เวียดนามกลางพายุฝน ตอน ๑๒ :เมืองเก่าฮอยอัน...ฝันที่เป็นจริง


ความฝันที่ฉันเคยวาดไว้ เป็นจริงที่ฮอยอันนี่เอง

 

 

 

 

 

 

                การวางแผนที่ดี  ลดข้อผิดพลาดลงไปได้มาก

 

                ทุกขั้นตอนของชีวิต จำเป็นต้องมีการวางแผน และศึกษาข้อมูลพอสมควร  ข้อมูลของชีวิต  เราศึกษาได้จากชีวิตของคนอื่น ๆ  ข้อมูลสำหรับการเดินทาง  เราศึกษาได้จากหนังสือที่คนเดินทางรุ่นก่อนเขียนบอกเล่าไว้

 

                ส่วนการวางแผนนั้นเป็นเรื่องของเรา  ซึ่งมีทางเลือกอยู่สองทาง  ถ้าไม่เดินตามทางคนรุ่นก่อน ก็เดินตามแบบที่เราปรารถนา

                การเดินทางท่องเที่ยว กับการเดินทางของชีวิต ย่อมไม่ต่างกัน

 

                ข้อมูลที่ฉันรับรู้เกี่ยวกับการจัดการมรดกโลกที่ฮอยอัน ทำให้ต้องตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าชม 2 ใบ  หมดเงินไป 150,000   ร่ำรวยไม่ใช่เล่นเลย  แต่เป็นเงินด่องไม่ใช่เงินบาท

 

                ทำไมต้องทำอย่างนี้ มีเหตุผลอธิบายได้ว่า ที่นี่เขามีวิธีการกระจายรายได้ให้กับชุมชน และเจ้าของบ้านโบราณที่เราจะเข้าชม  โดยใช้ตั๋วแบ่งโควต้าการชม เช่น ตั๋ว 1 ใบ  ชมบ้านโบราณได้ 1 ใน 4 หลัง  ชมพิพิธภัณฑ์ได้ 1 ใน 3 แห่ง  ชมหอประชุมของชุมชนชาวจีนได้ 1 ใน 3 แห่ง  เป็นต้น

 

                ทั้งนี้เพื่อแบ่งเปอร์เซนต์ให้แต่ละบ้านอย่างเป็นธรรม และประการต่อมานักท่องเที่ยวจะได้ไม่รบกวนความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านจนเกินไป

                นี่เป็นวิธีการจัดการโบราณสถานแบบมีชีวิต แบบให้ชุมชนมีส่วนร่วม  มีรายได้ และดำรงชีวิตควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว  เมื่อคนอยู่อาศัยมีส่วนในความภาคภูมิใจในการเป็นมรดกโลก และมีรายได้พอเลี้ยงตัว ก็จะเต็มใจต้อนรับนักท่องเที่ยว

 

                ไม่เหมือนมรดกโลกที่มีชีวิตบางแห่ง  เช่นที่ หมู่บ้านอบียาเน่ห์ในอิหร่าน ที่ชุมชนไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายรัฐบาล  ชาวบ้านจะแสดงความรำคาญ ๆ  หรือไม่ก็ปิดบ้านเงียบ ๆ  ไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยว  นอกจากพวกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว

 

                ฮอยอันน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ของการจัดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้ประเทศอื่น ๆ  ไว้ศึกษา

           

                จริง ๆ แล้วฉันว่านักท่องเที่ยวอยากศึกษาโบราณสถาน หรือมรดกโลกที่มีชีวิตมากกว่ามรดกโลกที่ไม่มีชีวิตอย่างเมืองเก่า หรือประสาทหินต่าง ๆ ที่แม้จะยิ่งใหญ่ แต่ก็ไร้สีสัน และความมีชีวิตชีวาของผู้คน

 

                ถ้ามากับบริษัททัวร์ หรือมีเวลาจำกัด คงได้ชมตามโควต้าของบัตร 1 ใบ  แต่โชคดีที่ฉันเที่ยวแบบเรื่อยเปื่อย จึงมีเวลาเหลือเฟือ

 

 

                บ้านเก่าหลังแรก ที่ใคร ๆ ก็นิยมมาดู คือบ้านเลขที่ 101 หรือ บ้านตันกี  (Tan Ky)  บ้านหลังนี้มีอายุกว่า 200 ปี  รูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง 3 วัฒนธรรม คือ จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม 

 

                บ้านนี้สร้างโดยนายตันกี  พ่อค้าที่ติดต่อค้าขายกับสเปนและดัตช์ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19  ปัจจุบันตกทอดมาสู่ทายาทรุ่นที่ 7

                บ้านตันกี เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น  เจ้าของบ้านสะสมของเก่า ๆ  ไว้มากมาย ทั้งโต๊ะมุกแบบจีน  เครื่อง  สังคโลก รูปปั้น แจกัน เหรียญโบราณต่าง ๆ  ตัวบ้านทอดยาวไปเกือบจรดแม่น้ำทูโบน เป็นสาเหตุให้บ้านนี้ถูกน้ำท่วมทุกปี  เวลาน้ำทะเลหนุนสูงกว่าระดับแม่น้ำ

                เจ้าของบ้านอัธยาศัยดีมาก  นำชมส่วนต่าง ๆ  ของบ้านอย่างใจเย็น  คนในบ้านพูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว

                บ้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของตั๋วชมเมือง  เจ้าของบ้านจะฉีกหางตั๋วเก็บไว้เป็นหลักฐานการเข้าชม  แม้จะมีกล่องรับบริจาคเงินตั้งไว้  แต่พวกเขาก็ไม่ได้คะยั้นคะยอให้บริจาค  นอกจากว่า เราจะเห็นคุณค่าและช่วยเหลือในการรักษาบ้านโบราณ ที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

 

                บ้านเก่าหลังต่อมา เป็นบ้านของตระกูลฟึง ฮึง  (Old House of Phung Hung)  อยู่แถว ๆ สะพานญี่ปุ่น  เป็นบ้านไม้มีระเบียงรับลม  เจ้าของบ้านใช้ด้านล่างเป็นร้านขายสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว  เช่น พวกผ้าปัก เซรามิกที่ออกแบบสวยงามเฉพาะตัว และหนังสือ

                ส่วนบ้านเก่าอีก 2 หลัง  คือ บ้านเก่าของตระกูลตรัน และบ้านเก่าของตระกูลกวานตัง ไม่ได้เข้าชม  เพราะหมดโควต้า

 

                จากนั้น ฉันเดินข้ามสะพานญี่ปุ่นกลับมา สะพานญี่ปุ่นเป็นสะพานแรกที่สร้างขึ้น โดยพ่อค้าญี่ปุ่น เมื่อปี ค.ศ. 1593  ตัวสะพานเป็นทรงโค้ง หลังคามุงกระเบื้องสีเหลือง และสีเขียว กลางสะพานมีเจดีย์และศาลเจ้า สะพานเชื่อมตัวเมืองด้านเหนือและใต้เข้าด้วยกัน ทางเข้าสะพานมีรูปปั้นลิง 2 ตัวเฝ้าอยู่  ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปปั้นหมา 2 ตัว

 

 

                มีเรื่องเล่ากันว่า สัตว์ 2 ชนิดนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะจักรพรรดิญี่ปุ่นส่วนใหญ่เกิดในปีหมาและปีลิง  เรื่องเล่าอีกเรื่องบอกว่าสะพานนี้เริ่มสร้างในปีลิง และเสร็จในปีหมา ส่วนใครจะเชื่อเรื่องไหนก็ตามใจ

 

                จากสะพานญี่ปุ่นเลยมายังพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมซาหวิ่นห์  (Sa Huynh Culture)   ซึ่งรวบรวม ประดิษฐกรรมที่พวกซาหวิ่นห์ทำขึ้นมาตั้งแต่สมัยเริ่มต้นของอารยธรรมดองซอน หรือดงเซือง

 

    

 

                ฉันรู้จักพวกซาหวิ่นห์จากต่างหู หรือตุ้มหู  ทั้งที่เป็นแบบกลม ๆ  แบบแท่ง ๆ  เหมือนท่อนไม้  ตุ้มหูเหล่านี้พบเห็นทั่วไปในพิพิธภัณฑ์ของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แม้แต่ในประเทศไทย

                เมื่อราว ๆ  2000  กว่าปีก่อน  ซาหวิ่นห์ คือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในตอนกลางของเวียดนาม แถบเมืองกวางนัม เป็นนักเดินเรือ ติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สินค้าสำคัญของพวก ซาหวิ่นห์คือ ไม้หอม อบเชย และสมุนไพร ที่มีอยู่มากมายในเวียดนามกลาง

 

                ส่วนตุ้มหูที่แพร่หลายไปทั่วนั้น  นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นของที่ระลึกที่ชาวซาหวิ่นห์มอบให้กับผู้คนที่ไปติดต่อค้าขายด้วย  

                มีการขุดค้นพบร่องรอย การแลกเปลี่ยนสินค้า และการเข้ามาติดต่อของพ่อค้าชาวจีนและอินเดียกับพวกซาหวิ่นห์  โดยพบเงินของจีนและเครื่องใช้ของชนชั้นสูงของจีน และพบลูกปัดคาเนเลียนของอินเดีย

 

                พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะรวบรวมสิ่งของที่เป็นรากฐานอารยธรรมของเวียดนามกลาง ในนามของพวก ซาหวิ่นห์ไว้มากมาย  ซึ่งไม่ควรพลาดชม

 

                พิพิธภัณฑ์ต่อมา เป็นพิพิธภัณฑ์เซรามิก  (Museum of trading Ceramics)   คนส่วนใหญ่นิยมมาชมที่นี่กัน  พิพิธภัณฑ์เป็นบ้านไม้สองชั้น  จัดแสดงเซรามิคเก่าไว้ชั้นล่าง  เศษถ้วยชามมีลักษณะคล้ายเครื่อง สังคโลกของจีนมากกว่า  แต่จากคำอธิบายเขียนไว้ว่าเป็นเครื่องถ้วยชามสมัยไดเวียด (Dai Viet)  ซึ่งนิยมใช้สีน้ำเงินและขาวในการตกแต่งลวดลาย

                ไดเวียด  เป็นชาวเวียดนามที่อยู่ตอนเหนืออาณาจักรจามปา  ซึ่งทำสงครามกับจามเป็นประจำ และก็เป็นบรรพบุรุษของชาวเวียดนามในปัจจุบัน

 

                ก่อนจะเดินถึงพิพิธภัณฑ์เซรามิค จะผ่านสมาคมของชาวจีนกวางตุ้ง  (Cantonese Assembly Hall)  เป็นสถานที่ชาวจีนสร้างไว้พบปะกัน รวมถึงใช้เป็นที่บูชาบรรพบุรุษของตน  สมาคมนี้สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1786

 

 

 

                ในฮอยอันเป็นที่รวมชาวจีนจากที่ต่าง ๆ ที่เข้ามาค้าขาย และลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่  แต่ละกลุ่มก็จะสร้าง สมาคมและศาลเจ้าของตนเองขึ้นมา  เพื่อเป็นศูนย์กลางการพบปะ  และประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตนด้วย

 

 

                มีสมาคมจีนอยู่หลายแห่งในฮอยอัน เป็นต้นว่า สมาคมของจีนฮกเกี้ยน ชื่อ  Assembly Hall of the Fhuc Kien Chinese  สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1792  ตั้งอยู่กลางเมืองใกล้ ๆ กับโรงสมาคมรวมของชาวจีน 5 กลุ่ม  (Chinese All – Community Assembly Hall)  ซึ่งประกอบด้วยจีนฮกเกี้ยน ไหหลำ กวางตุ้ง แต้จิ๋ว และแคะ  สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1773  เป็นโรงประชุมที่เก่าแก่ที่สุด 

 

 

                นอกจากนี้ก็มีสมาคมของคนจีนไหหลำ  (Assembly Hall of the Hainan Chinese Congregation) สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1883  สมาคมของชาวจีนแต้จิ๋ว สร้างในปี ค.ศ. 1776

 

                ในเมืองเก่าฮอยอันมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านอินเตอร์เน็ตมากมาย  หากเดินจนเมื่อยแล้วสามารถแวะนั่งพักขาได้สบาย ๆ  ไม่ต้องรีบเร่ง  เพราะทุกอย่างที่นี้ช้าลงกว่าโลกภายนอกมาก

 

                โควต้าสุดท้ายของฉันที่ยังเหลืออยู่ในวันนี้คือ การชมการแสดงพื้นเมืองที่  Tradition Hall  ซึ่งเปิดการแสดงวันละ 2 รอบ คือ 10.15 น.  และ 15.15 น.  รอบ 10 โมงนั้นเลยไปแล้ว  ต้องหาอะไรรองท้อง นั่งรอชมรอบต่อไป  ระหว่างรอชมการแสดงก็จะมีนักร้องมาร้องเพลงให้ฟัง  เหมาะกับการนั่งพักนาน ๆ  หรือแอบหลับ

 

 

                เพื่อไม่ให้หลับ อาจจะเดินดูบ้านเรือนเก่า ๆ ดูการผลิตโคมไฟ และชมสินค้าอื่น ๆ  ไปพลาง ๆ  ก็ได้  มีบ้านเก่าน่าดูอยู่หลายหลัง  เจ้าของบ้านจะเก็บค่าเข้าชมนิดหน่อย ถือเสียว่าช่วยเขาดูแลรักษาบ้านให้อยู่ในสภาพดีตลอดไป

 

                การเป็นมรดกโลก  ทำให้เจ้าของบ้านซ่อมแซมบ้านตามมีตามเกิดไม่ได้  จะทำอะไรต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการมรดกโลกเสียก่อน  วัสดุบางอย่างที่แม้จะมีราคาถูกก็ใช้ไม่ได้ ต้องใช้ให้เป็นไปตามมาตรฐานของการคุ้มครองมรดกโลก  ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลบ้านสูงกว่าปกติ

 

 

                นอกจากบ้านเก่า ๆ แล้ว  ที่นี่ยังมีวัดจีน วัดเวียดนาม ที่น่าชมอยู่หลายแห่ง เช่นวันกวางกง  เป็นวัดจีนที่สร้างอุทิศให้นายพลกวางกงในสมัยสามก๊ก  มีคนไปไหว้ จุดธูปกันควันโขมง เลยต้องเดินห่างวัด ห่างศาลเจ้าเข้าไว้  เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ

 

                ในความคิดของฉัน เมืองมรดกโลกฮอยอัน ถือเป็นการพยายามจัดการมรดกโลกร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน ที่อยู่อาศัยในชุมชนได้อย่างน่าสนใจมาก

 

                ฉันเคยฝันให้บ้านเรามีการจัดการมรดกโลก หรือแหล่งโบราณสถานให้เอื้อประโยชน์ต่อชุมชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมแบบนี้  แต่ก็เป็นแค่ความฝัน เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่มักคิดถึงแต่การจัดสถานที่ท่องเที่ยวให้สวยงาม ตกแต่งโบราณสถานจนเหมือนสนามกอล์ฟ และพยายามกันคนออกจากแหล่งท่องเที่ยว ทำให้สถานที่ที่เคยมีชีวิตชีวา ตายไปอย่างน่าเสียดาย

                ความฝันที่ฉันเคยวาดไว้ เป็นจริงที่ฮอยอันนี่เอง

                ที่ซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของมรดกโลกจริง ๆ  ...

 

หมายเลขบันทึก: 328582เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2010 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ผมอยากให้จังหวัดน่านของไทยครับ เป็นแบบนี้บ้าง

คนน่านจะยอมหือเปล่า

ขอบคุณเรื่องราวที่นำมาฝาก

โดยเฉพาะเรื่องตุ้มหู และ ซาหวิ่นห์

เพราะเป็นคนชอบตุ้มหูเป็นทุนอยู่แล้วมีเรื่องราวอธิบาย...ยิ่งชอบไปใหญ่ค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณสันติสุข

การจะเป็นมรดกโลกก็คงต้องแล้วแต่คนท้องถิ่นเขาล่ะค่ะว่าเขาจะยินดีไหม

อีกทั้งยังมีข้อกำหนดต่างๆ อีกมากมายค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณสิริพร

ขอบคุณค่ะ ไปเที่ยวครั้งต่อๆ ไปจะหาเรื่องต่างหูมาฝากค่ะ

น่าเที่ยวจังค่ะ

ฮอยอัน..ฉันรักเธอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท