ถอดความสามัคคีเภทคำฉันท์ ตอนที่ ๕


ดำเนินแผนการร้าย  ทำลายสามัคคี

มาลินี ฉันท์ฯ

           กษณะทวิชะรับฐา                         นันทร์และที่วา

จกาจารย์

           นิรอลสะประกอบภาร                     พีริโยฬาร

และเต็มใจ

           จะพินิฉยคดีใด                              เที่ยงณบทใน

พระธรรมนูญ

            ละมนะอคติสี่ศูนย์                         ยุกติบาฐบูรณ์

ญคลองธรรม์

           ลุสมยจะแนะนำพรรค์                   ราชกุมารสรรพ์

ธพร่ำสอน

          หฤทยปริอาทร                              ชี้วิชากร

ก็โดยดี

          เพราะตริจะทะนุถนอมปรี              ดามิให้มี

ระแวงใจ

           ผิวจะวิรุธแคลงใน                        ราชหฤทัยไท

ธลิจฉวี

           เพราะปกรณวิธีมี                         เล่หะลับนี

รสงสัย

           คณะขัตติยะและใครใคร             ต่างก็ไว้ใจ

ทิชาจารย์ฯ

ถอดความ มาลินี ฉันท์ฯ

            ขณะที่วัสสการพราหมณ์ได้รับตำแหน่งราชการและเป็นครูสอนศิลปวิทยา  มีความขยันหมั่นเพียรและเต็มใจกระทำหน้าที่โดยไม่มีความเกียจคร้าน  จะตัดสินคดีใด ๆ ก็เที่ยงธรรมตามกฎหมาย  ปราศจากความลำเอียงทั้ง ๔ ประการ  และตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรมอย่างครบถ้วน  เมื่อถึงคราวที่จะต้องสอนเหล่ากุมารทั้งหลาย  ก็ตั้งใจสอนวิชาการต่าง ๆ อย่างดี  ด้วยความคิดจะตั้งใจทำดีเพื่อมิให้ระแวงใจ  หากทำอะไรผิดปรกติเกรงกษัตริย์ลิจฉวีจะสงสัย  จากการกระทำที่แนบเนียน ไม่มีอะไรน่าสงสัย เหล่ากษัตริย์และทุกคนจึงไว้วางใจในตัวพราหมณ์เฒ่า

เนื้อเรื่องต่อจากมาลินีฉันท์

  วัสสการพราหมณ์เริ่มดำเนินแผนการร้ายทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวี  โดยเริ่มที่พระกุมารผู้เป็นศิษย์  ความแตกแยกลุกลามจากพระกุมารไปยังเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีผู้เป็นพระชนก   ในที่สุดความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีก็ถูกทำลายลงจนหมดสิ้น  เมื่อแผนการทำลายความสามัคคีในหมู่กษัตริย์ลิจฉวีเป็นผลสำเร็จแล้ววัสสการพราหมณ์จึงลอบส่งข่าวให้พระเจ้าอชาตศัตรูกษัตริย์แห่งแคว้นมคธกรีธาทัพมาโจมตีแคว้นวัชชี                                                                                                                                                         

   เนื้อเรื่องในตอนนี้เป็นบทเรียนวรรณคดีวิจักษ์ในชั้นเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖  ขอให้นักเรียนเรียนเนื้อเรื่องอย่างละเอียดในชั้นเรียน  และลองหัดถอดความด้วยตัวเอง  ตามคำแนะนำต่อไปนี้ค่ะ

การถอดคำประพันธ์หรือการถอดความ

    สามัคคีเภทคำฉันท์เป็นเรื่องที่แต่งด้วยคำฉันท์ มีศัพท์บาลี สันสกฤตมาก  การถอดคำประพันธ์หรือการถอดความนั้นจึงค่อนข้างยาก  จึงควรศึกษาหลักการถอดคำประพันธ์ให้เข้าใจเสียก่อน  และศึกษาความหมายของคำศัพท์จะช่วยให้การถอดคำประพันธ์ง่ายขึ้น

หลักการถอดคำประพันธ์หรือถอดความควรถือหลักดังนี้

๑.  ต้องอ่านคำประพันธ์ตอนนั้นหลาย ๆ จบ ทำความเข้าใจอย่างกว้าง ๆ ก่อนว่าความตอนนั้นอยู่ตอนใดของเรื่อง มีใจความกล่าวถึงใคร หรืออะไร แล้วค่อยพิจารณารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

๒.  พิจารณาคำศัพท์ในคำประพันธ์นั้น ๆ  จะต้องรู้ความหมายและหาคำสามัญแทน  คำสามัญนั้นควรมีความหมายเท่าเดิมและมีระดับของคำเสมอกัน  หากหาไม่ได้อาจจะต้องใช้คำเดิมของคำประพันธ์นั้นก็ได้

๓.  หากคำประพันธ์นั้นใช้สรรพนามบุรุษที่ ๑  ที่ ๒  ที่ ๓  ก็ควรใช้อย่างเดียวกัน

๔.  การเรียงความเข้าประโยคควรลำดับความเหมือนคำประพันธ์เดิมอย่าสลับกัน  ยกเว้นว่าแต่คำประพันธ์เดิมสับสน  กรณีนี้อาจสลับความบ้างเพื่อให้ได้ความชัดเจนขึ้น

๕.  คำประพันธ์เดิมมีประโยคขยายซับซ้อน  ต้องพยายามพิจารณาให้ดีว่าความใดเป็นประธาน เป็นกริยา ส่วนใดเป็นส่วนขยาย  แล้วเรียบเรียงใหม่ไม่ให้ประโยคซับซ้อน

๖.  การถอดความไม่เหมือนกับการอธิบายความ  ฉะนั้นต้องถอดให้ได้ความเท่าเดิม  ไม่ต้องขยายเนื้อความเพิ่มเติม แต่อาจเพิ่มความได้บ้างในบางกรณีโดยเฉพาะบทประธาน  เพราะคำประพันธ์บางตอนอาจจะละความเอาไว้

๗.  ในบางกรณีที่ต้องเติมความ เช่น ประธานหรือคำเชื่อม โดยมากให้อยู่ในวงเล็บ

๘.  การเขียนความที่ถอดแล้วนั้นอาจจะเขียนบทต่อบท  ขึ้นบทใหม่แล้วย่อหน้าใหม่ก็ได้  แต่ถ้าความนั้นเป็นเนื้อความเดียวกัน  แม้จะหลายบทก็เขียนความที่ถอดเป็นร้อยแก้วติดต่อกันโดยไม่ต้องย่อหน้าบทต่อบทก็ได้

(ติดตามตอนที่ ๖ ไร้รักสามัคคี  วัชชีเสียเมือง)

หมายเลขบันทึก: 327818เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2010 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ  P  เสียงเล็กๆ فؤاد
ยินดีมากค่ะที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

 

ขอบคุณค่ะที่ช่วยให้ความรู้มากมาย^^

ตอนนี้ไห้ข้อคิดว่าอะไรค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท