเดิมที่เคยทำมา และอีกส่วนหลัง เขาได้นำตัวอย่างงานวิจัยที่แสดงถึง การได้มาซึ่งทฤษฎีฐานราก (Grounded Theory) จากการทำวิจัยเชิงตีความซึ่งได้ทฤษฎี (theory) จากการวิเคราะห์ตัวแทนความรู้ความเข้าใจ จากโปรแกรมการทำวิจัย กรอบการวิจัย และการสะท้อนการคิดของนักวิจัย

Tobin ได้รวบรวมงานวิจัยของตนที่มีมาประมาณ 1 0ปี ที่ทำการศึกษาทิศทางเกี่ยวกับการคิด แต่ขณะที่เป็นนักวิจัยในชั้นเรียนนั้น เขากลับสนใจการเชื่อมโยงกันระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เกิดขึ้นกับความสามารถในการคิด จึงทำให้เขาตระหนักว่า การวิจัยเชิงตีความเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เนื่องจากในชั้นเรียนนั้น มีปัจจัยอื่นที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จึงเกิดความไม่ยอมรับวิธีวิจัยแบบเดิมที่เคยทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษามา เขารู้สึกว่า การวิจัยเชิงตีความ จะช่วยให้เขาได้อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง ได้พิสูจน์ ได้ใช้เหตุผลต่างๆ จากการสังเกต และได้สร้างทฤษฎีขึ้นเองจากการทำการสอนในชั้นเรียน ถึงแม้เขาจะตระหนักว่า การสร้างความรู้ด้วยตนเองจะมีการปรับสถานการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งนั่นไม่ใช่พฤติกรรมของนักวิจัยที่ควรจะทำ อย่างไรก็ตาม ตอนที่ได้มีโอกาสพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว Ernest Von Glasersfeld ก็ได้กล่าวว่า ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองนั้น เป็นทฤษฎีล้มล้าง (Constructivism is a subversive theory) เขาจึงหันมาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นและได้เรียนรู้จากการประพฤติปฏิบัติของครูและนักเรียนในชั้นเรียน ในการทำวิจัยของเขาในรอบหลายปีที่ผ่านมา และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น   

Constructivism and Interpretive Research

            Von Glasersfeld (1989) เสนอว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะปฏิเสธเชิงปริมาณและไปปฏิบัติตามทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง และการทำวิจัยแบบนี้เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด เป็นความจริงที่เกิดจากประสบการณ์ตรง (experiential realism)

                แต่เนื่องจาก เชิงปริมาณนั้นครอบงำสังคมตะวันตกมาเกือบ 3 ศตวรรษ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ศึกษา จึงพยายามที่จะหาความรู้ ความจริงจากการกระทำหรือปรากฏการณ์ที่สามารถวัดได้จริง เห็นเป็นเชิงประจักษ์ สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการทางวิทยาสาสตร์ แนวคิดนี้ได้ ครอบงำวิทยาศาสตร์และแทรกซึมความคิดและการกระทำของเรามานาน Putnam (1981) เสนอว่า วิธีการเชิงปริมาณนี้มีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางความคิดของบุคคลมาโดยตลอด Lakoff (1987) และ Jornson (1987) อธิบายเกี่ยวกับวิธีการเชิงปริมาณว่าเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการอธิบายประสบการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด สิ่งสำคัญมีการใส่อคติเข้าไปหรือใส่ความรู้สึกเข้าไปในขณะสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มีการแยกแยะตามความรู้สึก วิธีการเชิงปริมาณเป็นการให้ความหมายเพียงสิ่งที่เป็นธรรมชาติและประสบการณ์ที่มองเห็น เกิดขึ้นขณะนั้น ปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่างนั้นๆ  ซึ่งเขาเสนอว่า จริงๆ แล้ว ความจริงที่เกิดจากประสบการณ์ตรง (experiential realism) นั้นควรเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากจริงๆ แล้วธรรมชาติและประสบการณ์นั้น ไม่ใช่ธรรมชาติและประสบการณ์เฉพาะบุคคล แต่เป็นธรรมชาติและประสบการณ์ของสิ่งๆ นั้น สังคมนั้น ดังนั้นประสบการณ์ในที่นี้ควรจะหมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหมดของบุคคลและทุก ๆ สิ่งที่มีอยู่ในตัวบุคคล ในสังคมและในโลก ในความเป็นจริงเราควรมองไปถึงทั้งชีวิต ทั้งโครงสร้าง และประสบการณ์ทางสังคมที่เป็นสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย    

                Lakoff (1987) อธิบายว่า สิ่งที่นักวิจัยจะต้องตอบคำถามคือ จะทำการวิจัยตามสภาพความเป็นจริงได้อย่างไร เขาพยายามอธิบายว่า เราจะไม่มองสิ่งที่อยู่ภายนอก แต่เราจะมองสิ่งที่อยู่ภายใน หรือลักษณะภายในที่เกิดขึ้น ต้องมองความรู้ในทุกส่วนไม่ใช่มองบางส่วน เราสามารถรู้ความจริงจากภายใน สามารถแยกเป็นส่วนๆ ได้ ถึงแม้จะไม่ใช่ความรู้ที่สมบูรณ์แต่เป็นความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นความรู้ที่มองเห็นได้จากส่วนต่างๆ

ส่วนคุณลักษณะเฉพาะของวิธีการเชิงปริมาณคือ โครงสร้างของความรู้หนึ่งสามารถใช้อ้างอิงไปยังอีกโครงสร้างหนึ่งได้ หรือจากกลุ่มตัวอย่างสามารถอ้างอิงไปยังกลุ่มประชากรอื่นๆ ได้ เขาจึงเสนอว่าวิธีการเชิงปริมาณกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปเสียแล้ว

                ส่วนทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง (constructivism) นั้นเชื่อว่า ความรู้ไม่ได้มาจากภายนอก Von Glasersfeld (1988) อธิบายว่า ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองนั้น มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 และมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน Tobin(1991) อธิบายว่าทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเองนั้น เชื่อว่า ความรู้ ความจริงนั้นมีอยู่ในเฉพาะตัวบุคคล อยู่อย่างอิสระ อย่างไรก็ตาม ความรู้หรือประสบการณ์นั้นถูกสร้างขึ้นตามกรอบการรู้และความเข้าใจเฉพาะของบุคคล ประสบการณ์จะรวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล เหตุการณ์ อุปกรณ์ เครื่องมือ ปรากฏการณ์ การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึกจริงๆ ประสบการณ์จริงๆ ผลของการมีปฏิสัมพันธ์เป็นผลที่เกิดขึ้นจริง ตามที่สามารถมองเห็นจากภายนอก ซึ่งไม่เพียงเท่านั้นแต่เป็นเป็นการสร้างความรู้จากภายใน มีลักษณะเป็นนามธรรม เพราะเกิดประสบการณ์ในเชิงอัตวิสัย (subjectivist)

                ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง Von Glasersfeld (1989) อธิบายว่า เป็นการสร้างมโนมติจากการคิดและการลงมือปฏิบัติที่มีอยู่ในบริบทแวดล้อม แต่เนื่องจากบุคคลยังมีการหาความรู้แบบวิธีการเชิงปริมาณอยู่ สิ่งนี้จึงครอบงำและเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนไปเป็นแบบการสร้างความรู้ด้วยตนเอง เพราะส่วนใหญ่มักหาความรู้แบบเชิงปริมาณ การปฏิเสธเชิงปริมาณแล้วหันมาสนใจการสร้างความรู้ด้วยตนเอง จึงมีคำถามว่า ส่วนไหนจะเป็นเชิงปริมาณและส่วนไหนจะเป็นเชิงคุณภาพ ส่วนไหนเป็นเชิงธรรมชาติและส่วนไหนเป็นเชิงสังคมศาสตร์ ในงานนี้จึงมุ่งประเด็นไปที่การเปลี่ยนญาณวิทยาสำหรับการวิจัยเชิงตีความในเชิงสังคมศาสตร์

จากการศึกษา สังเกต เก็บรวบรวมข้อมูลในวิธีเชิงปริมาณสู่การเชื่อมโยงไปยังเชิงคุณภาพ จะต้องตระหนักถึง ความเชื่อ คุณค่า ญาณวิทยา และการสร้างทางเลือกอื่นๆ ในการหาความรู้ การรับเอาหลายทฤษฎี หลายแนวคิดมาใช้ในการตีความหมายข้อมูล มีการใช้เทคนิคสามเส้า (triangulation) มาช่วยตีความเพื่อลดปัญหาการมีอคติ จะทำให้งานวิจัยน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ นักวิจัยยังต้องควรที่จะเข้าใจวิธีการอธิบาย การพรรณนา การตีความหมายของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน เพราะเนื่องจากยังมีอะไรที่แฝงอยู่ภายใน ซึ่งเป็นส่วนประกอบย่อยๆ หลายอย่าง ที่จะต้องทำความเข้าใจ การตัดสินใจจัดกระทำข้อมูลว่าจะสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์กับอะไร การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นปัจจุบัน เป็นปกติ มีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งใจ ทั้งจากวัตถุ เครื่องมือ เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลก็ขึ้นอยู่บนฐานทฤษฎีความเชื่อส่วนตัวของนักวิจัยในบริบทนั้นๆ เป็นสิ่งสำคัญ

ทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง จะต้องไม่ยึดหลักการของวิธีการเชิงปริมาณ แต่เป็นวิธีการใหม่ที่ใช้ในการจำแนกแยกแยะ และการแก้ปัญหา ต้องเป็นมุมมองที่เปลี่ยนไป ตีความจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จากความรู้ที่ตนมีอยู่ และต้องจำไว้ว่า เป็นความรู้ของผู้สังเกต ซึ่งขึ้นอยู่กับความแตกต่างของบุคคลที่มีความรู้ มีประสบการณ์ และการตีความของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน ดังนั้น การวิจัยจึงต้องมีทีมวิจัยหรือนักวิจัย จึงต้องมีการเตรียม ผู้ปฏิบัติ ผู้เก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัย ให้เข้าใจในบทบาทของตน เข้าใจในงานวิจัยที่จะทำ ตลอดจนเข้าใจในบริบทของชั้นเรียนที่แตกต่างกัน

จากประสบการณ์การทำวิจัยเชิงตีความ เพื่อเป็นประสบการณ์พื้นฐานสำหรับนักวิจัย สิ่งที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพการวิจัยคือ การเรียนรู้ธรรมชาติของประสบการณ์และกระบวนการตีความ ความรู้เดิมในการตีความที่มีอยู่เดิมนั้น ไม่ใช่กระบวนการที่ทำได้กับทุกคน เนื่องจาก บุคคลมี “ยุทธวิธี” หรือเทคนิคในการตีความ ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการประยุกต์ และลำดับขั้นตอนของการตีความ 

Learning from a Program of Research

            Tobin & Gallagher (1987) มุ่งประเด็นไปที่การวิเคราะห์พฤติกรรมของครูและนักเรียน โดยมีคำถามว่า “ทำไมจึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น” บนฐานความเชื่อของครูที่เกี่ยวข้องกับคำถามทั่วไป 2 คำถามคือ

                1. “What was happening?” จากคำถามนี้ จึงต้องมีการใช้กระบวนการวัดผลประเมินผลที่เกี่ยวกับหลักสูตร การมีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มเล็กๆ ความแตกต่างระหว่างเพศ ยุทธวิธีของครูในการจัดการชั้นเรียน หรือในห้องปฏิบัติการ

                2.  “Why it was happen?” ซึ่งหาคำตอบได้จากการยืนยันบนฐานความเชื่อของครู ว่าจะสอนนักเรียนอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับฐานความเชื่อของครู

มีการทำวิจัยเกี่ยวกับการวิจัยเชิงตีความของ Tobin ที่ใช้การวิจัยเชิงตีความ แล้วทำให้ได้ข้อสรุป จากการวิเคราะห์ตัวแทนความเข้าใจ จากโปรแกรมการทำวิจัย กรอบการวิจัย และการสะท้อนการคิดของนักวิจัย ดังนี้

Tobin & Fraser (1987) เป็นโปรแกรมการวิจัยที่แสวงหาครูต้นแบบวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ใน Australia โดยครูเหล่านี้ได้รับการคัดเลือก เนื่องจากนักวิจัยจะได้เรียนรู้ความคิดของพวกเขา เกี่ยวกับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ ความรู้ของครูวิทยาศาสตร์ ความเชื่อเกี่ยวกับการเรียนรู้ และจะเรียนรู้จากอะไร

Tobin, Espinet, Byrd & Adams (1988) โดยศึกษาแบบการวิจัยเชิงตีความของครู Hoskin เพื่อเปรียบเทียบการวิจัยเชิงปริมาณ กับเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณนั้น ทำบนฐานความเชื่อเดิมคือ  objectivist ตอบคำถามตามลำดับขั้นตอนที่ยึดวิธีการ objectivist epistemology  และเชิงคุณภาพที่ใช้การมองผ่านญาณวิทยาของ constructivist นักวิจัยสร้างแนวคิดจากการเรียนรู้ในชั้น ศึกษา ตัดสินจากสิ่งที่สังเกตเห็นในบริบทที่เป็น constructivism ปรากฏว่ามีความแตกต่างกันมากในผลการวิจัย

Tobin, Espinet (1989) ศึกษาครู Jonathan ซึ่งเขาไม่ใช่ครูเก่ง หรือครูที่เตรียมเกษียณ เขามีความรู้ในเนื้อหาที่อ่อน แล้วทำการศึกษาความพยายามของเขาในการเปลี่ยนความเชื่อและการปฏิบัติ

 Tobin, Espinet (1990) มุ่งศึกษาการแสวงหาความรู้ของครู จากความเชื่อของครู และอิทธิพลของความเชื่อของครูต่อชั้นเรียน

Tobin, Kahle & Fraser (1990) ศึกษาครู Australia 2 คน โดยดูที่มุมมองการสอนและการเปลี่ยนแปลงของครู และสิ่งที่ครูทำในชั้นเรียน โดย Peter ใช้ metaphor สำหรับสร้างความเข้าใจให้นักเรียน โดยเขาทำการสอนเหมือนเขาเป็น “กัปตันเรือ” เขามุ่งมั่น ยืนยัน และเผด็จการกับนักเรียนในชั้นเรียน เขาควบคุมและให้นักเรียนทำตามที่เขาบอก และ Sandra เธอสอนบนความเชื่อที่ว่า การที่เด็กจะเรียนรู้นั้น ต้องได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองและการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ครูและนักเรียนร่วมกันออกแบบบรรยากาศในการจัดชั้นเรียน เธอทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง metaphor ความเชื่อ และวิธีการสอนที่เป็นลักษณะเฉพาะของเธอ เธอเชื่อว่าต้องใกล้ชิดเด็กเพื่อช่วยเหลือเขา มีการจัดการ มีการประเมินที่ต้องใช้เวลาพอสมควร การเรียนมีลักษณะเป็น “Party of Learning” metaphor ช่วยทำให้เกิดความเกี่ยวเนื่องกันของความเชื่อและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน และใช้ Constructivism ในการเชื่อมโยงความคิด การปฏิบัติ การดึงเอามโนมติออกมา บนฐานความเชื่อของเธอ

Tobin & Jakubowski (1990) ศึกษาการใช้การอ้างอิงในการทำความเข้าใจจากการเชื่อมโยงการคิดกับการแสดงออก โดยการอ้างอิงนั้นประกอบด้วยเรื่องราว มุมมอง และญาณวิทยาเฉพาะบุคคล ในแง่ของความเชื่อ การอุปมาอุปมัย และการสร้างภาพ โดยอยู่บนฐานการคิดที่เป็นวัฒนธรรมของโรงเรียน

จะเห็นได้ว่าการศึกษาจากงานที่ทำ ช่วยทำให้ทฤษฎีสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งไม่ใช่ลักษณะที่เป็นเชิงประจักษ์หรือสิ่งที่มองเห็น (empirical) เท่านั้น การจะได้มาซึ่งทฤษฎีฐานราก (grounded theory) นั้น การใช้ metaphor ช่วยก็เป็นอีกทางหนึ่ง การนำสัญลักษณ์ต่างๆ มาใช้ ก็เช่นกันขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าและความสนใจในสิ่งนั้นของบุคคล ภายใต้วัฒนธรรมนั้นๆ เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น การพูดและพฤติกรรมการสอนของครูจะนำไปสู่การนำเอาวิธีการและหลักสูตรวิทยาศาสตร์ไปใช้ 

Conclusions

            ประเด็นสำคัญของโปรแกรมการวิจัยเชิงตีความ คือการมุ่งประเด็นไปที่ ทฤษฎีเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การตอบคำถามควรตอบให้ตรงกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แทนการกล่าวอ้าง การสร้างทฤษฎีฐานราก เพื่อยันยันข้อมูลมีค่ามากเกินกว่าการปฏิเสธข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อสร้างทฤษฎีใหม่

                ในการสะท้อนผลการวิจัยเชิงตีความนั้น ต้องการสะท้อนประสบการณ์ ที่ไม่ใช่เพียงการสังเกตพฤติกรรมของครูและนักเรียนเท่านั้น แต่เป็นการเรียนการสอนที่ต้องใช้การอภิปรายกับบุคคลอื่น และพฤติกรรมในชั้นเรียนด้วย จึงต้องเข้าใจในทฤษฎี และการวิเคราะห์เชิงลึกของการวิจัยเชิงตีความด้วย อย่างไรก็ตาม การสร้างประสบการณ์ก็เป็นหัวใจของการวิจัยเชิงตีความ การอธิบายประสบการณ์จากความรู้ที่มีอยู่ การสร้างทฤษฎีฐานราก และการประยุกต์ใช้กรอบการตีความ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักวิจัยจะต้องเข้าใจอย่างดี ดังนั้น วงจรของการเรียนรู้จึงมีความต่อเนื่อง โดยมีประสบการณ์เป็นพื้นฐานของการเกิดความรู้ใหม่ ที่ได้มาจากการสร้างประสบการณ์ จะเห็นได้ว่า การทำวิจัยนั้นเป็นการให้ความสำคัญตั้งแต่การเตรียมโปรแกรมการวิจัยสำหรับการวิจัยหรือการศึกษา

                การวิจัยเชิงตีความเป็นการให้ความหมายของการเรียนรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มองเห็นได้เป็นเชิงประจักษ์  ไม่ใช่เป็นแค่เพียงเครื่องมือของนักวิจัย แต่ใช้ได้กับการพัฒนานักเรียนในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ด้วย มากไปกว่านั้นประสบการณ์ของบุคคล ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะของบุคคล เราเรียนรู้จากการสะท้อนผลว่า เรามีประสบการณ์ก่อนหน้านี้อย่างไร มีการย้อนกลับมาสร้างจินตนาการใหม่จากความรู้ใหม่ที่ได้รับ

                การใช้ญาณวิทยาตามแนวคิดของทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยการพยายามสร้างผลการวิจัย โดยมีหลักพื้นฐานว่าจะวางแผนอย่างไร และใช้เครื่องมือวิจัยอย่างไร มีการกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อสร้างทฤษฎีจากพื้นฐานประสบการณ์ โดยสามารถทดสอบความน่าเชื่อถือของเหตุการณ์ในปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมาได้จากการทำวิจัยของเรา.

.............................................

หมายเลขบันทึก: 330010เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2010 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท