การหาโจทย์วิจัยPARพืชปลอดภัยที่ ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ( ตอนที่ 2 )


การทำวิจัยนั้นหากเราจะทำเองคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การที่จะสร้าง "คนให้ทำวิจัยในงานหรือในวิถีชีวิตของตนเองได้นั้น" น่าจะยากและท้าทายมากกว่าครับ

  (ลิงค์อ่านตอนที่ 1)  

         เวลาประมาณ 10.00 น.  หลังจากดูวีซีดี เรื่อง "ปัญหามา ปัญญามี" จบแล้ว เราได้เริ่มกระบวนการกันอีกครั้งหนึ่ง โดยทีมงานที่จะสนทนากลุ่มเพื่อหาโจทย์วิจัยฯ (ภาพ ก ) กับกลุ่มเกษตรกรที่จะมาให้ข้อมูลเรื่องการปลูกมันสำปะหลังกับนักวิจัยที่มาเก็บข้อมูลเพื่อทำดุษฎีนิพนธ์ (ภาพ ข )ต่างก็แยกวงกันดำเนินการ

  ก    ข

         แต่พอเริ่มเท่านั้นเองครับ เสียงของกลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหนดังให้เซ็งแซดกันไปหมด  คุณอรวรรณ เก่งสนาม ในฐานนะคุณอำนวยของพื้นทีในวันนี้ จึงได้ตัดสินใจขอร้องให้กลุ่มที่เก็บข้อมูลมันสำปะหลังย้ายสถานที่ไปใช้ที่ศาลาวัดซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามแทน นี่กระมังครับที่เขาว่า "ดังแล้วแยกวง" ของจริง(เสียงดัง)

          เริ่มกันใหม่โดยคุณสายัณห์  ปิกวงค์ ทำหน้าที่เป็นคนดำเนินกระบวนการ เพราะเคยทำงานที่ตำบลนี้มาก่อน รู้จักสามาชิกกลุ่มหลายคน อีกทั้งยังพอ "เว้าอีสาน" ได้อีกด้วย  จึงพอจะสรุปขั้นตอน และคำถาม-คำตอบของกลุ่มฯ ได้ดังต่อไปนี้ครับ

     คำถามที่ 1 หลังจากดูวีซีดีแล้วท่านเห็นอะไรบ้าง? คำตอบก็คือ

          เห็นการเรียนรู้และแก้ปัญหาเกี่ยวกับ

  • ดิน
  • ข้าว
  • มัมสำปะหลัง
  • ทำปุ๋ยชีวภาพ
  • ชาวบ้านรวมกลุ่มกัน

     นอกจากนี้ ยังมีคำถามต่อเนื่องหรือคำถามเสริมเข้ามาก็คือ "มีใครในวีซีดีนี้บ้าง"  คำตอบก็มีทั้งชาวบ้าน แกนนำ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่นักพัฒนา และปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งในประเด็นนี้ คุณสายัณห์ได้สรุปเพิ่มเติมให้ได้เห็นว่า  ในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในวีซีดีนั้น  มีคนที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อค้นหาองค์ความรู้ที่จะนำมาปรับใช้หรือยกระดับกันเองในชุมชน ก็จะคล้ายๆ กับการมาดำเนินการของวันนี้นั่นเอง

 

     คำถามที่ 2 ท่านได้แนวคิดอะไรจากการดูวีซีดีนี้บ้าง...? 

     คำตอบก็คือ

  • การรวมกลุ่มแก้ปัญหา
  • ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
  • ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย
  • ปรับปรุงดิน

                                 หน้าตากระดาษบันทึก

 

     คำถามที่ 3  แล้วบ้านเราทำการผลิตอะไรกันบ้าง..? 

          คำตอบก็คือ ส่วนใหญ่ชาวบ้านที่นี่ปลูกมันสำปะหลัง  , ข้าว , ปศุสัตว์ ,ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม , ปั้นโอ่ง และปั่นฝ้าย เป็นต้น

                                      

          นอกจากนั้นแล้วยังมีการใช้คำถามต่อเนื่องหรือคำถามเสริม เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการหาโจทย์ของการวิจัยเพิ่มเติม คือ

  • คำถามเสริม 3.1   "พืชที่สำคัญของบ้านเรา คือพืชใด"  คำตอบก็คือ "มันสำปะหลังและข้าว"
  • คำถามเสริม 3.2   "พืชที่สำคัญ ของบ้านเราคือมันสำปะหลังและข้าว พืชใดใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมากกว่ากัน?" คำตอบก็คือ "ข้าว"
  • คำถามเสริม 3.3   "ในการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี ท่านมีความหนักใจในการใช้กับพืชใดมากที่สุด...?"  คำตอบก็คือ "ข้าว"

     คำถามที่ 5  เรามาลองทบทวนกระบวนการผลิตและต้นทุนการผลิตข้าวของบ้านเราว่าเป็นอย่างไร..?

          พอมาถึงขั้นตอนนี้ คุณอวรรณ  เก่งสนาม เข้ามาทำหน้าที่ดำเนินกระบวนการต่อเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศแทนคุณสายัณห์  ได้ใช้การถามและชาวบ้านร่วมกันตอบ ผลดังรูปภาพด้านล่างนี้ครับ

                                       หน้าตาต้นทุนการปลูกข้าว

     ต้นทุนของการปลูกข้าวในหมู่บ้านคลองน้ำไหลใต้ประมาณไร่ละ  2,453 บาท  ขายข้าวได้ประมาณ ไร่ละ 4,550 บาท  จะเหลือกำไร ประมาณไร่ละ  2,097 บาท (ตัวเลขในภาพ กำไรยังไม่ได้ลบค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 500 บาท)

     คำถามที่ 6  กระบวนการและต้นทุนการผลิตข้าวของบ้านเราท่านคิดว่าจะลดหรือทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยและลดต้นทุน ...?

       กลุ่มได้นำเสนอวิธีการก็คือ...

  • ใช้พันธุ์ข้าวปลูกเอง
  • ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ

     คำถามที่ 7   ผลผลิตข้าวของบ้านเราท่านคิดว่าปลอดภัยหรือไม่..?

     คำตอบที่ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ปลอดภัย" เพราะ "ฉันผลิตเองจึงรู้ รับรองได้"

     แล้วผมจึงถามต่อไปอีกว่า

         คำถามเสริม ท่านกินข้าวที่ปลูกหรือไม่ ...?

     คำตอบก็คือ ทุกคนต่างก็ตอบว่า"เก็บไว้กินเองทุกคน"

      คำถามที่ 8  ท่านยังต้องการทราบหรืออยากเรียนรู้เกี่ยวกับข้าวในเรื่องอะไรบ้าง..?

                                           

          ซึ่งก็ได้โจทย์หรือคำถามสำหรับการที่ชาวบ้านอยากจะเรียนรู้ต่อไปคือ

          โจทย์ที่ 1 หาวิธีการป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าวที่เหมาัะสมควรทำอย่างไร และ

          โจทย์ที่ 2 แนวทางการลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เหมาะสมของบ้านคลองน้ำไหลใต้ควรเป็นอย่างไร  และชาวบ้านได้เสนอประเด็นย่อยในโจทย์ที่ 2 นี้เพิ่มเติมก็คือ

  • การใช้ปู๋ยชีวภาพ/ปุ๋ยอัดเม็ด
  • ยาคุมและยาฆ่าหญ้า
  • การเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้เอง
  • การใช้สารสมุนไพร
  • การใช้ปุ๋ยพืชสด

          ผมก็เลยใช้คำถามเสริม แหย่ไปว่า

      คำถามเสริม หากเราจะรวมทั้ง 2 โจทย์เข้าเป็นโจทย์เดียว โดยให้มีประเด็นของพืชปลอดภัยและมีส่วนของการลดต้นทุนอยู่ด้วยกัน จะได้หรือไม่และน่าจะเป็ฯอย่างไร?

      ซึ่งคำตอบของคำถามนี้ก็ได้คำตอบที่เป็น โจทย์ที่ 3 ซึ่งเป็นโจทย์ของบ้านคลองน้ำไหลใต้ก็คือ

     "รูปแบบการผลิตข้าวที่ปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำ ของบ้านคลองน้ำไหลใต้ควรเป็นอย่างไร"

           หลังจากนั้นก็คืนเวทีให้กับคุณอรวรรณ เก่งสนาม เพื่อดำเนินกระบวนการต่อไปเกี่ยวกับการหาทีมงานนักวิจัยชาวบ้าน ในเบื้องต้นกำหนดแกนนำไว้ 8 คน และนัดหมายพบกันเพื่อออกแบบกระบวนการ (ออกแบบการวิจัย) ในวันที่ 5 มิถุนายน  2549  แต่หลังจากกลุ่มที่แยกไปให้ข้อมูลกับนักศึกษา ป.เอก กลับมาสมทบ และหลายท่านอยากเป็นแกนนำร่วม ก็เลยเปิดโอกาสให้เข้ารวมได้ไม่จำกัด เพราะหลายๆ คนอยากมีส่วนร่วม อีกทั้งทีมงานเราได้เกริ่นนำว่า เราจะหาเวทีเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยกับสาธารณะ หลังจากจบกระบวนการวิจัยไปรอบหนึ่งแล้ว

                                          

          นอกจากนั้นแล้วในการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการวิจัยแก่ทีมงานนักวิจัยชาวบ้าน  ผมก็เลยได้ยกตัวอย่างของวันนี้ให้กับทุกคนได้เห็นว่า การที่นักศึกษา ป.เอก มาเก็บข้อมูลเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง ก็คือการวิจัย แต่เป็นการวิจัยที่ "คนนอก" มาวิจัยและ "ชาวบ้านเป็นผู้ถูกวิจัย" ผลของการวิจัยก้จะเป็นของคนนอก เพราะเราไม่เคยได้รับผลสะท้อนของการวิจับนั้นเลย แต่ที่เรากำลังทำกันอยู่นี้ "เราเป็นนักวิจัยเอง การวิจัยเราก็ทำเอง และผลของการวิจัยก็จะเป็นองค์ความรู้ของเรา ซึ่งเราจะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการวิจัยนี้"

          ชาวบ้านทุกคนต่างก็นิ่งฟังอย่างตั้งใจ และส่งแววตาที่เป็นประกายแห่งความหวังให้พวกเราทีมงานได้เห็น นี่กระมังครับที่ว่า "เสน่ห์ของงานวิจัยและการทำงานในภาคสนาม" เพราะแม้ว่าเราจะไม่มีความรู้ที่มาจากฟ้ามากมายนัก แต่เราก็สนุกกับการเรียนรู้ในความรู้ที่อยู่กับดิน การทำวิจัยนั้นหากเราจะทำเองคงไม่ใช่เรื่องยาก และคงทำได้เพียงปีละไม่กี่เรื่อง  แต่การที่จะสร้าง "คนให้ทำวิจัยในงานหรือในวิถีชีวิตของตนเองได้นั้น" น่าจะยากและท้าทายมากกว่าครับ เพราะทำได้ไม่มีวันจบและเหมือนกับเราได้ทำวิจัยและเรียนรู้ในหลายๆ เรื่องไปพร้อมกันครับ

          ในการดำเนินกระบวนการวันนี้ ได้ยืนยันให้ทีมได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การทำงานในลักษณะของกระบวนการมีส่วนร่วมในพื้นที่เช่นนี้ "ต้องทำงานกันเป็นทีม" ครับ วันนี้หากทำเพียงลำพังใครคนใดคนหนึ่ง คงทำได้แต่ผลคงออกมาไม่สมบูรณ์ อย่าลืมนะครับ "อย่าทำคนเดียว" หาทีมงานอาจเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือแกนนำชาวบ้านก็ได้ครับ เพราะ "ความรู้หรือทักษะนั้น...เรียนทันกันได้"

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร.ครับ

วีรยุทธ สมป่าสัก

คำสำคัญ (Tags): #par#วิจัยชุมชน#rd
หมายเลขบันทึก: 32228เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2006 06:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ติดตามเข้ามาดูความหวังและความเป็นไปของบ้านผมครับ
  • ขอให้กำลังใจทุกท่านที่ทำงาน เพื่อ "ร่วม" ช่วยกันทำให้บ้านเราสวยงาม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท