หัวหน้างานกับแรงจูงใจพนักงาน


ถ้าพูดถึงเรื่อง ของแรงจูงใจของพนักงานแล้ว เป็นเรื่องที่คุยกันได้เป็นวันๆ เลยทีเดียว ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นแรงจูงใจให้กับพนักงานยอมทำงานให้เราด้วยความเต็ม ใจและพอใจ

ผมจัดหลักสูตรการพัฒนาทักษะผู้บังคับบัญชาให้ลูกค้าบ่อยๆ และก็มีคำถามให้กับบรรดาหัวหน้างานที่เข้าอบรมให้เขาอภิปรายกันอย่างกว้าง ขวางว่า “อะไรเป็นปัจจัยที่จะจูงใจพนักงานให้ทำงานให้เราอย่างเต็มใจและพอใจ”

คำตอบที่ได้มีมากมายทีเดียว แต่เท่าที่สรุปได้นั้น ก็แยกเป็น 2 ด้าน ก็คือ รางวัลที่จับต้องได้ และรางวัลที่จับต้องไม่ได้ หัวหน้าส่วนใหญ่ถึง 80% ตอบว่า บรรดารางวัลที่จับต้องได้นั้น เป็นปัจจัยที่สร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้ดี เช่น เงินเดือน โบนัส สวัสดิการต่างๆ ความปลอดภัยในการทำงาน เชื่อมั้ยครับ 90% ของผู้เข้าร่วมที่ผมสอนมาเป็นร้อยรุ่นนั้น ตอบคำตอบเดียวกันว่า “เงินเดือน และโบนัส” จะเป็นสิ่งจูงใจพนักงานได้ดีที่สุด ให้เขาทำงานให้เราอย่างเต็มใจและพอใจ

ผมถามว่า “จริงหรือ” ที่เงินเดือนและโบนัส สามารถที่จะจูงใจพนักงานได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องใช้อย่างอื่นอีกแล้ว คำตอบที่ได้จากการสัมมนาอีกเช่นกัน ก็ตอบว่า มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด

ผมก็ถามต่อไปอีกว่า “แล้วในฐานะที่คุณเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้จัดการ คุณสามารถกำหนดเงินเดือน และโบนัสให้กับลูกน้องของคุณได้เองเลยหรือเปล่า คุณมีสิทธิ และมีอำนาจในการที่จะจ่ายเงินเดือนพนักงานของคุณอย่างไรก็ได้ใช่หรือไม่”

คำตอบที่ “ไม่สามารถทำได้เองเลย” เพราะอะไรครับ ก็เพราะเรื่องเงินเดือนและโบนัสนั้น เป็นเรื่องของนโยบายของบริษัทในภาพรวม ไม่ใช่เรื่องที่หัวหน้างานทุกคนจะสามารถกำหนดเองได้ นั่นก็แปลว่า หัวหน้างานไม่มีเครื่องมือในการจูงใจพนักงานแล้วสิครับ (ก็ตอบข้างบนมาว่า เงินเดือนและโบนัส จูงใจพนักงานได้) ถ้าเชื่อคำตอบนี้ ก็แปลง่ายๆ ว่าหัวหน้างานและผู้จัดการทั้งหลายก็ไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะใช้ใจการจูงใจ พนักงานของตนเลย

แต่ในความเป็นจริงนั้น ยังมีเครื่องมือในการจูงใจพนักงานอีกมาก ที่หัวหน้าสามารถทำได้เองกะมือเลย โดยไม่ต้องไปดูนโยบายอะไรของบริษัทเลย ซึ่งก็น่าจะเป็นรางวัลที่จับต้องไม่ได้ เช่น คำชม การสอนงาน การพัฒนาจุดอ่อนของพนักงาน การส่งพนักงานไปอบรมความรู้เพิ่มเติม และพูดคุยทักทาย สอบถามทุกข์สุขของพนักงาน เราเรียกรวมๆ ได้ว่า Recognition ซึ่งมีความหมายรวมๆ ว่า ใส่ใจพนักงานของตนด้วยความรู้สึก

และตัว Recognition นี่แหละครับ ที่ทำให้พนักงานบางคนยอมทำงานแบบถวายหัวให้นาย โดยไม่สนใจเลยว่า จะได้เงินเดือนเท่าไร หรือโบนัสเท่าไร ตรงกันข้าม พนักงานบางคนทำงานในบริษัทใหญ่โต เงินเดือนสูง สวัสดิการดี โบนัสเยอะ แต่หัวหน้าไม่เคยคุยด้วย ไม่เคยใส่ใจ ไม่เคยทักทายหรือพูดคุยเกินกว่า 3 คำต่อวัน แถมทำงานไปก็ไม่ได้รับคำชมใดๆ หรือไม่มีการบอกเลยว่าผลงานของตนนั้นดีหรือไม่ดี ต้องพัฒนาอะไรบ้าง ผมว่าพนักงานคนนี้ทนได้ไม่เกิน 6 เดือนหรอกครับ ก็ต้องออกไปหางานใหม่

คนเราต้องการความใส่ใจจากคนรอบกายเขานะครับ คนแรกที่พนักงานต้องการให้เขาใส่ใจก็คือ หัวหน้าเขาเองครับ มิเงินเดือนเยอะแยะมากมาย แต่ขาดความเอาใจใส่ และความใส่ใจจากหัวหน้า มันก็ไม่เกิดแรงจูงใจแน่นอนครับ

ดังนั้นการที่เราจะเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเงินเดือนพนักงานจะมากหรือน้อย แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกอยากทำงานให้ด้วยความเต็มใจ และพอใจ ก็คือ เราในฐานะหัวหน้านั้นให้ความใส่ใจกับพนักงานที่อยู่ภายใต้ความดูแลของเรามาก น้อยเพียงใด

คำสำคัญ (Tags): #แรงจูงใจ
หมายเลขบันทึก: 322524เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2009 05:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ที่นั่งหัวหน้าควรต้องนั่ง...
คือ ที่นั่งที่อยู่กลางใจของลูกน้อง..

...ขอบคุณครับ

พี่แผ่นดินสรุปใจความของการเป็นหัวหน้างานได้สั้นและกระชับดีมากๆ เลยค่ะ

เรื่องของการทำงาน ไม่ว่าจะเจ้านายหรือลูกน้อง การรวมใจกันทำงานเป็นทีม ทำงานแบบมีใจเดียวกัน เข้าใจกัน ก็ถือเป็นแรงจูงใจอย่างนึงที่ทำให้เรื่องของตัวเงิน มีน้ำหนักลดลงไปพอควรเลยนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท