เขียนถึง “โรงเรียนสร้างฝัน” ในวันครู


"ถูกให้ออกจากโรงเรียนแล้วจะให้เขาไปต่อที่โรง...ไหนก่อน โรงพยาบาล ? หรือ โรงพัก ?"

ผมเขียนต้นฉบับคอลัมน์นี้หลังจากเสร็จสิ้นการเข้าร่วมในพิธี “วันครู” ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์ราชการจังหวัดชุมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 16 มกราคม 2553 เมื่อคิดทบทวนเรื่องสำคัญที่ตนเองเข้าไปมีประสบการณ์จริงเพื่อจะนำเสนอความคิดเห็นถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่าน ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้เลยนอกเสียจากเรื่องราวของครูและนักเรียน เพราะในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับผมหลายอย่าง อาทิ บุตรชายต้องมาขาหักเพราะอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนในโรงเรียนโดยมีคุณครูเป็นผู้ขับ ความลักลั่นในกระบวนการโยกย้ายผู้บริหารโรงเรียนสายมัธยมศึกษาซึ่งผมต้องทำหน้าที่ประธาน อ.ก.ค.ศ.เพื่อพิจารณาอนุมัติ ความขัดแย้งในโรงเรียนแห่งหนึ่งอันเนื่องมาจากการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมต่อผู้อาวุโส และนำมาซึ่งการร้องทุกข์กล่าวโทษ ทำให้ผมในฐานะประธานคณะกรรมการสถานศึกษาต้องเข้าไปรับฟังเพื่อหาทางคลี่คลายเหตุการณ์ แต่เรื่องที่ผมตัดสินใจนำมาขยายความเพื่อแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์คือเรื่องของ “โรงเรียนสร้างฝัน” ซึ่งพวกเราได้มีโอกาสพูดคุยกันใหม่อีกครั้งหนึ่งที่ศาลแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ต่อเนื่องไปถึงห้องรองผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 13 – 14 มกราคม 2553

โรงเรียนสร้างฝัน” ไม่ใช่ชื่อของโรงเรียนแห่งใหม่ใน จ.ชุมพร หรือสมญานามของโรงเรียนใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 มีชื่อเต็มว่า โครงการปรับปรุงข้อบกพร่องทางด้านการเรียนและพัฒนาพฤติกรรมของนักเรียนและเยาวชนแบบยั่งยืน จ.ชุมพร ต้องยกเครดิตความคิดริเริ่มและการผลักดันโครงการนี้ให้กับ อ.สุชิน บุญเพ็ญ ผู้อำนวยการโรงเรียนสวีวิทยา ในฐานะแกนนำผู้ก่อการดีซึ่งได้เล็งเห็นปัญหาของกลุ่มเด็กนักเรียนที่ได้ชื่อว่า มีคุณลักษณะไม่พึงประสงค์ ไม่ใฝ่รู้-ใฝ่เรียน พฤติกรรมที่เด็กกลุ่มนี้แสดงออก ได้แก่ ใช้ยาและสารเสพติด ก้าวร้าว ทะเลาะวิวาท ไม่รับผิดชอบ ขาดระเบียบวินัย ชู้สาวและมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ทำลายทรัพย์สมบัติส่วนรวม ฯลฯ

ถ้าเราไม่ด่วนสรุปและชี้นำไปก่อนด้วยคำตัดสินง่าย ๆ ว่า เด็กเหล่านี้เป็นคนเลวด้วยตัวของเขาเอง เราก็จะพบเหตุ-ปัจจัยที่เป็นที่มาของพฤติกรรมเหล่านี้ว่า มีทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ กลุ่มเพื่อนที่ชักนำไปในทางที่ผิด สื่อสกปรกมอมเมาความคิดจิตใจเยาวชน ชุมชนแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงจากอบายมุข ทัศนคติที่ผิดพลาดและการปฏิบัติตนของครู-อาจารย์ซึ่งกดดันจนเด็กไม่มีความสุขในชั้นเรียน ฯลฯ อีกด้านหนึ่งปัจจัยภายในตัวนักเรียนเองก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเด็กในช่วงอายุวัยรุ่นมีแรงขับจากความเปลี่ยนแปลงในร่างกายโดยเฉพาะระดับฮอร์โมนเพศ ส่งผลต่อจิตใต้สำนึกซึ่งพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เขายังเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา

เหตุ-ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกส่งผลให้นักเรียนจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน เกิดเป็นความบกพร่อง ผลการเรียนไม่ผ่าน ติด “0” ติด “ร” และ “มส” หลายวิชา ไม่อยากเรียนหนังสือ เบื่อครูที่สอน ไม่ชอบเรียนวิชานี้ ติดเกมส์ หนีเรียน เที่ยวกลางคืน พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ไม่สามารถอบรมสั่งสอนได้ ฯลฯ

การแก้ไขและพัฒนาพฤติกรรมที่บกพร่องของนักเรียนจึงเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องร่วมมือกัน ช่วยกันสร้างให้นักเรียนเห็นคุณค่าในตนเอง รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตระหนักในการเป็นทรัพยากรบุคคลที่ดี มีคุณภาพชีวิต และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข พร้อมกันนั้นก็ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสในการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตามความถนัด และความสนใจของผู้เรียน โดยใช้ “โรงเรียนสร้างฝัน” เป็นส่วนหนึ่งของทางออก เพื่อดูแลเด็กเหล่านี้ โดยนำพวกเขามารวมกัน ค้นหาวิธีฝึกอบรม เสริมสร้างวินัย ให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงพัฒนาตนเอง จนบรรลุผลสำเร็จสามารถสอบซ่อม และจบหลักสูตรในแต่ละระดับชั้นตามเกณฑ์ที่กำหนด

หลักการและเหตุผลที่ดี ๆ แบบนี้พอทำเข้าจริงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะประสบความสำเร็จในแต่ละขั้นตอน โดยเฉพาะการสร้างความยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เป็นกลไกสำคัญอยู่ในโครงสร้างของระบบโรงเรียน แต่ถ้าวางเฉยกันไปเลยก็เท่ากับว่า สังคมชุมพรกำลังซุกซ่อนปัญหานี้ไว้ใต้พรม และแก้ปัญหาด้วยการกวาดเด็กเหล่านี้ออกไปทิ้งนอกโรงเรียน ผมถามในที่ประชุมดัง ๆ ว่า “ถูกให้ออกจากโรงเรียนแล้วจะให้เขาไปต่อที่โรง...ไหนก่อน โรงพยาบาล ? หรือ โรงพัก ?”

ข้อมูลจำนวนนักเรียนที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันในลักษณะนี้แต่ละปีมีอยู่ไม่น้อย ในช่วงปี 2546 – 2547 ผมเคยอ่านข้อมูลพบว่ามีอยู่ประมาณ 500+ คน มาวันนี้ทราบข้อมูลโดยวาจาว่า มีมากเกินกว่า 1,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นความสูญเสียมหาศาล และสร้างปัญหาสังคมต่อเนื่องกลายเป็นความทุกข์ร่วมกันที่ยากจะเยียวยาเมื่อเขาต้องเติบโตขึ้นมาในสภาพที่สูญเสียโอกาสทางการศึกษา...ที่เราเชื่อกันว่า เป็นเครื่องมือในการสร้างคนเก่ง คนดี มีความสามารถ.

หมายเลขบันทึก: 328547เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2010 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ อยากให้ความฝันเป็นจริงครับ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

เป็นคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์ท่านอาจารย์สุชิน บุญเพ็ญค่ะ

ท่านสอนให้รู้จักการทำ SWOT Aalysis เป็นท่านแรก

ทำให้มีมุมมองของปัญหาและการแก้ไขปัญหาค่ะ

ขอขอบคุณบันทึกดีดีและสุขสันต์วันครูนะคะ

เรียน อาจารย์

ตามที่ได้สัมผัสกับนักเรียนมาหลายๆโรงของจังหวัดชุมพรและใกล้เคียง..( นร.มาเข้าค่ายลูกเสือและเยาวชน)ข้าพเจ้าเก็บข้อที่เหมือนและแตกต่างของโรงเรียนทุกระดับตั้งแต่อันดับต้นๆของจังหวัดถืงระดับล่างสุดแม้แต่โรงเรียน ตชด.จนเห็นได้ชัดว่าเด็กใฝ่เรียนหรือที่ผู้หลักผู้ใหญ่เรียกว่าเด็กเรียน เด็กเก่ง ของแต่ละโรงเรียนจะเรียนไล่กันไม่ทัน คือเด็กเก่งของโรงเรียนเล็กๆจะไล่เรียนให้เก่งเท่าเด็กโรงเรียนดีๆดังๆไม่ทัน สาเหตุเพราะอะไรก็รู้ๆกันอยู่แล้ว แต่ทำไมเด็กเกเรจึงมีความสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องที่ไม่ดี เรื่องที่ไม่เหมาะได้เท่าทันกันทั้งในเมืองและบ้านนอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท