ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำโขง (Mekhong Centre for Buddhist Studies):ศูนย์รวมของความร่วมใจของชาวพุทธในลุ่มน้ำโขง


         

       

           จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่ดินแดนเอเชียอาคเนย์มาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณลุ่มน้ำสำคัญ  ได้แก่ ลุ่มน้ำอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาได้มีพัฒนาการสืบเนื่องต่อมาจวบจนปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาดังกล่าวถือได้ว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตของผู้คนในภูมิภาคนี้อย่างสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม ศิลปะด้านต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม รวมตลอดจนถึง เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม

            อย่างไรก็ดี การศึกษาประวัติและพัฒนาการของพระพุทธศาสนาเถรวาทในบริเวณลุ่มน้ำสำคัญดังกล่าวในเชิงวิชาการ ยังไม่ได้รับความสนใจหรือให้ความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น  ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาก็ยังเป็นไปในลักษณะที่ขาดการประสานเชื่อมโยงระหว่างมิติต่างๆ ที่พระพุทธศาสนาได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์  รวมทั้ง ที่สำคัญยังขาดการร่วมมือระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ จากประเทศในลุ่มน้ำดังกล่าวอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

             ขณะเดียวกัน สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU) มีเจตจำนงแน่วแน่ประการหนึ่ง ที่จะยืนยันว่า คุณภาพทางวิชาการเกี่ยวกับธรรมะศึกษาจะยกระดับสูงขึ้น และความสำคัญของงานวิชาการนี้ที่มีต่อวิชาการสาขาอื่นๆ ก็จะเป็นที่เข้าใจได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งสมาคมฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนสมาชิกและสร้างความร่วมมือและการทำนุบำรุงซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิก เพื่อให้มวลมนุษย์ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ และได้เข้าใจคุณค่าของความสมบูรณ์และความหลากหลายทางขนบธรรมเนียม ประเพณีทางพระพุทธศาสนาชาติต่างๆ  

                จากเหตุผล และอนุวัต ตามเจตจำนงและวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ดังกล่าว จึงเห็นสมควรให้มีการอนุมัติและดำเนินการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำแม่โขง ขึ้น  เพื่อให้สมาชิกของสมาคมฯ ในประเทศลุ่มน้ำดังกล่าวและสมาชิกจากภูมิภาคอื่นๆ  ได้ใช้เป็นศูนย์กลางในการวิจัยต่อไป

สมาชิกของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำแม่โขง


 วัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาฯ

            1. เพื่อวิจัย และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำอิระวดี – เจ้าพระยา-แม่โขง ตลอดจนสาขาของลุ่มน้ำดังกล่าว
            2. เพื่อเผยแพร่ผลการวิจัยทางด้านพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำฯ ให้กับวงการวิชาการ, สาธารณชน ตลอดจนชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ฯ ได้ตระหนักและภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน
            3. เพื่อแลกเปลี่ยน และจัดทำหลักสูตรร่วมกันทางด้านพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำฯ
            4. เพื่อสร้างและพัฒนานักวิจัยใหม่ทางพระพุทธศาสนาที่บูรณาการ ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์ โดยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องราวและวิถีชีวิตทางพระพุทธศาสนาของผู้คนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำดังกล่าว
            5. เพื่อเป็นศูนย์กลางการติดต่อประสานงานแลกเปลี่ยนนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนากับองค์กร วิจัยและสถาบันต่างๆ ทั้งในภูมิภาคและนานาประเทศ

ข้อสังเกตจากการสัมมนาครั้งที่ ๑ (จัด ณ จ.หนองคาย และเวียงจันทร์)

            1. ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับแอ่งอารยธรรมในลุ่มน้ำโขงหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วยความเชื่อมโยงเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีทางศาสนาที่เชื่อมสองฝั่งโขง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่สามารถนำ "พระพุทธศาสนา" มาเป็นสพานเชื่อมทางด้านจิตใจของกลุ่มคนทั้งสองได้อย่างประสานสอดคล้องกัน
           2. การศึกษาดูงานในนครเวียงจันทร์ได้สะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่แยกกันไม่ออกทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรมด้านศาสนา ประเพณี และวิถีชีิวิต โดยเฉพาะวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา  ประเด็นก็คือ การดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมนั้น ไม่สามารถแยกออกจาก "พระพุทธศาสนา" ได้ แต่ประเด็นนี้ มักจะถูกละเลย และทอดทิ้งให้เป็น "ฟอสซิล"
          3. การที่จะเชื่อมกลุ่มคนในลุ่มน้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว และไทยให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันตินั้น นอกจากจะอาศัย "แม่น้ำโขง" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เิชิงภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวเชื่อมแล้ว พระพุทธศาสนาถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ที่จะนำมา "สมานรอยร้าว" ได้ เพราะกลุ่มคนส่วนใหญ่ทั้งผู้นำประเทศ และชาวบ้าน "ล้วนมีธาตุของความเป็นพุทธะ" อยู่ในใจ  ฉะนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ หากจะนำประเด็นอย่างใดอย่างหนึ่งมาเชื่อม นอกจาก "กีฬาซีเกมส์" ที่เชื่อมได้ไม่ค่อยสนิทแล้ว "พระพุทธศาสนานับเป็นทางเลือกที่ควรต้องให้ความใส่ใจ"
          คำถามที่สำคัญคือ "ถึงเวลาหรือยังที่การดำเนินนโยบายการบริหารประเทศ อาจจะเลือกใช้วิธี "พระพุทธศาสนานำการเมือง" ในสถานการณ์แห่งความขัดแย้งที่กำลังพัฒนาไปสู่ความรุนแรงเช่นในปัจจุบันนี้

หมายเลขบันทึก: 321578เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2009 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท