ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ต้นตระกูลของ “ศากยวงศ์” และ “โกลิยวงศ์” มีที่มาอย่างไร?


 

                      “ศากยวงศ์”   หมายถึง “วงศ์แห่งศากยะ”  คำว่า “สักกะ” หรือ “ศากยะ” มีนัยสำคัญ ๒ ประการ กล่าวคือ ความหมายในแง่ภูมิศาสตร์ และความหมายแง่ของการแสดงออกทางพฤติกรรม  

                      สำหรับความหมายในแง่ของภูมิศาสตร์นั้น จะพบว่า การตั้งชื่อว่า “สักกะ” หรือ “ศากยะ” นั้น เป็นการตั้งวงศ์ขึ้นสอดรับการสถานที่ตั้งของเมือง  เพราะว่าสถานที่ตั้งเมืองนั้น มีต้น “สากะ” ขึ้นอยู่เรียงราย            ดังหลักฐานตามที่ปรากฏในอัมพัฏฐสูตร “พระราชกุมารเหล่านั้น… ก็เสด็จออกไปอาศัยอยู่ ณ ราวป่าไม้สากะใหญ่  ริมฝังสระโบกขรณี  เชิงภูมิเขาหิมพานต์”  ที.สี. (ไทย) ๙/๒๖๗/๙๒,

                      ในขณะที่ความหมายในแง่ของการแสดงออกเกิดจากการที่พระเจ้าโอกกากราชซึ่งเป็นพระราชบิดาทรงขนานพระนามกลุ่มของพระราชบุตรที่หนีออกจากเมืองไปอยู่ป่าตามคำขอร้องของพระองค์ เนื่องจากพระองค์ได้รับปากว่าจะให้พรแก่พระมเหสีองค์หนึ่งหลังจากที่คลอดพระโอรส พระนางจึงขอให้พระราชายก พระราชสมบัติให้แก่พระราชบุตรของตนเอง  แต่ในขณะเดียวกัน  พระองค์ก็เกรงว่า พระโอรสคนอื่นๆ ของพระองค์จะไม่ปลอดภัย  อันมีสาเหตุมาจากการแย่งชิงพระราชสมบัติ 

                      จากสถานการณ์ของความไม่ปลอดภัยในลักษณะดังกล่าวทำให้พระองค์ออกอุบายให้พระราชบุตรเสด็จออกจากพระนครไปอาศัยอยู่ในป่า โดยทรงแนะนำให้พระราชบุตรว่าเมื่อพระองค์ได้สิ้น     พระชนม์แล้วจึงค่อยกลับมาชิงพระราชสมบัติ   การตัดสินพระทัยเช่นนั้น ทำให้บุตรของพระมเหสีองค์ที่ ๑ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๙ พระองค์ ซึ่งประกอบไปด้วยพระราชบุตร ๔ พระองค์ และพระราชธิดา ๕  พระองค์เดินทางออกไปสร้างเมืองใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า “เมืองกบิลพัสถุ์” เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว พระราชกุมารเหล่านั้นทรงอยู่ร่วมเป็นสามีภรรยากับพระภคินีของพระองค์เอง  เนื่องจากเกรงว่าพระชาติจะปะปนกับผู้อื่น ดูประวัติและความเป็นมาของศากยวงศ์เพิ่มเติมใน มหามกุฏราชวิทยาลัย, ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค  เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ; มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า ๕๕๔–๕๖๑. และ ขุททกนิกาย  สุตตนิบาต  เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๓ (กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๓๗), หน้า ๓๓๒–๓๓๙

                      ฉะนั้น  ความกล้าที่จะแต่งงานกันเองในระหว่างพี่น้องด้วยกัน จึงทำให้พระเจ้าโอกกากราชผู้ซึ่งเป็นพระราชบิดาทรงเรียกพระราชบุตร และพระราชธิดาของพระองค์ว่า  “เป็นผู้มีความสามารถ” ดังเนื้อความที่ปรากฏในอัมพัฏฐสูตรว่า “ท่านทั้งหลาย  พวกกุมารมีความสามารถ (ศากยะ) พวกกุมารมีความสามารถยอดเยี่ยม”

                      ในขณะที่ “โกลิยวงศ์”  หมายถึง  “วงศ์แห่งโกลิยะ”   คำว่า “โกลิยะ” แปลว่า “ต้นกระเบา” ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือว่า ราชวงศ์นี้เกี่ยวข้องกับต้นกระเบาอย่างไร?  ประเด็นซึ่งถือได้ว่าเกี่ยวข้องก็เพราะว่าเกิดจากประวัติศาสตร์ของการสร้างพระราชวัง  เนื่องจากพระเจ้า “รามะ” ซึ่งเป็นเจ้ากรุงพาราณสีทรงเป็น “โรคเรื้อน” ทำให้นางสนมและเหล่านางกำนัลพากันรังเกียจโรคดังกล่าว จึงทำให้พระองค์ตัดสินพระทัยสละพระราชสมบัติให้แก่           พระราชโอรสเสด็จเข้าไปในป่า เมื่อพระองค์ได้เสวยเภสัชที่เป็นรากไม้จึงทำให้หายจากโรคดังกล่าว 

ในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ในป่าทรงได้ยินเสียงร้องของพระนาง “ปิยา” ผู้เป็นเชฏฐภคินีของ      เจ้าศากยะ  เนื่องจากกลัวว่าเสือจะทำร้าย  จึงเสด็จไปหาและถามเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระนาง  เมื่อทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว  พระองค์ได้ช่วยรักษาอาการโรคเรื้อนจนหายเป็นปรกติ แล้วอยู่ร่วมกับพระนาง  หลังจากนั้น จึงได้ตัดต้นไม้ “กระเบา” และถากถางสถานที่ดังกล่าว แล้วสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา โดยได้ตั้งชื่อว่า “โกลิยะ” แต่ในขณะเดียวกัน เมืองนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พยัคฆบท” ซึ่งหมายถึงการสร้างเมืองขึ้นตามแนวทางเดินของเสือโคร่ง  การตั้งชื่อทั้งสองนัยนี้ นับว่าเป็นการตั้งเมืองสอดคล้องกับแง่มุมในเชิงภูมิศาสตร์

 

ส่วนหนึ่งจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง "รูปแบบการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธี:ศึกษากรณีลุ่มน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงใหม่" ของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๗.

หมายเลขบันทึก: 324528เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2010 04:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พระอาจารย์

เพิ่งเข้ามาอ่านค่ะ แต่ตะหงิดๆ ที่ว่า ศากยะ แปลว่า ผู้มีความสามารถ นั่นเห็นว่าถูก แต่ที่ไม่น่าจะใช่คือ ไม่ใช่ความกล้า เพราะแต่งงานกันเองในหมู่เครือญาติ ตามที่อธิบาย แต่น่าจะกล้าเพราะสามารถมาสร้างเมืองใหม่กันเองได้สำเร็จ โดยที่พระบิดาไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย มากกว่า

เจี๊ยบ

เรียนคุณเจี๊ยบข้อความนี้มาจากพระไตรปิฎกค่ะhttps://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=9&A=2559

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท