กระบวนการเรียนรู้ :การถอดบทเรียนศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่


สรุปว่าการถอดบทเรียนมีลักษณะ ก่อเกิด ดำรงอยู่และเป็นไป อาจารย์เพิ่มเติมต่อว่า การถอดบทเรียน อาจทำคนเดียว ทำเป็นกลุ่มหรือเปิดเวทีเรียนรู้กับชุมชนก็ได้

การรับรู้

เมื่อได้รับเชิญให้เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ สรุปบทเรียนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่สู่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย
” ซึ่งจัดโดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 22-24 สิงหาคม 2549 ณ โรงแรมริชมอนด์ อ.เมือง จ.นนทบุรี
โดยเชิญผู้รับผิดชอบงานศูนย์เด็กเล็กทั้ง 12 ศูนย์อนามัยเขตเข้าร่วมประชุม โดยคาดหวังว่า ผู้รับผิดชอบงานจะมีความรู้ ความสามารถในการสรุปบทเรียน
การดำเนินงานโครงการศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่และการเขียนรายงานได้ วิทยากร ท่านแรกที่มีบทบาทจุดประกายความคิดเรื่องการถอดบทเรียนในครั้งนั้นคือ
ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์ จากสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อที่ท่านบรรยายคือ “ แนวคิดและวิธีการ ” สรุปบทเรียนการดำเนินงานสู่ข้อสรุปเชิงทฤษฎี :
การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่สู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย และเทคนิคการเขียนรายงานการสรุปบทเรียนอย่างมืออาชีพ ”
ยอมรับว่าในตอนนั้นงงมากๆ จับต้นชนปลายไม่ถูก
แต่ดูลีลาการสอน สื่อที่ใช้ บวกกับความตั้งใจของอาจารย์ผู้สอนแล้วทำให้ ผู้เรียนเกิดความประทับใจ เมื่อย้อนกลับไปอ่านบันทึกของตัวเองในขณะนั้นพอสรุป
ความที่อาจารย์พูดได้ว่า

“…… .ไม่มีใครเขียนไม่ได้ อุปสรรคที่ขัดขวางการเขียนคือ ความกลัวที่จะเขียน เช่น เขียนแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่น่าอ่าน ดังนั้นก็ให้เริ่มเขียนจากเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด
/เรื่องที่ประทับใจ เขียนตามความรู้สึกของตัวเอง สะท้อนความรู้สึก สะท้อนความรู้ออกมาเขียน เล่าแล้วให้มองเห็นภาพ เปรียบเทียบได้ดี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
เขียนให้สั้นกะทัดรัดได้ใจความ ใช้ภาษาง่ายๆชัดเจน เรียงประเด็นให้ดี เรียงประเด็นคร่าวๆไว้ก่อนแล้วค่อยๆคลี่คลายออกทีละตอน สรุปจบให้กินใจ ให้เข้าใจง่าย
ให้เห็นถึงความสำคัญที่เชื่อมโยงกันมา …… . ”ช่วยบ่าย อาจารย์ นำเสนอสื่อ เครื่องมือและวิธีการสื่อสาร เพื่อการนำเสนอ

“…… . เปิดฉากด้วย ท้องเรื่อง = บริบท = สังคมและสิ่งแวดล้อม ฉายให้เห็นภาพกว้าง เช่น วัฒนธรรมท้องถิ่น สภาพความเข้มแข็งของท้องถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ เดินเรื่อง
ด้วยการปล่อยตัวละครออกมา ทีละตัว หาตัวเอก เช่น คน องค์กรหรือกลุ่มสังคม เช่น กลุ่มแม่บ้าน อบต. เทศบาล วัด คนเฒ่าคนแก่ แล้วผูกปม หาทั้งปัจจัยบวก
และปัจจัยลบ ปัจจัยบวก ไม่ใช้สร้างความรู้พื้นฐาน หรือการประเมินโครงการหรือรายงานโครงการแต่จะต้องให้ได้แนวปฏิบัติต่อไป
การหาปัจจัยลบก็เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้
เห็นว่าอุปสรรคทำให้เกิดความสำเร็จความเข้มแข็งได้ และอะไรควรหลีกเลี่ยงหากจะทำต่อไป …… .. ”

สรุปว่าการถอดบทเรียนมีลักษณะ ก่อเกิด ดำรงอยู่และเป็นไป อาจารย์เพิ่มเติมต่อว่า การถอดบทเรียน อาจทำคนเดียว
ทำเป็นกลุ่มหรือเปิดเวทีเรียนรู้กับชุมชนก็ได้

เมื่อผ่านขั้นตอนการรับรู้ครั้งแรกไปแล้วผู้เขียนก็ยังทำไม่ได้อยู่ดี แต่สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ก็ไม่ละความพยามยาม เมื่อเห็นว่าผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่
ยังทำกันไม่ได้ ก็เลยทุ่มทุนหาอาจารย์มาสอนใหม่ โดยคาดว่าคราวนี้น่าจะสำเร็จ น่าจะพอทำกันได้บ้าง แต่คราวนี้กลับหนักกว่าเดิมเพราะเป็นการเรียนรู้เรื่อง
การทำวิจัยเชิงคุณภาพกันเลยทีเดียว อาจารย์ผู้สอนคือ รศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีระพันธ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เหตุผลว่า
ไหนๆก็เก็บข้อมูลมาแล้วน่าจะได้ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการถอดบทเรียน สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมจึงจัดประชุมขึ้นอีกประมาณ 3 ครั้ง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
อย่างจริงจัง

แรงจูงใจ

หากถามว่ามีแรงจูงใจอะไรหรือ ที่ทำให้ผู้เขียนอยากทำงานนี้ให้สำเร็จ ลำดับแรกคือ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ และปัจจุบันกรมอนามัยก็พูดถึงกันแต่เรื่อง
การจัดการความรู้ การถอดบทเรียน จึงจำเป็นอยู่ดีที่ข้าราชการต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง บังเอิญว่าเป็นลักษณะงานที่ตรงกับความชอบก็เลย
ทำงานอย่างมีความสุข บวกกับสำนัก อนามัยสิ่งแวดล้อมเจ้าของโครงการก็มีความตั้งใจมากที่จะได้เห็นผลงานและไม่เร่งรัดกับผู้ปฏิบัติงานจนเกินไป
เรียกว่าให้อิสระมาก จนทำให้เราเกรงใจ ลำดับต่อมาคือความประทับใจต่ออาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ทั้ง ดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และรศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีระพันธ์
โดยเฉพาะเรื่องการทำวิจัยเชิงคุณภาพ อาจารย์บรรยายได้น่าฟัง เหมือนการวิจัยไม่ใช่เรื่องอยาก ซึ่งไม่ใช่ว่าผู้เขียนจะไม่เคยเรียนเรื่องการทำวิจัยมาเลย
ก็เคยผ่านการเรียน การอบรมมาบ้าง แต่เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ บอกตามตรงว่าไม่ชอบ ไม่ประทับใจ ก็เลยไม่มีแรงขับพอที่จะทำให้เกิดผลงานขึ้นมาได้
แต่เมื่อมาเรียนรู้เรื่องการทำวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นเรื่องใหม่ที่ตรงกับความชอบ เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถ ที่สำคัญถ้าเราทำได้ก็เป็นประโยชน์

ลงมือปฏิบัติ

 

                                                                                                                  

สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมได้มอบหนังสือตำรามาให้ศึกษา 2 เล่ม คือ “ วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ และ การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ ” ทั้ง 2 เล่ม เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร. สุภางค์ จันทวานิช พร้อมกับการบ้านคือ หัวข้อการวิจัยที่ผ่านการเห็นชอบจากอาจารย์แล้ว

จากนั้นก็ลงมืออ่านหนังสือทั้งสองเล่มจนจบ จำไม่ได้ว่าอ่านไปกี่เที่ยว แต่ก็ยังไม่เข้าใจ จึงไปหางานวิจัยเชิงคุณภาพที่ทำสำเร็จแล้วมาอ่าน อาจเป็นเพราะได้พบงานที่ดีก็เป็นได้จึงทำให้ยิ่งเกิดความมุ่งมั่น มีหนังสือหลายเล่มที่ใช้อ่านประกอบเป็นแนวทาง เช่น ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น เขียนโดย ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ และงานวิจัยเชิงคุณภาพของอาจารย์ บุญเลิศ วิเศษปรีชาที่ทำ เรื่อง คนไร้บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องราวของคนไร้บ้านที่นอนตามสนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง อ่านแล้วชอบมาก อ่านหลายเที่ยว อ่านจนอยากเห็นหน้าผู้เขียน จนตอนหลังทราบว่าปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ลงมือเก็บข้อมูล โดยใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานและ วันหยุด ออกสังเกต สัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่าง ติดตามหลายครั้งจนเริ่มคุ้นเคยกับเด็กและผู้ปกครอง
ได้รู้ข้อมูลในท้องถิ่นมากมาย ก็เป็นความรู้อีกแง่มุมหนึ่งของชีวิต รู้ปัญหาของรากหญ้าอย่างชัดแจ้งมากยิ่งขึ้น จนจมปรักอยู่กับข้อมูลอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายเสียอีก ได้ข้อมูลมาเยอะมากแล้วก็แยกแยะไม่ออก จัดหมวดหมู่ไม่ได้ ตกหลุ่มข้อมูลจนเงยหัวแทบไม่ขึ้น นอนดึกดื่นทุกคืนก็ยังไม่บรรลุผล
จะโทรศัพท์ไปปรึกษาอาจารย์ก็ไม่กล้าเพราะรู้ว่าอาจารย์ก็งานมาก และเราก็ไม่ใช่ศิษย์ที่อาจารย์พอจะจำหน้าได้ พบกันแค่ 3 ครั้ง แถมยังเรียกได้ว่า
เป็นเด็กหลังห้องอีกต่างหาก แล้วจะทำยังไงดีล่ะ พอดีสามีเพิ่งเรียนจบปริญญาโทมา ผ่านการทำวิทยานิพนธ์วิจัยเชิงคุณภาพมาก็เลยพอจะคุยกันได้บ้าง
แต่ก็ยังตีประเด็นไม่ค่อยออกเขาก็ไม่เชียวชาญด้านงานสาธารณสุข คุยไปคุยมาก็พาลจะทะเลาะกันอีก ยังดีที่เขาหางานวิจัยดีๆมาให้อ่านก็เลยทำให้พอผ่อนหนัก
เป็นเบาได้

ขั้นตอนที่ยากที่สุดสำหรับผู้เขียนคือ การวิเคราะห์ข้อมูล การจัดหมวดหมู่ข้อมูล อ่านตำราไม่รู้กี่เที่ยวก็ยังไม่ทะลุปรุโปร่ง จนเมื่อได้พบกับคุณพัชรี วงศ์ษา
หรือน้องแดงซึ่งเคยทำวิจัยเชิงคุณภาพมาและมีสัมพันธ์ภาพ

ที่ดีต่อกันจึงกล้าที่จะนำผลงานที่เขียนไว้คร่าวๆให้ลองอ่านและช่วยแนะนำ จนในที่สุดน้องแดงก็สามารถที่จะช่วยชี้แนะเราได้ ช่วยให้เราสามารถตีความข้อมูล
ที่เราหามาได้ เช่นว่าเมื่อได้ข้อมูลนี้มา จะตีความว่าอย่างไร มีข้อมูลอะไรมาสนับสนุนถึงทำให้เราตีความว่าเป็นเช่นนั้น ต้องมีที่มาที่ไป มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ
ถึงจะสรุปความได้ พูดอย่างนี้เหมือนง่ายแต่โดนเข้าจริงแทบแย่ น้องแดงเหมือนช่วยบ่งหนองที่บวมเป่งเต็มที่ให้มีทางออก จากนั้นเราก็พูดคุยแลกเปลี่ยน
ข้อมูลที่ได้มาอย่างออกรสออกชาติ ที่จริงก็รู้มาตั้งนานแล้วว่าการทำวิจัยนั้นหากขาดที่ปรึกษาแล้วจะยากมากจนอาจทำงานไม่สำเร็จ
และยิ่งเป็นการตีความด้วยแล้วการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นยิ่งต้องมีความสำคัญมากๆ แต่ด้วยเพราะว่าชอบงานวิจัยเชิงคุณภาพจึงทำให้กล้าที่จะลงมือทำ
ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วก็ไม่ค่อยเหมาะกับคนไทยหรอก เพราะคนไทยไม่ค่อยชอบแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น(ที่เป็นสาระ) สักเท่าไร
แต่หากทำได้แล้วก็จะเกิดประโยชน์ ยิ่ง

ประโยชน์ที่ได้รับ

เป็นอันว่าผู้เขียนสามารถทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่อง การบริโภคขนมกรุบกรอบของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้สำเร็จ และได้รับคำชมจากพี่ฉันทนา ลิ้มนิรันด์กุล หัวหน้ากลุ่มอนามัยสถานบริการสาธารณะ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย เจ้าของโครงการว่าเขียนได้น่าอ่าน จนพี่เขาถามว่า “… .......พี่ขอโทษนะ หนูเขียนเองหรือเปล่า เพราะไม่เคยเห็นเขียนมาก่อนอ่านแล้วเพลินดี … ........ ” และที่ภูมิใจมากคือได้รับประโยชน์มากมายจากการทำงานครั้งนี้ มีความมั่นใจในการถอดบทเรียนมากขึ้น ตลอดจนเรื่องเล่าต่างๆทั้งจากศูนย์เด็กเล็กและอื่นๆ นอกจากนี้การถอดบทเรียนยังทำให้เรามีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น มีการจดบันทึกในเรื่องที่พบที่เห็นมากขึ้น มีการค้นคว้าทำให้มีความรู้กว้างขวางขึ้น มีความช่างสังเกตเพิ่มขึ้น รู้จักเขียนอย่างมีเหตุมีผล รักการอ่านมากขึ้น

 
ต้องขอขอบคุณผู้จัดทำโครงการจากสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมทุกท่าน คุณพัชรี วงศ์ษา นักวิชาการสาธารณสุข ศูนย์อนามัยสิ่งแวดล้อมที่ 4 ผู้ชี้แนะและให้กำลังใจ
และที่ลืมไมได้คือครูทั้งสองท่านคือดร. วิรัตน์ คำศรีจันทร์ และรศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีระพันธ์ ที่กรุณามอบความรู้ให้จนสามารถทำงานได้ด้วยความมั่นใจ
ที่เล่าเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อถ่ายทอดถึงประสบการณ์การเรียนรู้: การถอดบทเรียนศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการทำงานมาก เนื้อหา
คงไม่สมบูรณ์ที่สุด
แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่ดีและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกคน
 

เรียบเรียงโดย พยาว์ อิศรพันธุ์ 23/07/2009

 
หมายเลขบันทึก: 327359เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2010 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ดีใจไปด้วยเลยนะคะ
  • นี่ละคะ ผลพวงจากการลงมือปฏิบัติ
  • เขียนมาให้อ่านอีกนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท