เวียดนามกลางพายุฝน ตอน ๑๐ : อาณาจักรจามปาที่ดานัง


มนุษย์เราเหมือนเศษธุลีของประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครมองเห็น

 

 

 

 

                ฉันบินจากโฮจิมินห์ขึ้นมาดานัง  (Danang)  หรือ ด่าหนังในสำเนียงเวียดนาม ระยะทาง 972 กิโลเมตร   สนามบินดานังเงียบเหงาเมื่อเทียบกับที่โฮจิมินห์  ที่นั่นวุ่นวายโกลาหลน่าปวดหัวเป็นที่สุด

                ในอดีต ดานัง เป็นเมืองสำคัญ  เป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกัน จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ไซ่ง่อนตอนเหนือของเวียดนามใต้

                อย่าลืมว่าสมัยนั้น มีเวียดนามเหนือ – เวียดนามใต้

                ไซ่ง่อนมีอะไร  ดานังมีเหมือน ๆ กัน ทั้งโสเภณี คลับ บาร์ ร้านอาหารหรูหรา  เพื่อเป็นแหล่งบันเทิงของทหารอเมริกัน

                ในช่วงสงครามเวียดนามระหว่างเหนือ – ใต้   ดานังเป็นสมรภูมิรบที่ร้อนแรง น่าสะพรึงกลัว ระหว่างชนชาติเดียวกัน

                ภายหลังชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ในปี ค.ศ. 1975  ดานังได้รับการฟื้นฟูจนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ของเวียดนาม และเป็นเมืองท่าสำคัญ  แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักใช้เป็นทางผ่านไปสู่ฮอยอัน หรือไม่ก็ออกไปพักตามเมืองชายทะเลใกล้ ๆ มากกว่าจะพักค้างคืนที่ดานัง

                ดานัง อากาศดีตลอดปี เมื่อเทียบกับเว้ที่อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว

                ในวันที่ฉันมาถึง ดานังค่อนข้างเงียบเหงา อย่างที่บอกนั่นแหละ  คนส่วนใหญ่ไปพักกันที่ฮอยอัน แล้วค่อยซื้อทัวร์มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์จามปา และพิพิธภัณฑ์สงครามที่ดานัง  ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากฮอยอันมาแค่ 20 นาที เว้นแต่โรงแรมในฮอยอันเต็มเท่านั้น  ผู้คนจึงจะกระจายมาพักกันที่นี่

 

                ฉันเป็นนักเดินทางเรื่อยเปื่อย ไม่มีใครคอยกำหนดจำนวนวันเวลา ขอแค่อย่าอยู่นานจนเกินกำหนดวีซ่าหมดอายุเท่านั้น  อีกอย่างฉันชอบความสงบเงียบของดานัง เหมาะแก่การล้างหูจากเสียงอึกทึกของเมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์ที่เพิ่งจากมา

                ฉันนั่งแท็กซี่สนามบินไปโรงแรมที่จองไว้  Royal Hotel   คือชื่อโรงแรมที่ฉันเลือกจากหนังสือ  Lonely Planet  ราคาประมาณ 50 ดอลลาร์  ซึ่งนับว่าแพง แต่อย่าลืมว่าฉันเดินทางฤดูฝน  นักเดินทางทั่วโลกมักหวาดกลัวฝน  ทั้งที่เป็นช่วงเวลาที่ชื่นเย็นที่สุด โลกสดใสเสมอเมื่อฝนพร่างเม็ดลงมาชะล้างฝุ่นละอองในอากาศ

                ต้นไม้เขียวขจี พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญแดดไม่ร้อน ...

 

                ฉันต่อรองราคาห้องพักได้ส่วนลดถึง 30 %  ไม่เลวทีเดียว  ช่วงโลว์ซีซั่นมีอะไรดี ๆ อย่างนี้เสมอ

                พนักงานโรงแรมแทบจะอุ้มฉันเข้าไปพัก เพราะไม่ค่อยมีแขก  โรงแรมระดับสามดาวที่ดูดีมาก มีร้านอาหารญี่ปุ่นในโรงแรมเหมือนที่หนังสือบอกไว้เลย

 

                หลังจากเก็บข้าวของแล้วฉันไปพิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม

 

                ชนชาติจาม เป็นชนเผ่าที่เกี่ยวโยงกับมลายู – อินโดนีเซีย รับศาสนาฮินดู เป็นศาสนาประจำชาติ สถาปนาอาณาจักรจามปาอันรุ่งโรจน์ในเวียดนามกลาง  ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2 แถบเมืองเว้  ดานัง และฮอยอัน  เคยมีเมืองหลวงของฮาณาจักร เช่น สิงหปุระ พันธุรังคะ และอินทรปุระ  ก่อนถูกอาณาจักรไดเวียด ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวเวียดนามพิชิตในปี ค.ศ. 1471  และถูกกลืนชาติไปในที่สุดราว ๆ ปี ค.ศ. 1832

 

 

 

                ก่อนมาเวียดนาม ฉันได้อ่านหนังสือเรื่อง อาศรมกลางเมฆ ประพันธุ์โดยท่าน ติช นัท ฮันห์  พระ ภิกษุเวียดนาม  ที่กล่าวถึงกษัตริย์เวียดนามที่ต้องการจะยุติสงครามยืดเยื้อกับกษัตริย์จาม ด้วยการยกพระธิดาให้อภิเษกกับกษัตริย์จาม  ครั้นพระองค์เองเสด็จออกผนวช พระโอรสขึ้นครองราชย์  และเมื่อกษัตริย์จามพระองค์นั้นสิ้นพระชมน์ พระธิดาต้องเข้าพิธีสตีตามหลักศาสนาฮินดู พระโอรสซึ่งเป็นกษัตริย์ให้คนไปชิงตัวพระธิดากลับมา จากนั้นสงครามกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป  

                ฉันรำลึกถึงอาศรมกลางเมฆอีกครั้ง เมื่อได้มาเยือนอาณาจักรจามปา ที่ดานังในวันนี้

 

 

 

                พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามแห่งดานัง  (The Da Nang Musuem of Cham Sculpture)    เป็นแหล่งรวบรวมความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรจามปา นับตั้งแต่ คริสต์ศตวรรษที่ 4  สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (Ecole Francaise  D’ Extreme – Orient)  ตั้งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936  ณ ริมแม่น้ำซองหาน (Song Han River)

 

                มีประติมากรรมจามชิ้นงาม ๆ หลายยุคสมัย จากปราสาทต่าง ๆ รวมกันอยู่ที่นี่  เดินชมได้ไม่เบื่อ  ถ้าจะเล่ารายละเอียดรูปปั้นแต่ละรูป และเรื่องราวของอาณาจักรจามปา น่าจะใช้เวลาหลายวัน 

 

 

                ถ้าจะให้ดี ควรได้มาชมด้วยตนเอง  เพราะสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น  สิบตาเห็นไม่เท่าสัมผัสด้วยตัวเอง

 

                ฉันพบนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายคนที่นี่ แน่นอนว่าไม่มีคนไทย

 

                ฉันไม่รู้ว่า เวลาที่เดินดูซากปรักหักพังของยุคสมัย จากอิฐ หิน ปูน ทราย แล้วแต่ละคนคิดอะไร  ซากประวัติศาสตร์ให้บทเรียนอะไรกับเราในโลกปัจจุบันบ้าง  สำหรับฉันคิดเสมอว่ามนุษย์เราเหมือนเศษธุลีของประวัติศาสตร์ในอนาคตที่ไม่มีใครมองเห็น  อาณาจักรยิ่งใหญ่ยังล่มสลาย บางช่วงเวลาสูญหาย หลายเรื่องราวลบเลือน

 

 

                แล้ววันนี้ เราเป็นใคร จะแก่งแย่ง แข่งขัน กอบโกย คดโกง เข่นฆ่า บ้าอำนาจ เกลียดชังกันไปทำไม จะเอาชนะกันไปเพื่ออะไร

                จะอยู่กันอีกกี่ร้อยปี ... ?

 

หมายเลขบันทึก: 327625เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2010 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมุมคิดดีๆและงานเขียนที่สะท้อนมุมคิดได้อย่างลุ่มลึกครับ

สวัสดีค่ะ

ตามมาเที่ยวด้วย

ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท