เล็งผลเลิศลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 1% คลังชง ครม.นัดพิเศษโยกเงินฝาก


เล็งผลเลิศลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 1% คลังชง ครม.นัดพิเศษโยกเงินฝาก
       พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 มิ.ย. ตั้งแต่เวลา 12.00 น. จะเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงอย่างมาก อีกทั้งต่างประเทศไม่ค่อยเชื่อมั่น และไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง จึงไม่รู้ทิศทางการลงทุนว่าจะเป็นอย่างไร ทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัว จึงต้องเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
       ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.นัดพิเศษ กระทรวงการคลัง        จะเสนอเรื่องการดึงเงินฝากของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ฝากอยู่ในระบบของธนาคารพาณิชย์ กลับมาฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 2 แห่ง เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนที่เป็นลูกค้าของธนาคารทั้ง 2 แห่งตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม.เมื่อ 30 พ.ค.    สำหรับการลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าของ ธ.ก.ส.มีเป้าหมายที่จะลดภาระจากอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรมีเงินเหลือจากการชำระหนี้มากขึ้น แล้วนำไปใช้จ่าย ในสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น ถ้าลดดอกเบี้ยลงได้ 1,000 บาท ก็จะมีเงินซื้อปุ๋ยได้ 3 กระสอบหรือซื้ออาหาร   ได้หลายวัน เบื้องต้นจะมีการกำหนดว่า วงเงินกู้ระดับไหนจะได้รับดอกเบี้ยช่วยเหลือเท่าไหร่ โดยขึ้นอยู่กับ    ผลการประชุม ครม.นัดพิเศษ     ทั้งนี้ ในหลักการแล้วกระทรวงการคลังอยากจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทของธนาคารทั้ง 2 แห่งลงประมาณ 1% แต่ถ้าน้อยกว่านั้นก็ไม่เป็นไร เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่โยกเข้ามาว่ามีจำนวนไหร่ จากจำนวนเงินทั้งหมดในเบื้องต้น 150,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน       เงินฝากเหล่านี้ ฝากอยู่ในธนาคารของรัฐ เช่น กรุงไทย และธนาคารเอกชนอยู่แล้ว ทำให้การโยกเงินกลับในครั้งนี้ ไม่เป็นการบิดเบือนกลไกของตลาด เพราะอัตราดอกเบี้ยธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 2 แห่ง รับฝากจะไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจได้รับ
       นายวราเทพกล่าวว่า ต่อไปนี้เงินฝากของรัฐและรัฐวิสาหกิจจะใช้คำว่า “เงินของแผ่นดิน” มีอยู่ 4 ประเภท คือ 1. เงินที่เกิดจากกฎหมายจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนหรือกฎหมายเฉพาะ 150,000 ล้านบาท   2. เงินที่อยู่ในกฎหมายเฉพาะและมาจากเงินที่รัฐบาลสมทบ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม  3. เงินที่อยู่ในองค์กรปกครองท้องถิ่น    4. เงินที่อยู่ในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายกำหนดให้ใช้จ่าย เช่น รายได้จากการประมูลทรัพย์สินของกรมบังคับคดี หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีการจ่ายและรับเข้าตลอดเวลา โดยเงินประเภทที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมตัวเลข ดังนั้นในเบื้องต้น จึงมีเงินอยู่ 150,000 ล้านบาท
       รมช.คลังยังเปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อระดมความเห็น ต่อสภาวการณ์การลงทุนในประเทศไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีนายทนง พิทยะ รมว.คลัง เป็นประธาน ว่า ภาคเอกชนทั้ง 3 แห่ง ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา เกิดภาวะชะลอตัวแต่ยังไม่รุนแรงนัก โดยสมาคมธนาคารไทยเสนอให้รัฐบาลใช้จุดแข็งคือ เร่งส่งเสริมการส่งออก และกระตุ้นการท่องเที่ยว เพราะจากการสำรวจของภาคธุรกิจพบว่า เศรษฐกิจที่ชะลอจะทำให้การใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลง การค้าปลีกลดลง และไม่อยากให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ     นอกจากนี้ ส.อ.ท.เสนอให้ขยายระยะเวลาและเปลี่ยนจากเงินสดเป็นการเครดิตภาษี ของภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องการขายเครื่องจักรและที่ดิน ซึ่งเป็นที่ตั้งเก่าของโรงงาน เนื่องจากย้ายไปตั้งที่ใหม่จะได้รับสิทธิพิเศษภาษีต่าง ๆเพื่อลดภาระให้แก่ ผู้ประกอบการ โดยจะส่งเรื่องดังกล่าวไปให้กรมสรรพากรพิจารณาต่อไป

ไทยรัฐ  2  มิ.ย.  49
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 32875เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2006 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2012 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท