จุดชนวน KM ที่ราชภัฏนครสวรรค์


KM นี่แหละ เป็น Skillful Execution

          รายงานใหม่อาจไม่สด แต่บ่มจนได้ที่แล้วค่ะ เป็นรายงานการปฏิบัติงานของดิฉันในฐานะ "คุณกิจ" ของ สคส. ที่มีหน้าที่ไปเผยแพร่ "KM" ให้ขจรขจายไปทุกหย่อมหญ้า (ว่าเข้านั่น)

          คือว่า...เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา ดิฉันได้รับเกียรติที่ผ่องถ่ายมาจาก อาจารย์วิบูลย์  วัฒนาธร  ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพของ มน. (อีกแล้ว)  ในการไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง " การจัดการความรู้กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ " ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์  บ้านใกล้เรือนเคียงของ มน. ไม่ห่างไกลกันนี่เอง

          ดิฉันได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่า ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 250 ท่าน เป็นอาจารย์และผู้บริหารทั้งหมด  และให้เวลากับเรื่องนี้ 3 ชั่งโมงของครึ่งวันบ่าย โดยประมาณ

          มหาวิทยาลันราชภัฏนครสวรรค์ เตรียมงานได้ดีมากค่ะ เพราะแจ้งแต่เนิ่นๆ  และสอบถามดิฉันว่า จะมีเอกสารอะไรแจกให้บ้าง ดิฉันก็ใช้วิธีการของท่านอาจารย์วิจารณ์อีก  คือบอกว่า ควรจะไปซื้อ หนังสือ เรื่อง การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ ของอาจารย์ ดร.ประพนธ์ แจกให้ทุกคน  และให้อ่านก่อนวันประชุมด้วยนะ

          กาลได้ล่วงไปได้สักระยะ  ดิฉันโทรกลับไปสอบถามดู และจับสัญญาณได้ว่า วิธีการเตรียมการศึกษาล่วงหน้าดังกล่าวคงไม่เป็นผล  เพราะจำนวนหนังสือค่อนข้างมาก และต้องสั่งจาก กทม.  อีกทั้งราคาคูณจำนวนคนแล้ว งบประมาณคงบานปลาย (วิเคราะห์เอาเองจาก sense)

          จึงรีบปลี่ยนแผนใหม่  ความคิดปิ๊งแว๊ป เกิดจากความประทับใจเมื่อครั้งไปประชุม UKM ที่ มอ. ที่ทางฝ่ายจัดงานได้ให้ Sheet รวมบันทึก KM (ภาคปฏิบัติวันละคำ) ของท่านอาจารย์วิจารณ์ ใน Blog: Thaikm.gotoknow.org ดิฉันชอบมาก จึง copy idea นี้ ด้วยการทำ File ต้นฉบับส่งทาง E- mail ไปให้ท่านผู้ประสานงานของ มรฏ.นครสวรรค์ แทนหนังสือ KM ของอาจารย์ประพนธ์  เพื่อให้ผู้จัดทำสำเนาเป็นเอกสารประกอบการประชุม  ข้อดีอีกประการ คือ เป็นการเผยแพร่ Blog ไปในตัวด้วย

          เช้าวันที่ 29  พขร. ของมรฏ.นครสวรรค์ คุณสังวาลย์  มารับดิฉันที่คณะ ด้วยเวลาที่ตรงเผง 9.00 น.  ดิฉันเพลิดเพลินกับการสนทนากับ คุณสังวาลย์ ตลอดทาง ได้รู้จักท่านผู้บริหารของมหาวิทยาลัยล่วงหน้า ดูคุณสังวาลย์จะประทับใจในตัวท่านประธานสภาอาจารย์ ผศ. สุชาติ มาก เพราะเล่าด้วยความชื่นชมว่าเป็นคนดี  (ดิฉันไม่เคยพบหน้า แต่ ผศ.สุชาติ  เป็นผู้ที่โทรศัพท์ติดต่อกับดิฉันมาแต่ต้น) และยังเล่าให้ฟังถึงอาจารย์ท่านหนึ่งที่ดูแลระบบ รปภ. ของ มหาวิทยาลัย ว่า เป็นผู้ที่สร้างและพัฒนาระบบ รปภ.ได้ดีมาก สร้างคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย อยากให้ระบบบริหารทุกระบบเป็นอย่างนี้  (ขออภัยนะค่ะ ที่ดิฉันจำชื่ออาจารย์ท่านนั้นไม่ได้)

          เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัย จึงได้ทราบว่า ที่แท้ เป็นงานใหญ่ที่ทางมหาวิทยาลัยโดยสภาอาจารย์จัด  คล้ายปฐมนิเทศอาจารย์ก่อนเปิดปีการศึกษาใหม่  เป็นการประชุมอาจารย์ประจำปีการศึกษา 2549 โดยจัด 3 วัน   ตั้งแต่ 29 - 31 พ.ค. 49  วันนี้จึงนับเป็นวันแรก  ท่านอธิการบดี รศ.ประเทือง ภูมิภัทราคม  ให้การต้อนรับดิฉันเป็นอย่างดียิ่ง ตอนที่ไปถึง กำลังจะเริ่มรายการบรรยายช่วงเช้าพอดี ดิฉันจึงได้รับฟังด้วย

          ดิฉัน ถือเป็นโชคลาภอันประเสริฐ ที่ได้ร่วมรับฟังบรรยายในภาคเช้า จากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ  อาจารย์ ดร.ถนอม อินทรกำเนิด เรื่อง "วิถีทางเพื่อบรรลุเจตนารมณ์แห่ง พรบ.ม.ราชภัฏ พ.ศ. 2547" เพราะท่านเป็น Key man คนสำคัญ ผู้ให้กำเนิด ของพรบ. นี้ นั่นเอง  ดังนั้น ที่มาที่ไป เจตนารมณ์  และทิศทางของ ม.ราชภัฏ จึงแจ่มกระจ่างเป็นอย่างยิ่ง  ช่างเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุด ของการทำงานทำการทั้งปวง

          เท่าที่ดิฉันจดและจำได้ ท่านอาจารย์ ดร.ถนอม เล่าว่า

  • ก่อนร่าง พรบ. ได้มีการวิเคราะห์ว่า สภาพอุดมศึกษา (ในปีที่ร่างพรบ.) เป็นดังนี้
    • ทุนทางปัญญาพร่องลง : เหตุเพราะนำเข้าแม้กระทั่งเทคโนโลยีทางการศึกษา ประเทศไทยมีหนี้ทางปัญญา  ทุนปัญญาที่มีอยู่ร่อยหรอลงทุกที
    • ทอดทิ้งชุมชนท้องถิ่น  อาจารย์ใช้คำว่า ชนชั้นปัญญาชน สังวาสกันเอง ไม่สนใจชุมชน
    • สร้างชนชั้นนำกลุ่มย่อย ทิ้งมวลชน อาจารย์หมายถึงมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายส่วนน้อยในสังคม
    • ขาดบูรณาการกับศาสนธรรม
    • การบริหารที่อ่อนธรรมาภิบาล  ทั้งการได้มาของผู้บริหาร  การประเมิน และการใช้เงิน
  • ดังนั้น ปรัชญาของ พรบ. ฉบับนี้ คือ  มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ที่สร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน
  • และ พันธกิจ (งานสำคัญที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีความชอบธรรมในการดำรงอยู่) คือ
    • วิจัย  และสร้าง นฤมิตรกรรม  อาจารย์ใช้ภาษาได้ไพเราะจริงๆ อาจารย์บอกว่ามาจาก Creation+Innovation
    • เรียนรู้ตลอดชีวิต
    • ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
    • บริการวิชาการสู่ชุมชน
    • พัฒนาวิชาชีพครู
    • สร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
    • รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • สืบสานแนวพระราชดำริเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
  • หลักการดำเนินงาน
    • ปรัชญานำ :  Philisophy Guided
    • พันธกิจเป็นฐาน : Mission Based
    • ความต้องการเป็นแนวมุ่งเน้น : Need Oreinted
    • บริหารจัดการขับเคลื่อน : Governmented Money Driven
    • รับรองคุณภาพ : Quality Garanteed

          อ้าว ว ! นี่ ดิฉันมาเป็นวิทยากร หรือ มาเป็นผู้ร่วมอบรม กันแน่ ??

          ขอเป็นทั้ง 2 อย่างเลย นะคะ  เพราะ การได้ฟังช่วงเช้า ทำให้การบรรยายช่วงบ่ายของดิฉันที่เตรียมมา สอดคล้องตอบรับกับท่านอาจารย์ ดร. ถนอม กันอย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย แบบไม่ได้เตี๊ยมกันมาเลยนะนี่

         เพราะตอนท้าย อาจารย์บอกมาคำหนึ่งว่า การที่จะขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ดังกล่าว จำจะต้องมี Skillful Execution  อย่างนี้ ก็เข้าล็อคของดิฉันพอดี  เพราะดิฉันเตรียมมาบอกว่า KM นี่แหละ เป็น Skillful Execution

          บรรยากาศของช่วงบ่าย ช่วยทำให้ดิฉันอุ่นใจและมีกำใจที่จะบรรยายมาก เพราะท่านอธิการบดีไม่ลุกไปไหนเลย ท่านผู้บริหารและคณาจารย์ก็พร้อมหน้า ดิฉันเตรียม slide power point ยาวถึง 70 สไลด์ และร่ายยาวรวดเดียว ไม่มีหยุดพัก ขณะที่พูด รู้สึกตัวว่าเคร่งเครียด จริงจังเกินไปหน่อย เพราะจิตใต้สำนึกมันเตือนอยู่ตลอดเวลาว่า นี่เป็น training mode ต้องใส่พลังกระตุ้นในการพูดให้อยากนำกลับไปทำให้ได้  (บรรยายเสร็จรู้สึกจุกเสียด แต่ทำหน้าเฉย)

          จบการบรรยายก่อน Break ดิฉันขอให้ทุกท่านพักและกลับเข้ามาชม VCD ของโรงพยาบาลบ้านตาก  ตัวอย่างการจัดการความรู้ที่เป็นรูปธรรม กันต่ออีกนิ๊ด

          วิธีนี้ ดิฉันก็สำเนามาจาก คุณบอย (คุณอนุวัทย์  เรืองจันทร์ : หัวหน้าสำนักงานเลขานุการสหเวชฯ มน.) นั่นเอง  คุณบอยเดี๋ยวนี้ กลายเป็นวิทยากร KM เต็มตัวแล้ว ได้รับเชิญจากหลายหน่วยงาน ให้ไปพูดเรื่อง KM เอย เรื่อง Blog เอย ออกเดินสาย จนมีความเชี่ยวชาญ  และมีลูกเล่นแพรวพราว จนดิฉันเองยังต้องดักจับเคล็ดวิชาของคุณบอยมาใช้บ้าง

          สุดท้ายของวัน  จบลงด้วยดี อาจารย์หลายท่านที่ มรฏ.นครสวรรค์ บอกว่าเข้าไปดู gotoknow บ่อยๆ  และหลายท่านรวมทั้งท่านอธิการบดีบอกว่าจะนำ Blog มาใช้ขับเคลื่อน KM ในมหาวิทยาลัยให้ขยายวงกว้างออกไป

          ดิฉัน นั่งรถ ที่คุณสังวาลย์ขับกลับ มน. ด้วยความสบายใจ หายเครียด และอาการจุกเสียด ก็ค่อยๆ บรรเทาลง

หมายเลขบันทึก: 32278เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท