การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวประมงพื้นบ้านกับการขยายตัวของคอกหอยแครง


เมื่อทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นของนายทุน สิทธิชุมชนถูกริดรอน

การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวประมงพื้นบ้านกับการขยายตัวของคอกหอยแครง  

กรณีศึกษาอ่าวบ้านดอน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

1.บทนำ

          อ่าวบ้านดอนจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นอ่าวขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของชายฝั่งทะเลอ่าวไทยครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอ[1] ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลักษณะของอ่าวบ้านดอนเป็นหาดเลนที่ยื่นออกไปในทะเลประมาณ1-2 กิโลเมตรจากชายฝั่งบางตอนเกิดเป็นสันดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำและมีแม่น้ำตาปีและลำคลองขนาดเล็กหลายสายที่ไหลลงบริเวณนี้ เช่น คลองพุมเรียง คลองตะเคียน คลองไชยา คลองหัววัว คลองท่าปูน คลองท่าเคย คลองกอ คลองพุนพิน คลองฉิมหวัง , คลองเฉงอะ คลองกระแดะ คลองราม คลองท่าทอง คลองนุ้ย คลองคราม คลองดอนสัก เป็นต้น  พื้นที่บริเวณถัดเข้ามาในแผ่นดินใหญ่ประมาณ 2 กิโลเมตรเป็นนากุ้งและป่าชายเลนเสื่อมโทรมตามชายฝั่ง ก้นอ่าวค่อนข้างตื้นมีความลึกเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร มีป่าชายเลนขึ้นอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลเป็นแนวแคบๆประมาณ 50- 100 เมตร จากชายฝั่ง พื้นที่ของอ่าวบ้านดอนประมาณ 695 ตารางกิโลเมตร หรือ 434,375 ไร่ โดยชายฝั่งยาวประมาณ 88 กิโลเมตร ระยะกว้างสุดจากชายฝั่งถึงเส้นลากตัดประมาณ 20 กิโลเมตร เขตระยะ 3 กิโลเมตรจากฝั่งซึ่งเป็นบริเวณที่ห้ามใช้เครื่องมือประมงบางประเภทเนื่องจากเป็นแหล่งวางไข่และเป็นแหล่งอาศัยเลี้ยงตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน มีพื้นที่ประมาณ 263 ตารางกิโลเมตร หรือ 164,375 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่อ่าวจำนวนประมาณ 54,687 ไร่ ถูกใช้เป็นแปลงเลี้ยงหอยนางรม หอยแครง และหอยแมลงภู่

            จากการลงเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า สภาพทะเลซึ่งเป็นที่สาธารณะที่ชาวบ้านคนใดจะเข้าไปใช้ประโยชน์อาจจะด้วยการจับสัตว์น้ำหรือทำประมงพื้นบ้านเพื่อเลี้ยงชีพและเป็นรายได้ในการเลี้ยงดูครอบครัว ได้เปลี่ยนแปลงเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร เนื่องจากทะเลสาธารณะได้แปรเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งเป็นช่องทางให้คนสามารถถือกรรมสิทธิ์ได้โดยรัฐบาลได้มีโครงการ Sea Food Bank ของรัฐบาลซึ่งส่งเสริมให้มีการออกโฉนดทะเล ชาวบ้านสามารถนำทะเบียนบ้านมาขอยื่นความจำนงขอจับจองที่โดยจะได้รับการจัดสรรพื้นที่ในทะเลให้คนละ 10 ไร่ และจากนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวทำให้มีกลุ่มนายทุนกว้านซื้อที่ หรือซื้อทะเลจากชาวบ้านเพื่อนำมาทำเป็นคอกหอยแครง และเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ การเปลี่ยนระบบการจัดการทรัพยากรจากการจัดการโดยชุมชน มาเป็นการออกโฉนดซึ่งเป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยภาครัฐก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาทั้งในเรื่องของปัญหาการบุกรุกเพื่อทำคอกหอยแครงของนายทุนแม้ว่าจะหยุดการให้สัมปทานไปแล้วแต่การรุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ป่าเกิดใหม่หรือป่าลูกไม้และทะเลสาธารณะก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องผลที่ตามมาคือ พื้นที่หากินที่มีจำกัดชาวประมงพื้นบ้านหากินได้เพียงพื้นที่ร่องเดินเรือและหากรุกล้ำเข้าเขตคอกหอยนายทุนคนเฝ้าคอกหอยก็จะยิงปืนเพื่อข่มขู่ทำให้ชาวประมงไม่กล้าเข้าไปจับสัตว์น้ำในเขตคอกหอยที่มีการปล่อยลูกหอยลงไปแล้ว ชาวประมงหลายคนต้องหยุดอาชีพการทำประมงพื้นบ้านหรือการทำอาชีพที่ต่อเนื่องจากประมงเช่น การหากุ้งเคยเพื่อนำไปทำเคยเนื่องจากไม่มีพื้นที่สำหรับการทำมาหากิน บางคนต้องปรับเปลี่ยนอาชีพเข้าไปสู่การรับจ้างในเมืองเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในขณะที่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติถูกช่วงชิงจากชุมชนไปสู่การจัดการของภาครัฐและก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย ชาวบ้านเขตอ่าวบ้านดอนในอำเภอท่าฉาง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนเพื่อต่อสู้และช่วงชิงนิยามการสร้างความหมายเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการเคลื่อนไหวต่อสู้กับคอกหอยแครงที่รุกล้ำพื้นที่ในการทำมาหากินของชาวบ้าน ผู้ศึกษาจึงสนใจศึกษาประเด็นของการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวประมงพื้นบ้านต่อปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร และมีปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านเกิดการเคลื่อนไหวต่อสู้โดยจะแบ่งการเคลื่อนไหวของชาวประมงพื้นบ้านออกเป็นยุคและศึกษาว่าแต่ละยุคมีการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างไรภายใต้เงื่อนไขใดบ้างซึ่งแนวคิดทฤษฎีที่จะนำมาช่วยในการอธิบายและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวคือแนวคิดการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) และแนวคิดเรื่องสิทธิชุมชนโดยในการนำเสนอบทความจะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อคือ

                        1.บทนำ

                        2.ทบทวนวรรณกรรม

                        3.เรื่องราวของอ่าวบ้านดอน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

  • การเปลี่ยนแปลงการใช้และการจัดการทรัพยากรอ่าวบ้านดอน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวบ้านดอน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

                        4.สรุป/อภิปราย/ข้อเสนอแนะ

 

2.ทบทวนวรรณกรรม

แนวคิดการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement)

            ไชยรัตน์     เจริญสินโอฬารได้เขียนบทความเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับรากหญ้าในประเทศ “โลกที่สาม” (Grassroots Movements in The “Third  World)ซึ่งในบทความดังกล่าวไชยรัตน์ได้อธิบายถึงลักษณะเฉพาะของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับรากหญ้าในประเทศโลกที่สามไว้ว่า

            1.ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับรากหญ้าในประเทศโลกที่สามมักมีสาเหตุมาจากความไม่ยุติธรรมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและประเด็นที่เคลื่อนไหวก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของคนในท้องถิ่น/ชุมชน มากกว่าเป็นเรื่องของรสนิยม เช่นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า หรือการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และความอยู่รอดของท้องถิ่นชุมชนโดยตรงเลยทีเดียว

            2.กลุ่มคนที่เข้าร่วมขบวนการเป็นประชาชนระดับล่าง เช่น ชาวนาชาวไร่ คนยากคนจน และบรรดาผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ที่อยู่ริมขอบของสังคม ซึ่งถูกกีดกันและปิดกั้นมิให้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งจากการเมืองแบบเก่า เนื่องจากไม่มีอำนาจต่อรองในฐานะกลุ่มผลประโยชน์ เพราะมักถูกรัฐปราบปราม/ขัดขวางไม่ให้รวมกลุ่มและจากวาทกรรมการพัฒนากระแสหลักที่ไม่มีที่ว่างให้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น/ภูมิปัญญาชาวบ้านในกระบวนการพัฒนาเลย

            3.การลุกขึ้นเรียกร้องต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคนเหล่านี้ในระดับรากหญ้าถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่และสำคัญมาก ยิ่งไปกว่านั้นในยุคสมัยของโลกที่ไร้พรมแดน(globalization)และไร้การต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์ ( the post ColdWar era) ที่พยายามจะผนวกทุกอย่างเข้าด้วยกันภายใต้มาตรฐานชุดเดียวกันนั้นขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับรากหญ้าในประเทศโลกที่สามที่เรียกร้องในเรื่องของการเคารพในคุณค่าและวัฒนธรรมพื้นบ้าน/พื้นเมือง,วัฒนธรรมชุมชน/ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้านรวมตลอดถึงการจัดการ/การบริหารทรัพยากรธรรมชาติแบบพื้นบ้าน/ท้องถิ่น/ชุมชนจึงถือเป็นการเคลื่อนไหวที่มีความสำคัญยิ่ง ไม่เฉพาะแต่ในบริบทของการเมืองเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงบริบทของสังคมและวัฒนธรรมด้วย

            ในขณะเดียวกัน ไชยรัตน์ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของขบวนการการบริหาร/จัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยท้องถิ่น/ชุมชน (the community – based natural resource management movement) ดังนี้

            1.เป็นขบวนการที่เน้นการพัฒนาแบบที่ให้ท้องถิ่น/ชุมชนเป็นตัวตั้ง (the community – based development) ไม่ใช่สังคมตะวันตกเป็นตัวตั้งอย่างทฤษฎีการทำให้ทันสมัย(modernity) อย่างในอดีต

            2.ขบวนการมีการตั้งคำถามอย่างจริงจังกับชุดของวาทกรรมการพัฒนากระแสหลักที่ไม่มีที่ยืนให้กับกลุ่มคนที่เสียเปรียบและด้อยโอการและไม่เคารพในวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตแบบท้องถิ่น/พื้นบ้าน

            3.เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้รับการดูแลปกป้องจากรัฐจึงลุกขึ้นต่อสู้เคลื่อนไหวเอง ขณะเดียวกันก็จัดได้ว่าเป็นตัวอย่างรูปธรรมของการเมืองแบบใหม่ในประเทศโลกที่สามด้วย เพราะมิใช่เป็นขบวนการประท้วงหรือต่อต้านเฉยๆ แต่ต้องการเคลื่อนไหวเพื่อช่วงชิงการนำในการสร้างคำนิยามหรือความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่เรียกว่า”การพัฒนา” กันเลยทีเดียว นั่นคือ ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับรากหญ้าในประเทศ “โลกที่สาม” ต้องการสร้างวาทกรรมทางการเมืองและวาทกรรมการพัฒนาชุดใหม่ขึ้นมา เป็นวาทกรรมที่ต้องการสลายภาพลักษณ์ของรัฐประชาชาติในการเมืองแบบเก่าที่อ้างตัวเป็นผู้ผูกขาดพิทักษ์ดูแล คุ้มครองและปกป้องประชาชนแต่ผู้เดียวลง เนื่องจากเห็นว่ารัฐประชาชาติในประเทศโลกที่สามมีลักษณะที่เปราะบางมาก

เนื่องจากแนวคิดรัฐประชาชาติดังกล่าวเป็นแนวคิดที่เจ้าอาณานิคมตะวันตกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองอาณานิคม และต่อมาบรรดาผู้นำในประเทศโลกที่สามก็รับมาใช้ต่อเพื่อ “ปกครอง” ประชาชนของตัวเองอย่างปราศจากการวิพากษ์ที่เพียงพอ ประชาชาติในประเทศโลกที่สาม จึงเป็นรัฐที่เอาเปรียบประชาชนทางด้านเศรษฐกิจ กีดกันประชาชนทางด้านการเมืองและดูแคลนประชาชนทางด้านวัฒนธรรม ดังนั้นการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากรัฐประชาชาติจึงถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญและจำเป็นประการแรกของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับรากหญ้าในประเทศโลกที่สามด้วยการหันกลับมาชูและ “บรรจุ” (regenerating) คุณค่า วัฒนธรรม ภูมิปัญญา วิถีชีวิตแบบพื้นบ้าน / พื้นเมือง/ท้องถิ่น /ชุมชน/ภูมิภาค/เชื้อชาติ ฯลฯ ไว้ในวาทกรรมชุดใหม่ในรูปแบบของการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นพื้นบ้าน/พื้นเมืองแบต่างๆ

กล่าวโดยสรุปขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในระดับรากหญ้าในประเทศโลกที่สาม ได้สร้างวาทกรรมการเมืองและวาทกรรมการพัฒนาชุดใหม่ขึ้นมา เป็นวาทกรรมที่เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนและบรรดาสรรพสิ่งต่างๆที่ไม่เคยมีที่ยืนทั้งในวาทกรรมการเมืองแบบเก่าและในวาทกรรมการพัฒนากระแสหลักเพราะเห็นว่าวาทกรรมทั้งคู่โหดร้ายและกระทำทารุณกรรมกับประชาชนผู้ยากไร้ และกลุ่มคนที่อยู่ริมขอบสังคม นั่นคือวาทกรรมการพัฒนากระแสหลัก ตัดบุคคลเหล่านี้ออกจากรากเหง้าเดิมของตัวเอง ภายใต้ข้ออ้างของ “การพัฒนา” ขณะเดียวกันวาทกรรมการเมืองแบบเก่าก็ไม่มีที่ยืนให้กับบุคคลเหล่านี้ในสังคม ในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นได้แต่เพียง “ประชากร” ,”ทรัพยากรมนุษย์”,หรือ “แรงงานราคาถูกในเมือง” หรือหุ่นเชิดทางการเมืองที่คอยไปลงคุแนนเสียงเลือกตั้งทุกๆ 4 หือ 5 ปี เท่านั้น

แนวคิดเรื่องสิทธิชุมชน

            อานันท์  กาญจนพันธ์ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่องสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจนว่า สิทธิชุมชนเกี่ยวพันแนบแน่นกับความคิดว่าด้วยเรื่องของประชาสังคมและการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตขึ้นอยู่กับพลังของประชาสังคมและการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตขึ้นอยู่กับพลังของประชาสังคม ดังนั้นเรื่องสิทธิชุมชนจึงเป็นหัวใจของการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการยอมรับการรวมกันของกลุ่มชุมชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของรัฐ

และในบทความเรื่องสิทธิชุมชนกับองค์กรตรวจสอบของสังคม อานันท์ กาญจนพันธ์ได้กล่าวว่า สิทธิชุมชนมีลักษณะไม่ต่างไปจากสิทธิชองกลุ่มชนอื่นๆซึ่งเกิดจากการแสดงตัวตนออกมาเรียกร้องสิทธิซึ่งถูกสังคมกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมในการแสดงอำนาจในสังคม กลุ่มชนเช่นนี้สามารถแจกแจงออกไปได้อีกในรูปของสิทธิของกลุ่มชนต่างๆ เช่น สิทธิคนจน สิทธิของท้องถิ่น สิทธิของผู้สูญเสียโอกาส  และสิทธิของผู้เสียหาย เป็นต้น ต้องให้สิทธิกลุ่มที่ถูกกีดกันได้มีส่วนร่วมในการกำหนดสถานภาพของตนเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นมากำหนดให้เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และการยอมรับสิทธิชุมชนจะเป็นเสมือนหลักประกันไมให้เกิดการกีดกันสิทธิและอำนาจที่พึงมีพึงได้ของทุกกลุ่มชน และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกกลุ่มชนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหมายถึงการเคารพต่อหลักความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยที่จะช่วยให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้น  ในสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน กลุ่มชนในท้องถิ่นมักจะถูกกีดกันสิทธิและอำนาจในการควบคุมดูแลทรัพยากรมากที่สุด ดังนั้นจึงน่าจะเริ่มให้การยอมรับสิทธิชุมชนในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพยากรก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่สังคมให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการยอมรับสิทธิชุมชนในส่วนอื่นๆต่อไป

 

3.เรื่องราวของอ่าวบ้านดอน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

          “อ่าวบ้านดอน” เป็นเวิ้งอ่าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ มีลักษณะเป็นท้องกระทะ รับน้ำจากแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่ 11 สาย มีความยาวของแนวชายฝั่งประมาณ 120 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 อำเภอ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน อำเภอเมือง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอดอนสัก อันเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จากตะกอนปากแม่น้ำต่างๆ ที่ไหลลงสู่อ่าวบ้านดอน โดยเฉพาะแม่น้ำตาปี – พุมดวง จึงเป็นศูนย์รวมของความอุดมสมบูรณ์ และแหล่งรวมความหลากหลายในระบบนิเวศทางทะเล เช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง สัตว์น้ำนานาชนิด

ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทำให้เกิดการแย่งชิงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาฐานการผลิตอาหารทะเลของประเทศ หรือ ซีฟูดแบงก์ (Sea Food Bank) ที่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นการมุ่งเน้นแนวคิดการพัฒนาฐานการผลิตอาหารทะเลของประเทศขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนผลผลิตจากธรรมชาติ โดยมองว่าการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามแนวชายฝั่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการทำนากุ้ง ฟาร์มเลี้ยงหอยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ การใช้เครื่องมือทำลายล้าง อย่างอวนลาก อวนรุน ในการทำประมงพาณิชย์ ฯลฯ ป่าชายเลนหดหายไปจากการตัดไม้ไปเผาถ่าน ความล่มสลายคุกคามทรัพยากรชายฝั่งอ่าวบ้านดอน วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านเริ่มเปลี่ยนแปลง

 

3.1 การเปลี่ยนแปลงการใช้และการจัดการทรัพยากรอ่าวบ้านดอน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

            จากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและจากการสัมภาษณ์ ผู้ทำการศึกษาได้แบ่งยุคของการเปลี่ยนแปลงการใช้และการจัดการทรัพยากรอ่าวบ้านดอนได้ดังนี้

ยุคที่1 ยุควิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน อยู่ในช่วงก่อนหน้า พ.ศ.2530 ซึ่งในยุคนี้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์การจับหาสัตว์น้ำมาใช้บริโภคและจำหน่ายชาวประมงพื้นบ้านยังใช้เครื่องมือซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาแต่บรรพบุรุษ จากเสียงสะท้อนของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ซึ่งกล่าวว่า

          “เมื่อก่อนนี้ออกเรือไม่ต้องห่างจากฝั่งมากนักไม่ถึงชั่วโมงกลับมาได้ปลาเกือบร้อยโล”(ประสิทธ์,สัมภาษณ์20มิถุนายน 2552)

            ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอ่าวบ้านดอนได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการที่ทะเลเป็นทรัพยากรธรรมชาติซึ่งไม่มีการจับจองหรือการให้สิทธิเชิงปัจเจกทำให้อ่าวบ้านดอนเป็นที่ทำมาหากินของคนหลายกลุ่มหลายพื้นที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ของคนในชุมชนอย่างเดียวเท่านั้นแต่ระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนซึ่งใช้กฎจารีตประเพณียังสามารถใช้ในการจัดการ การจำกัดหรือการเปิดให้เข้าถึงทรัพยากรดังกล่าวอยู่

ยุคที่2 ปีพ.ศ.2530 – 2540 เป็นยุคของการทำลายล้างและการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ข้อมูลจากโครงการวิจัย แนวทางการจัดการทะเลชุมชน เพื่อการประมงและกุ้งเคย และสร้างอาชีพเสริมอย่างยั่งยืนชุมชนบ้านท่าพิกุล ต.ท่าฉาง อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นระบุว่า ช่วงปี 2530 ทรัพยากรป่าชายเลนและชายฝั่งเริ่มเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาสัมปทานป่าชายเลนเพื่อนำไม้ไปเผาถ่าน  ขณะเดียวกันการบุกรุกพื้นที่ป่าของชาวบ้านก็เริ่มขยับเข้ามาชิดแนวเขตป่าชายเลนมากขึ้น ทำให้กล้าไม้ และสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ  ได้รับความเสียหายมากขึ้นเป็นลำดับ โดยปัญหาเหล่านี้เริ่มปรากฏชัดขึ้นเมื่อปี 2540 ที่มีนายทุนบุกรุกเข้ามาทำกินในพื้นที่ป่าชายเลนรอบๆ อ่าว ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการจับจองพื้นที่ในทะเล เพื่อทำนากุ้งและทำคอกเลี้ยงหอยแครง และไม่นานความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีมาแต่ครั้งปู่ย่าพากันล่มสลายในที่สุด ชาวบ้านเริ่มทำมาหากินไม่ได้ น้ำในคลองเริ่มเปลี่ยนสี รวมทั้งโรคภัยต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น 

ยุคที่3 พ.ศ.2540 – ปัจจุบัน เป็นยุคที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการขยายตัวของคอกหอยซึ่งเริ่มในช่วงปีพ.ศ. 2542- 2543 ก่อนจะมาทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อปี 2550 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ขนาดของคอกหอยมีตั้งแต่ 50-1,000 ไร่ และที่หนักไปกว่านั้นคือ วิธีเก็บเกี่ยวซึ่งสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศวิทยาทางทะเลเนื่องจากใช้วิธีคราดทำให้หน้าดินในทะเลฟุ้งกระจายขึ้นมาและหากน้ำขึ้นก็จะพัดพาตะกอนเหล่านั้นเข้าไปในป่าชายเลน ทำให้ลูกกุ้ง ลูกปลาที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนตายเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารของสัตว์ทะเลได้รับความเสียหายไปด้วย

            ในขณะเดียวกันการขยายตัวของคอกหอยดังกล่าวก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลในเรื่อง Seafood Bank ซึ่งส่งผลให้เกิดการยึดทะเลเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวเหมือนที่ดินสามารถซื้อขายกันได้ทำให้คอกหอยของนายทุนเกิดการขยายตัวอยู่ตลอดเวลาและเกิดการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

 

3.2การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวบ้านดอน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

            จากปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งชาวบ้านเผชิญอยู่ทำให้เกิดความพยายามหาทางแก้ไขปัญหาของชาวบ้านโดยการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่อ่าวบ้านดอน อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ศึกษาสามารถประมวลได้ ดังนี้

3.2.1.การสร้างเครือข่ายซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชุมชน 7 ชุมชน ในชื่อ เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอ่าวบ้านดอน โดยใช้กระบวนการวิจัยค้นหา “คำตอบ” เนื่องจากบทเรียนจากโครงการวิจัย “การศึกษาแนวทางการจัดการป่าชายเลนเพื่อเพิ่มปริมาณปูเปี้ยวอย่างยั่งยืน บ้านท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งภายใต้กิจกรรมดังกล่าวชาวประมงพื้นบ้านอธิบายว่าเรื่องของปูเปี้ยวนำไปสู่การฟื้นฟูป่าชายเลน นำไปสู่การจัดการ ขยายไปสู่กลุ่มอื่นๆซึ่งกลายมาเป็นเครือข่ายที่ร่วมมือกันในการดูแลและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

กลุ่มอนุรักษ์ปูเปี้ยวก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2544 ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มอนุรักษ์ปูเปี้ยว ซึ่งมีกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์จากอ่าวบ้านดอนร่วมกัน คือ

  1. ห้ามจับปูเปี้ยวตัวเล็ก
  2. ห้ามจับปูเวลาวางไข่
  3. ห้ามจับปูเปี้ยวนิ่ม
  4. ห้ามจับสัตว์น้ำโดยใช้อวนตาถี่
  5. ห้ามใช้อวนรุนในคลอง
  6. เครื่องเล็กใช้รุนกุ้งเคยได้
  7. ห้ามเบื่อปลาในอ่าวบ้านดอน
  8. ห้ามใช้อวนลากในคลอง

และในปี พ.ศ.2547 ได้เกิดการขยายแนวคิดเรื่องการตั้งกลุ่มเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในทะเล เพิ่มขึ้นอีกเป็น 7กลุ่ม

3.2.2.การทำทะเลชุมชน  มีเนื้อที่ประมาณ 6,582 ไร่ โดยเป็นเขตที่อยู่ระยะห่างจากฝั่ง 3 กิโลเมตรมีการปักเขตทะเลชุมชนโดยใช้แนวไม้ไผ่ปักเป็นระยะและแนวไม้ไผ่ดังกล่าวก็มีการทาสีธงชาติไว้เป็นสัญลักษณะของเขตทะเลชุมชน

3.2.3.การเฝ้าระวังและการป้องกันโดยใช้ชุดลาดตระเวน เพื่อเฝ้าระวังป้องกันปัญหาเรืออวนลาก อวนรุน ที่แอบเข้ามาในเขตพื้นที่ โดยชุดลาดตระเวนจะประกอบด้วยตัวแทนจากกลุ่มต่างๆซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่าย

3.2.4.การสร้างระเบียบการใช้อ่าวโดยพยายามเน้นเรื่องสิทธิชุมชนและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าสิทธิเชิงปัจเจก

3.2.5. การสร้างอาชีพ เช่นเพาะฟักปูเปี้ยว เลี้ยงปูในบ่อกุ้ง เลี้ยงหอย

3.2.6.การเคลื่อนไหวต่อสู้โดยใช้องค์ความรู้ จากภายนอก เช่นการตรวจสอบคุณภาพน้ำ การทำวิจัยร่วมกับสกว.ท้องถิ่น

3.2.7.การเคลื่อนไหวต่อสู้โดยใช้องค์ความรู้จากภายในชุมชนท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาเดิม เช่นการเลี้ยงปูดำในบ่อกุ้ง

3.2.8.การเคลื่อนไหวต่อสู้โดยใช้ข้อมูลจากฐานทรัพยากร เช่นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสัตว์น้ำ/ระบบนิเวศ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวรวบรวมและจัดเก็บจากชาวประมงพื้นบ้านในชุมชน แล้วจัดระบบข้อมูล เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นในพื้นที่

4. สรุป /วิเคราะห์

ต้นทศวรรษ 2530 ความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติในสังคมไทยแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลผลักดันโครงการสร้างเขื่อนและผันน้ำหลายโครงการ เช่น โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ภายใต้โครงการผันน้ำกก อิง ยม น่าน โครงการสร้างเขื่อนปากมูล มีการแย่งยึดพื้นที่ป่าจากชุมชนท้องถิ่นไปให้สัมปทาน การปลูกป่าเศรษฐกิจ  เช่นโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ ในภาคอิสาน หรือการให้สัมปทานป่าห้วยแก้ว อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ให้แก่โครงการสวนป่ากิตติ รวมทั้งการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ซ้อนทับพื้นที่ชุมชนหลายแห่ง ฯลฯ ความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านหลายแห่งรวมตัวเป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายรัฐ

            เช่นเดียวกับนโยบาย Sea Food Bank ของรัฐบาลที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ปัจเจกบุคคล ทำให้สิทธิในการเข้าถึง สิทธิในการใช้ประโยชน์ทะเลซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสาธารณะ โดยไม่คำนึงถึงการบริหารจัดการของชาวบ้านที่มีมาก่อนแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวประมงพื้นบ้านซึ่งเคยทำมาหากินตามวิถีชีวิตที่มีมาแต่เดิมได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่สามารถหาจับสัตว์น้ำได้ในเขตพื้นที่ที่รัฐออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ปัจเจกชนครอบครอง ในขณะเดียวกันในพื้นที่ก็มีการรุกเข้ามาของทุนขนาดใหญ่ที่ทำการกว้านซื้อเอกสารสิทธิ์เพื่อการถือครองที่ทางทะเลแปลงใหญ่ในการสร้างคอกหอยแครง

            ในการลงพื้นที่อ่าวบ้านดอนในเขตอำเภอท่าฉาง ภาพที่ปรากฏแก่สายตาคือแนวไม้ของคอกหอยที่ปักแสดงถึงการครอบครองและอาณาเขตของคอกหอยที่กว้างสุดลูกหูลูกตา  และภายในบริเวณคอกหอยนั้นก็มีการสร้างขนำขึ้นเพื่อให้เป็นที่พักอาศัยของผู้ที่มาเฝ้าคอกหอยเพื่อไม่ให้คนอื่นรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่และคนเฝ้าคอกหอยมีสิทธิยิงผู้ที่บุกรุกได้ในทุกกรณี  ชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนที่ไม่มีเรือขนาดใหญ่พอจะไปหาจับสัตว์น้ำนอกบริเวณชายฝั่งไกลไปจากเขตของคอกหอยจำเป็นต้องดำรงชีพอยู่ด้วยการออกเรือเล็กงมกุ้ง บริเวณร่องน้ำเดินเรือหรือทำหลำปลา และต้องระวังไม่ให้ล้ำเข้าไปในเขตของคอกหอย จากสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวประมงพื้นบ้านบางคนต้องเปลี่ยนอาชีพจากการหาจับสัตว์น้ำซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมไปประกอบอาชีพอย่างอื่น บางคนที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองก็เปลี่ยนมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกปาล์มน้ำมัน แต่คนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองก็ต้องกลายมาเป็นแรงงานรับจ้างในเขตเมืองสุราษฎร์ธานีกลายมาเป็นแรงงานราคาถูกในงานก่อสร้าง เป็นกรรมกรโรงงาน  วิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยทำมาหากินอยู่หน้าบ้านของตนเองก็ต้องมาทำมาหากินในเขตเมือง ชาวบ้านเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากไม่มีหนทางที่จะปลดเปลี้องหนี้สินเดิมๆลงได้และยังต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆเพื่อการลงทุนในการทำอาชีพครั้งใหม่รวมถึงการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว วิกฤตการณ์ดังกล่าวก่อให้ เกิดการล่มสลายของวิถีชีวิตชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอย่างไม่ทันตั้งตัว

            ถึงแม้ว่าชาวประมงพื้นบ้านจะได้รับผลกระทบจากโครงการการพัฒนาของรัฐและการขูดรีดของกลุ่มทุนที่เข้ามากว้านซื้อที่ทำคอกหอยแต่ชาวประมงพื้นบ้านก็ได้มีการเคลื่อนไหว รวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว ชาวประมงพื้นบ้านมีการเคลื่อนไหวโดยการตั้งกลุ่มในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และมีการจัดทำกฎระเบียบในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาตินั้นโดยกฎชุมชนที่ตั้งขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับชุมชนและคนกับป่า(ป่าชายเลน) กฎชุมชนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (Sea Food Bank) ที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะที่ปรากฏในรูปของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนั้นมักจะเป็นภาพลวงตาว่ามีความมั่นคงได้ในตัวเอง แต่การศึกษาในชีวิตจริงพบว่าการเน้นความเป็นปัจเจกกลับเร่งให้เกิดการกีดกันได้ง่ายขึ้นด้วยซ้ำไป เช่นกรณีการออกโฉนดให้สิทธิในที่ดินแก่ปัจเจกบุคคลหนึ่งจะไม่ช่วยให้คนๆนั้นมีความมั่งคงในการถือครองเสมอไป สำหรับในสังคมทุนนิยมที่ไม่มีการจำกัดการถือครองที่ดินเช่นประเทศไทยแล้ว เขามีโอกาสจะสูญเสียที่ดินนั้นได้ง่ายขึ้นเสียอีก หากว่าเขาเป็นคนยากคนจนเพราะที่ดินที่มีโฉนดนั้นมักมีราคาดี ทำให้ถูกคนมั่งมีมากว้านซื้อซึ่งเท่ากับว่าคนจนถูกกีดกันสิทธิในการใช้ที่ดินนั่นเอง แต่ถ้าที่ดินนั้นไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ มีกลุ่มชนร่วมกันควบคุมและจัดการใช้ประโยชน์ได้ ก็จะไม่มีใครในกลุ่มชนนั้นถูกกีดกันได้ ตามนัยดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าการยอมรับสิทธิชุมนจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเคารพสิทธิของปัจเจกบุคคลเสียด้วยซ้ำไปซึ่งต่างจากในปัจจุบันที่เน้นความเป็นปัจเจกนิยมแต่ขาดการเคารพสิทธิของปัจเจกบุคคล เช่นเดียวกับกรณีการออกโฉนดที่ในทะเลให้เป็นกรรมสิทธิ์ถือครองถึงแม้ว่าโดยหลักการแล้วจะเป็นการดีที่ทำให้ชาวบ้านมีที่ทำกินเป็นของตนเองแต่เราต้องไม่ลืมว่าในกระบวนการดังกล่าวยังมีช่องโหว่ให้กับกลุ่มทุนซึ่งสามารถกว้านซื้อที่เพื่อขยายการเพาะเลี้ยงหอยและถือครองกรรมสิทธิ์ที่ในทะเลและยังเบียดขับชาวประมงพื้นบ้านให้ไม่มีช่องทางในการทำมาหากินเป็นการตอกย้ำถึงการไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชนโดยใช้หลักคิดสิทธิแบบปัจเจกเป็นหลัก

             การยอมรับสิทธิชุมชนยังจะช่วยให้เข้าใจว่าสิทธินั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงสิทธิเดียวอย่างที่มักเข้าใจกันอยู่จากการมีมุมมองเชิงเดี่ยวแบบแบนราบที่สร้างปัญหาต่างๆอย่างมากในปัจจุบันเพราะแท้จริงแล้วสิทธินั้นไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็ตามสามารถมีซ้อนกันอยู่เสมอ เช่น ในสังคมไทยที่นาไม่ใช่ทรัพย์สินของคนใดคนหนึ่งตลอดเวลา เพราะคนอื่นสามารถเก็บหาอาหารในที่นานั้นได้ ด้วยเหตุนี้เองสิทธิชุมชนจึงมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิต่างๆที่ซ้อนอยู่ในสังคมซึ่งสามารถมีได้ทั้งสิทธิของปัจเจกในบางเรื่องและมีสิทธิชุมชน เช่น ปัจเจกบุคคลอาจเป็นเจ้าของที่ดินตามหลักของสิทธิส่วนบุคคลแต่เขาไม่อาจจะใช้ที่ดินทุกอย่างได้ตามอำเภอใจ เพราะชุมชนสามารถเข้ามาควบคุมการใช้ไม่ให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อชุมชนได้

            การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายในการร่วมมือกันเพื่อดูแลรักษาและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นกระบวนการหนึ่งในการเคลื่อนไหวต่อสู้กับปัญหาเรื่อง

หมายเลขบันทึก: 324991เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2010 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาเยี่ยมและเรียนรู้ด้วยค่ะน้อง

บันทึกเป็นไปได้อยากให้มีจุดเน้นสีสันด้วยค่ะ เช่า ารเคลื่อนไหว

ขอบคุณในคำแนะนำค่ะ...ค่อยๆปรับปรุงตามประสามือใหม่หัดโพสค่ะ

มีรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์เต็มๆ ไหมครับ ทำเสร็จหรือยัง

อยากได้เอาไว้อ่านมากๆ ติดต่อ [email protected]

สนใจเรื่องนี้ครับ ติดต่อใครได้บ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท