เรื่องดีที่ มวล. : เสวนาคณบดี ๑/๒๕๕๓ (๑)


เพื่อให้คณบดีของสำนักวิชาต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำงานระหว่างกัน ได้รู้จักและคุ้นเคยกันมากขึ้น รวมทั้งมองหาโอกาสในการทำงานเพื่อมหาวิทยาลัยร่วมกัน

เมื่อเข้าสู่ปีใหม่ ๒๕๕๓ ฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้มีการปรับเปลี่ยนการประชุมคณบดีจากการประชุมรูปแบบเดิมๆ มาเป็นการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ (แต่มีสาระ) และให้ความรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อให้คณบดีของสำนักวิชาต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำงานระหว่างกัน ได้รู้จักและคุ้นเคยกันมากขึ้น รวมทั้งมองหาโอกาสในการทำงานเพื่อมหาวิทยาลัยร่วมกัน

เรากำหนดให้มีการจัดเวทีสัญจรไปตามสำนักวิชาต่างๆ ทุกวันพุธแรกของเดือน ช่วงเวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. แล้วรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ศ.ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เรียกกิจกรรมนี้ว่า "เสวนาคณบดี" สำนักวิชาต่างๆ จะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ โดยใช้งบประมาณจากส่วนส่งเสริมวิชาการ เนื้อหาที่เราจะเอามาพูดคุยกัน เริ่มจากผลงานหรือเรื่องดีที่ภาคภูมิใจของสำนักวิชาที่เป็นเจ้าภาพว่ามีอะไรที่อยากจะเล่าให้เพื่อนสำนักวิชาอื่นรับรู้ด้วย ต่อจากนั้นจะคุยกันในประเด็นเรื่องการทำงานตามแต่จะกำหนดขึ้นล่วงหน้า แล้วสุดท้ายเป็นเรื่องแจ้งเพื่อทราบต่างๆ

การเสวนาครั้งแรกในวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๓ มีสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์เป็นเจ้าภาพนำร่องไปก่อน ดิฉันและทีมเจ้าหน้าที่ประจำสำนักวิชาได้ตระเตรียมการกันหลายอย่าง ได้แก่
- จัดห้องประชุม (ห้อง ๒๖๘) ให้รู้สึกไม่เป็นทางการมากนัก เราเอาโซฟามาตั้งเพิ่มเผื่อใครอยากจะนั่งสบายๆ
- ให้แม่บ้านทำความสะอาดห้องประชุม กำจัดฝุ่นต่างๆ
- สั่งทำอาหารว่าง เป็นสาคูใส้หมู (๔ ลูก ประมาณ ๙๐ กว่ากิโลแคลอรี่) มีกาแฟสดให้บริการพร้อมในห้องประชุม (ลูกน้องต้องไปฝึกการใช้เครื่องชงกาแฟมาก่อนด้วย)
- สั่งอาหารกลางวันจากร้านอร่อย เมนูประกอบด้วย ต้มยำปลากะพง แกงป่าไก่ (เฉพาะเนื้อไก่) + ผักสด ผัดบวบกุ้งสด เนื้อหมู+ตับหมูผัดกระเทียมพริกไทย ตบท้ายด้วยผลไม้ : ส้ม ฝรั่ง แอปเปิ้ล
- เราซื้อข้าวกล้องมาหุงเอง ขอยืมหม้อหุงข้าวขนาดใหญ่มาจากบ้านของอาจารย์ท่านหนึ่ง (ตอนหุงข้าวใจตุ๋มๆ ต่อมๆ ว่าจะได้เรื่องไหม เพราะไม่เคยหุงข้าวกล้องในหม้อใหญ่ๆ กัน)
- ทำป้ายต้อนรับคณบดีทุกท่าน ไว้ที่บันไดทางขึ้นไปห้องประชุม

เช้าวันนี้มีฝนตกค่อนข้างหนัก คิดว่าจะมีปัญหาต่อคนที่จะมาไหม แต่สักพักฝนก็หยุด ศ.พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มาถึงเป็นคนแรก พร้อมมีขนมติดไม้ติดมือมาร่วมด้วย คณบดีทยอยกันมาจนครบ เมื่อได้เวลาอาจารย์ธีระยุทธ ประธานในที่ประชุมก็เกริ่นนำถึงที่ไปที่มาของการจัดเวทีเสวนาคณบดี ดิฉันให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่มาของความคิด ได้จากการพูดคุยกัน ระหว่างการเดินทางไป-กลับของการไปสัมมนาแปลงแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ ที่ภูเก็ต (อ่านที่นี่)

ดิฉันนำเสนอผลงานที่ภาคภูมิใจ ซึ่งมีหลายเรื่อง แต่ที่หยิบยกมาครั้งนี้เอาผลงานเรื่อง “กระบวนการพัฒนาการจัดการสุขภาวะชุมชน” ที่เพิ่งได้รับรางวัลคุณภาพการบริการประชาชน รางวัลดีเด่นด้านนวัตกรรมการให้บริการมาเล่าให้ฟัง ความจริงต้องการให้เจ้าของผลงานคืออาจารย์อุไร จเรประพาฬมาเล่าให้ฟังเอง แต่วันนี้อาจารย์เขาไม่สบายไม่สามารถมาได้ แม้งานเรื่องนี้จะได้รับรางวัล แต่ดิฉันไม่ลืมที่จะบอกว่าเรายังมีจุดที่ต้องพัฒนาอีกหลายเรื่อง

 

โล่และเข็มรางวัลที่ได้รับ

 

เรื่องที่เล่าข้างต้น จุดประกายให้พวกเราคุยกันเรื่องของสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ หลักสูตรแพทย์แผนไทย หลักสูตรแพทย์แผนตะวันออก ฯลฯ ต่อเนื่องไปถึงการทำโครงการมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ ที่ทุกสำนักวิชาสามารถมีส่วนร่วมได้ เรามีความเห็นตรงกันว่าการทำงานเรื่องของสุขภาพ น่าจะเริ่มจากข้างในมหาวิทยาลัยก่อน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีโอกาสสูงที่จะทำเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพได้ เพราะมีขนาดไม่ใหญ่มาก อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และมีระบบการรวมบริการประสานภารกิจอยู่แล้ว

 

บรรยากาศในการพูดคุย

มีการพูดคุยกันถึงอาจารย์ที่เจ็บป่วยว่าเมื่อเป็นแล้วค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงมาก เราอยากจะให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ เป็นการประเมินเพื่อการป้องกัน และข้อมูลนี้ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถหาวิธีการบริหารความเสี่ยงได้ อาจารย์ธีระยุทธแจ้งว่าปัจจุบันมีฐานข้อมูลจากผลการตรวจสุขภาพปี ๒๕๕๑ อยู่แล้ว ของปี ๒๕๕๒ กำลังรวบรวมอยู่

ส่วนเรื่องการทำงานด้านสุขภาพกับชุมชนภายนอก น่าจะคุยร่วมกันว่าจะลงไปทำงานกับชุมชนไหน แล้วทำงานร่วมกันเป็น package ใหญ่

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 325541เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2010 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท