ที่มาของ”จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”


...สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกว่า บางทีกระทรวงมหาดไทยของพระองค์เองจะเป็นต้นเหตุให้ทรงพระราชปรารภ ด้วยกำลังจัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง สมุหเทศาภิบาลมณฑลต่าง ๆ ขอคนมีความรู้ออกไปรับราชการตามหัวเมือง พระองค์ต้องหาส่งไปปีละมาก ๆ ...

ในปีพ.ศ.๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองบ้านเมือง ให้เพิ่มกระทรวงเสนาบดีเป็น ๑๒ กระทรวงและเปลี่ยนตัวเสนาบดีบางกระทรวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ถูกโปรดเกล้าให้ย้ายจากกระทรวงธรรมการไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

 

ในคราวนั้น เสนาบดีกระทรวงต่างจัดการแก้ไขกระทรวงของตนให้เจริญทันสมัย ราชการในกระทรวงต่างๆทำละเอียดกว่าแต่ก่อน และมีการที่จัดใหม่เพิ่มขึ้นเนืองๆ บุคคลเช่นเคยสมัครเข้าเป็นเสมียนตรากระทรวงมาแต่ก่อนหย่อนความรู้ ไม่สามารถทำการงานตามระเบียบใหม่ได้ทันกับการที่เปลี่ยนแปลง เสนาบดีเจ้ากระทรวงจึงต้องแสวงหาคนจำพวกที่ได้เล่าเรียนมีความรู้ เช่นนักเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตรจากโรงเรียนต่างๆมาเป็นเสมียน ต่อมาเมื่อเสมียนเหล่านั้นทำการงานดี มีความสามารถ

เจ้ากระทรวงก็กราบบังคมทูลขอให้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนนาง มีตำแหน่งสูงขึ้นในกระทรวงตามคุณวุฒิ เป็นเช่นนั้นมาราวสัก ๕ ปี  ดูเหมือนจะเป็น พ.ศ.๒๔๔๑ วันหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสปรารภแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า ”ขุนางที่เป็นขึ้นใหม่ๆในชั้นนี้ไม่ใคร่ทรงรู้จัก” แต่ก่อนมาลูกผู้ดีที่ทำราชการ ย่อมถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ในเวลาเป็นมหาดเล็กได้เข้าเฝ้าแหนรับราชการ อยู่ใกล้ชิด พระเจ้าแผ่นดินทรงรู้จักแทบทุกคน บางคนได้เป็นนายรองและหุ้มแพรรับราชการในกรมมหาดเล็กก่อน แล้วจึงไปเป็นขุนนางต่างกระทรวง แต่เดี๋ยวนี้ขุนนางเป็นขึ้นมาจากเสมียนตามกระทรวงเป็นพื้น ไม่เคยเป็นมหาดเล็ก จึงไม่ทรงรู้จัก (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกว่า บางทีกระทรวงมหาดไทยของพระองค์เองจะเป็นต้นเหตุให้ทรงพระราชปรารภ ด้วยกำลังจัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง สมุหเทศาภิบาลมณฑลต่างๆ ขอคนมีความรู้ออกไปรับราชการตามหัวเมือง พระองค์ต้องหาส่งไปปีละมากๆ เมื่อคนเหล่านั้น คนไหนไปทำการงานดี มีความสามารถถึงขนาด พระองค์ก็กราบบังคมทูล ขอให้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางตามทำเนียบ จำนวนคนรับสัญญาบัตรขึ้นใหม่ สังกัดอยู่ในกระทรวงมหาดไทยจำนวนมากกว่ากระทรวงอื่นๆ แต่ข้อนี้พระองค์ไม่ได้คิดในเวลานั้น)  เมื่อได้ฟังพระราชปรารภแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกลับมาคิดใคร่ครวญดู เห็นว่าประเพณีโบราณที่ให้ผู้ที่จะเป็นขุนนางถวายตัวเป็นมหาดเล็กเมื่อก่อนนั้น เป็นการดีมีคุณมาก เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงรู้จัก ย่อมเป็นปัจจัยให้ทรงพระเมตตากรุณาและไว้วางพระราชหฤทัย ส่วนตัวผู้เป็นข้าราชการนั้น เมื่อได้รู้จักคุ้นเคยและทราบพระราชอัธยาศัยพระเจ้าแผ่นดินก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดจงรักภักดี และยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก เพราะมหาดเล็กได้เข้าสมาคมชั้นสูง เป็นโอกาสที่จะศึกษาขนบธรรมเนียมและฝึกหัดกิริยามารยาท กับได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ตลอดจนได้คุ้นเคยกับเพื่อนมหาดเล็ก ซึ่งจะไปรับราชการด้วยกัน เป็นโอกาสที่จะผูกไมตรีจิตต่อกันไว้สำหรับวันหน้า ว่าโดยย่อประเพณีที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวมาหาควรจะปล่อยให้สูญเสียไม่ เมื่อคิดต่อไปว่าจะแก้ไขด้วยประการใดดี เห็นว่าจะกลับใช้ประเพณีเดิมไม่เหมาะกับราชการสมัยนั้น ซึ่งต้องการคนที่ได้เล่าเรียนมีความรู้การงานในกระทรวงเป็นสำคัญ ทางที่จะแก้ไขควรจะให้มีโรงเรียนขึ้นในกรมมหาดเล็ก สอนความรู้เบื้องต้นสำหรับข้าราชการพลเรือนในกระทรวงต่างๆ และให้นักเรียนถวายตัวเป็นมหาดเล็ก มีโอกาสเฝ้าแหนให้ทรงรู้จัก ทั้งให้ศึกษาขนบธรรมเนียมในราชสำนักประกอบกันทั้งสองอย่าง  เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ควรให้ไปสำรองราชการตามกระทรวง จนทำการงานได้ดีถึงขนาด จึงให้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนนางต่อชั้นนั้น แทนที่เคยได้รับสัญญาบัตรไปจากกรมมหาดเล็กอย่างแต่ก่อน  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กราบบังคมทูลความคิ ดเห็นดังกล่าวสนองพระราชปรารภ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย และมีพระราชประสงค์ที่จะให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพป็นผู้จัดตั้ง เพราะได้เคยจัดตั้งโรงเรียนในกระทรวงธรรมการมาแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กราบบังคมทูลขอตัว  ด้วยทรงเห็นว่าถ้าตั้งโรงเรียนมหาดเล็กสำเร็จได้ดังคิด คงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับราชการในภายหน้า เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเป็นตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนควรจะเป็นอิสระ ต่างหากจากกระทรวงต่างๆ แต่จะต้องเป็นผู้ทรงเกียรติคุณในทางวิชาความรู้ถึงผู้คนนับถือ จึงจะจัดการได้สดวก

            สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชดำริห์เต็มที่จะโปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศํกดิ์) ซึ่งเพิ่งกลับมาจากประเทศอังกฤษ โดยสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดแล้ว เป็นอธิบดีจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ได้กราบบังคมทูลว่า ได้ทรงศึกษาวิชานิติศาสตร์เป็นสำคัญ สมัครรับราชการฝ่ายตุลาการมากกว่า  ก็พอเหมาะอีกทางหนึ่ง ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้จัดการแก้ไขระเบียบศาลยุติธรรมอยู่ด้วย เวลานั้นกระทรวงยุติธรรมก็ยังบังคับบัญชาแต่ศาลในกรุงเทพฯ เพราะไม่สามารถจะรับ บัญชาการศาลยุติธรรมได้ทั่วพระราชอาณาเขต  ศาลยุติธรรมหัวเมืองก็ยังคงขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยตามประเพณีเดิม

            การตั้งโรงเรียนมหาดเล็กต้องรอตัวผู้อื่นที่จะเป็นอธิบดี ต่อมา จนพ.ศ.๒๔๔๒ เจ้าพระยาพระเสด็จฯ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เวลานั้นยังเป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ในกรมมหาดเล็กอยู่ กลับมาจากยุโรป สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงดำริห์เห็นว่า  เหมาะแก่ตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็กทีเดียว ด้วยเป็นผู้มีชื่อเสียงในการเรียนวิชาความรู้ แต่ครั้งยังเป็นนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และได้เป็นครูของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชอยู่ในประเทศอังกฤษหลายปี ในระหว่างนั้นก็ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย จึงให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนมหาดเล็กแต่แรกมา

            ในขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีโรงเรียนอยู่ ก็ได้พยายามปรับปรุงแก้ไขต่างๆ  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ดำรงตำแหน่งอยู่เพียง ๓ ปี  เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) ซึ่งเวลานั้นเป็นพระยาวุฒิการบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการอยู่ ขอตัวไปช่วยราชการทางกระทรวงธรรมการ  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเห็นว่า โรงเรียนมหาดเล็กก็ตั้งขึ้นได้แล้ว พอจะหาผู้ทำการแทนพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ได้ ก็ทรงโปรดให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ  และแต่งตั้งให้พระยาศรีวรวงศ์

(ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์) ซึ่งเป็นเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ อันเคยได้ไปศึกษาร่ำเรียนมาจากประเทศยุโรป เป็นผู้บังคับบัญชาโรงเรียนมหาดเล็กแทนต่อมา โรงเรียนมหาดเล็กตั้งได้ ๑๑ ปี ก็สิ้นรัชกาลที่ ๕

            ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้าให้เป็นทุน และพระราชทานที่ดินผืนใหญ่ของพระคลังข้างที่ ที่ตำบล  ปทุมวัน รวมทั้งตึกที่สร้างทำวังที่เรียกว่า”วังกลางทุ่ง” สำหรับเป็นโรงเรียนชั้นแรก พร้อมกับตั้งคณะกรรมการบริหาร แล้วย้ายโรงเรียนมหาดเล็กจากในพระบรมมหาราชวัง ไปตั้งอยู่ ณ วังกลางทุ่ง แต่ปีพ.ศ.๒๔๕๙ พระยาศรีวรวงศ์  ยังคงบังคับบัญชาเช่นเดิม

แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดให้ขยายกิจการโรงเรียนมหาดเล็กอันเรียกว่า โรงเรียนข้าราชการพลเรือน เป็น มหาวิทยาลัย มีนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” แต่นั้นมา

 หมายเหตุ  ข้อเขียนฉบับนี้คัดมาจาก บันทึกความทรงจำของนายสายหยุด เทพเรณู      นักประวัติศาสตร์อิสระ ที่รับประทานสาระสำคัญจากหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล

หมายเลขบันทึก: 327451เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2010 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท