เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๘ - ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๒(ตอนที่ ๑)


ขอให้เรื่องร้าย ๆ แย่ ๆช้า ๆ จมหายลงสายน้ำเจ้าพระยาไปกับปีเก่า มีเรื่องดี ๆ รวดเร็วทั้งหลายได้ลอยน้ำมาแวะขึ้นปทุมธานีเขต ๑ พร้อมกับปี ๒๕๕๓ ด้วยเถิด

๑  มกราคม  ๒๕๕๓
เรียน  เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๒๘  ธันวาคม  ๒๕๕๒  เช้าเดินทางไปโรงแรมปริ้นพาเลซ มหานาค ใช้เส้นทางราชพฤกษ์ไปบรรจบกับถนนบรมราชชนนี เดิมตั้งใจจะขึ้นสะพานยกระดับ แต่เห็นรถติดกันยืดยาวจึงเปลี่ยนใจไปข้างล่างน่าจะดีกว่า พอถึงแยกอรุณอมรินทร์หากเราตรงไปจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตัดสินใจเลี้ยวซ้ายไปใช้สะพานพระราม ๘ เพราะเห็นสภาพจราจรคล่องตัวกว่า เมื่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ไม่ต้องเลี้ยว ตรงไปจนถึงแยกไฟแดงข้างวัดสระเกศจึงเลี้ยวซ้าย ผ่านโรงพยาบาลหัวเฉียว แล้วซ้ายอีกทีตรงตลาดโบ้เบ้ พอข้ามคลองมาหน่อยจะมีทางเข้าโรงแรม ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยคนซื้อคนขายเสื้อผ้า ขับรถแหวกฝูงชนเข้าไป ไต่ระดับไปจอดรถชั้นที่ ๙ และขึ้นไปห้องประชุมชั้นที่ ๑๑ ลึกลับซับซ้อนจริง ๆ ผมเคยมาหลายครั้งที่โรงแรมนี้เพราะ สพฐ. ชอบมาจัดประชุม ยังหาความสะดวกสบายไม่ได้เลยสักครั้ง  เมื่อวานตอนเย็นก็มาครั้งหนึ่งเพื่อประชุมคณะทำงานสรุปปัญหาในการบริหารงานบุคคลของสพฐ.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนำไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงตามที่ท่านจะเห็นสมควร  เช้านี้วิชาแรก รองศาสตราจารย์ ธงทอง  จันทรางศุ  เลขาธิการสภาการศึกษา มาบรรยายเรื่องการปฏิรูปราชการรอบที่สองหรือทศวรรษที่สอง  พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๖๑ ซึ่งมีหลักการและกรอบแนวคิดเน้นปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้ และเสนอกลไกที่ก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบและพิจารณาระบบการศึกษาและเรียนรู้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบอื่นทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม เกษตรกรรม สาธารณสุข การจ้างงาน เป็นต้น  สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้พิมพ์ข้อเสนอเล่มสีเขียวออกมาเผยแพร่แล้ว หากสนใจสามารถหาอ่านได้เพราะเขาแจกฟรี  ได้มีโอกาสคารวะท่านวิทยากรหลังการบรรยาย ในฐานะเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาระเบียบประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับงานในวัง ครั้งที่ผมเข้าอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ ๕๓ ที่วิทยาลัยมหาดไทย  อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี  ก่อนเที่ยงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธานพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ มอบนโยบายสำคัญหลายเรื่องได้เน้นการทำงานแบบบูรณาการ โดยยึดกรอบแนวทางปฏิรูปการศึกษารอบสองเป็นหลัก และให้ปี ๒๕๕๓ เป็นปีที่มีการผลักดัน ๒๕ นโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ต่อไปงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในส่วนภูมิภาค จะเน้นการทำงานแบบบูรณาการ โดยถือกรอบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) เป็นกรอบใหญ่ที่สุดในการทำงาน ถัดลงมาคือนโยบายของรัฐบาล นโยบายของ ศธ. โดยจะมีแผนการศึกษา ๓ ระดับ คือ แผนการศึกษาชาติ แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด และแผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัด ที่ทุกคนจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ และเพื่อให้การกำกับติดตามแผนให้เดินไปข้างหน้า ขอให้ ผอ.สพท.เขต ๑ ทั่วประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบกำกับแผนให้เดินไปข้างหน้า ทั้งการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเอกชน และอุดมศึกษา โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นศึกษาธิการจังหวัด หรือเป็นตัวแทนของ ศธ.ของทุกหน่วยงานในจังหวัด เหตุที่มีความจำเป็นจะต้องรื้อฟื้นผู้รับผิดชอบการศึกษาในลักษณะคล้ายศึกษาธิการจังหวัดขึ้นมานี้ เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในจังหวัด มิฉะนั้นจะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นลำบาก เพราะไม่ทราบว่าใครเป็นเบอร์ ๑ เบอร์ ๒ หรือรัฐมนตรีจะสั่งการแต่ละครั้งต้องสั่งทีละแท่ง ดังนั้นในอนาคตกระบวนการคัดกรอง ผอ.สพท.เขต ๑ จะต้องมีความเป็นพิเศษเพิ่มเติมด้วย การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด   เคยได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ที่ผ่านมา ผอ.สพท.บางเขตพื้นที่การศึกษาไม่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง แต่มอบเจ้าหน้าที่ไปเข้าร่วมประชุมแทน ดังนั้นจึงขอมอบเป็นนโยบายว่า ต่อไปนี้การประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในจังหวัด ผอ.สพท.ต้องเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง และทำงานในเชิงรุกมากขึ้นทุกเขตพื้นที่ และขณะนี้แผนจังหวัดได้รับการอนุมัติแล้ว ทั้งเป้าหมายร่วม ๗๐% และเป้าหมายเฉพาะจังหวัด ๓๐% ทุกคนต้องศึกษาตัวชี้วัดของเป้าหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และครบถ้วน เพื่อส่วนกลางจะได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์การศึกษาในจังหวัดได้  การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัด   ผู้ตรวจราชการ ศธ.จะทำหน้าที่ ๒ ส่วน ทั้งในฐานะผู้ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานและในฐานะผู้บริหารแผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัด ซึ่งจะต้องรับผิดชอบผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มจังหวัดซึ่งมีตัวชี้วัดชัดเจน และเมื่อทำงานไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง หากมีความจำเป็นก็จะต้องปรับปรุงแก้ไขตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น  ในปี ๒๕๕๓ จะเป็นปีแห่งการมุ่งเน้นการผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นในส่วนของรัฐมนตรีจะให้ความสำคัญกับการตรวจราชการหรือติดตามนโยบายในทางปฏิบัติให้เกิดผลในแต่ละพื้นที่มากขึ้น และเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปแจ้งให้ผู้ร่วมงานและผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดได้รับทราบ และปฏิบัติตามนโยบายที่ได้สั่งการไปแล้วทุกนโยบาย เพราะถัดจากนี้ไปจะมีการติดตามความก้าวหน้าการทำงานและผลสัมฤทธิ์ทั้งหมดที่จะตามมารมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า หากเขตพื้นที่การศึกษาใดบกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หรือพบความไม่โปร่งใส ศธ.จะใช้มาตรการทางการบริหารมากขึ้น ในปี ๒๕๕๓ เป็นปีแห่งการเดินหน้าโครงการต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ ขอให้ความสำคัญกับทุกโครงการ ทั้งนโยบายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว นโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือนโยบายใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในปี ๒๕๕๓ ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จึงขอทบทวนให้ผู้บริหารได้รับทราบนโยบายต่างๆ ทั้ง ๒๕ เรื่อง ดังนี้

๑) การปฏิรูปการศึกษารอบสอง  ที่ถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ "๓ เสา ๓ ดี ๔ ใหม่" (๓ ดี/3D คือ Decency-Democracy-Drug-Free ส่วน ๔ ใหม่คือ สร้างคนไทยหรือผู้เรียนยุคใหม่-ครูยุคใหม่-ระบบบริหารจัดการแบบใหม่-แหล่งเรียนรู้หรือสถานศึกษายุคใหม่)

๒) นโยบาย ๕ ฟรี  คือเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ-ติวฟรี (Tutor Channel)-นมโรงเรียนฟรี-อาหารกลางวันฟรี-ผู้พิการเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี

๓) การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ  โดยเฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้ให้ความสนใจเป็นพิเศษที่ ศธ.จะเน้นการให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้นมากกว่าการท่องจำ มีการปรับหลักสูตรใหม่ที่จะลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาบทเรียนที่มีมากถึง ๓๐% ลง เพื่อให้เด็กเรียนหลักวิชาเท่าเดิม ไม่ต้องเรียนซ้ำซ้อนหรือจมอยู่แต่ในห้องเรียน แต่จะนำเวลาไปเรียนกิจกรรมนอกห้องเรียนอื่นๆ เช่น ศิลปะ กีฬา มากขึ้น นอกจากนี้เพื่อให้เด็กที่จบออกไปมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คือ คุณลักษณะ ๓ ดี หรือการมีหัวใจทางศิลปะ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่เด็กไทยยังขาดอยู่ให้มากยิ่งขึ้น โดย สพฐ. กำลังคิดเป็นข้อๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่จะปลูกฝังเด็กไทยที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในอนาคต สำหรับตัวชี้วัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปีที่ในอดีตมีมากถึง ๓,๐๐๐ กว่าตัวนั้น ก็จะปรับลดเหลือเพียง ๒,๑๖๕ ตัวชี้วัด ซึ่งจะสะดวก ตรงเป้า จึงถือว่าเรื่องนี้เป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ

๔) โรงเรียนดี ๓ ระดับ  คือ โรงเรียนดีระดับสากล ๕๐๐ โรง ระดับอำเภอ ๒,๕๐๐ โรง และระดับตำบล ๗,๐๐๐ โรงทั่วประเทศ

๕) การสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล  ปีนี้เริ่มแล้ว ๔,๐๐๐ โรง  ส่วนปี ๒๕๕๓ จะขยายเพิ่มอีก ๕,๐๐๐ โรง จึงขอให้ติดตามตรวจสอบดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจะถือโอกาสนี้ไปตรวจเยี่ยมด้วย เพราะหวังว่าผลสัมฤทธิ์เด็กจะดีขึ้นเมื่อดำเนินการโครงการนี้ 

๖) โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร  จะสร้างเรือนนอนให้โรงเรียนพื้นที่สูง หรือพื้นที่ที่เด็กต้องมาพักค้าง เพื่อสวัสดิภาพของเด็กที่อยู่ห่างไกลโรงเรียนสามารถมาพักค้างที่โรงเรียนได้

๗) โรงเรียนขนาดเล็ก  ครม.ได้อนุมัติให้เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้โรงเรียนขนาดเล็กไปแล้ว เพราะ สพฐ. ได้ทำการวิจัยแล้วพบว่า เงินอุดหนุนรายหัวมีนัยยะกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก โดยระดับประถมฯ จะได้รับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวจาก ๑,๙๐๐ บาท เป็น ๒,๔๐๐ บาทต่อคนต่อปี ระดับมัธยมฯ ตอนต้น จาก ๓,๕๐๐ บาท เป็น ๔,๕๐๐ บาท และมัธยมฯ ตอนปลาย จาก ๓,๘๐๐ บาท เป็น ๔,๘๐๐ บาท

๘) ห้องสมุด ๓ ดี  คือ หนังสือดี-บรรยากาศดี-บรรณารักษ์ดี  โดยห้องสมุด ๓ ดีจะเน้นซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ มีการกำหนดเกณฑ์การจัดซื้อหนังสือ ราคาหน้าปกที่จัดซื้อกับความเป็นจริง และหนังสือดีที่ควรจัดซื้อเข้าห้องสมุด โดยเฉพาะหนังสือดีเด่น ๖ เล่มที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาพระราชทานรายชื่อ คือ พระอภัยมณี รามเกียรติ์ นิทานชาดก อิเหนา พระราชพิธีสิบสองเดือน และกาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)

๙) ห้องเรียนวิทยาศาสตร์อัจฉริยะทวิภาคี  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ.กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขณะนี้มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ประมาณ ๑๐๐ ห้อง แต่ได้สั่งให้เพิ่มอีก ๑๐๐ ห้อง เป็น ๒๐๗ ห้องเรียน โดยขอให้เขตพื้นที่การศึกษาติดตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วย

๑๐) กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา (Thai Qualifications Framework for Higher Education in Thailand : TQF)  ซึ่งได้ลงนามประกาศไปแล้วว่า ต่อไปนี้หากสถาบันอุดมศึกษาจะเปิดสอนสาขาวิชาใด จะต้องผ่านกรอบมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยสถาบันอุดมศึกษาจะต้องจัดทำตามกรอบนี้ให้เสร็จภายใน ๓ ปี ซึ่ง ผอ.สพท.เขต ๑ อยู่ในฐานะที่จะต้องประสานกับทุกหน่วยงานของ ศธ. รวมทั้งเรื่องนี้ด้วย 

๑๑) กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา (Thai Qualifications Framework for Vocational   Education) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน และเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม คือ คุณภาพการผลิตนักศึกษาให้ได้ตามกรอบนี้

๑๒) คุณวุฒิวิชาชีพไทย (Thai Vocational  Qualifications  :  TVQ) เป็นระบบการรับรองความรู้ความสามารถ โดยออกให้เป็นคุณวุฒิแก่ผู้ประกอบอาชีพที่ผ่านการประเมินหน่วยสมรรถนะได้จำนวนหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในแต่ละระดับคุณวุฒิ โดยในปี ๒๕๕๓ จะมีผลบังคับใช้คู่ไปกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาการ ซึ่งการกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพปัจจุบันแต่ละสาขาจะระบุว่าจะได้มาซึ่งมาตรฐานอย่างไร ปัจจุบันมีเฉพาะคุณวุฒิวิชาการ คือ ป.๖ ม.๓ ม.๖ ปวช. ปวส. และปริญญา แต่คุณวุฒิวิชาชีพยังไม่มี ต่อไปในอนาคต เมื่อเอกชนยอมรับคุณวุฒิวิชาชีพมากขึ้น จะนำไปสู่การพัฒนาในลักษณะการจ่ายค่าตอบแทน เช่น การรับคนเข้าทำงานโดยพิจารณาจากความสามารถ ซึ่งจะมีประโยชน์อีกหลายด้าน โดยเฉพาะในบางสาขาวิชาที่มีคนเก่งระดับโลก คือ เจียระไนเพชร พลอย เมื่อคนเหล่านี้ซึ่งจบการศึกษาภาคบังคับไปเทียบคุณวุฒิวิชาการกับแรงงานต่างประเทศ ก็จะได้เพียงคุณวุฒิวิชาการระดับ ม.๓ เท่านั้น แต่เมื่อเทียบคุณวุฒิวิชาชีพ อาจจะอยู่ในระดับ ๖ คือระดับปริญญาโท ในขณะที่บางคนอาจเทียบเท่าระดับ ๗ คือ ปริญญาเอก ซึ่งจะช่วยให้คนนั้นได้รับการยอมรับจากมาตรฐานโลกด้วย กล่าวโดยสรุปคือ เป็นการตรวจสมรรถนะจากการทำงานจริงว่ามีคุณภาพหรือไม่

๑๓)การจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษาในปี๒๕๕๓ จะมีการจัดรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษา ๔๑๕ แห่งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา ๑๙ แห่ง เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน และเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีเฉพาะในสถาบันที่มีความพร้อม โดยเน้นปฏิบัติ ๗๐-๗๕% ต่างไปจากมหาวิทยาลัยที่เน้นวิชาการมากถึง ๗๐-๗๕%

๑๔) V-Net  คือข้อสอบของอาชีวศึกษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะเริ่มในปี ๒๕๕๓

๑๕) UniNet  หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นโครงการ ๓ ปี (๒๕๕๓–๒๕๕๕) ใช้ระบบใยแก้วนำแสงไปยังมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน สถาบันการอาชีวศึกษา ๔๑๕ แห่ง และเขตพื้นที่การศึกษา ๑๘๕ แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนดีระดับอำเภอและระดับตำบลอีก ๓,๐๐๐ โรง

๑๖) Education Hub   หรือการเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค ซึ่งมีหลายเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเขตเป้าหมาย เรามีงบประมาณ ๑๔ โรงที่ได้รับเพื่อไปพัฒนาหอพักให้นักเรียนต่างชาติเข้ามาพัก ดังนั้นหลักของการเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคคือ ต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในไทยมากขึ้น จากปัจจุบันมี ๓๐,๐๐๐ คน แต่ภายใน ๕ ปีตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มเป็น ๑๐๐,๐๐๐ คน โดยเฉพาะในจังหวัดภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นจุดรับนักศึกษาจากลาว กัมพูชา จีน หรือเวียดนามมากขึ้น ข้อดีของการเป็น Education Hub คือจะช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งความจงรักภักดีต่อประเทศชาติของเราอย่างประมูลค่าไม่ได้ในอนาคต

๑๗) การอบรมพัฒนาครูทั้งระบบ ๕๒๐,๐๐๐ คน  ทั้งครู สพฐ.และอาชีวศึกษา  โดยผู้บริหาร-รองผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาจะได้รับการพัฒนาให้เสร็จสิ้นครบถ้วนทั้งหมดภายในปี ๒๕๕๓ ส่วนครูจะได้รับการอบรมพัฒนาให้ครบภายใน ๓ ปีการอบรมพัฒนาจะเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างสพฐ.-สสวท.-เครือข่ายมหาวิทยาลัย ในการจัดทำหลักสูตร โดยใช้ระบบ e-Training เข้ามาช่วย

๑๘) ครูพันธุ์ใหม่  จะผลิตโครงการครูพันธุ์ใหม่ ๓๐,๐๐๐ คนภายในระยะเวลา ๕ ปี เพื่อทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการ ส่วนอีก ๗๐% จะใช้อัตราการบรรจุปกติ

๑๙) การปรับระบบการพัฒนาบุคลากรและระบบการเข้าสู่ตำแหน่งของ ศธ.  เป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่การศึกษาต่อไปนี้กระบวนการอบรมพัฒนาจะมีองค์กรอบรมพัฒนาเป็นที่ยอมรับเกิดขึ้นในกระทรวง และมีหลักสูตรการอบรมพัฒนาที่หลากหลายอย่างน้อย ๕ ส่วน คือ -หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารการศึกษาระดับสูงของ ศธ. -กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งครูทดลองงาน ๒ ปี -หลักสูตรการเลื่อนวิทยฐานะ -หลักสูตรการต่อใบอนุญาตวิชาชีพ -หลักสูตรการอบรมพัฒนาตามนโยบาย โดยหน่วยงานปฏิบัติการจะใช้ สคบศ.เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองในการก่อสร้างใหม่ แต่ สคบศ.จะต้องได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่ให้เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศอย่างแท้จริง และจะมีนักวิชาการที่เชื่อถือได้มาบริหารหลักสูตร เพื่อให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ในอนาคตมีศักยภาพ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ชัดเจนขึ้น

๒๐) การส่งเสริมการอ่าน  ครม.ได้กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันรักการอ่าน และให้ปี ๒๕๕๒-๒๕๖๑ เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ ซึ่ง ผอ.สพท.ต้องศึกษาและดำเนินการตาม ๓ แผนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการอ่าน คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถด้านการอ่าน การสร้างนิสัยรักการอ่าน และการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการอ่าน 

๒๑) กศน.ตำบล  ขณะนี้ได้ยกระดับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็น กศน.ตำบล โดยต่อไปนี้ กศน.ตำบลจะมีคอมพิวเตอร์ ๖ ชุดให้บริการในการศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชนในตำบล และจะเป็นทัพหน้าของ ศธ.ในระดับตำบล เพื่อผลักดันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ควบคู่ไปกับโรงเรียนดีประจำตำบล เพราะฉะนั้นใน ๑ ตำบลจะมีองค์กรเรียนรู้ตลอดชีวิตครบถ้วนทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ

๒๒) ห้องสมุด ๓ ดีสัญจร  จะมีการจัดหารถ Mobile ไปจอดในหมู่บ้านชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการอ่าน ส่วนในบางพื้นที่อาจจำเป็นต้องใช้เรือแทนรถยนต์ โดยในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๓ จะเปิดโครงการเรือห้องสมุด ๓ ดีสัญจร เพื่อให้เห็นกระบวนการต่างๆ ในการส่งเสริมการอ่านอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

๒๓) การปรับสัดส่วนจำนวนคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียน  จากเดิมที่มีอัตราส่วนคอมพิวเตอร์ ๑ เครื่อง ต่อนักเรียน ๔๐ คน แต่ในปี ๒๕๕๓ จะปรับลดให้เหลืออัตราส่วน ๑:๑๐ และขอให้เขตพื้นที่การศึกษาดูแลการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของสถานศึกษาให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ได้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งการดูแลบริการหลังการขายที่ดีด้วย

๒๔) งาน ก.ค.ศ.  ต่อไปนี้ระบบงานของ ก.ค.ศ.หรือคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะรวดเร็วและทำงานเชิงรุกมากขึ้น กฎระเบียบใดที่ล้าหลังจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ต่อไปนี้งานของ ก.ค.ศ.เป็นงานบริหารงานบุคคลของ สพฐ.เป็นหลัก เพราะในระดับอาชีวศึกษามีระบบบริหารงานบุคคลเอง การทำงานเชิงรุกของ ก.ค.ศ.  เพื่อไม่ให้งานเรื่องวินัยใช้เวลานานเกินไป เพราะอาจทำให้คนดีๆ หมดกำลังใจ ดังนั้นจึงต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว เพื่อคนไม่ดีจะได้ไม่ลอยนวล ทั้งยังส่งเสริมให้คนดีมีกำลังใจทำงานมากขึ้น

๒๕) การพัฒนาการศึกษาชายแดนภาคใต้  ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน  ๒๕๕๒ โดยมีนายนิวัตร นาคะเวช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อให้การทำงานขององค์กรหลักเดินหน้าร่วมกันอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านบริหารการจัดการ การบริหารส่วนบุคคล การบริหารงบประมาณ และการบริหารส่วนวิชาการ
          รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ในปี ๒๕๕๓ จะเน้นการตรวจราชการในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น จึงขอฝากทั้ง ๒๕ โครงการดังกล่าวให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาช่วยกันทำงานให้มีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จเหมือนโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ ที่ได้รับการสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศให้เป็นผลงานยอดเยี่ยมของรัฐบาล และเป็นผลงานที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดในรอบ ๑ ปี ซึ่งต้องขอขอบคุณ ผอ.สพท. ผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งบุคลากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันดำเนินการโครงการดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เป็นผลงานของคนใดคนหนึ่ง

บ่ายท่านเลขาธิการ กพฐ. ดร.ชินภัทร  ภูมิรัตน  ได้บรรยายเรื่องนโยบายและจุดเน้นการทำงานของ สพฐ. และการสร้างสำนึกพลเมือง ประเด็นที่พูดในครั้งนี้มี ๔ เรื่อง คือ การปฏิรูปการศึกษารอบที่สอง  การปฏิรูปด้านคุณภาพ การปฏิรูปการบริหาร และนโยบายที่สำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ

๑. การปฏิรูปการศึกษารอบสอง มี ๒ ด้านหลัก ๆ คือ คุณภาพและการบริหารจัดการ  เป็นโจทย์ที่ต้องทำให้เสร็จ  รองสองมีเจตนารมณ์หรือวิสัยทัศน์ ให้คนไทยเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ มี ๓ เสาหลัก คือ คุณภาพ  โอกาส และการมีส่วนร่วม  ๓ ดีและ ๔ ใหม่   เรื่องคุณภาพ เวลากำหนดแนวทางปฏิรูปรอบสอง เราไม่ได้ปฏิรูปการศึกษาเพื่อการศึกษาเท่านั้น  ปี ๑๙๙๐ ประกาศปฏิญญาการศึกษาเพื่อปวงชน  แต่ทั่วโลกมองไปไกลนอกเหนือ Education for All คือมองถึง Sustainable Development คือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน  แต่ประเทศไทยไม่มีทรัพยากรมากพอให้เรียนได้นานที่สุด  ต้องดูว่าเรียนไปแล้วส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพมากเพียงใด  ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ  สิ่งแวดล้อมของโลก ล้วนเป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  โอกาส คุณภาพ และการมีส่วนร่วม จะมีกระบวนการอย่างไร ทั้ง ๓ เรื่อง ต้องใช้มุมมองและวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกัน ต้องวิเคราะห์ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะทำงานกันมามาก แต่ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เพราะอะไร ล้วนต้องวิเคราะห์สาเหตุ เช่น หลักสูตร  การจัดการเรียนการสอน การใช้สื่อเทคโนโลยี และกระบวนการวัดและประเมินผล ต้องติวเข้มให้ถูกทิศทาง เพื่อไม่เหนื่อยฟรี  การเพิ่มโอกาสและความเสมอภาค ขึ้นกับคำนิยามว่าคืออะไร มีหลายมุมมอง  เสมอภาคคือให้ทุกคนเท่าเทียมกัน อีกมุมมองคือลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้เกิดความเสมอภาค  การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงไปเกี่ยวกับทรัพยากรที่เราต้องใช้ให้ถูกต้องจึงเกิดผล   การมีส่วนร่วม ต้องสร้างกลไกของการมีส่วนร่วม จุดเริ่มต้นที่ดีคือการสื่อสารและสร้างความเข้าใจ  กำหนดกฎกติกาที่ชัดเจน ประเด็นสำคัญ คือ การกระจายอำนาจ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่กระจายมากนักในทางปฏิบัติ  ยังไม่ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งในการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะองค์คณะบุคคลต่าง ๆ และการบริหารงานโดยไม่ได้เตรียมความพร้อมเป็นความเสี่ยง  ในทางทฤษฎีการกระจายอำนาจต้องควบคู่ไปกับการตรวจสอบได้  จึงเกิดการถ่วงดุลและต้องมีการกำกับติดตามด้วย

                ๒. การปฏิรูปด้านคุณภาพจำเป็นต้องพูดถึงหลักสูตร ซึ่งเป็นแผนที่ให้ผู้เรียนไปสู่เป้าหมาย หลักสูตรปี 2544 ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการเน้นเนื้อหาสาระ ไม่เน้นมาตรฐานการเรียนรู้ แต่จากการใช้มา 6 ปี มีการติดตามผล พบว่า ครูไม่สามารถจัดเนื้อหาการเรียนรู้ได้ตามจุดมุ่งหมาย  ผลสัมฤทธิ์วิชาหลักไม่บรรลุ นอกจากนี้ผลประเมิน สมศ. พบว่า นักเรียนมีปัญหาด้านการคิดวิเคราะห์

                        จึงมีการประชุมศึกษาเพื่อทบทวนหลักสูตร พยายามแก้โจทย์ปัญหา 2 ประการ คือ

                        (1)  เนื้อหาแน่น ซ้ำซ้อน

                        (2) ครูขาดความเข้าใจ ไม่สามารถใช้ให้เกิดประสิทธิผลตามต้องการ

                        สรุปผลการพิจารณาได้ว่า หลักสูตรออกแบบได้ถูกต้อง เอื้อต่อการคิดวิเคราะห์แล้ว ปัญหาคุณภาพจึงน่าจะอยู่ที่การจัดการเรียนรู้

                        ข้อวิเคราะห์เพิ่มเติม คือ ในการพัฒนาการคิด  ผู้เรียนไม่มีแผนที่นำทางที่ชัดเจน การปล่อยให้คิดเองทำให้สำเร็จได้ยาก จึงได้กำหนดประเด็นการจัดหลักสูตรที่ส่งเสริมการคิดอย่างเป็นขั้นตอน ดังนั้นแต่ละช่วงชั้นจึงต้องกำหนดจุดเน้นให้ชัดเจน คือ สอดคล้องกับการพัฒนาสมองผู้เรียน Brain-based Learning จึงสำคัญต่อผู้เรียนในระดับต้นๆซึ่งได้กำหนดทักษะการคิด ลำดับ               

                        (1)ทักษะการคิดพื้นฐาน  โดยใช้การสื่อสาร ฟัง พูด อ่าน ตามลำดับ  เหมาะกับช่วงชั้นที่ 1 เกิดการอ่านคล่อง เขียนคล่อง

                        (2)  ทักษะการคิดแกน  คือ การสังเกต  สำรวจ  จำแนก  เปรียบเทียบ การแปลความหมาย  สรุปย่อ และนำไปใช้ เหมาะช่วงชั้นที่ 2  ซึ่งเน้นการเรียงความ ย่อความ

                        (3)  ทักษะการคิดขั้นสูง ช่วงชั้นที่ 3 ซับซ้อนมากขึ้น กำหนด คำนิยาม ความหมาย

                        (4)  ทักษะกระบวนการคิด คือ ประมวลความรู้ ความสามารถ การคิดวิเคราะห์เหตุผล และนำไปใช้ในชีวิตจริง แก้ปัญหา ตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ

                        ทั้งหมดนี้นำมาแปลงไปสู่การเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระ ทำสื่อที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ และแนวการวัดและประเมินผลและนำไปสู่การพัฒนาครูต่อไป และท้ายสุดส่งผลต่อตัวผู้เรียน

                        ทั้งหมดนี้ต้องนำมาสู่การทำเป็นคู่มือ แบบเรียนและการวัดและประเมินผล  ซึ่งต้องไปด้วยกัน

                        สวก.ได้วิเคราะห์เนื้อหาสาระที่กำหนดต่อไป พบว่า มีความซ้ำซ้อนในหลายชั้นปี สามารถลดลงได้ 30%   จึงทำให้มีเวลาเหลือสำหรับจัดกิจกรรมนอกชั้นเรียนได้มากขึ้น ซึ่งเราต้องช่วยกันคิดว่าจะจัดกิจกรรมเสริมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนได้อย่างไร

                       การแนะแนว....อ่านต่อตอนที่ ๒ 

หมายเลขบันทึก: 324429เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2010 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีปีใหม่ครับ ขอให้ท่านมีความสุขและความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

สวัสดีค่ะท่าน ผอ.เขต...หนูพึ่งมาเปิดดูหน้านี้...หนูขออนุญาตก็อปเก็บไว้อ่านนะค่ะ...เป็นความรู้ที่ไม่ต้องมานั้งอ่านเยอะๆ...เพราะท่านสรุปให้อย่างดี(อิอิ)...เพราะต่อนี้หนูกำเรียนเรียน ป.บัฒฑิตอยู่ค่ะ...บางข้อหนูเคยเรียนผ่านไปแล้ว...พอมาอ่านหน้านี้หนูรู้ทันทีเลยค่ะว่าสิ่งที่เรียนไปหนูลืมไปแล้วจริงๆ...ด้วยความเคารพอย่างสูง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท