ครูปูชนียบุคคล พลังของแผ่นดิน


"เรือจ้าง" น้ำใจงามนามว่าครู

 

 

“พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส แต่ว่าใครหนอใคร เปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง”

        ช่างน่าแปลกนัก ที่ใครต่างก็ขนานนาม ครู ว่าเป็น “เรือจ้าง” โดยให้ความหมายว่า เรือที่คอยรับจ้างส่งผู้โดยสารให้ไปถึงฝั่ง ซึ่งคือครูที่คอยเคี่ยวเข็นและพาลูกศิษย์ไปถึงจุดหมายปลายทางที่พวกเขาต้องการ แต่ใครจะรู้บ้างว่า พระคุณที่สาม ผู้ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในชั่วชีวิตของบุคคลอีกคนหนึ่ง เป็นผู้ที่หล่อหลอม สร้างเสริม ชี้แนะ และสร้างคนให้เป็นคนอย่างแท้จริงนั้น คือบุคคลที่ควรค่าแก่การเคารพ สรรเสริญและยกย่องให้เป็น “ปูชนียบุคคล” และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติของเรา

        การศึกษานับเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยถือว่าการศึกษาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตที่จะช่วยพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพ และการได้รับการศึกษาที่ดีของประชาชนอย่างทั่วถึงทุกคน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง และรัฐก็มีหน้าที่ที่สำคัญในการจัดการศึกษาภาคบังคับ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อพัฒนาคน สร้างบุคลากรผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และเป็นผลให้เกิดการพัฒนาของชาติ กลไกหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการสร้างชาติ และเป็นกลไกในฟันเฟืองระบบการศึกษา นั่นคือ ครู ผู้มีหน้าที่และภาระอันหนักยิ่งนับตั้งแต่การศึกษาระดับปฐมวัยจนถึงระดับอุดมศึกษา บุคคลที่มีบทบาทในการสร้างคนให้เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา และเป็นคนดีของสังคมนั้น คือครู โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งการบ่มเพาะความรู้ โดยมีครูทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอด ตั้งแต่วัยเยาว์ครูเป็นผู้สอนวิธีในการเรียนรู้เรื่องพื้นฐานต่างๆในชีวิต สืบเนื่องมาจนถึงการศึกษาขั้นสูง ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ครูก็ยังคงเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในระบบการศึกษาอยู่เช่นเคย และด้วยความที่เด็กและเยาวชนใช้เวลาส่วนใหญ่ที่บ้านและโรงเรียนหรือสถานศึกษา ครูจึงเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่คลุกคลี ใกล้ชิดและมีโอกาสในการช่วยขัดเกลาทางสังคมให้กับเด็กและเยาวชนเหล่านั้นให้เป็นคนดีได้

                       เรียกผู้มาศึกษาว่าลูกศิษย์          เออผู้ใดได้คิดบ้างหรือไม่

               ว่าเป็นศัพท์พิเศษของเทศไทย           ยกศิษย์ให้เป็นลูกถูกทำนอง

               เพราะมนุษย์น้อยใหญ่ในโลกนี้            ย่อมรักลูกไม่มีเสมอสอง

               เห็นว่าลูกมีค่ากว่าเงินทอง                 ลูกศิษย์ของครูก็เป็นเช่นนั้นเอย

ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

             บทประพันธ์ข้างต้น คงแสดงให้ได้ทราบถึงความ “ผูกพัน” ระหว่างครูและศิษย์ โดยศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุคคลสำคัญของโลกสาขาการศึกษา ได้ให้ข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า คำว่า ลูกศิษย์ ที่ใช้เรียกนักเรียน นักศึกษาหรือผู้มาเข้ารับการศึกษาในสรรพวิทยาการนั้น ไม่ได้เป็นคำที่ใช้เรียกตามความหมายกันอย่างดาษดื่นโดยทั่วไปในภาษาต่างๆ แต่มีใช้เฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น โดยศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้ให้เหตุผลไว้ว่า ที่เราเรียกนักเรียนหรือผู้มาเข้ารับการศึกษาว่าเป็น “ลูก” นั้น เพราะวัฒนธรรมไทยถือว่า ศิษย์เป็นบุคคลที่ควรได้รับการดูแล ทะนุถนอม เอาใจใส่ และมีคุณค่ายิ่งกว่าทรัพย์สินอื่นใด และที่สำคัญคือ คนที่เป็นครูได้มอบความรักให้กับศิษย์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าลูกของตนเองเลย มีความห่วงใยในลูกศิษย์ของตนอย่างมาก จึงยกให้ศิษย์เป็น “ลูกศิษย์” ได้อย่างเต็มใจ

                หากกล่าวถึง พระคุณของครูนั้น มีมากมายเหลือกว่าที่จะพรรณาได้ เพราะภาระที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นครูได้แสดงออกมาตลอดระยะเวลาที่ครูคนหนึ่งจะได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ แต่ผู้เป็นลูกศิษย์ทุกคน ย่อมรู้อยู่แก่ใจแล้วว่า ครูคือผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อกับตัวลูกศิษย์เองในการพัฒนาขีดความสามารถและทักษะต่างๆ และยังเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคง จนเราสามารถจะเปรียบให้ครูเป็นพลังของแผ่นดิน พลังอันสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวเดินต่อไปได้

               ภาระหน้าที่ของครูนั้นหนักยิ่งนัก คำว่า ครู มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า ครุ ที่แปลว่า หนัก เพราะถือว่าวิชาชีพครู เป็นวิชาชีพที่ต้องอาศัยความทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจมอบความรู้ให้กับลูกศิษย์อย่างเต็มที่ เสียสละแรงกายแรงใจให้กับการถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์อย่างมุ่งมั่น และหวังที่จะให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จในชีวิต

               เพราะครูคือผู้ให้หน้าที่หนึ่งของครูคือการให้การศึกษาและมอบความรู้ให้กับลูกศิษย์ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ครู” ไว้ว่าครู หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า องค์ความรู้และความสามารถทางด้านวิชาการโดยมากแล้ว เราได้รับการถ่ายทอดมาจากครูนั่นเอง หน้าที่แห่งการประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้กับลูกศิษย์นั้น ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของความเป็นครู นับตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย การออกเสียง ท่าทาง กิริยามารยาทที่เยาวชนพึงมี จนถึงความรู้ในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาที่ต้องอาศัยความรู้และทักษะความสามารถชั้นสูง ครูคือผู้มอบความรู้เหล่านี้ให้กับลูกศิษย์และด้วยความที่ครูคือ ผู้ที่ต้องอบรมสั่งสอนสรรพวิทยาการต่างๆ ให้กับลูกศิษย์ ครูจึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความสามารถต่างๆ ที่ตนเองมีถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับศิษย์ เพื่อให้ลูกศิษย์ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

                เราจึงอาจยกย่องครูได้ว่า ครูเป็นผู้ฝึกฝนตนเองอย่างหนัก และไม่มีวิชาชีพใดอีกแล้วที่ต้องอาศัยความสามารถและจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความทุ่มเทให้กับงานของตนเองได้ถึงเพียงนี้ ครูต้องสอนและถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการสอนได้นั้น ครูยังต้องใช้เวลาอีกมากนักในการเตรียมการสอน ทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งมากกว่า เข้าใจอย่างถ่องแท้มากกว่า เพื่อวัตถุประสงค์ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย คือการตอบคำถามของลูกศิษย์ให้เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง เพราะครูได้มองเห็นแล้วว่า หากอธิบายและตอบปัญหาที่ลูกศิษย์ไม่เข้าใจได้อย่างละเอียดแล้ว ลูกศิษย์ก็สามารถนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปต่อยอดได้อีกมากต่อไป จนทำให้ครูเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิทยาการ รวมถึงครูยังต้องสามารถประยุกต์องค์ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่มาปรับใช้กับการเรียนการสอนอีกด้วย เพื่อให้ลูกศิษย์ได้มีประสบการณ์ที่ทันต่อเหตุการณ์ เป็นปัจจุบันและมีความน่าเชื่อถือ เหตุผลเหล่านี้ จึงสะท้อนให้เห็นว่า ด้วยหน้าที่ของครูนั้น ไม่ใช่อาชีพที่สบาย แต่เป็นอาชีพที่ทุ่มเทอย่างมหาศาล หรือครูคือผู้เสียสละตนเองอย่างแท้จริง

                  การมอบให้ของครูนี้ เป็นการมอบให้โดยไม่เคยมีความคิดที่ต้องการได้สิ่งตอบแทนใดๆทั้งสิ้น เป็นการให้ที่บริสุทธิ์ ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ทาน คือ การแบ่งปันให้ แม้แต่เงินทอง ค่าตอบแทนหรือสิ่งของมีค่าอันใดเพียงสิ่งหนึ่ง คงไม่เคยมีครูที่ไหนในโลกเคยเรียกร้องสิ่งเหล่านี้จากผู้เป็นลูกศิษย์ ความปราถนาดีและความต้องการให้ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จและไปถึงเป้าหมายในชีวิตที่พวกเขาต้องการนั้น ครูก็ยินดีที่จะพาพวกเขาไปถึงโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้จะถูก

                    เปรียบเปรยว่าเป็น เรือจ้างที่ไม่มีคุณค่ามากมายก็ตามนอกเหนือจากการมอบความรู้ให้กับลูกศิษย์ทางตรงแล้ว ครูยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิษย์อีกด้วย คำกล่าวที่ว่า แม่พิมพ์ของชาติ คงจะให้ความหมายในการเป็นแบบอย่างที่ดีของครูได้อย่างชัดเจน ความตั้งใจ ความทุ่มเทและความเสียสละ เป็นคุณธรรมข้อสำคัญของบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูที่ดี และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์ได้ การแสดงออกด้วยท่าทีที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม ความอ่อนโยนและละมุนละไมในการอบรมสั่งสอน ลูกศิษย์จะได้ซึมซับเข้าไปในจิตใจทีละน้อย เป็นการมอบให้ทางอ้อม ซึ่งจะช่วยขัดเกลาลักษณะนิสัยของพวกเขาให้เป็นคนอ่อนโยน และมีเมตตาเช่นเดียวกันด้วย จึงคงไม่ผิดนักที่เราจะยกย่อง ความเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ให้กับผู้ที่ให้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และด้วยหน้าที่ของความเป็นผู้ให้นี้เอง ครูจึงเป็นผู้ที่ควรค่าแก่การยกย่องและให้เกียรติอย่างสูงสุด

                เพราะครูคือผู้สร้างนอกเหนือไปจากการถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์แล้ว ครูยังเป็นเสมือนผู้หล่อหลอมและสร้าง คนให้เป็นคน เพราะความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เพราะนั่นก็เท่ากับคนที่มีความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด ครูจึงเป็นเหมือนผู้ช่วยให้คนที่มีความรู้ท่วมหัว เอาตัวรอดได้ในสังคม ด้วยการสร้างเสริมคุณธรรมและจริยธรรมที่เหมาะสม ครูคนหนึ่งสามารถสร้างศิษย์นับร้อยนับพันให้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตตามเป้าหมายได้ เพราะสองมือของครูนั่นเอง แม้อาจเป็นมือที่จำต้องกำไม้เรียวลงโทษลูกศิษย์ก็ตาม แต่ก็ด้วยเจตนาดีที่มีแต่ความห่วงใย และต้องการให้ลูกศิษย์มีแต่ความสำเร็จ เพื่อที่ว่าในวันที่เรือจ้างไปส่งถึงฝั่งแล้ว เรือจ้างลำนั้นจะหันหัวเลี้ยวกลับด้วยความภูมิใจว่า ครูคนหนึ่งได้ทำอย่างสุดความสามารถและส่งลูกศิษย์ไปยังจุดหมายปลายทางที่พวกเขาต้องการแล้ว จึงไม่แปลกใจเลยว่า เรามีบุคลากรของชาติที่มีความสามารถ นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติในหลากหลายสาขาก็เพราะเรามีครูที่มีคุณสมบัติเป็นผู้สร้างนั่นเองครูยังได้มอบองค์ความรู้ที่นอกเหนือจากความรู้ในห้องเรียนให้กับลูกศิษย์ด้วย นั่นคือประสบการณ์ชีวิตให้กับลูกศิษย์ ถ้อยคำและความคิดเห็นที่ครูสอดแทรกในบทเรียน ทำให้ลูกศิษย์นำเก็บไปคิดและใช้เป็นคติในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การมอบให้ทางอ้อมของครูนั้น มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างคน และการมอบประสบการณ์ชีวิต คติในการดำเนินชีวิตและแนวทางในการอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข จะช่วยสร้างให้คนเก่งเป็นคนดีควบคู่กันไปเพราะสังคมไม่ได้ต้องการแค่คนเก่ง แต่สังคมยังต้องการคนดีอีกจำนวนมากด้วย ครูจึงเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดที่จะสร้างคนดีให้กับประเทศชาติต่อไป

                  เพราะครูคือผู้ชี้แนะแนวทางครูเป็นบุคคลที่เปรียบเสมือนมัคคุเทศก์ที่จะช่วยนำทางลูกศิษย์ไปยังจุดหมายที่ถูกต้องและเปรียบเสมือนตะเกียงที่ช่วยส่องสว่างทางให้มองเห็นได้กว้างไกลขึ้น ครูจะช่วยเปิดมุมมองต่างๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ให้กับลูกศิษย์ โดยอาศัยทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ หากเมื่อใดที่ครูรู้ว่าลูกศิษย์กำลังก้าวไปในทางที่ผิดศีลธรรมหรือครูมองว่าเป็นทางที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม จิตวิญญาณของความเป็นครูจะช่วยนำพาลูกศิษย์กลับมาเดินในทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม แม้บางครั้งมือจะต้องหวดไม้เรียวบ้าง ลงโทษลูกศิษย์บ้าง แต่ต้องยอมรับว่าเพราะไม้เรียวของครูได้ช่วยนำทางให้กลับมาสู่ทางที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง การชี้ทางของครูนั้นครอบคลุมไปในหลายประเด็น ทั้งในเรื่องวิชาการที่ครูจะให้ความช่วยเหลือ เสนอทางเลือกที่จะให้ลูกศิษย์มุ่งไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ แนะนำแหล่งค้นคว้าแหล่งเรียนรู้ จัดหามาให้เท่าที่จะทำได้อย่างสุดความสามารถ นอกจากนี้ ในเรื่องของการดำเนินชีวิต ครูได้ใช้ประสบการณ์ส่วนตน มาเป็นกรอบในการนำเสนอความคิดและวิสัยทัศน์ของครูในเรื่องต่างๆ เพื่อให้ลูกศิษย์ได้นำไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจทางที่พวกเขาจะเลือกเดินต่อไปในอนาคต และตลอดเวลาที่ลูกศิษย์อยู่ในความดูแลของครู ครูจะช่วยประคับประคองลูกศิษย์ให้ก้าวไปโดยไม่พลาดพลั้งความเป็นครูยังต้องอาศัยความเข้าใจในลักษณะนิสัยของลูกศิษย์อีกด้วยเพื่อให้ครูสามารถชี้แนะแนวทางได้อย่างถูกต้อง ความเข้าใจในธรรมชาติและนิสัยของช่วงวัยมนุษย์จะช่วยให้ครูเข้าใจเหตุผลของการกระทำของลูกศิษย์ได้มากขึ้น รู้จักมุมมองและพื้นฐานทางความคิดของศิษย์ได้กว้างขึ้น เพื่อที่จะได้เสนอแนะและชี้ทางที่ดีที่สุดให้กับลูกศิษย์ได้เลือกทางที่เหมาะสมได้ เพราะหากครูไม่เข้าใจลูกศิษย์แล้ว ก็ยากนักที่ลูกศิษย์จะเข้าใจและเชื่อใจครู การเข้าใจซึ่งกันและกัน จะเป็นกุญแจที่สำคัญที่จะทำให้ครูและลูกศิษย์ก้าวไปถึงฝั่งได้อย่างเต็มภาคภูมิทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ได้แสดงให้เห็นหน้าที่และจิตวิญญาณของความเป็นครูอันเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญ

                ในประเทศไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับวิชาชีพครูอย่างมาก โดยนับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีเป็นวันครู โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศในปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ ว่า   “ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่าเนื่องจากผู้เป็นครู มีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย” คงได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญระดับชาติที่มีต่อ วิชาชีพครูและความเป็นครูในสังคมไทยในประเพณีไทยมีพิธีไหว้ครูเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ศิษย์ได้มีโอกาสบูชาพระคุณของครูและฝากตัวเป็นศิษย์ และยังแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทิตาของคนไทย นอกจากนี้ บทบูชาครูในพิธีไหว้ครูที่ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ได้แสดงให้เห็นถึงการเคารพและบูชาครูผู้มีพระคุณ การเลือกสรรดอกไม้ที่ใช้ไหว้ครูอันแทนคุณลักษณะที่สำคัญของความเป็นครู ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของครูในวัฒนธรรมประเพณีไทยในพระพุทธศาสนาก็ได้ให้ความสำคัญกับครูเช่นเดียวกัน โดยในหลักธรรม ทิศ ๖ ที่เป็นหลักธรรมเกี่ยวกับบุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ดุจทิศที่อยู่รอบตัวจัดเป็น ๖ ทิศคือ ทักขิณทิสหรือทิศเบื้องขวา ได้แก่ ครูอาจารย์ ในหลักธรรมข้อนี้ยังได้แสดงข้ออนุเคราะห์ที่ครูพึงมีต่อศิษย์และศิษย์พึงกระทำต่อครู อันได้แก่ ครูพึงฝึกฝนแนะนำให้ศิษย์เป็นคนดี สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง ยกย่องให้ปรากฏในหมู่เพื่อน สร้างเครื่องคุ้มกันภัยในสารทิศคือสอนให้ศิษย์ปฏิบัติได้จริง นำวิชาไปเลี้ยงชีพทำการงานได้ ในขณะที่ศิษย์พึงลุกต้อนรับแสดงความเคารพ เข้าไปหา ใฝ่ใจเรียน ปรนนิบัติ และเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ หลักธรรมทิศ ๖ นี้ ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ครูและศิษย์พึงมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำต่อกันด้วยความโอบอ้อมอารีและสุภาพนอบน้อม หน้าที่ของครูในทิศ ๖ ยังเป็นหน้าที่ที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนยิ่งว่า ครูคือบุคคลที่มีความสำคัญในทุกกระบวนการของชีวิตอย่างแท้จริง

                       ยังมีครูอีกพระองค์หนึ่ง ครูของแผ่นดินที่เราเคารพและสักการะเหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมครูของแผ่นดินพระองค์นี้ ทรงเป็นครูผู้พระราชทานสรรพวิทยาการหลากหลายสาขา อันจะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ที่มีมากกว่าสามพันโครงการที่ได้เป็นแบบอย่างในการสอนที่ดีให้กับปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงมีแนวทางในการสอนที่ไม่เหมือนกับครูคนใดในโลก โดยจะทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นตัวอย่าง วิธีการสอนของพระองค์จะเน้นการปฏิบัติแบบแนวทางเลือก ใช้วิธีนำร่อง บูรณาการองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ และให้ผู้ศึกษาได้มีโอกาสปฏิบัติโดยทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้สอบถามปัญหาข้อสงสัยได้อย่างไม่ทรงถือพระองค์ นอกจากนี้ ทรงมีพระจริยวัตรที่งดงาม สมควรที่เราผู้เป็นประชาชนในพระองค์จะต้องดำเนินตามรอยพระยุคลบาท และทรงมีพระอุปนิสัยที่มีคุณลักษณะความเป็นครูที่สูงยิ่ง กล่าวคือ ทรงมีความอุตสาหะพยายามในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ นานับประการ ทรงเป็นนักคิด นักวิเคราะห์และนักประยุกต์ในหลายสาขาอีกด้วย

                “การศึกษาเป็นสิ่งที่ยาก และเป็นสิ่งที่ต้องมีความเพียร ความพยายาม และความรอบคอบทั้งต้องมีการยั้งสติ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ฟุ้งเฟ้อ งานของครูจึงเป็นงานที่น่าสนใจและสำคัญ จึงต้องมีกำลังใจ กำลังกายแข็งแรง ผลที่ได้จากงานการศึกษานี้ ก็เป็นผลที่จะเป็นความเป็นความตายของบ้านเมืองแล้วก็ผลงานครูมักเป็น ผลงานที่ไม่ได้รับการยกย่องพอ

              พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖

            พระราชดำรัสข้างต้น ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อวิชาชีพครู ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของความเป็นครูที่มีความสำคัญอย่างมากถึงขั้น “ความเป็นความตายของบ้านเมือง” ทำให้เราเห็นว่า ครูมีหน้าที่ที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาบ้านเมือง อาจสร้างลูกศิษย์ให้เป็นคนดีของสังคมได้ หรืออาจทำลายคนของสังคมไปก็ได้เช่นเดียวกัน ทั้งยังทรงตั้งข้อสังเกตว่า วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่ยังไม่ได้รับการยกย่องจากคนโดยทั่วไปในสังคม ทั้งที่ครั้งหนึ่งสาขาครุศาสตร์และวิทยาลัยครูเป็นสาขาและสถาบันที่มีผู้นิยมเข้าศึกษากันมากที่สุด ด้วยคะแนนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่สูงที่สุด เรียกง่ายๆ ว่า คนที่เก่งที่สุดเท่านั้นที่จะได้เรียนเป็นครู เราจึงต้องเร่งสร้างความสำคัญของบุคลากรในวิชาชีพครูให้มีบทบาทมากขึ้น และต้องสร้างให้ทุกคนในสังคมเห็นคุณค่าของครู

               ความเป็นปูชนียบุคคลของครู หรือบุคคลที่น่านับถือนั้น มาจากการที่ครูเป็นผู้ที่มีหน้าที่และภาระโดยตรงที่ต้องทุ่มเทให้กับการสร้างคน เสียสละเวลาและกำลังกายให้กับศิษย์ที่รักเสมือนหนึ่งลูกของตนเอง โดยมีความหวังที่จะสร้างให้ลูกศิษย์เป็นคนเก่งและคนดีของสังคม ด้วยความเสียสละอย่างหาที่สุดมิได้ในการรับภาระอันแสนหนักนี้ไว้ในสองมือของครู จึงสมควรอย่างยิ่งที่เราจะยกย่องให้ครูเป็นปูชนียบุคคล คือบุคคลที่น่านับถือ น่าบูชา ความน่านับถือถือนี้ ย่อมต้องเกิดมาจากความเลื่อมใสและศรัทธาในตัวของครูก่อน การที่ศิษย์จะเชื่อได้เช่นนั้น ก็มาจากการที่ครูได้เป็นผู้ให้ ให้อย่างไม่หวังอามิสใดๆ จึงเป็นเหตุให้ครูเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือและศรัทธา และครูยังเป็นพลังอันสำคัญยิ่งของแผ่นดินในการขับเคลื่อนคลังสมองของชาติ ในการผลิตนักคิด ผู้นำและประชากรที่มีคุณภาพให้กับสังคมไทย เป็นแม่พิมพ์ของชาติที่จะหล่อหลอมคุณงามความดี เอกลักษณ์ไทย คุณธรรม ความรู้และศักยภาพให้กับศิษย์

             เราคงไม่ต้องจินตนาการเลยว่า หากเราขาดฟันเฟืองที่สำคัญอย่างครูไปแล้ว สังคมจะดำเนินไปได้อย่างไร เพราะเราจะไม่มีแม่พิมพ์ที่ประเสริฐที่สุดแบบนี้อีกแล้วอีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นบุคคลที่น่านับถือของครู นั่นคือ การจับเป็นตัวประกันและสังหารครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจยิ่งนักที่ครูผู้เสียสละความปลอดภัยส่วนตัว เดินทางมาและยืนหยัดสอนหนังสือนักเรียนในเขตอันตรายต่างๆ เพียงเพื่อต้องการให้นักเรียนได้เรียนต่อไป แต่สุดท้ายครูผู้มีพระคุณเหล่านั้นกลับถูกจับเป็นตัวประกันกระทำทารุณด้วยวิธีการต่างๆ และสังหารครูอย่างโหดเหี้ยม ความเป็นครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังถูกคุกคาม ประชาชนหลายร้อยหลายพันคนตัดสินใจย้ายออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย แต่ยังมีครู ครูที่มีอุดมการณ์และปณิธานที่ต้องการให้เยาวชนได้รับการศึกษาและหวังว่าเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้เป็นคดี คนที่รักชาติและคนที่ต้องการความสงบและสมานฉันท์ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งแก้ไขปัญหานี้ให้สงบโดยพลัน เพื่อให้ครูยังคงเป็นบุคคลที่สำคัญของชาติและสามารถทำหน้าที่ได้ต่อไปโดยสวัสดิภาพ และควรที่เราจะต้องยกย่องและนับถือครูทุกคนว่าเป็นผู้เสียสละโดยไม่เคยห่วงกังวลถึงความปลอดภัยของตนเองแม้แต่น้อย มีแต่จะห่วงความปลอดภัยของลูกศิษย์มากกว่า ดังนั้น หน้าที่ในเชิงกำลังและพลังในการขับเคลื่อนประเทศชาติของครู จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดไม่แพ้วิชาชีพใดเลย ด้วยเหตุผลหลายประการที่ได้แสดงอย่างเด่นชัดแล้วว่า ครูเป็นผู้หล่อหลอมเยาวชนของชาติ ผู้เป็นอนาคตในการบริหารประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาและความเจริญ “พลังของแผ่นดิน” จึงเป็นคำที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการใช้เรียกวิชาชีพครู ครูเป็นผู้มีภาระหน้าที่โดยตรงในการมอบความรู้และสร้างคนให้กับประเทศชาติให้มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาองค์ความรู้ พลังในจิตใจของครู คือพลังที่อุทิศเพื่อการพัฒนาของชาติ และนับเป็นพลังของแผ่นดินที่มีส่วนสำคัญที่สุด และสำหรับลูกศิษย์ที่ได้รับพลังแห่งความทุ่มเทนั้นมาแล้ว แม้จะสำเร็จการศึกษาไป แต่ในจิตใจของลูกศิษย์ยังคงหวนรำลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์อยู่เสมอ เพราะครูไม่ใช่แค่เพียงเรือจ้าง แต่ครูคือเรือชีวิตที่จะเดินทางไปกับศิษย์ตลอดไป

             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระราชทานพระราชดำรัส ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

               “ จะต้องทำให้ครูนึกถึงว่า งานที่ทำแม้ผลไม่ค่อยเห็นนี้ก็เป็นเกียรติอย่างสูงที่สุด เพราะเรารู้ผล ฉะนั้นก็ขอ ให้ได้ปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็ง ชักชวนเพื่อนฝูงที่เป็นครูด้วยกัน ที่ปฏิบัติงานอยู่ในด้านนี้ ด้วยการให้มีกำลังใจ ส่งเสริมให้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทำด้วยความเข้มแข็ง...”

               พระราชดำรัสให้กำลังใจครูข้างต้นนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงความมีเกียรติของวิชาชีพที่มีความสำคัญวิชาชีพหนึ่ง และพระราชทานกำลังใจให้กับครูทั่วประเทศ ให้มีกำลังในการทำหน้าที่ครูด้วยความตั้งใจและเข้มแข็งเป็นพื้นฐาน เพราะทรงยกย่องให้วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพที่ “มีเกียรติอย่างสูงที่สุด” การสร้างกำลังใจและมอบความเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับครูเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้ครู สามารถทำหน้าที่อันสำคัญยิ่งเหล่านี้ต่อไปได้ด้วยความภาคภูมิ คำยกย่องสรรเสริญเกียรติยศหรือเงินทอง คงไม่ใช่สิ่งที่ครูต้องการมากที่สุด แต่ครูคงต้องการให้ลูกศิษย์ที่เป็นเสมือนลูกของตนเองนั้น ก้าวไปสู่จุดหมายและเป็นคนดีของสังคมตามที่ครูได้ตั้งปณิธานไว้ จึงสมควรที่เราในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ จะต้องหวนระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ และปฏิบัติตนให้เป็นคนดีมีคุณธรรมเพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณของครูที่กรุณามอบความรู้และอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ด้วยความวิริยะอุตสาหะอย่างเต็มความสามารถ และเหตุผลที่สำคัญที่สุด เพราะครูคือพลังที่สำคัญในแผ่นดินอันจะช่วยเชิดชูเกียรติของชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

หมายเลขบันทึก: 328335เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2010 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์ ให้สูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน

ครูคือผู้สร้างสมอุดมการณ์ มีดวงมาลเพื่อมวลชนใช่ตนเอง

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท