My Style, My Knowledge management


การจัดการความรู้

My Style, My Knowledge management

สุดปฐพี เวียงสี 

คุณอำนวยแห่งศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 

 

ทำไมเราต้องจัดการความรู้ (Knowledge Management)

            การเริ่มต้นเดินทางของการจัดการความรู้ในองค์กรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เริ่มต้นอย่างจริงจังในต้นปีงบประมาณ 2553 หากแต่คำว่า “องค์การแห่งการเรียนรู้”กลับปรากฏในเกณฑ์การประเมินของการประกันคุณภาพการศึกษามาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี

            การเริ่มต้นก่อร่างสร้างสิ่งใหม่ในวิสัยของคนทำงาน ย่อมสร้างความวิตกจริตถึงภาระงานน้อยใหญ่ในหัวใจให้เกิดขึ้นแก่คนทำงานอย่างไม่ต้องสงสัย บนพื้นฐานความเข้าใจที่แตกต่างกันถึง การจัดการความรู้ในองค์กรคืออะไร มาจากไหน และทำไมเราต้องจัดการความรู้ในองค์กร ทุกคำถามคือ อุปสรรคสำคัญให้คนทำงานมาเช้าเย็นกลับได้ลับคมคิด ค้นหา สร้างความเข้าใจถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกระบวนการ เพื่อนำไปสู่หนทางแห่งการยอมรับนับถือกันและกันอย่างหมดหัวใจ

            การแสวงหาความรู้จากทุกอณูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ ก้าวย่างอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ภาพเด่นชัดปรากฏชื่อของผู้รู้มากมายหลากหลายสำนัก และขั้นตอนแนวทางปฏิบัติต่างๆจากหน่วยงานที่    ก้าวผ่านเส้นทางการจัดการความรู้มาก่อนเก่า หากแต่ วิถีทางของการใช้เครื่องมือ “การจัดการความรู้ในองค์กร” ของศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กลับเริ่มต้นแบบไม่มุ่งเน้นตามหลักการทางวิชาการ ไม่อาจหาญเดินตามกฎทุกข้อ หากแต่สาระสำคัญ คือ การมุ่งเน้นขั้นตอนของการลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติเพื่อให้รู้ ปฏิบัติเพื่อให้เห็น และปฏิบัติเพื่อให้เกิดข้อพิจารณาร่วมกันของหมู่มวลสมาชิก ยึดถือ ปฏิบัติตามร่องรอยของการแหวกว่ายตามโมเดลปลาทูน่า ไม่ผิดแผกแปลกแยก ไม่สร้างความแตกต่าง แต่แสวงหาหนทางของความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เรียนรู้ตามธรรมชาติขององค์กรด้านการบริการวิชาการ หนทางเริ่มต้น เราพร้อมใจกันกำหนดดวงตาของปลาเป็นดั่งขอบเขตแห่งการเรียนรู้ กำหนดเป้าหมาย เพื่อพิจารณาประโยชน์ กำหนดเครื่องมือที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างตื่นเต้นกับของเล่นชิ้นใหม่ และสร้างหางปลา ให้มีแรงกระเพื่อมเต็มพลัง เพื่อจัดเก็บความรู้และขับเคลื่อนการจัดการความรู้ให้ไปในทิศทางแห่งความเจริญ

            ณ วันนี้ เราพบสาเหตุที่เราต้องมี การจัดการความรู้ในองค์กร จำนวน 3 ส ด้วยกัน คือ

            ส ที่ 1 คือ เสี่ยง

            การจัดการความรู้ช่วยลดความเสี่ยงในการทำงาน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะต้องเกิดจากการดำเนินงานหรือ Operation เพราะการจัดการความรู้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิธีการทำงาน ขั้นตอนการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ การบริการ การสร้างความประทับใจรวมถึงเสน่ห์ของการเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวงแบบมืออาชีพ” มากขึ้น อีกทั้ง หากใครเคยได้ยินประโยคประมาณว่า การอ่านหนังสือจบสักหนึ่งเล่ม อาจทำให้เรารับรู้ชีวิตทุกข์ สุขของนักเขียนทั้งชีวิต โดยที่เราไม่ต้องไปเสี่ยงเอง ย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดว่า การจัดการความรู้ในองค์กร เปรียบเหมือนการได้อ่านหนังสือดีๆที่เขียนโดยเพื่อนร่วมงานผู้ผ่านประสบการณ์ทำงานในภาวการณ์ที่เราอาจจะไม่เคยพบ เคยเจอมาก่อน เช่น

ทำไมการดูแลให้บริการผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ จึงต้องเป็น สุชาติ รัตนโรม เป็นเรื่องที่แปลกมากว่า ทำไมต้องเป็นเขาคนนี้ ทำไมไม่เป็นสุดปฐพี เป็นคนอื่นๆ แล้วถ้าวันหนึ่งถึงโอกาสของคนชื่อ สุดปฐพี จะทำได้ เหมือนสุชาติ รัตนโรม หรือไม่? ความเสี่ยงย่อมเกิดขึ้นในใจของชายหนุ่มที่ไม่เคยบริการผู้บริหารระดับสูงมาก่อนอย่างแน่นอน ต้องทำอะไร ต้องทำอย่างไร จะต้องทำตอนไหน แค่คิดก็ยากพอดู

หากแต่เมื่อการจัดการความรู้ในองค์กรได้นำพาประสบการณ์ของสุชาติ รัตนโรม มาเล่าสู่กันฟังถึงเสน่ห์เล่ห์กลอันซ่อนเร้นว่า การบริการผู้บริหารระดับสูงต้องดำเนินการอย่างไร? เมื่อไหร่? แบบไหน?      สิ่งต่างๆเหล่านั้น ย่อมสร้างความมั่นอกมั่นใจให้เกิดแก่ใครก็ตามที่ต้องลงมือปฏิบัติหน้าที่แทน สุชาติ รัตนโรม และเมื่อนั้น ความเสี่ยง ความรู้สึกขาดความมั่นใจ ความไม่รู้จะจางหายไป และแน่นอนที่สุด หน่วยงาน องค์กรย่อมไม่ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงเช่นกัน

 

ส ที่ 2 คือ สุข

องค์กรใดไร้รักสมัครสมาน องค์กรนั้นพินาศยับเยินแน่นอน การจัดการความรู้ในองค์กรย่อมนำไปสู่สังคมแห่งความสุข สังคมแห่งการแบ่งปัน สังคมแห่งการปรารถนาดีต่อกัน เพราะการจัดการความรู้วางกรอบขอบเขตความคิดให้ไว้นับแต่จุดเริ่มต้น ทำความเข้าใจกันถึงจุดหมายที่จะก้าวไปด้วยกัน ดังนั้น จึงไม่มีเหตุอันควรใดๆให้เกิดข้อขัดแย้งกัน ตรงกันข้าม กลับจะสร้างสังคมทำงานให้เกิดความสุข สุขจากการทำงาน สุขจากการไม่ต้องเสี่ยง สุขจากการเป็นผู้ให้ สุขจากความต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ สุขจากการให้ผู้อื่นมีสุข และสุขจากการจิตใจอันเบิกบานของเรา

เชื่อเถิดว่า การจัดการความรู้ในองค์กรจะสร้างสุขแก่ตัวเรา ครอบครัว หน่วยงาน มหาวิทยาลัย สังคม และคนรอบข้างอย่างที่ท่านจะไม่มีโอกาสได้ทันสังเกตเห็นว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและตอนไหน

 

ส ที่ 3 คือ สังคม

เมื่อข้อมูล ถูกแปรผันผลักดันจากการสังเคราะห์ วิเคราะห์ พิจารณาจนเป็นเหตุเป็นผลจะเดินทางสู่สารสนเทศ และเมื่อสารสนเทศได้ผ่านการยอมรับนับถือจากสังคมย่อมแปรสภาพสู่ ฐานความรู้ ทั้งหมด      ทั้งมวล ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ในสถานะต่างๆต่อไป

การจัดการความรู้ในองค์กรองค์กรหนึ่ง ย่อมสร้างประโยชน์ไม่มากก็น้อยให้อีกหลายองค์กร หลากล้วนหน่วยงาน ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานภายในสังกัดเดียวกัน หรือข้ามสังกัด ย่อมจะสามารถนำองค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความหลากหลายทางความคิด ผ่านประสบการณ์ชีวิต ผ่านแง่พินิจพิจารณาทุกสิ่งที่ประสบพบเจอมา สร้างเสริม สร้างสรรค์ ให้เกิดประโยชน์สุขในทุกระดับนับแต่ตนเอง เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หน่วยงาน สังคมและสิ่งแวดล้อม

ไม่เชื่อ ลองนำเครื่องมือที่เรียกว่า การจัดการความรู้ไปปฏิบัติในองค์กรของท่าน แล้วท่านจะเข้าใจ

หมายเลขบันทึก: 321678เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2009 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาเสริม ครับ

  • ส สนุก
  • ส สร้างสรรค์
  • ส สวรรค์ (เพราะ เป็น somebody)
  • ส เสรี เพราะได้ ร่วม พลี ความรู้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท