เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๖ มกราคม ๒๕๕๓


ในวันครูประจำปี ๒๕๕๓ ขอให้เพื่อนครูพบแต่ความสุข สดชื่น สมหวังในการทำหน้าที่ มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ เป็นที่เคารพของลูกศิษย์ เป็นที่เชื่อถือและศรัทธาของสังคมตลอดไป

๑๖  มกราคม  ๒๕๕๓

เรียน  เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่าน 

วันจันทร์ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๓ ตื่นเช้าตามเสียงนาฬิกาปลุกเพราะเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางทั้งเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา ลงไปชุมพรเพื่อร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพบุพการีของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชุมพร เขต ๑ สองราย รายแรกเป็นเลขานุการ(หน้าห้อง)ตลอดระยะเวลาเกือบ ๖ ปีที่อยู่ชุมพร รายที่สองเป็นหัวหน้ากลุ่มงาน ในกลุ่มบริหารงานบุคคล ที่คลุกคลีกันมา ๕ ปีเต็ม ๆ ได้ไปเห็นหน้าเห็นใจในยามทุกข์ก็รู้สึกสบายใจ แถมได้พบได้เจอคนอื่น ๆ ที่รู้จักอีกมากหน้าหลายตา คืนวันเสาร์ท่านรองฯปรีชา บัวกิ่ง ท่านรองฯวิมาน  ดีทองหลางและผู้บริหารโรงเรียนในอำเภอท่าแซะ อำเภอปะทิว พาไปร้องเพลงที่โรงแรมแก่งเพการีสอร์ท และเปิดห้องบังคับให้ค้างที่นี่หนึ่งคืน ประทับใจอีกเรื่องหนึ่งเมื่อลงไปชุมพรคราวนี้ ได้แวะไป สพท.ชุมพร เขต ๑ เพื่อถามเส้นทางไปบ้านงานจากนายนิยม วัฒนกุล ลูกจ้างประจำของเขต พอจอดรถปรากฏว่ามีสุนัขตัวหนึ่งวิ่งมาหาถ้าเป็นคนต้องบอกว่ามาทักทายตื่นเต้นดีใจ จำได้ว่าเป็นเจ้าขวานฟ้า ที่อยู่ประจำสำนักงานเขตมาหลายปี ตอนที่อยู่ชุมพรเจ้าขวานฟ้าตัวนี้ ไม่ยอมให้จับเนื้อต้องตัวเด็ดขาด วันนี้เข้ามาให้ลูบหัวจึงเป็นเรื่องแปลก เช้าวันอาทิตย์แวะเยี่ยมท่านรองฯ บุญเทียม  อังสวัสดิ์  รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประจวบคีรีขันธ์ เขต ๑ ที่บ้าน อำเภอทับสะแก เคยรับราชการด้วยกันที่สำนักงานศึกษาธิการอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ผมย้ายไปไหนเขาก็ตามไปส่งทุกที่เรียกว่าความสัมพันธ์เหนียวแน่นและยืนยาว มาแวะทานข้าวเที่ยงที่ร้านต้นม่วง เพชรบุรี เพราะติดใจแกงป่าไก่และไก่โคะของร้านนี้มาก มีท่าน ผอ.ยิ่ง ทัศน์แก้ว ผอ.สกสค.จังหวัดสระบุรี ผอ.ฉวีวรรณ ม่วงปรางค์ โรงเรียนวัดห้วยเสือ ศน.เสนาะ สุขสงวน สพท.เพชรบุรี เขต ๒ รองฯระหงษ์ ศาสตราวิสุทธิ์ โรงเรียนบ้านท่ายาง และนายอำนวย มั่นคง พนักงานขับรถยนต์ประจำตัวครั้งรับราชการที่เพชรบุรี เขต ๒ มาร่วมโต๊ะด้วย ได้คุยกันประมาณ ๑ ชั่วโมงก็ต้องอำลา เพราะรีบกลับให้ทันงานเลี้ยงส่ง ผอ.พีระ ชัยศิริ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต ท่านย้ายไปสวนกุหลาบวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า สวนใหญ่ อยู่ร่วมงานจน ๕ ทุ่ม กลับบ้านพักผ่อนเพียง ๔ ชั่วโมง ต้องตื่นมาอ่านระเบียบวาระประชุม  ถึงสำนักงานเขตแต่เช้า แวะทานกาแฟที่สโมสร ได้คุยกับท่านรองฯ สองสามท่านที่ร่วมโต๊ะด้วย ถึงความเป็นไปของเขตและโรงเรียน และการจัดงานวันครูที่ปรารภกันว่าทุกปีครูไปกันน้อย ผมอาจจะโชคดีจัดวันครูมาหลายครั้ง ครูมาเต็มทุกครั้ง หากปีนี้ครูมากันน้อยก็คงจะเป็นประสบการณ์ครั้งแรก กรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเริ่มทยอยกันมา ได้รับรองน้ำชากาแฟที่สโมสรกันถ้วนหน้า ดูแล้วก็สบายใจทั้งแขกและเจ้าบ้าน    การประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาจัดที่ห้องประชุมชั้น ๓ เป็นการประชุมครั้งแรกที่ผมย้ายมาดำรงตำแหน่ง ประธานคือรองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย วิริยะยุทธการ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการมาประชุมกันพร้อมหน้า วาระที่นำเสนอเพื่อพิจารณาเป็นการอนุมัติงบประมาณตามแผนปฏิบัติการประจำปี การอนุมัติเปลี่ยนชื่อโรงเรียน นอกนั้นเป็นการอภิปรายถึงสภาพการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนในเขตทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง   เลิกประชุมเลยเที่ยงเล็กน้อย ลงไปทานข้าวที่สโมสรเป็นอาหารที่สั่งมาจากข้างนอก ได้คุยนอกรอบกันอีกครั้ง ต่อไปจะมีการประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่ทุก ๒ เดือน เอาเดือนคี่เป็นหลัก  บ่ายประชุมคณะทำงานจัดงานวันครูประจำปี ๒๕๕๓ ได้เชิญผู้รับจ้างจัดบริการของศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย มาเสนอรายละเอียดการจัดสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ คณะทำงานฝ่ายต่าง ๆ ได้ซักซ้อมความพร้อมจนเป็นที่พอใจ   ต่อด้วยการประชุมกองทุนพัฒนาการศึกษาพื้นฐานเพื่ออนุมัติเงินดอกผลมาเป็นรางวัลครูดีในดวงใจคนละ ๒,๐๐๐ บาท ทั้งนี้ไม่ผูกพันในปีต่อไป การที่กองทุนมีดอกผลเพียงพอในการจัดสรรเป็นรางวัล เพราะเงินต้นฝากไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูปทุมธานี จำกัด สหกรณ์ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ถามกรรมการว่าทำไมไม่นำดอกผลปีละ ๕๐ % เข้าสมทบเป็นเงินต้น กองทุนจะได้โตขึ้นอีก เขาบอกว่าสหกรณ์ไม่ยอมให้ฝากเงินอีกแล้ว เว้นแต่สมาชิกเท่านั้น  เลิกประชุมกลับไปทำงานแฟ้มเอกสารที่ห้องจนเย็น จึงได้ลงไปช่างเขาทำที่แขวนแก้วไวน์จากไม้ตาลเมืองเพชร ที่ด้านหลังอาคารลูกจ้างประจำของเขตมีฝีมือทางงานช่างเกือบทุกสาขา ทั้งช่างไม้ ช่างปูน ช่างเหล็ก และช่างไฟฟ้า จะคิดจะทำอะไรจึงไม่ติดขัด เราก็ไม่ต้องบอกรายละเอียดมาก เขาสามารถออกแบบให้ดูดีได้ ที่โรงเรียนก็เหมือนกัน นักการภารโรงทั้งหลายมักถูกใช้งานแค่ปิดเปิดประตูหน้าต่าง ล้างส้วม ไม่มีเวลาได้แสดงฝีมืออย่างอื่นเลย  หากมีโอกาสจะเห็นว่าเขาเหล่านั้นมีศักยภาพกว่าที่เราคิดไว้เยอะ

วันอังคารที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๓  สาย ๆ ได้ต้อนรับ รองศาสตราจารย์สมพงษ์ จิตระดับ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะนักวิจัยเกี่ยวกับโครงการ Child Watch ศึกษานิเทศก์ของปทุมธานีเขต ๑ ที่อยู่ในทีมนี้คือ ศน.อินทิรา หิรัญสาย สิ่งที่แลกเปลี่ยนคือแนวคิดในการทำโครงการดี ๆ ให้กับเด็กในปทุมธานี จุดแข็งของเราขณะนี้องค์กรปกครองท้องถิ่นทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. หันมาสนใจเรื่องคุณภาพชีวิตมากขึ้น โดยดูจากงบประมาณสนับสนุนงานด้านการศึกษา หากมีโครงการดี ๆ มาเสนอคาดว่าหน่วยงานเหล่านี้ต้องสนับสนุน จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การสนับสนุนกิจกรรมเยาวชน หากมอบให้กลุ่มเยาวชนโดยตรงจะเป็นมรรคเป็นผลตรงเป้ามากที่สุด หากอยากทราบความต้องการของเด็ก เราก็ต้องฟังที่เด็กพูด อาจเชิญตัวแทนสภาเด็กมาพูดให้ฟัง โครงการดี ๆ ก็จะตามมา มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวคิดการจัดการศึกษา ผมอยากทดลองหาโรงเรียนที่เปิดสอนครึ่งวันสัก ๑๐ โรงเรียน บ่ายเป็นกิจกรรมสนับสนุนการเรียนการสอนทั้งในและนอกโรงเรียน เพราะขณะนี้โรงเรียนในเมืองไทยสอนกันทั้งวัน ติวกันหลังเลิกเรียน ไม่เว้นแม้แต่เสาร์อาทิตย์ แต่พอเข้าแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ที่เขาเรียนเพียงครึ่งวัน กลับสู้เขาไม่ค่อยได้ รองศาสตราจารย์สมพงษ์  จิตรระดับ บอกว่าคิดมานานแล้ว จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับท่านเลขาธิการ กพฐ. ปทุมธานี เขต ๑ อาจนำร่องในเรื่องนี้ อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านถามความเห็นเชิงสมมติ ท่านถามว่าวิธีการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ประสบความสำเร็จตรงเป้าหมาย ควรทำอย่างไร  ให้ความเห็นไปว่าฟังเขตและโรงเรียนมาก ๆ ก็แก้ปัญหาได้ เที่ยงทานผัดไทยคนละจานที่ห้องสโมสร ลูกศิษย์ลูกหาที่รู้ข่าวนำของขวัญมามอบและถ่ายภาพร่วมกัน  ส่งแขกแล้วขึ้นไปทำงานที่ห้องตามปกติตลอดบ่าย ลองติดตั้งโปรแกรม  windows  7 ลงเครื่อง PC ที่หน้าห้องทำงาน เพราะเจ้าหน้าที่เขาบนว่าเครื่องทำงานช้าเหลือเกิน โชคดีที่สามารถติดตั้งได้สำเร็จ แม้ประสิทธิภาพจะไม่เต็ม ๑๐๐ % แต่เร็วกว่าเดิม windows 7 เป็นโปรแกรมปฏิบัติการตัวใหม่ล่าสุดของไมโครซอฟที่พัฒนาแก้ไขจุดอ่อนของ windows vista ติดตั้งเสร็จและเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตแล้วเราสามารถดาวน์โหลดไดรเวอร์มาลงได้ ถือเป็นโปรแกรมปฏิบัติการที่แสนสะดวกสบายกว่าของเก่ามาก แต่กินระบบมากกว่า ๑๒ GB ทดลองใช้มาเดือนกว่ายังไม่พบปัญหาอะไร

วันพุธที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๓ เช้าเดินทางไปโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานีของ ผอ.กาญจนา สอนง่าย เพื่อมอบเกียรติบัตรให้กับครูที่ตั้งใจปฏิบัติงานต่อเนื่องมาด้วยดี เกณฑ์การให้รางวัล เอาวันลาเป็นเกณฑ์ มีหลายท่านไม่เคยลาหยุดราชการเลยตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา การที่ข้าราชการไม่ลาหยุดถือเป็นคุณงามความดีในระบบราชการไทย แต่ของฝรั่งแนวคิดกลับกันโดยเฉพาะผู้บริหาร หากไม่ลาเลยจะเป็นที่สงสัยว่านั่งทับอะไรไว้ จึงไม่กล้าลุกจากเก้าอี้ ผู้บริหารของฝรั่งจึงต้องแสดงความโปร่งใสด้วยการลาหยุดพักงานให้ระดับรองลงมาได้ทำหน้าที่แทนบ้าง การมอบเกียรติบัตรวันนี้ทำกันหน้าเสาธงหลังนักเรียนเคารพธงชาติและสวดมนต์ เสร็จพิธีได้ปราศรัยกับครูและนักเรียน แล้วเดินทางกลับเขต เพราะวันนี้นัดประชุมผู้บริหารโรงเรียนประจำเดือนมกราคม ที่ห้องประชุมชั้น ๓ นัดอาจารย์จากวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพฯและตัวแทนบริษัทเอไอเอเพื่อแนะนำกิจการที่จะทำงานร่วมกันกับโรงเรียน วิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพจะขยายวิทยาเขตมาที่จังหวัดปทุมธานีในเขตอำเภอคลองหลวง มีหลักสูตรปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก  ผู้ประสานงานวันนี้คือ ดร.ปัทมา  รูปสุวรรณกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและกิจการนักศึกษาและรองศาสตราจารย์ ดร. เสาวนีย์  สิกขาบัณฑิต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีของฝากสำหรับผู้เข้าประชุมทุกคนคือ ขนมของการบินไทยและตะกร้าส้มท่านละ ๑ ชะลอม หลักสูตรที่จะทำร่วมกันเป็นอันดับแรกระหว่างมหาวิทยาลัยกับสำนักงานเขตคือการอบรมเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการวิจัยด้วยสถิติขั้นสูง ปกติผู้เข้าอบรมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ ๖,๕๐๐ บาท มหาวิทยาลัยจัดให้ครูในปทุมธานี ๑ จำนวน ๑ ห้อง ๓๐ คน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จะจัดอบรมระหว่างวันที่ ๔-๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ผู้สนใจสมัครได้ที่งานเลขานุการผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑ รับทั้งผู้บริหารและครูผู้สอน แจ้งความจำนงได้ถึงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๓ ครบ ๓๐ ท่านแล้วก็จะหยุดรับสมัครทันที  การประชุมวันนี้หลังการชี้แจงข้อราชการของสำนักงานเขต ได้รับความคิดเห็นในมุมกลับจากการทำงานของเขตจากผู้เข้าประชุมหลายเรื่อง สาระจะตกอยู่ที่ประสิทธิภาพในการทำงานของกลุ่มงานต่าง ๆ ในสำนักงานเขต ที่ยืดเยื้อและเรื้อรังมานาน รับว่าจะเร่งแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิดให้ ขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี งานเริ่มเร็วขึ้นและมีคุณภาพขึ้น เที่ยงเลี้ยงข้าวแกงผู้เข้าประชุม ทั้งที่ชั้น ๓ และห้องสโมสร มีผู้บริจาคเงินซื้อ Roland Sound Canvas เพิ่มเติมในวันนี้  อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถแยกเสียงไฟล์มิดิให้ออกเสียงชัดเจนได้หลายร้อยเสียง ทำให้การร้องคาราโอเกะได้เสียงนุ่มนวล สมจริงสมจังและไพเราะกว่าปกติเล็กน้อย  วงดนตรีหรือคาราโอเกะมืออาชีพจะมีอุปกรณ์ชิ้นนี้ช่วยเสมอ ราคาประมาณหมื่นกว่าบาท


วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เช้าเข้าที่ทำงานจัดการกับแฟ้มเอกสารต่าง ๆ ที่ทยอยกันมาเรื่อย ๆ ก่อนเที่ยงเล็กน้อยลูกน้องจากเพชรบุรี เขต ๒ ที่นำโดยท่านรองฯยรรยง  เจริญศรี ประมาณ ๖-๗ คนมาสวัสดีปีใหม่ ได้รับรองในห้องสโมสร ถ่ายถามทุกข์สุขกันถ้วนหน้า ที่ทุกข์หนักมีอยู่ ๒ คน เพราะ ก.ค.ศ. สั่งให้แก้ไขคำสั่งใหม่ โดยอ้างว่าคำสั่งเดิมผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งขาดคุณสมบัติ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบสิทธิประโยชน์ที่ได้รับมาแล้ว แต่ทุกคนเขายืนยันว่ามีคุณสมบัติครบถ้วน จึงแนะนำให้บันทึกชี้แจงไป ก.ค.ศ.ใหม่ ประมาณ ๑๕.๐๐ น. เขาก็ลากลับกันไป 

วันศุกร์ที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๓  เช้าข้ามฟากถนนไปโรงเรียนปทุมวิไล เพราะเขาเชิญไปต้อนรับคณะกรรมการประเมินเพื่อรับรางวัลพระราชทาน ประเภทโรงเรียนขนาดใหญ่ ประจำปี ๒๕๕๒ ใช้ห้องประชุมใหญ่เป็นที่รับรองและนำเสนอข้อมูล  ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านมาร่วมต้อนรับ และขึ้นปราศรัยสนับสนุนว่าโรงเรียนปทุมวิไล มีความเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลเพียงใด รวมทั้งผมด้วย  ประธานกรรมการที่มาประเมินวันนี้ คือคุณอนันต์  สุขกลัด รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานนทบุรี เขต ๒ เป็นเพื่อนกับผมมานานเกือบ ๓๐ ปี หลังกล่าวปราศรัยได้ลาคณะกรรมการเพราะรับปากศน.สิรี พึ่งจิตต์ตน ว่าจะขึ้นไปพบกลุ่มครูผู้สอนภาษาไทยที่ห้องประชุมชั้น ๓ วันนี้ เขตนัดมารับสื่อในโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับกลุ่มอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง ใช้เวลาพูดคุยประมาณ ๓๐ นาที จึงเดินทางไปอำเภอคลองหลวงเพราะรับปากผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนคลองสองคลองสามว่าจะไปเยี่ยมการจัดนิทรรศการทางวิชาการของกลุ่มที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖๙ ของ ผอ.สุชาติ แก้วฉาย เช้าพิธีเปิดได้มอบท่านรองฯมานะ พึ่งบัว มาเป็นประธาน ไปถึงเที่ยงพอดีแต่ได้เดินเยี่ยมซุ้มผลงานของทุกโรงเรียน ผลงานนักเรียนมีมากมีทั้งที่ขายได้เงินและไว้ใช้สอยเอง หากได้พัฒนาฝีมือให้สูงขึ้น สินค้าโอท็อปอาจสู้ของนักเรียนไม่ได้ ทางโรงเรียนจัดอาหารกลางวันไว้ต้อนรับมีน้ำพริกป่นปลาทู และน้ำพริกปลาร้า หลังอิ่มแล้วยังใส่ถุงให้หอบกลับบ้านอีก เนื่องจากกระแสไฟฟ้าขัดข้องจึงต้องมานั่งชมการแสดงของนักเรียนแบบเสียงจริงภาพจริง ลากลับเข้าสำนักงานเพราะป่วยเป็นหวัดมาตั้งแต่เมื่อวาน อาการย่ำแย่ ซื้อยามากินพอบรรเทาลงบ้าง แต่อยากพักผ่อน ความจริงตั้งใจจะไปดูเขาเตรียมสถานที่จัดงานวันครู สอบถามแล้วมีท่านรองฯและผู้เกี่ยวข้องบัญชาการอยู่หลายคนแล้ว จึงต้องปล่อยวางลงบ้าง กลับบ้านพักผ่อนเพราะพรุ่งนี้ต้องออกงานวันครู ไม่อยากให้อาการป่วยกำเริบจนไปร่วมงานไม่ได้

วันเสาร์ที่ ๑๖  มกราคม  ๒๕๕๓  ตื่นตั้งแต่ตีห้า อาบน้ำแต่งตัว เดินทางถึงสำนักงานเขตประมาณ ๐๗.๐๐ น. นัดหมายรถและเจ้าหน้าที่ไว้ ทุกคนพร้อมแล้ว จึงมุ่งหน้าสู่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สถานที่จัดงานวันครูของผู้มีอาชีพครูทุกสังกัดในอำเภอเมืองปทุมธานี  อำเภอสามโคก อำเภอลาดหลุมแก้ว และอำเภอคลองหลวง ห้องประชุมตกแต่งต้อนรับครูตั้งแต่ปากทางเข้ามีซุ้มให้ถ่ายภาพที่ระลึก เวทีแม้จะเล็กไปหน่อย แต่ประดับด้วยไม้ดอกสวยงาม มีหลายส่วนอยากแก้ไขแต่คงต้องยกไปปีหน้า วันนี้ต้องทำใจเอาเท่าที่ได้  ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายปรีชา บุตรศรี และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายชาญ พวงเพ๊ชร์มาถึง ให้ท่านพักที่ห้องรับรอง จนคณะครูมากันพร้อมจึงได้เชิญเข้าที่ประชุม ลำดับแรกเป็นพิธีสงฆ์ ตามด้วยพิธีบูชาบูรพาจารย์ การมอบรางวัลให้กับคุณครูดีเด่น ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปราศรัยกับเพื่อนครู วงดนตรีไทยของโรงเรียนบึงเขาย้อนบรรเลงตลอดงาน  เสร็จพิธีการครูครึ่งหนึ่งเดินทางกลับอีกครึ่งหนึ่งยังปักหลักฟังรองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์  ชิตพงศ์  คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต บรรยายพิเศษ ผู้ที่อยู่รับฟังจะได้รับเกียรติบัตรด้วย อาจารย์สมบูรณ์ ชิตพงศ์ เป็นครูที่ดีสำหรับผมมาตลอดระยะเวลาที่เป็นลูกศิษย์ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ถึงปีนี้ร่วม๓๒ ปี อาจารย์มีความเมตตาไม่เสื่อมคลาย เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตอย่างครู เป็นนักปราชญ์ผู้ทรงศีล วันนี้เป็นวันมงคลของชีวิตที่ได้กราบครูและได้ฟังคำสอนของครูอีกครั้งหนึ่ง เที่ยงได้นำวิทยากรไปทานข้าวที่ห้องรับรองและส่งท่านกลับที่พัก ตัวเองก็ต้องกลับที่พักเพราะอาการป่วยยังไม่หาย  ฟังหลายคนพูดถึงการจัดงานวันนี้ ครูมีความพอใจในระดับหนึ่ง  ผมในฐานะเจ้าของงานให้คะแนนความพร้อมในการจัดงานวันนี้ประมาณ ๘๐ %     เหลือรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ต้องปรับต้องแก้ แต่ดูแล้วไม่น่าหนักใจ งานนี้ไม่ต้องซื้อปีบอย่างที่เคยบอกไว้ ความดีต้องยกให้ทีมงาน จุดบกพร่องตกที่ผมเพราะไม่ได้ไปตรวจงานขั้นสุดท้ายเมื่อวานเพราะป่วยเป็นหวัด ที่ได้กำไรสูงสุดสำหรับวันนี้คือได้เรียนรู้คนเรียนรู้งานของปทุมธานี เขต ๑ ที่จะเป็นพื้นฐานในการทำงานร่วมกันครบถ้วนกระบวนความ ภาษานักมวยต้องบอกว่าชกคราวหน้าไม่ต้องไหว้ครูก็ได้  เนื่องในวันครูประจำปี ๒๕๕๓ ขอให้เพื่อนครูพบแต่ความสุข สดชื่น สมหวังในการทำหน้าที่ มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ เป็นที่เคารพของลูกศิษย์ เป็นที่เชื่อถือและศรัทธาของสังคมตลอดไป

 กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑

 

 

หมายเลขบันทึก: 328565เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2010 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เนื้อเพลง ตามรอยไม้เรียว

25.02.2009 - 17:38:19

เนื้อเพลง ตามรอยไม้เรียว

ครูครับจำศิษย์คนนี้ได้ไหม ศิษย์คนที่ครูกลุ้มใจ

เมื่อตอนผมเรียน ป.6 การบ้านไม่ทำ

สอนไม่จำ ซ้ำยังสอบตก ทำตัวเป็นเด็กหัวโจก

เรียน ป.6 ตกซ้ำหลายปี ศิษย์คนที่ถูกครูตีก้นเขียว

ทุกครั้งที่โดนไม้เรีย รู้สึกโกรธครูทุกที

ด่าครูลับหลัง แล้วทำตัวเป็นคู่อริ

ผมกลับมาแล้ววันนี้ ด้วยความคิดถึงคุณครู.

ผมได้เรียนรู้ ว่าครูรัก ครูจึงเฆี่ยน

เมื่อออกโรงเรียน เดินบนสังเวียนนักสู้

ยามเจ็บร้าวลึก ผมสำนึกถึงคำสอนครู

ขยันอดทนและสู้ เพราะครู ผมจึงได้ดี

ครูครับจำศิษย์คนนี้ได้ไหม กลับมาพร้อมพานดอกไม้

ไหว้ครูผู้เคยปราณี กราบขออภัย

ที่ผมเคยทำตัวไม่ดี ลูกศิษย์ของครูคนนี้

ได้ดีเพราะรอยไม้เรียว..

ครูครับจำศิษย์คนนี้ได้ไหม กลับมาพร้อมพานดอกไม้

ไหว้ครูผู้เคยปราณี กราบขออภัย

ที่ผมเคยทำตัวไม่ดี ลูกศิษย์ของครูคนนี้

ได้ดีเพราะรอยไม้เรียว

ฟังเพลงนี้แล้วคิดถึงสมัยเป็นนักเรียนประถม

ท่านผอ.หายแล้วยังคะ ท่านยอดนักสู้จริง ๆ ขอคารวะ...อ่านเนื้อเพลงข้างบนแล้วรู้สึกจุกที่คอหอย ...เห็นภาพงานวันครูแล้ว ชื่นใจนะคะ...ครูสวยๆทุกคนเลย ถ้าแต่งตัวเหมือนวันนี้ทุกวัน...ทุกคน..น่าจะดี...ทุกวันไม่รู้ใครเป็นครู..ใครเป็นผู้ปกครอง...ผู้ปกครองบางคนแต่งตัวสวยกว่าครูอีก...น่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้แล้ว...ใครว่าการแต่งตัว...หรือเครื่องแบบไม่สำคัญ...ท่านว่าไหม...มันทำให้ครูเป็นครูนะ...ไม่ใช่นุ่งกางเกง..ใส่เสื้อยืด...ปล่อยชายมาสอนเด็ก...ไม่รู้นะคะอาจเป็นคนยึดติดกับรูปแบบมั้ง....และเป็นคนชอบคนแต่งตัวเนี้ยบ...อย่างท่าน ผอ.เขต แต่งตัวดีมาก..ดูเป็นผู้มีภูมิรู้... ผู้บริหาร...ครู...บางคนเราแทบดูไม่ออกเลยว่าเขา...เป็นใคร...เพราะคิดว่า...การแต่งตัวไม่สำคัญ...เห็นด้วยกับความคิดของท่านที่จะให้มีการเรียนการสอนครึ่งวัน...บ่ายเป็นกิจกรรมเสริม...แต่ก่อนอื่นจับครูไปอบรมให้เข้าใจคอนเซ็บก่อนนะคะเดี๋ยวจะล้มเหลวอีก...เสียเวลาเปล่า...เพราะธรรมชาติครูไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง...ที่โรงเรียน ผอ.ให้นโยบายอย่างท่านว่า...ครูยังไม่ยอมทำเลยจะสอนอย่างเดียว...ขอสมัครเป็น 1 ใน 10 โรงเรียนนะคะ...อย่าลืมดูแลตัวเองค่ะท่าน...ขอให้หายไว ๆ เป็นกำลังใจให้ค่ะ...

เรียนท่าน ผอ.เขต ที่เคารพ

อยากทราบว่าท่านมีนโยบายเกี่ยวกับบัญชีครูช่วยอย่างไร เช่น เปิดให้ที่อื่นใช้บัญชีได้ หรือเก็บไว้ใช้เฉพาะในเขต จนครบ 2 ปีแล้วยกเลิกบัญชี หรือมีนโยบายที่จะเรียกให้หมดบัญชี(เหมือนปทุมธาน เขต 2) ทราบข่าวมาว่าตอนนี้ปทุมเขต2 อัตราว่าง 60 อัตรา

เขต 2 จะมาขอที่เขต 1 ไหมค่ะ (เพราะเราเคยไปขอใช้บัญชีที่เขต 2 ในปีที่แล้ว) จึงเรียนถามด้วยความเคารพ

จาก ครูรอบรรจุ

เปิดให้ใช้บัญชีได้ครับ หลายหน่วยงานขอไปใช้บรรจุแต่งตั้งแล้ว

สวัสดีค่ะท่าน การเรียกบรรจุครูผู้ช่วย เมื่อ 2 เดือนก่อนเท่านมา เขต 2 ขอใช้บัญชี เขต 1 แต่เขต 1 ไม่ให้ พอมาบัดนี้ ใครขอก็ให้ เป็นเพราะอะไรคะ...ยึดอะไรเป็นเกณฑ์ มีผู้คับแค้นใจอยู่...หาว่าถูกกลั่นแกล้ง...ขอคำชี้แจงหน่อยก็จะดี...เพื่อให้ผู้ที่คิดว่าถูกกลั่นแกล้งสบายใจ

เป็นเรื่องของบุคคล เวลา สถานที่และการเปลี่ยนแปลงครับ

เรียนท่าน ผอ.เขต ที่เคารพ

แล้วถ้าตอนนี้ทางเขต 2 ขอมาท่านจะให้มั้ยคะ

ด้วยความเคารพค่ะ

สวัสดีค่ะท่าน ผอ. วันนี้อากาศเย็นนะคะ ฝนตกด้วย....ขอบคุณที่ตอบคำถามถึงแม้ว่าจะไม่เคลียร์....อยากถามอีกเรื่องค่ะ...การรับเด็ก ป. 1 ต้องรับเด็กที่มีอายุเต็ม 7 ปีบริบูรณ์ ตามกฎกระทรวง บอกว่า หากเด็กอายุครบเจ็ดปีบริบูรณ์ในปีใด ให้นับว่าเด็กอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดในปีนั้น แล้วทำไมจึงให้รับเด็กอายุ หกขวบเต็ม...ถือว่าย่างเข้าปีที่เจ็ด...ซึ่งน่าจะเข้าใจผิดหรืออย่างไร...รอคำตอบค่ะ...ขอบคุณ...(อย่าว่าโง่เลยนะคะ)

สวัสดีครับผอ.ผมนักศึกษาฝึกสอน

ผมไปทดลองสอนที่โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานี

ไปเมื่อวันที่14เห็นครูที่โงเรียนบอกว่าผอ.มาวันที่13

เลยไม่ได้สวัสดีผอ.เลย

^^

สวัสดีค่ะท่าน ผอ. และผู้เยี่ยมชมทุกท่าน...ขอบคุณท่านผู้ไม่แสดงตนจริง ๆ ได้อ่านนโยบายที่สพฐ.ส่งให้โรงเรียนแล้วค่ะ...แต่ที่ถามนั่นก็หมายความว่า...ที่โรงเรียนเถียงกันเรื่องอายุเด็ก ป. 1 ว่า 6 ขวบเต็มถือว่าย่างเข้าปีที่เจ็ด คือ ถ้าเด็กอายุ 6 ขวบ 1 วันเป็นต้นไป ให้ถือว่าย่างเข้าปีที่เจ็ด...มันใช่อย่างนี้ไหม....แต่เราแย้งว่า มันน่าจะ 7 ขวบเต็มในปีที่มาสมัครเรียน จึงจะถือว่าเข้าเรียน ป. 1 แต่ทุกวันนี้ เรารับเด็กอายุ 6 ขวบ เป็นต้นไป เข้าเรียน ป. 1 ผลก็คือ มีเด็กที่เป็นปัญหา เรียนช้า อ่านไม่ออก...เขียนไม่ได้ NT ก็เลยเป็นอย่างที่เห็น...เข้าใจคำถามนะคะ...แต่นโยบายก็เปิดช่องให้อีกว่า...ถ้าเด็กผ่านการเรียนชั้นอนุบาลมาแล้ว 2 ปี ก็ให้รับเข้าเรียน ป. 1 ได้...จริง ๆ แล้วก็ไม่ควรสงสัยหรอก...เพราะปีที่แล้วเราก็รับเด็กอายุ 6 ขวบเต็มเข้า ป. 1 ซึ่งอาจเป็นเพราะเราตีความไม่ถูก คำว่า "ครบเจ็ดปีบริบูรณ์ ให้ถือว่าย่างเข้าปีที่เจ็ด" เฮ้อ...เหนื่อยกับความขี้สงสัยของตัวเองจัง...อยากตีความกฎกระทรวงให้ถูก ๆ น่ะค่ะ

ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑

การรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ให้รับเด็กที่มีอายุ

ย่างเข้าปีที่ ๗ หรือ จบการศึกษาชั้นปฐมวัยเข้าเรียน เด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ ๗ คือ เด็ก

ที่เกิดในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ (๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖) สำหรับเด็กที่เกิดในปีพ.ศ. ๒๕๔๗ (๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๗) สามารถสมัครเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ได้ ถ้าจบการศึกษาชั้นปฐมวัย

วิธีการนับอายุเด็กเพื่อเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ

การนับอายุเด็กเพื่อเข้ารับการศึกษาภาคบังคับให้นับตามปีปฏิทิน หากเด็กอายุ

ครบ๗ ปีบริบูรณ์ ในปีใดให้นับว่าเด็กมีอายุย่างเข้าปีที่ ๗ ในปีนั้น เช่น ถ้าจะรับเด็กเข้า

เรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๓ ก็ให้นำ ๗ ไปลบ จะได้ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ หมายความว่า เด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ ๗ คือ เด็กที่เกิดในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ (๑ มกราคม - ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖)

กราบขอบพระคุณท่านมากค่ะ เช้าวันเสาร์...วันนี้วันพระ ตื่นมาอาบน้ำ แต่งตัว ถวายน้ำพระ แล้วก็เปิดบล๊อก....ดีใจมากค่ะที่ท่านเมตตา..ไม่งั้นก็เถียงกันไม่เลิกกับครูที่รับเด็ก ป. 1 จะปริ้นท์ไปให้ที่โรงเรียนอ่านค่ะ...จะได้เข้าใจกันตามนี้ ขอบพระคุณท่านอีกครั้ง...เอาบุญมาฝากท่านนะคะ...ด้วยความเคารพจริง ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท