เสียงเพรียกของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จังหวัดน่าน


“จะไปสำรวจก็กลัวว่าจะถูกทางรัฐจับและส่งตัวกลับประเทศลาว แล้วจะไปอยู่กับใครญาติทางโน้นก็ไม่มีใคร เราก็เข้ามาอยู่อาศัยนานแล้ว...ถ้ากลับไปเราจะอยู่กะใครละ”

จะไปสำรวจก็กลัวว่าจะถูกทางรัฐจับและส่งตัวกลับประเทศลาว แล้วจะไปอยู่กับใครญาติทางโน้นก็ไม่มีใคร เราก็เข้ามาอยู่อาศัยนานแล้ว...ถ้ากลับไปเราจะอยู่กะใครละ คำพูดนี้ออกมาจากปากผู้เฒ่าคนหนึ่งที่ผมกำลังสอบถามข้อมูลเพื่อเก็บสำรวจยอดของปัญหาด้านสิทธิสถานะบุคคล ของบุคคลที่ประสบปัญหาในจังหวัดน่าน ทำไมมันเกี่ยวอะไรกับการสำรวจด้วยหรือ หลายท่านอาจจะสงสัย?

                เพราะผมถามเขาว่าในเมื่อเข้ามาอาศัยอยู่นานแล้ว แล้วทำไมในขณะที่ทางการออกสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ ทั้ง บุคคลบนพื้นที่สูง ในปี ๒๕๓๓ – ๒๕๓๔ และในปี ๒๕๓๗ อีกทั้งการสำรวจบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง ปี พ.ศ.๒๕๔๒ พวกเขาเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหนกัน ซึ่งคำตอบที่ได้ภายหลังที่ถามไปก็จะได้คำตอบอย่างที่ได้กล่าวในข้างต้น มันจึงเป็นคำถามกลับมายังผมเพื่อต้องหาคำตอบให้ได้ก็คือ ทำไมถึงเป็นอย่างนี้

                การแสวงหาคำตอบนี้ก็เริ่มต้นขึ้นจากกการเก็บข้อมูลและสอบถามนำเอาคำตอบที่ได้รับมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้ได้คำตอบที่ตกผลึกจริง ซึ่งก็จำเป็นต้องขอบคุณงานที่ได้รับมาในครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า ยังมีคนที่ประสบปัญหาด้านสิทธิสถานะบุคคลอยู่อีกจำนวนมากในจังหวัดน่าน ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มที่อพยพหนีภัยความตายเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว การที่พวกเขากลายเป็นคนตกหล่นทางทะเบียนราษฎรมาตลอดระยะเวลาที่เขาได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะความกลัวหรือ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นเพราะราชการหรือตัวคนที่ตกหล่นในสมัยนั้นเอง ถ้าหากจะได้คำตอบที่แท้จริงก็คงต้องนั่งเครื่องย้อนเวลาไปในขณะเวลานั้นซึ่งคงเป็นไปได้ยากยิ่ง แต่สิ่งที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันที่เพียงพอจะมองเห็นก็คือ ความไม่สนใจทั้งตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐในสมัยนั้นและคตินิยมที่ยึดถือ แต่ทั้งนี้ก็คงทิ้งความจริงอีกประเด็นที่สำคัญไม่ได้ว่าปัญหานี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากตัวชาวบ้านนั่นเอง

                ก็ไปสำรวจนะแต่พอไปถึงเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่สำรวจแล้ว และยังบอกว่าพวกเรานะเป็นกลุ่มคนพื้นราบไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ของการสำรวจเขาก็เลยไม่สำรวจให้... เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทางชาวบ้านบอกมาซึ่งหากเป็นไปตามนี้ก็แสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้และวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ในสมัยนั้น อาจเป็นการไม่ทราบหรือไม่รู้ถึงการเข้ามาสำรวจของหน่วยงานต้นสังกัดของตน ซึ่งโดยหลักการสำรวจนี้นั้นเพื่อทราบจำนวนประชากรและพยายามขจัดสภาพปัญหาการไร้รัฐของกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ และเป้าหมายสำคัญก็คงเพราะต้องทราบถึงจำนวนยอดที่แท้จริงของบุคคลกลุ่มนี้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่เพื่อหาแนวทางการกำหนดนโยบายเพื่อเป็นการช่วยเหลือบุคคลกลุ่มนี้ต่อไป

        ก็เวลานั้นพี่ก็ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดและไม่มีใครบอกพี่เลย... นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทราบมา และอีกคำตอบหนึ่งก็คือ ตอนนั้นอยู่ในป่านอนเฝ้าไร่เขาอยู่ ลงมาก็ไม่ทันสำรวจเสียแล้ว... สองคำตอบที่ได้รับมานั้นก็เลยทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่ผมเข้าใจนั้นก็อาจจะถูกต้องในคำตอบที่ต้องการ ทั้งนี้เมื่อมองในคำตอบที่ได้รับมาก็จะพบว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการตกหล่นทางทะเบียนราษฎรก็เป็นเพราะว่าความไม่ทราบถึงข่าวและการไม่ให้ความสนใจกับการสำรวจข้อมูลของภาครัฐที่เกิดขึ้นจากตัวชาวบ้านเอง ชาวบ้านอาจจะไม่มองเห็นความสำคัญของการเป็นคนที่ถูกบันทึกชื่ออยู่ในระบบการทะเบียนราษฎร แต่ก็ต้องเข้าใจว่าชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้นก็เล็งเห็นถึงเรื่องปากท้องของตนเองเป็นส่วนใหญ่มากกว่าเรื่องอื่นใด ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการสำรวจทางทะเบียนราษฎรกลุ่มบุคคลเหล่านี้จึงไม่ให้ความสนใจในการมาสำรวจแต่อย่างใด

                เมื่อยิ่งถามก็ยิ่งมีคำถามเกิดในสมองผมว่าแล้วทำไมสถานการณ์ในลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลอันใด อาจจะเกิดเพราะการที่ชาวบ้านได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยและไม่คิดที่จะกลับไปยังประเทศต้นทางที่ตนเองได้เดินทางเข้ามา จึงแสวงหาเงินในการก่อตั้งครอบครัวและดำรงชีวิตของตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยอย่างมีความสุขบนพื้นแผ่นดินไทย ซึ่งนั่นก็มีความหมายว่าพวกเขามีความคิดแค่ว่าขอให้ฉันได้อยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างนี้ไปเรื่อยๆก็เพียงพอแล้วการมีบัตรหรือไม่มีบัตรในสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับเขาเป็นอย่างมาก เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เลยทำให้กลุ่มบุคคลนี้ไม่ได้ติดตามและไม่สนใจในการดำเนินการทางทะเบียนราษฎรเพื่อไม่ให้ตนเองตกเป็นไร้รัฐ

                ด้วยเหตุนี้ความไร้รัฐของพวกเขาจึงดำเนินมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และในขณะที่ระยะเวลาได้เดินผ่านไปนั้นหลายคนเริ่มเข้าใจถึงการมีชื่ออยู่ในระบบการทะเบียนราษฎรของประเทศไทยแล้ว เพราะทั้งจากการถูกจับในข้อหาเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือออกไปทำงานต่างจังหวัดไม่ได้ รวมไปถึงการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่สามารถใช้สิทธิทางสาธารณสุขได้ และแล้วพวกเขาก็แสวงหาแนวทางออกนี้โดยการไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ และก็ต้องต่ออายุบัตรทุกๆปี ซึ่งวิธีดังกล่าวก็เป็นการบันทึกตัวตนของเขาไว้ในระบบการทะเบียนราษฎร แต่เป็นวิธีที่ผิดเพราะพวกเขาไม่ใช่แรงงานต่างด้าว พวกเขาไม่ได้เข้ามาเพื่อไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม หรือในส่วนของภาคครัวเรือนแต่อย่างไร

                ทำไมผมถึงกล่าวอย่างนี้ ก็คงเป็นเพราะจากข้อเท็จจริงและจากซักประวัติโดยใช้ข้อสังเกตในหลากหลายวิธีในการสัมภาษณ์ โดยตอนแรกนั้นชาวบ้านจะไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลมากนัก ก็จำเป็นต้องเอาใจคุยกันถึงจะเพียงพอ ซึ่งจากที่ทราบนั้นคือส่วนมากที่มาให้ข้อมูลผมนั้น จะเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกตนเองที่เกิดกับสามีที่เป็นคนสัญชาติไทยเสียมากกว่า และจุดที่ทำให้พอทราบว่าเท็จจริงอย่างไรในคำพูดของพวกเขานั่นก็คือ สำเนียง ในการพูดจาสื่อสารกับผมและการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดน่านหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะเวลานั้น และการสังเกตอาการในการพูดจาของกลุ่มคนดังกล่าว ว่าจะมีการลังเลในการพูดหรือไม่ สุดท้ายคือการเป็นที่รู้จักของสังคมในหมู่บ้าน หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการดูพยานแวดล้อมตัวเคส นั่นเอง

                นั่นจึงทำให้ผมสามารถแยกแยะ ความเหมือนที่แตกต่างของคนที่ถือบัตรแรงงานต่างด้าวที่จะมีเลขบัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข “00” ความเหมือนก็คือการถือบัตร แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือระยะเวลาที่เข้ามาของแต่ละบุคคลที่ไม่ควรที่จะต้องมาถือบัตรประเภทนี้เลย แต่นั่นก็คือ วิถีทางออก ที่พวกเขาสามารถทำได้ในขณะเวลานั่นและจากไม่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องสถานะบุคคลของกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้เลย เข้าทางที่ว่า มีอะไรในตอนนี้ก็ขอคว้าไว้ก่อน  ไม่ว่าจะเป็นอะไรเพียงแค่แก้ไขปัญหาของเขา ณ จุดเวลานั้นได้ เขาก็ยินดีที่จะทำ เพื่อความอยู่รอดของตนและครอบครัว และจากที่ได้ลงพื้นที่จังหวัดน่านนั้นสิ่งที่เข้าใจได้เป็นอย่างดีจากการสะท้อนมาจากชาวบ้านที่ได้มาให้ข้อมูลนั่นก็คือ ชาวบ้านที่นี่ไม่มีความรู้และเข้าใจในเรื่องของตนเองอันเกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลเลย ซึ่งนั่นก็มีความหมายว่าไม่มีความรู้ถึงว่า ตนเองคือใครหรือถึงแม้จะรู้แต่กว่าจะยอมปริปากเล่าหรือบอกก็ต้องทั้งขู่ทั้งปลอบ ซึ่งนั่นก็แสดงว่าชาวบ้านเองยังคงกลัวอะไรบางอย่างที่จะให้ผมรู้ แต่สุดท้ายที่รู้นั่นก็คือ ความกังวลต่อครอบครัวของตนเองว่าจะเดือดร้อน ก็เลยบอกกับพวกเขาว่า หากโกหกนะจะทำให้เดือดร้อน แต่ถ้าพูดความจริงไม่มีใครทำไรเราได้หรอก

                ในเรื่องนี้ท้ายที่สุดก็คือต้องช่วยให้เขากลับคืนสถานะบุคคลที่ถูกต้องของพวกเขาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง ซึ่งแน่ละครับว่าหลากหลายคนอาจจะบอกว่ามันจะดีหรือถูกต้องแล้วหรือ ผมก็ขอตอบในที่ตรงนี้ว่า ไม่ใช่ว่าจะไปแก้ไขให้กลับทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครที่มาถือบัตรแรงงานต่างด้าว แต่ขอร้องให้ช่วยพิจารณาให้สำหรับกรณีที่เขาเคยเป็นคนตกหล่นทางทะเบียนราษฎรมาก่อนตั้งแต่เขาอพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ซึ่งนั่นก็มีความหมายว่าตัวเขาเองก็อาจจะตกหล่นทางทะเบียนราษฎรของประเทศต้นทางและยังมาตกหล่นทางทะเบียนราษฎรในประเทศไทยต่อไปอีก ทั้งนี้หากเขาไม่ได้รับความเดือดร้อนและมีความรู้ในองค์ความรู้ด้านสถานะบุคคลแล้วนั้นพวกเขาเหล่านั้นคงไม่ สำคัญผิดไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

                ด้วยเหตุนี้แล้วจึงเห็นควรว่าทางภาครัฐเองควรที่จะกลับมาพิจารณาในส่วนที่เกิดปัญหานี้ขึ้น และไม่ต้องโยนความผิดไปมาซึ่งผมก็ตอบคำตอบนี้แล้วว่าท้ายที่สุดนั้นเหตุการณ์นี้ก็ไม่มีใครที่ผิด ๑๐๐ % หรอกครับ เพราะคนที่อพยพเข้ามาอยู่นานแล้ว เพียงแต่เขาตกหล่นจากการสำรวจของทางภาครัฐในทุกๆครั้ง จะต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวหรือครับ สิทธิต่างๆที่เขาควรจะได้รับมันก็สูญหายไปพร้อมกับการที่เขามาถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(ลาว) และมีทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ อย่างงั้นหรือครับ ตานะมาอยู่ที่ไทยตั้งแต่ตาอายุ ๑๐ ขวบ จนปัจจุบันตาก็ถือเพียงแค่บัตรนี้ และก็ไปต่อมันทุกๆปีเสียเงินก็มาก...ตานะไม่ได้ทำงานอะไรนะอยู่แต่ที่บ้านเลี้ยงหลานนะ...

หมายเลขบันทึก: 322074เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2009 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าจะแก้ไขปัญหาด้วยหลักมนุษยธรรมนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท