วิจัยชี้ใบตองปิดแผลไหม้ช่วยหายเร็ว เสี่ยงติดเชื้อ 0%


พยาบาลศูนย์สุขภาพชุมชนปราสาทเยอ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ เจ๋ง วิจัยพบใบตองสรรพคุณสุดวิเศษ ปิดแผลไหม้แทนผ้าก๊อซ ช่วยให้หายเร็ว ไม่ปวดแสบ ไม่ติดแผล ระบุเสี่ยงติดเชื้อ 0% แถมประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 2 เท่า หลังทดลองใช้ ผู้รับบริการพอใจ 100% ผัก ผลไม้ และพืชสมุนไพรไทยนั้น มีชื่อเลื่องลือไปถึงต่างประเทศในเรื่องสรรพคุณช่วยรักษาสุขภาพและรักษาโรคได้มากมาย ซึ่งเกิดจากภูมิปัญญาไทย และนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีบุคลากรด้านสาธารณสุขเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทย ทำวิจัยโดยนำใบตอง มาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค จนพบว่า ใบตองเมื่อนำมาปิดบาดแผลไหม้แล้ว ช่วยให้แผลหายเร็วกว่าการใช้ผ้าก๊อซ และมีราคาถูกกว่าถึง 2 เท่างานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเปิดเผยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ภายในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประจำปี 2551 ที่ สธ.จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม ที่โรงแรมปริ๊นพาเลซ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ เข้าร่วมประมาณ 2,000 คน และมีการนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การพยาบาล ทันตกรรม เภสัชกรรม และวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 395 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้มีการนำเสนอผลงานวิชาการ สาขานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เรื่อง ใบตองวิเศษพิชิตแผล แคร์ความรู้สึก ของ นางอรทัย ไพรบึง พยาบาลวิชาชีพ 7 ศูนย์สุขภาพชุมชนปราสาทเยอ อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษนางอรทัย กล่าวว่า จากการที่ทีมงานใช้ใบตองในการปิดแผลไหม้แทนการใช้ผ้าก๊อซให้แก่กลุ่ม ตัวอย่าง ทั้งที่เป็นผู้รับบริการทำแผลไหม้ระดับ 1 คือ เนื้อเยื่อชั้นหนังกำพร้าถูกทำลาย และระดับ 2 คือ ไม่ทำลายถึงชั้นคอเรียม จำนวน 37 คน ตั้งแต่ปี 2549-ปัจจุบัน พบว่า ผู้รับบริการพึงพอใจ 100% เนื่องจากไม่ปวดแสบแผล เย็นสบาย เวลาแกะไม่เจ็บ อุบัติการณ์ความเสี่ยงที่ติดเชื้อนั้นเป็น 0% อีกทั้งช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน ขณะที่หากใช้ผ้าก๊อซ การหายของแผลจะประมาณ 5-10 วัน และไม่ต้องใช้น้ำเกลือในการแกะแผล ซึ่งปกติต้องใช้ประมาณ 50-100 ซีซี เมื่อรวมต้นทุนในการพยาบาลบาดแผลไฟไหม้จากต้นทุนการใช้ผ้าก๊อซจำนวน 911 บาท แต่หากใช้ใบตองมีต้นทุนเพียง 385 บาทเท่านั้น“การใช้ใบตองปิดแผลไหม้ ทำให้เวลาล้างแผลผู้ป่วยจะไม่ทุกข์ทรมานจากการที่ผ้าก๊อซติดกับแผล เพราะใบตองมีคุณสมบัติที่ดี เป็นผิวมัน ไม่หยาบ หรือขรุขระเหมือนใบไม้ชนิดอื่น ทำให้ไม่ติดกับแผลและแผลหายเร็วกว่าปกติ จากการที่ไม่มีการกระชากดึงแผล เซลล์ที่กำลังเติบโตของแผลก็ไม่ถูกทำลาย และใบตองยังมีความชุ่มชื้นที่แผลไฟไหม้ต้องการ อย่างไรก็ตาม การใช้ใบตองปิดแผลไหม้มีข้อจำกัดสำหรับแผลที่อยู่ในบริเวณที่ระบายเหงื่อได้ ดี เช่น แขน ขา ลำตัว แต่ไม่สามารถพันบริเวณรักแร้ ข้อมือ ข้อพับต่างๆ ได้" นางอรทัย กล่าวนางอรทัย กล่าวอีกว่า ในระดับศูนย์สุขภาพชุมชนไม่สามารถเบิกผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันไม่ให้ผ้าก๊อซติด แผลได้ จึงนำแนวคิดการปิดแผลไหม้จากตึกศัลยกรรมการดูแลไฟไหม้ของโรงพยาบาลศิริราชมา ประยุกต์ใช้ เนื่องจากใบตองเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ ซึ่งการใช้งานเบื้องต้นจะต้องนำใบตองมาล้างทำความสะอาด จากนั้นตัดใบตองตามขนาดของแผล และทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% แล้วนำมาปิดแผล ก่อนปิดตามด้วยผ้าก๊อซ เพื่อให้ไม่ลื่นหลุด ทั้งนี้ หากจะนำมาปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ ควรทาว่านหางจระเข้หนา 2-5 มิลลิเมตร แล้วนำใบตองมาปิด ส่วนตัวจึงต้องการให้มีการขยายผลสำเร็จของนวัตกรรมสู่เครือข่ายบริการสุขภาพ ในระดับปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัยและโรงพยาบาลชุมชน เป็นต้นภายในงานเดียวกันนี้ นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล 2 หมื่นบาท ให้แก่เจ้าของผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2550 จำนวน 2 คน ได้แก่ นพ.กิตติศักดิ์ เชื้อสกุลวนิช โรงพยาบาลสุรินทร์ จากเรื่อง “การเสียชีวิตจากภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดในผู้ใหญ่ ของโรงพยาบาลสุรินทร์" และนายประจักร กองตัน สถานีอนามัยจำไก่ จ.พะเยา เรื่อง “การปรับใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดงานบุญศพ ไม่บริการสุรา ไม่แสดงสื่อลามก และไม่เล่นการพนัน”

และรางวัลชมเชย 1 รางวัล ได้แก่ ทญ.พัชรี กัมพลานนท์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ ผลงานเรื่อง “การพัฒนาระบบบริการรักษารอยโรคเยื่อบุช่องปาก ในโรงพยาบาลหาดใหญ่”นายไชยา กล่าวว่า บุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นกำลังหลักขององค์กร นอกจากจะต้องมีจิตบริการแล้ว จะต้องทำงานด้วยสมอง รู้จักศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งยารักษาโรค เครื่องมือแพทย์ มาใช้ในงานบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดทุกด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า การประชุมวิชาการเป็นเวทีรวบรวมผลงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการแพทย์และ สาธารณสุข ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสุขภาพของประชาชนไทย ให้บุคลากรสาธารณสุขได้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการระดมความคิดที่เป็นแนวทางใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนางานที่รับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและเหมาะสมพื้นที่มากยิ่งขึ้น

From: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก



หมายเลขบันทึก: 329519เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2010 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ  แวะมาอ่าน  ขอบคุณค่ะ       

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท