สรุปงานวิจัยเล่ม 7


ปัญหาการดำเนินงานวิชาการในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา

ชื่อการวิจัย: การศึกษาปัญหาการดำเนินงานวิชาการในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี

ผู้วิจัย: นางบุญเชาว์ ฝุ่นทอง

ปี่ที่วิจัย: 2544

วัตถุประสงค์ในการวิจัย:

1.  เพื่อศึกษาปัญหาการดำเนินงานวิชาการของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี ตามขอบข่ายของงานวิชาการดังนี้

1.1   ด้านหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้

1.2   ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

1.3   ด้านสื่อการเรียนการสอน

1.4   ด้านการวัดผลและประเมินผล

2.  เพื่อเปรียบเทียบปัญหาการดำเนินงานวิชาการของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี จำแนกตามประสบการณ์ในการสอนและ ขนาดโรงเรียน

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง:

ประชากร ได้แก่ ครูผู้สอนของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี จำนวน 568 คน

กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ครูผู้สอนของโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี โดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) โดยใช้ตารางกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างของเครจซี่ และมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970, p. 608) จำนวน 234 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล: เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้น เพื่อให้ครูผู้สอนโรงเรียนประถมศึกษา โครงการขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรีเป็นผู้ตอบ แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ

           ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบเลือกตอบ (check – list)

          ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามปัญหาการดำเนินงานวิชาการโรงเรียนประถมศึกษา ตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี โดยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ตามแนวคิดของลิเคอร์ท (Likert) (Best & Khan, 1993, pp. 246 – 250) ซึ่งสอบถามเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานวิชาการโรงเรียนประถมศึกษา ตามโครงการขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี 4 ด้าน ดังนี้

1. ด้านหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้

2. ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

3. ด้านสื่อการเรียนการสอน

4. ด้านการวัดผลและการประเมินผล

การเก็บรวบรวมข้อมูล:

1. ขอหนังสือรับรองและแนะนำตัวจากภาควิชาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา ถึงผู้อำนวยการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี เพื่อขอความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากครูผู้สอนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรีที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เพื่อตอบแบบสอบถาม

2. ผู้วิจัยดำเนินการแจกและเก็บแบบสอบถามครูผู้สอนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาที่เป็นประชากรกลุ่มตัวอย่างด้วยตนเอง โดยแจกแบบสอบถามไปจำนวน 234 ฉบับ ได้รับคืนมา 234 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 100

วิธีการจัดกระทำข้อมูล:

1. นำแบบสอบถามที่ได้รับคืนมาทั้งหมดมาตรวจสอบ เพื่อคัดเลือกเอาแบบสอบถามที่สมบูรณ์ และจัดหมวดหมู่ตามลักษณะตัวแปร

2. ตรวจสอบแบบสอบถามตอนที่ 1 เพื่อหาค่าร้อยละ เกี่ยวกับตำแหน่งประสบการณ์และขนาดโรงเรียนของกลุ่มตัวอย่าง คำนวณหาค่าเฉลี่ยของแบบสอบถามตอนที่ 2 เป็นรายข้อ และรายด้าน และคำนวณหาค่าเฉลี่ยรวมทั้งหมด

3. การให้น้ำหนักคะแนนในแบบสอบถามตอนที่ 2 ตามแนวคิดของลิเคอร์ท (Best & Khan, 1993, pp. 246 – 250) ดังนี้

                5       หมายถึง           มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการมากที่สุด

                4       หมายถึง           มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการมาก

                3       หมายถึง           มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการปานกลาง

                2       หมายถึง           มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการน้อย

                1       หมายถึง           มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการน้อยที่สุด

4. นำแบบสอบถามไปวิเคราะห์และแปลผล โดยใช้เกณฑ์ของ บุญชม ศรีสะอาด และบุญส่ง นิลแก้ว (2535, หน้า 24) ดังนี้

                4.51 – 5.00     หมายถึง มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการมากที่สุด

                3.51 – 4.50     หมายถึง มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการมาก

                2.51 – 3.50     หมายถึง มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการปานกลาง

                1.51 – 2.50     หมายถึง มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการน้อย

                1.00 – 1.50     หมายถึง มีระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการน้อยที่สุด

5. นำผลวิเคราะห์ไปเปรียบเทียบระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการของครูผู้สอนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา ในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี จำแนกตามประสบการณ์และขนาดโรงเรียนที่ปฏิบัติงาน

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์: ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for windows สำหรับสถิติดังต่อไปนี้

1. การวิเคราะห์สถานภาพของกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับ ประสบการณ์และขนาดโรงเรียน โดยใช้สถิติพื้นฐานหาค่าร้อยละ        

2. การวิเคราะห์ระดับปัญหาการดำเนินงานวิชาการของครูผู้สอนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี โดยใช้สถิติพื้นฐานหาค่าคะแนนเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน

3. การวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคะแนนเฉลี่ยเกี่ยวกับการดำเนินงานวิชาการของครูผู้สอนโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี เมื่อจำแนกตามประสบการณ์และขนาดโรงเรียน โดยใช้สถิติหาค่าที (t – test)

สรุปผลการวิจัย: จากการวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ สรุปสาระสำคัญของผลการศึกษาดังต่อไปนี้

      1. ปัญหาการดำเนินงานวิชาการในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า

            1.1 ด้านหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้ พบว่า มีปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ สามอันดับแรกซึ่งมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ การจัดวิชาเลือกให้นักเรียนสอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และความต้องการของนักเรียน จัดให้มีการวางแผนการสอนและเขียนแผนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และจัดให้มีคณะกรรมการประเมินผลและติดตามการใช้หลักสูตร

            1.2 ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน พบว่า มีปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ สามอันดับแรกซึ่งมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ ความเหมาะสมของการจัดครูเข้าสอนในรายวิชาตามความรู้ ความสามารถ ความถนัด และความชำนาญพิเศษ การนำแหล่งวิชาการในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้มีความรู้ในท้องถิ่น มาให้ความรู้แก่นักเรียน และประสานให้ครูร่วมกับกลุ่มโรงเรียนศึกษาปัญหาหลักสูตร คู่มือครู และแผนการสอน

            1.3 ด้านสื่อการเรียนการสอน พบว่า มีปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ สามอันดับแรกซึ่งมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ ห้องสมุดโรงเรียนมีเอกสารและวัสดุการเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการของครู ข อาจารย์และนักเรียนจัดหาสื่อการเรียนการสอนอย่างหลากหลายและมีความทันสมัย และการจัดอบรมครูให้มีความรู้ความสามารถในการใช้โสตทัศนูปกรณ์และคอมพิวเตอร์

           1.4 ด้านการวัดผลและประเมินผล พบว่า มีปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ สามอันดับแรกซึ่งมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ได้แก่ การสร้างและการวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบเพื่อจัดทำคลังข้อสอบ มีการจัดอบรมสัมมนา และประชุมครูเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดผลและประเมินผลการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการวางแผนการวัดผลและประเมินผลร่วมกับกลุ่มโรงเรียน

     2. เปรียบเทียบปัญหาการดำเนินงานวิชาการในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี จำแนกตามประสบการณ์ในการสอน ผลการเปรียบเทียบพบว่า มีปัญหาโดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

     3. เปรียบเทียบปัญหาการดำเนินงานวิชาการในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดชลบุรี จำแนกตามขนาดโรงเรียน ผลการเปรียบเทียบ พบว่า มีปัญหาโดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

หมายเลขบันทึก: 321293เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2009 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท