....ควนลูกปัดกับเครื่องประดับแห่งอดีต....


...อาณาเขตที่ติดต่อกับทะเลหรือส่วนหนึ่งของมหาสมุทรทั้งแปซิฟิคและอินเดีย คลาคร่ำไปด้วยพ่อค้าวาณิชและนักเสี่ยงโชคผจญภัยหลายเชื้อชาติ กลายสภาพเป็นเมืองท่ายุคแรกๆ โดยมีแหล่งชุมชนที่เชื่อมเมืองเก่าทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของคาบสมุทร สร้างสายสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนและอินเดีย...

ในราวพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ ดินแดนภาคใต้ของแผ่นดินสยามประเทศได้รับการกล่าวถึงในเอกสารโบราณหลายต่อหลายภาษาว่า เป็นพื้นที่”สุวรรณภูมิ” หรือ “ดินแดนทอง” ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งสัตว์ใหญ่ในผืนป่าประเภท แรด ช้าง พืชสมุนไพรบำรุงร่างกายหรือรักษาโรค ไม้หอม แร่ธาตุ ดีบุก ตะกั่ว รวมทั้งวัสดุอันปรากฏเป็นที่มหัศจรรย์ในหลากหลายแห่ง ทั้งบนภูเขา ในธารน้ำ และตามพื้นทราย กระจัดการะจายเป็นหินและแก้วสีสวยงามตามธรรมชาติ ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งที่ผู้คนจากภายนอกทั้งไกลและใกล้ ปรารถนาจะเข้ามาพำนักเพื่อครอบครองอยู่อาศัย ตลอดจนเข้าร่วมปฎิสัมพันธ์ในกิจการต่างๆ ของชุมชนแถบนี้ จนกล่าวกันว่า อาณาเขตที่ติดต่อกับทะเลหรือส่วนหนึ่งของมหาสมุทรทั้งแปซิฟิคและอินเดีย คลาคร่ำไปด้วยพ่อค้าวาณิชและนักเสี่ยงโชคผจญภัยหลายเชื้อชาติ กลายสภาพเป็นเมืองท่ายุคแรกๆ โดยมีแหล่งชุมชนที่เชื่อมเมืองเก่าทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของคาบสมุทร สร้างสายสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนและอินเดีย

            ....อาจารย์อมรา ศรีสุชาติ กล่าวไว้เป็นเบื้องต้นของภาคใต้ตามลำดับกาล ในหนังสือ “สายรากภาคใต้ : ภูมิลักษณ์ รูปลักษณ์ จิตลักษณ์” ว่า มีการสืบทอดวัฒนธรรมจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของภูมิภาคพื้นถิ่นและของภูมิภาคอื่น ทำให้รู้จักการผลิตโลหกรรมสำริด นอกจากนี้แต่เดิมบริเวณนี้ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของชนพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมจักสานใช้พืชทำภาชนะ เส้นด้าย เส้นเชือก สรรพความรู้ดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นจากภูมิปัญญาดั่งเดิมให้กลายเป็นการทำผ้าเปลือกไม้ ไปจนถึงการทำเส้นด้ายจากพืชและถักทอผ้าด้วยฝ้าย มีงานโลหกรรมและหินสีส่งเป็นสินค้าไปขายที่อินเดียในรูปลักษณ์ของเครื่องประดับ ประเภทจี้ห้อยจากแร่ประกอบรูปตัวสิงห์โตและเต่า ลูกปัดทรงลูกทุ่นทำด้วยวัสดุหินสี ชนิดตุ้มหูโลหะที่ทำจากการหล่อโดยแม่พิมพ์หินทราย ทองรูปพรรณลักษณะสวยงาม ซึ่งเข้าใจว่าเกิดจากฝีมือช่างทองชาวทมิฬ เนื่องจากพบหลักฐานเป็นหินรองเครื่องของช่างทองที่สลักชื่อเจ้าของด้วยภาษาทมิฬ...นอกจากนี้ยังปรากฏมีเหรียญรูปเรือใบสองเสาที่สำคัญ แสดงการใช้พาหนะเรือสัญจรติดต่อกันทางทะเลของผู้คนในอดีต แผ่นแร่ประกอบหินคาร์เนเลียนขนาดเล็ก สลักอักษรภาษาสันสกฤต สัณนิษฐานว่า ใช้เป็นตราประทับสำหรับการดำเนินกิจการหรือผ่านทาง ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าแหล่งที่พบ คือแถบอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เคยเป็นบริเวณเมืองท่าเช่นเดียวกันกับเมืองท่าในอินเดีย ความสวยงามปราณีตของเครื่องประดับที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยจินตนาการวิจิตรบรรจงดังกล่าว สื่อให้เห็นถึงพัฒนาการในการดำรงการแต่งกายและเครื่องประดับที่งดงาม ประดิษฐประดอยจากทรัพย์สินแห่งธรรมชาติ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากผู้คนในอดีต โดยร่องรอยที่ค้นพบปรากฏอยู่บริเวณที่เรียกขานกันว่า “ควนลูกปัด”

            ...ซึ่งหากท่านประสงค์จะสัมผัสความสวยงามที่เป็นเครื่องยืนยันภูมิปัญญาของเผ่าพันธ์และประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาวทักษิณรัฐ โปรดแวะที่พิพิธภัณฑ์สถานวัดคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่...

หมายเลขบันทึก: 327435เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2010 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 07:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท