พระราชพิธีสิบสองเดือนในหนังสือ นางนพมาศ


พระราชพิธีสิบสองเดือนในหนังสือ นางนพมาศ

พระราชพิธีทวาทศมาส หรือ ที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันในนามที่ว่า พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าที่จะต้องจัดทำขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือนเพื่อจะคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของบ้านเมือง และเพื่อแสดงความเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพระเจ้าจักรพรรดิราช เชื่อกันว่า หากมีการขาดตกบกพร่องในการประกอบพระราชพิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บ้านเมือง ดังนั้นจึงมีการประกอบพระราชพิธีสิบสองเดือนสืบต่อกันเป็นเวลายาวนาน (เทพพิทู, ออกญา (ฌืม กรอเสม, ๒๕๕๐ : ๑)) ความสำคัญของการปฏิบัติพระราชพิธีสิบสองเดือนในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ก็เพื่อแผ่พระเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินทางสถลมารถและทางชลมารถนั้นจะมีขบวนใหญ่โต ตลอดจนเป็นการเตรียมความพรักพร้อมด้านกำลังและอาวุธในคราวที่บ้านเมืองจะต้องรบพุ่งเพื่อรักษาเอกราชจากอริราชศัตรู และ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้กับสังคมในยุคนั้น ๆ ด้วย

หลักฐานพระราชพิธีสิบสองเดือนในสมัยสุโขทัยนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จะมีก็แต่เพียงในหนังสือนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เท่านั้น ผู้ให้การศึกษาในภายหลักมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นมาเมื่อรัตนโกสินทร์ตอนต้นราวรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓ นี้เอง ในคำนำหนังสือนางนพมาศให้ข้องสังเกตในเรื่องนี้ว่า

“...ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนมา มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นต้น ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ ชะรอยเรื่องเดิมเขาจะมีอยู่บ้าง แต่ฉบับเดิมจะบกพร่องวิปลาสขาดหายไปอย่างไร จึงมีผู้ใดในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้แต่งใหม่ โดยตั่งใจจะปฏิสังขรณ์ให้เรียบร้อย แต่ผู้แต่ง มิได้ถือเอาความจริงเท็จในพงศาวดารเป็นสำคัญ...” (ศิลปากร,กรม, ๒๕๑๓. หน้า จ.)

นางนพมาศมีชื่อเรียกกันมาแต่ก่อน ๓ ชื่อด้วยกัน คือ นางนพมาศ เรวดีนพมาศ และตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สันนิฐานว่าถูกแต่งขึ้นในสมัยพระยาลิไทกรุงสุโขทัย แต่ก็มีผู้ศึกษาในภายหลังว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ถูกแต่งขึ้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาศัยจากข้อสังเกตเช่น มีสำนวนที่ใหม่มาก กล่าวถึงฝรั่งชาติต่าง ๆ เช่นชาวอเมริกัน กล่าวถึงปืนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนั้นในกรุงสุโขทัยยังไม่มี (สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๙๘)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความคิดเห็นคือ

“...หนังสือเรื่องนี้ ของเดิมเขาจะมีจริง เพราะลักษณะพิธีพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้ โดยมากเป็นตำราพิธีจริงและเป็นอย่างพิธีเก่า อาจให้เป็นแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช้เรื่องที่ผู้ใดจะคิดปลอมขึ้นมาใหม่ได้ทั้งหมด ดีร้ายหนังสือนางนพมาศนี้ ของเดิมจะมาใสจำพวกหนังสือตำราพราหมณ์...” (กรมศิลปากร, ๒๕๑๓. หน้า ช.)

อย่างไรก็ตามหนังสือนางนพมาศก็เป็นงานวรรณคดีร้อยแก้วที่แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่กล่าวถึงพระราชพิธีสิสองเดือน ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ในที่นี้ขอยกพระราชพิธีสิบสองเดือนโดยยึดตามหนังนางนพมาศอันประกอบด้วย (ลำดับเรียงตามใน กรมศิลปากร, ๒๕๑๓ : ๙๖ – ๑๔๙)

เดือนสิบสอง - พระราชพิธีจองเปรียง

เดือนอ้าย - พระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย

เดือนยี่ - พระราชพิธีบุษยาภิเษกเถลิงพระโคกินเลี้ยง

เดือนสาม - พระราชพิธีธานย์เทาะห์

เดือนสี่ - พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์

เดือนห้า - พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน

เดือนหก - พระราชพิธีแรกนา

เดือนเจ็ด - พระราชพิธีเคณฑะ

เดือนแปด - พระราชพิธีเข้าพรรษา

เดือนเก้า - พระราชพิธีพรุณศาสตร์

เดือนสิบ - พระราชพิธีกวนข้าวทิพย์

ดือนสิบเอ็ด - พระราชพิธีอาชยุศแข่งเรือ

เดือนสิบสอง พระราชพิธีจองเปรียง คือ พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม หมายถึงพระราชพิธีลอยพระประทีป เป็นการพิธียกโคมขึ้นบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหมในศาสนาพราหมณ์ เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาและให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ พระราชพิธีนี้จึงเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึง และพระพุทธบาท ได้กำหนดการยกโดยไว้ว่า ถ้าปีใดที่มีอธิกามาส ให้ยกโคมขึ้นตั้งแต่วันแรม ๑๔ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันลดโคม หรืออีกนัยหนึ่ง กำหนดตามโหราศาสตร์ว่า พระอาทิตย์ถึงราศีพฤศจิก พระจันทร์อยู่ราศรีพฤษภ เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นกำหนดที่จะยกโคม หรืออีกนัยหนึ่งกำหนดด้วยดวงดาวกฤติกา คือ ดาวลูกไก่ ถ้าเห็นดาวลูกไก่นั้นตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งเมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลายกโคม

ในวรรณกรรมพระมหากษัตริย์ทรงบูชามหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยการจุดโคมชัย พระอัครมเหสีและพระสนม จะบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ริ่มฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีด้วยโคมลอย พระมหากษัตริย์เสด็จกระทำพิธี ณ พระที่นั่งชลพิมาน มีการเสด็จถวายผ้าบังสุกุล และทอดพระเนตรการจุดโคม ประชาชนจะจุดเทียนเล่นไฟตามอารามต่าง ๆ ทั่วเมือง

เดือนอ้าย พระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย แบ่งเป็น ๒ พิธีคือ พระราชพิธีตรียัมปวายเป็นพิธีต้อนรับพระอิศวรผู้เป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้นถึงกำหนด ๑๐ วัน วันรับคือวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันเสด็จลง วันแรม ๑ ค่ำเป็นวันเสาร์เสด็จกลับ งานสำคัญคือการโล้ชิงช้า เพื่อถวายพระอิศวรตามตำนานการทดสอบโลก ส่วนพระราชพิธีตรีปวายเป็นการตอนรับพระนารายณ์ในวัน ๑ ค่ำ เดือนยี่ วันแรม ๕ ค่ำเป็นวันเสด็จกลับเสด็จกลับ ทั้งสองพิธีเป็นพิธีเกี่ยวเนื่องในขวัญกำลังใจของประชาชน กันเพื่อประโยชน์ในด้านความอุดมสมบูรณ์

เดือนยี่ พระราชพิธีบุษยาภิเษกเถลิงพระโคกินเลี้ยง ในหนังสือนางนพมาศกว่างไว้ไม่ชัดเจนนัก กล่าวคือ

เดือนยี่ ถึงการพระราชพิธีบุษยาภิเษกเถลิงพระโคกินเลี้ยงเป็นนักขัตฤกษ์ หมู่นางใดก็ได้ดูชุดชักว่าวหง่าวฟังสำเนียงเสียงว่าวเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี” (กรมศิลปากร, ๑๕๑๓ : ๑๐๘)

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์ (๒๕๓๖ : ๑๐๑) ได้สันนิฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีนี้ว่า พระราชพิธีนี้พระร่วงเจ้าจะมีการสรงน้ำเข้าพิธี และมีการเสี่ยงทายพระโคให้กินอาหาร เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว ข้าวเปลือก ฯ เพื่อเป็นการทำนายน้ำท่าว่าปีนั้น ๆ จะเป็นอย่างไร ข้าวปลาจะอุดมสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งก็คล้ายกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบัน

เดือนสาม พระราชพิธีธานย์เทาะห์ คือ พิธีเผาข้าวเพื่อการเสี่ยงทาย เป็นพระราชพิธีคู่กับพระราชพิธีจรดพระนังคัล เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารอันเป็นเสบียงสำหรับบ้านเมือง โดยการนำข้าวที่เก็บใหม่เข้าลาน หนังสือ นางนพมาศ (๒๕๑๖ : ๑๐๘ – ๑๐๙) กล่าวถึงลำดับพิธีดังนี้ ในสมัยสุโขทัยคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ณ พลาชัย ให้นางสนมนางกำนันนางระบำที่มีรูปงามทั้งหลายแต่งตัวให้แต่งตัวให้สวยงามอย่างมาลายู โดยแบ่งเป็นคู่ ๆ กันละ ๑๐ คู่ ลากฟ่อนข้างเข้าสู่ลานที่รายล้อมด้วยราชวัตรฉัตรธง จากนั้น ชาวพนักงานก็นำโคอุสุภราช โคกระวินเข้ามาเทียมเกวียน พราหมณ์ถือประตักเงินอ่านมนต์ขับพระโคให้เดินเวียนนวดข้าว นายนักการพระสุรัสวดีก็สงฟอนขนไปกองไว้ในยัญตะลากูณฑ์ พระครูพรหมพรตพิธีบูชาสมิทธิพระเพลิงด้วยสุคันธของหอม อ่านอิศวรเวทโหมกุณฑ์ เป่าสังข์ ๓ รอบ แล้วจึงเชิญพระเพลิงออกจุดเผาฝางและซังข้าว เป็นการปัดเป่าอุปาทวจัญไร อีกทั้งยังมีงานมหรสพการละเล่นต่าง ๆ สร้างความบันเทิงใจหลังการเก็บเกี่ยว

เดือนสี่ คือพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นพระราชพิธีทำบุญตรุษสุดปี คือ พิธีตัดปีส่งปีเก่าเพื่อจะขึ้นปีใหม่ ปรากฏในกฎมนเทียรบาลเป็นโบราณราชประเพณี เริ่มด้วยเจ้าพนักงานตั้งพระราชพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ที่หอเวทวิทยาคมในวังหลวง มีการสวดอาฏานาฎิยสูตร หรือเรียกว่าสวดภาณยักษ์รอบกำแพงพระบรมมหาราชวังในวันสิ้นปี แล้วยิงปืนใหญ่ที่เรียกว่า ยิงปืนอาฏานาขับไล่ภูตผีปีศาจทุกชนิดให้ตกใจและหนีไป ทำให้มีความสะอาดหมดจดในวันขึ้นปีใหม่ต่อไป เป็นพระราชพิธีประจำปีเพื่อความมีสวัสดิมงคลแก่พระนคร และพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในตลอดจนราษฎร มีการให้สวมมงคลที่ศีรษะและสายพิสมรสะพายเฉียงไหล่ซึ่งเป็นเครื่องรางชนิดหนึ่งและแจกจ่ายกระบองเพชรที่มีลักษณะเหมือนพระแสงขอทำด้วยใบลานพับเป็นรูปคล้ายขอช้างมีด้ามยาวประมาณฟุตกว่าๆให้ถือไว้ตลอดเวลา เพื่อแสดงว่าผู้นั้นได้เข้าอยู่ในพระราชพิธี เพื่อความสุขสวัสดีในโอกาสที่จะถึงปีใหม่

เดือนห้า พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน เป็นพิธีของพราหมณ์พฤติบาศทอดเชือก ดามเชือกเป็นกระบวนเรื่องคชกรรมการของหมอช้าง เป็นส่วนหนึ่งของพิธีทางคชกรรม เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ช้างพระที่นั่งซึ่งเป็นพาหนะสำคัญของพระมหากษัตริย์และช้างศึกของเหล่าทหาร ซึ่งเป็นพระราชพาหนะและเป็นกำลังแผ่นดิน และบำบัดเสนียดจัญไรในผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการช้างทั้งปวง แต่การพิธีนี้เฉพาะเหมาะกับคราวที่ควรจะประกอบการอื่นหลาย ๆ อย่าง เช่นเดียวกับช้างและม้า ตะเตรียมอาวุธกำลังรีพลให้พรักพร้อม เป็นต้น พิธีนี้ทำปีละสองครั้ง คือทำเดือนห้าครั้งหนึ่งกับเดือนสิบอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีกระบวนแห่ช้าง ม้า เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรตรวจตราเพื่อเป็นการตรวจกำลังพล ความเข้มแข็งของกองทัพปีละสองครั้ง และยังเชิญให้เจ้าประเทศราชเดินทางมาร่วมชุมนุมเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน

เดือนหก พระราชพิธีแรกนา หรือพระราชพิฑีไพศาลจรดพระนังคัล จรดพระนังคัลคือการลงมือไถ นับเป็นการมงคลแรกนาขวัญ พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดให้ผู้แทนพระองศ์ ทำการจรดพระนังคัลลงมือไถเป็นครั้งแรก เป็นปฐมฤกษ์ของการทำนาในปีหนึ่ง ๆ อีกทั้งยังมรการเสี่ยงทายถึงพืชพันธุ์ธัญญาหาร น้ำท่าของปีนั้น ๆ โดยการให้พระโคกินอาหารที่เตรียมไว้

พระราชพิธีวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเสด็จปรินิพพานในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ นับเป็นวันนักขัตฤกษ์แห่งพระพุทธศาสนิกชนได้ทำการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าในเดือน ๖ ในมัยสุโขทัย พระเจ้าแผ่นดินและข้าราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน อีกทั้งอาณาประชาราษฎร์ทั้งแผ่นดินจะประดับโคมประทีปทั้งในพระราชวังและบ้านเรือนให้สว่างไสวเพื่อบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ คืน พระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์จะรักษาศีลสมาทาน บำเพ็ญพระราชกุศล ประชาชนจะรักษาศีลอุโบสถฟังเทศฟังธรรม ถวายภัตตราหารพระสงฆ์ อีกทั้งแจกจ่ายทานให้แก่คนยากคนจนทั่วไป ตกกลางคืนจะมีการเวียนเทียนรอบรัตนบัลลังก์

เดือนเจ็ด พระราชพิธีเคณฑะ เป็นพระราชพิธีการเสี่ยงทายดูศักดินานุภาพของพระมหากษัตริย์และชะตาบ้านเมือง ซึ่งเป็นการทิ้งข่าง [1] เสี่ยงทายตามแบบพิธีพราหมณ์ ตามตำรับไตรเภท (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, ๒๕๓๕ : ๑๐๖) กล่าวคือ การทิ้งข่างนั้นจะกระทำ ๓ ครั้ง ถ้าข่างเสียงดังเสนาะหู แกนตั้งตรงไม่สะบัดได้นาฬิกาเศษ ก็ถือว่าเป็นมงคลประเสริฐนัก พระมหากษัตริย์จะทรง พระเกียรติยศปรากฏไปทั่วนานาประเทศ บ้านเมืองข้าราชบริภารไพร่ฟ้าประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตรายต่าง ๆ แต่หากข่างสำเนียงไม่ไพเราะ หมุนได้ไม่นาน จะเกิดอันตรายต่าง ๆ แก่บ้านเมือง

เดือนแปด พระราชพิธีเข้าพรรษา เป็นการในพระพุทธศาสนา เป็นประเพณีเมื่อถึงฤดูฝนพระสงฆ์หยุดอยู่ ณ เมืองใดเมืองหนึ่ง เป็นการจำพรรษาในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ เมื่อเข้าพรรษาแล้วไม่ให้ท่องเที่ยวไป ต้องอยู่จำพรรษาในวัดแห่งเดียวให้ครบ ๓ เดือน ในสมัยสุโขทัย ทั้งกษัตริย์และประชาชนจะถือศีลภาวนาทำบุญทำทานเหมือนวันพระสำคัญทั่วไป ฝ่ายพราหมณ์ก็จะเข้าพรตสมาทานศีลบริโภคกระยาบวช บูชากุณฑ์พิธีกึ่งเดือน (กรมศิลปากร, ๒๕๑๖ : ๑๒๙)

เดือนเก้า พระราชพิธีพรุณศาสตร์ เป็นพิธีขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เป็นประโยชน์ต่อการเกษตร อันเป็นเศรษฐกิจและพื้นฐานการดำรงชีวิตหลักของประชาชน พิธีการในสมัยสุโขทัยคือ พราหมณจารย์ตั้งเกย ๔ เกยที่หน้าลานเทวสถานหลวง ประดับด้วยราชวัตรฉัตรธง ตั้งอ่าง ๔ อ่านไว้บนนางกระดานหน้าเกย อ่างหนึ่งใส่ข้างเจ้าข้างเหนียว อีกสามอ่างใส่มูลดินเจือโคมัย อ่างหนึ่งปลูกถั่วงา อ่างหนึ่งปลูกมะพร้าว อ่างหนึ่งปลูกหญ้าแพรกหญ้าละหาน ลงยันต์พรุณศาสตร์ปักกลางอ่าง ๆ ละคัน แล้วปักธงปฏมาก สีมอดุจเมฆฝนตกตามขอบอ่างรายรอบยันต์อ่างละ ๔ คู่ เมื่อได้ฤกษ์ เหล่าพราหมณ์จารย์ มีพระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์เป็นประทาน พากันน้อมไหว้สรรเสริญเทพเจ้า เอ่ยคำสัตย์อธิฐานแสดงความมุ่งหมายถึงการขอฝน พระราชพิธีนี้ กระทำ ๓ วันหลังจากวันแรก พราหมณ์ผู้รู้มนต์พิรุณศาสตร์ จะผลัดเปลี่ยนขึ้นมายืนบนเกย โบกธงร่ายเวทวันละ ๒ เวลา คือเช้าและเย็น

เดือนสิบ พระราชพิธีกวนข้าวทิพย์ หรือพระราชพิธีภัทรบท ในทางศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นพิธีลอยบาป เมื่อถึงเดือนสิบ ประชาชนจะเก็บเกี่ยวรวงข้างสาลีซึ่งถือว่าเป็นปฐมครรภสาลี มากระทำมธุปายาส ยาคู เลี่ยงพราหมณ์ พราหมณ์ทั้งปวงจะเริ่มพิธีกรรมบวงสรวงสังเวยพระโพสพ ตั้งปัญจมหาสาครเต็มด้วยน้ำในเทวสถาน อัญเชิญเทวรูป ๑๖ ปางลงสรงอ่านพระเวทเผยศิวาลัย พิธีนี้กระทำเพื่อปัดเป่าอุบาทว์ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อให้เป็นมงคลแก่ข้าวในนา ชาติพราหมณ์ทั้งหลายที่มิได้กระทำพิธีภัทรบทลอยบาปนี้ หากบริโภคมธุปายาสและยาคูก็จะบังเกิดโทษแก่ตัว

เดือนสิบเอ็ด พระราชพิธีอาศยุชแข่งเรือ กล่าวคือในเดือนสิบเอ็ด เป็นฤดูน้ำหลาก เนื่องจากมีฝนตกหนัก ต้นข้าวในนากำลังชูกอเพราะได้น้ำมากพอสำหรับหล่อเลี้ยงลำต้น จึงมีพระราชพิธีแข่งเรือ โดยมีเรือพระที่นั่ง ๒ ลำประกอบด้วย เรือพระที่นั่งชัยเฉลิมธรณินทร์ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ปางเกษียรสมุทรสมมติวาเป็นเรือพระยา และ เรือพระที่นั่งชัยสินธุพิมานประดิษฐานเทวรูปพระลักษมี (พระชายาพระนารายณ์) สมมติว่าเป็นเรืออัครชายา ในการแข่งเรือนั้นพระครูพราหมณ์อ่านวิษณุมนต์ เป่าสังข์โปรยข้าวตอกดอกไม้ ทหารเรือก็โห่เอาชัยขึ้น ๓ ลา ชาวดนตรีในเรือพระที่นั่งบรรเลงเพลงโหราลั่นฆ้องฤกษ์ สิทธิชัยโบกธงหน้าท้าย พลพายเรือออกเรือพระที่นั่งพร้อมกัน

ผลของการแข่งเรือนั้นถือว่าเป็นการเสี่ยงทาย กล่าวคือ ถ้าเรือพระที่นั่งชัยสินธุพิมานหรือเรือพระยาชนะทำนายว่าพระมหากษัตริย์จะแผ่พระบรมเดชานุภาพไปทั่วทศทิศบ้านเมืองจะบริบูรณ์ไปด้วยสรรพสิ่งของจากต่างประเทศ สินค้าจะมีราคาถูก แต่ธัญญาหารมัจฉมังสาหารจะฝืดเคือง ไม่อุดมสมบูรณ์ ในปีนี้สตรีจะมีบุตรชายเป็นจำนวนมาก หากเรือพระที่นั่งชัยสินธุพิมานหรือเรือพระอัครชายาเป็นฝ่ายชนะ ทำนายว่าบ้านเมืองจะบูรณ์ด้วยธัญญาหารมัจฉมังสาหาร ผลาหาร แต่พ่อค้าพานิชย์จากต่างประเทศจะเข้ามาค้าขายน้อยลง ปีนี้สตรีจะมีธิดามาก แต่ถ้าเรือพระที่นั่งทั้งสองลำเสมอกัน ทำนายว่าบ้านเมืองจะไม่บริบูรณ์ อาหารการกินจะฝืดเคืองในปีนี้ พระราชพิธีนี้นอกเหนือจากการสร้างขวัญกำลังให้กับประชาชนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรรมแล้ว ยังเป็นการซักซ้อมกำลังทางเรือและฝีพาย การเตรียมความพร้อมทางน้ำด้วย (สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์, ๒๕๓๖ : ๑๐๑)


[1] ข่างทำด้วยทองนวโลหะขนาดใหญ่ประมาณผลแตงโม สามกำลังบุรุษจึงจะสามารถชักสายทิ้งข่างให้หมุนได้ ข่างสมมติเป็นสิ่งแทนพรพระอิศวร (สุภาพรรณ ณ บางช้าง, ๒๕๓๕ : ๑๔๖)

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนตั้งใจเขียนบทความนี้เพื่อนำเสนอในแง่งานวรรณกรรม หาำด้เขียนในแง่ประวัติศาสตร์สุโขทัย ขอผู้อ่านพิจารณาครับ

วาทิน ศานติ์ สันติ : ค้นคว้า และ เรียบเรียง

บรรณานุกรม

เทพพิทู, ออกญา. (ฌืม กรอเสม). พระราชพิธีทวาทศมาส หรือพระราชพิธีสิบสองเดือนกรุงกัมพูชา ภาค ๑ . พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : กรมสารนิเทศ. ๒๕๕๐.

ศิลปากร,กรม . พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ . กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๑๖.

_________. นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์. พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร. ๒๕๑๓.

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. ๒๕๓๖.

สุภาพรรณ ณ บางช้าง. “ขนบธรรมเนียมประเพณี : ความเชื่อและแนวการปฏิบัติในสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง .” โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์. ๒๕๓๕.

หมายเลขบันทึก: 324801เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2010 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท