design มหกรรมจัดการความรู้สถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชนที่สงขลา (1)


วิธีการจะเน้นการฟังเป็นหลัก สำหรับการคิดและการพูดเกือบจะไม่ต้องเตรียมเลย เพราะเมื่อถึงตาเรา ก็เป็นการเล่าจากประสบการณ์หรืออารมณ์ความรู้สึกที่เราทำมา ไม่ใช่ความคิดหรือคิดจะทำ บางคนอาจจะปิ้งแวบตอนนั้นก็ได้ ยิ่งใช้ความคิดมากจะทำให้เล่าได้ไม่ดี ที่ควรเตรียมคือรู้ว่ามีกระบวนการอย่างนี้ รู้ว่าต้องเล่าเรื่องกับเขาด้วย แต่จะเป็นเรื่องอะไร ทำใจว่างๆ ไม่ต้องเตรียมเป็นการดี ที่สุด)

การออกแบบงานมหกรรมจัดการความรู้ในวันที่30มิ.ย.-2ก.ค.ที่สงขลาได้จากการคิด พูดคุยกับเพื่อนเครือข่ายวิจัยและจากเวทีประชุมย่อยหลายๆครั้ง แม้จะยังไม่ลงตัวนัก เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งๆขึ้นมาโดยตลอด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ จึงขอบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ ดังนี้ครับ

การสัมมนาครั้งนี้ เป็นวาระการเรียนรู้ 3 เดือนครั้งของเครือข่ายวิจัย5พื้นที่ในชุดโครงการวิจัย การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ดำเนินโดยหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงิน ชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยการสนับสนุนของสกว.และศตจ. โครงการนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม2547-กันยายน2549
ความเป็นมาของโครงการและกรอบในการศึกษาวิจัย
หน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน ม.วลัยลักษณ์ได้จับงานวิชาการด้านการพัฒนาชุมชนโดยใช้องค์กรการเงินชุมชนเป็นองค์กรเพื่อการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาชุมชนทั้งระบบ เนื่องจากวิเคราะห์ว่าองค์กรการเงินชุมชนเป็นกลุ่มที่มีการทำกิจกรรมที่สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องมากที่สุด โดยเริ่มงานนี้ตั้งแต่ปี2541โดยการประสานของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(สทพ.)ซึ่งจับงานเรื่องนี้ในระดับประเทศ สทพ.ได้เปิดพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดในแต่ละภาค โดยภาคใต้ได้เลือกจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดนำร่องเพื่อเชื่อมโยงองค์กรการเงินชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลายให้มีการประสานพูดคุยกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้ เพื่อพัฒนาไปเป็นเครือข่ายจัดการในเรื่องการเงินร่วมกันในลำดับต่อไป นั่นเป็นจุดก่อเกิด "องค์กรเครือข่ายการเงินชาวบ้านเมืองนคร"ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มการเงินรูปแบบต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราชคือกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน ธนาคาร หมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
การจัดตั้งองค์กรเครือข่ายการเงินชุมชนระดับจังหวัดได้รับการเสริมหนุนจากกองทุนเพื่อสังคม(SIF) ในการพัฒนาสมาชิกเครือข่าย และการขยายสมาชิกโดยการของบสนับสนุนจากSIFโดยตรงทั้งงบเรียนรู้และงบกิจกรรมโดยเฉพาะกิจกรรมการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกในชุมชนซึ่งได้งบมาจำนวน33ล้านบาท โดยSIFได้มอบหมายให้หน่วยจัดการความรู้ฯเป็นหน่วยติดตามสนับสนุน ซึ่งองค์กรเครือข่ายการเงินชาวบ้านเมืองนครและหน่วยจัดการความรู้ฯได้ร่วมกันดำเนินการจนประสบผลเป็นที่น่าพอใจของSIFและชุมชน(โดยเปรียบเทียบกับเครือข่ายอื่นๆทั่วประเทศ)
ต่อมาหน่วยฯได้สานต่องานนี้โดยขอการสนับสนุนจากสกว. ท้องถิ่น ทำการศึกษากองทุนต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช และบทเรียนของกลุ่มการเงินที่เข้มแข็งในภาคใต้ 20 กรณีเพื่อวางแผน ตั้งรับนโยบายกองทุนหมู่บ้านซึ่งก่อรูปขึ้นทั้งแนวคิดและกลไกการจัดการ จากการศึกษาและบทเรียนจากการติดตามสนับสนุนองค์กรเครือข่ายการเงินชุมชนจังหวัดทำให้ประเมินทิศทางได้ว่าภาคการเมืองจะต่อท่อเชื่อมตรงกับชุมชนระดับหมู่บ้าน ดังนั้นจึงควรกลับไปยึดฐานที่มั่นในหมู่บ้านเพื่อสร้างสรรค์ชุมชนของตน ไม่ควรมาเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระดับจังหวัด (ประสบการณ์ส่วนนี้พบว่า การรวมตัวเป็นเครือข่ายจังหวัดก็เพื่อต่อท่อเชื่อมเงินงบประมาณจากรัฐแทนเงินที่ผ่านส่วนราชการภูมิภาค เช่นSIF แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการระดับจังหวัดอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่รัฐบาลมีแผนเชื่อมตรงกับหมู่บ้าน จึงควรถอยไปจัดการเข้มข้นที่หมู่บ้านและหากจะเชื่อมเป็นเครือข่ายจัดการ ก็ควรทำในขอบเขตตำบล สำหรับขอบเขตจังหวัดควรเป็นเครือข่ายเรียนรู้เท่านั้น รายงานละเอียดส่วนนี้มีอยู่ในเอกสารสรุปและข้อเสนอแนะจากการติดตามสนับสนุนองค์กรเครือข่ายการเงินชาวบ้านเมืองนครเสนอSIFและการศึกษากองทุนการเงินจังหวัดนครศรีธรรมราชเสนอสกว.ท้องถิ่นในปี2544-2545)
หน่วยจัดการความรู้ฯได้ถอยมาทำงานเชิงลึกในระดับหมู่บ้านตามข้อค้นพบในฐานะหน่วยประสาน(พี่เลี้ยง)เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มการเงินระดับหมู่บ้านทำวิจัยเพื่อพัฒนากลุ่ม/ชุมชนตนเองในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ดำเนินการติดตามสนับสนุนไปทั้งสิ้น 7 ชุมชน ซึ่งประสบการณ์จากงานนี้และที่สั่งสมมาก่อนหน้านำมาสู่ข้อสรุปและข้อเสนอเพื่อการพัฒนาขบวนองค์กรการเงิน ชุมชนอย่างเป็นระบบ
ข้อสรุปคือ วิถีและพลัง(เวคเตอร์)ขององค์กรการเงินชุมชนคือการเป็นสถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชนและเป็นหน่วยจัดการการเรียนรู้ตามอัธยาศัย โดยได้จัดขบวนองค์กรการเงินชุมชนเป็น2ฐานคิดคือ
1)ฐานคิดทางศาสนาเพื่อพัฒนาคนจากด้านใน
2)ฐานคิดการเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ
สำหรับแนวทางในการพัฒนาขบวนองค์กรการเงินชุมชนทั้ง2ฐานคิดซึ่งมีอยู่นับแสนกลุ่ม ทั่วประเทศคือ การเข้าไปเรียนรู้เพื่อเสริมการบริหารจัดการให้กับขบวนตามน้ำหนัก(จำนวนและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง) ที่เป็นอยู่จริงซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับระบบแวดล้อมบรรดามีที่ส่งผลกระทบกับขบวนองค์กรการเงินชุมชนในทุกๆด้านซึ่งเป็นพลวัต(ไม่นิ่ง) โดยหน่วยฯได้ข้อสรุปที่ยืนยันการค้นพบเดิมว่า ขอบเขตระดับตำบลและจังหวัด เป็นขอบเขตที่ควรให้น้ำหนักในการศึกษามากที่สุด

ซึ่งถือเป็นกรอบในการศึกษาวิจัยของโครงการนี้ โดยใช้ชื่อโครงการวิจัยว่า "การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน" ซึ่งสกว.โดยฝ่ายชุมชนและศตจ.ได้เห็นประโยชน์จึงให้การสนับสนุน

กระบวนการดำเนินงานวิจัย

ในช่วงนั้น มีแนวคิดการจัดการความรู้โดยการดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.)และงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นซึ่งมีมาก่อน จึงเป็นต้นทุนและแหล่งเรียนรู้ใหม่ของหน่วยจัดการความรู้ฯซึ่งมีประสบการณ์ในงานพัฒนา(ติดตามสนับสนุนองค์กรเครือข่ายการเงินชาวบ้านเมืองนคร) และได้เห็นประโยชน์และข้ออ่อนของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงได้ประยุกต์ทั้ง 3 บทเรียนมาใช้ในการบริหารจัดการชุดโครงการนี้ทั้งวิธีการทำงานและเนื้อหาโครงการ

จากการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอก ทำให้หน่วยฯกำหนดกรอบแนวคิดโครงการวิจัยด้วยแบบจำลองปลาทูว่ายน้ำ โดยที่ปลาทูหมายถึงขบวนองค์กรการเงินชุมชน กระแสน้ำคือระบบแวดล้อม

ขบวนองค์กรการเงินชุมชนได้เลือกตัวอย่างที่เป็นหัวขบวนเพื่อเป็นประภาคารชี้ทาง ที่ชัดเจนคือองค์กรการเงินชุมชนที่มีฐานคิดทางศาสนาที่ต้องการพัฒนาคนจากด้านในคือการทำบุญ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในเรื่องสวัสดิการประกอบด้วย
1)เครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์พัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตจังหวัดตราด ร่วมกับสถาบันชุมชน ท้องถิ่นพัฒนาโดยคุณธีระ วัชระปราณีและคณะ
2)เครือข่ายสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาททำสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา ร่วมกับมูลนิธิดร.ครูชบ-ปราณี ยอดแก้ว และนักวิชาการ คือผศ.ดร.สุกัญญา โรจนาภิวัฒน์ และดร.ประเสริฐ บัณฑิศักดิ์จากมอ.
3)เครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจังหวัดลำปาง(สวัสดิการวันละ1บาท)ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางโดยอาจารย์วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ และอาจารย์พิมพ์ฉัตร รสสุธรรมและคุณสามารถ พุทธา

สำหรับตัวขบวนซึ่งเป็นฐานคิดทางการเมืองและงานพัฒนาทั้งการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม ประกอบด้วย
1) เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลกะหรอ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตัวอย่างภาคชนบท ร่วมกับอาจารย์พรเพ็ญ ทิพยนา อาจารย์ไพโรจน์ นวลนุ่ม และอาจารย์นิษฐิดา พัฒนสงค์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และทีมวิจัยชุมชนคือคุณพัชรี วารีพัฒน์และคุณสมรักษ์ ใจกล้า
2) เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านตำบลในคลองบางปลากด จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นตัวอย่างในภาคเมือง ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏวลัยอลงกรณ์ โดยอาจารย์นิสา พักตร์วิไล อาจารย์นเรศมันต์ เพชรนาจักร อาจารย์ดวงมณี บัวฉุน อาจารย์อัจจิมา มั่นทนและทีมวิจัยชุมชนนำโดยผญ.เทพพิทักษ์ ทนทาน

ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่า องค์กรการเงินชุมชนกว่าแสนกลุ่มจะอยู่ภายใต้กลุ่มตัวอย่าง 5 กลุ่มนี้ทั้ง ทิศทางเป้าหมายและสถานะภาพในการพัฒนา คือ มีทั้งที่ว่ายน้ำได้ฉิว ว่ายน้ำพอเอาตัวรอดได้และถูกกระแสน้ำพัดพาไปตามยถากรรม โดยที่โครงการนี้ได้ลงไปสร้างกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเพื่อให้ฝูงปลาในขอบเขตตำบล/จังหวัดตัวอย่างว่ายน้ำได้เก่งขึ้นตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ในขณะเดียวกันก็ได้เก็บเกี่ยวความรู้เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาให้กับฝูงปลาในขบวนจากที่อื่นๆ

งานวิจัยนี้จึงเป็นการ

1)สร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งฝูงปลาตัวอย่างและนักวิจัยจะผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยใช้การตั้งเป้าหมาย(ของเครือข่าย/กลุ่ม)เป็นแบบทดสอบในการเรียนรู้

2)สร้างความรู้จากกระบวนการเรียนรู้และผลที่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องโยงใยกับเหตุปัจจัยต่างๆโดยเขียนเป็นคำอธิบายที่มีพลังเพื่อเป็นความรู้และข้อเสนอแนะกับผู้เกี่ยวข้องและความรู้ฝังลึกที่เป็นเทคนิค กุศโลบายต่างๆในลักษณะเรื่องเล่าและแบบบันทึกการดำเนินกิจกรรมต่างๆของคนทำงาน

กระบวนการวิจัยของชุดโครงการนี้ซึ่งเป็นเสี้ยวหนึ่งของการพัฒนาชุมชนซึ่งจะสิ้นสุดลงในกลางเดือนกรกฎาคม 2549สำหรับ5พื้นที่ตัวอย่าง โดยที่งานมหกรรมจัดการความรู้ที่สงขลาในวันที่30มิ.ย.-2ก.ค.2549จะเป็นการนำเสนอผลการวิจัยใน2ข้อข้างต้นด้วยกระบวนการที่ออกแบบไว้สำหรับผู้เข้าร่วมดังนี้

มหกรรมจัดการความรู้ 30 มิ.ย.-2ก.ค. 2549

วันที่ 30 มิ.ย.เวลา13.00-13.30 ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมจัดการความรู้ เวลา13.30 น. เป็นการเปิดและปาฐกถานำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการการอำนวยการโครงการเผยแพร่และขยายผลการจัดตั้งกลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาทจังหวัดสงขลา จากนั้น เป็นการนำเสนอของนายอำเภอหนุ่มไฟแรงในการสนับสนุนการดำเนินงานกลุ่มสัจจะลดราย่จายวันละ1บาทเพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาความเข้มแข็งชุมชน แก้ปัญหาความยากจน โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกครัวเรือนในอำเภอ หลังจากซักถามอภิปรายกันแล้ว จะเป็นการแนะนำตัวผู้เข้าร่วมสัมมนา(ซึ่งจะมีแบบประวัติให้กรอกโดยส่งมาให้ทีมประสานจัดการรวบรวมในเอกสารประกอบการสัมมนาก่อน) ถัดจากนั้นเป็นการนำเสนอของทีมวิจัยจาก5พื้นที่ใน4หัวข้อคือ 1)ก่อนเข้าไปดำเนินโครงการ เครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนมีสถานะภาพอย่างไร? 2)โครงการเข้าไปทำอะไร?(ที่เรียกว่าจัดการความรู้) 3)ผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร? 4)เครือข่ายมีแนวทางในการดำเนินงานต่อไปอย่างไร? โดยใช้ICTนำเสนออย่างรวบรัดเพื่อให้ภาพรวมของโครงการ จากนั้นจะเป็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตามอัธยาศัยโดยการชมเกาะยอ สะพานติณสูลานนท์และทานข้าวอย่างเป็นกันเองที่ริมทะเลสาบสงขลาจนถึง 2 ทุ่ม กลับโรงแรมที่พัก (ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก) เพื่อพักผ่อนหรือคุยกันต่อตามอัธยาศัย

วันที่ 1 ก.ค. 2549 เริ่มรายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตามอัธยาศัยที่ห้องอาหารเช้าในโรงแรม ลงทะเบียนเวลา8.00-8.30น. ตั้งแต่เวลา8.30-12.00น.จะเป็นการเรียนรู้กันอย่างเข้มข้นโดยจะจัดเป็นกลุ่มย่อยๆละ8-10คนเท่านั้น เพื่อให้พูดคุยกันอย่างทั่วถึงทุกคน โดยจัดแบ่งเป็นประเด็น 1)ตัวปลาคือ บทบาทของคนทำงานในฐานะกรรมการเครือข่าย/กลุ่มในการพัฒนาสมาชิก/ชุมชน 2)ระบบแวดล้อม แบ่งเป็น 2.1)บทบาทของอปท.ในการพัฒนาชุมชนโดยใช้องค์กรการเงินชุมชนเป็นเครื่องมือ 2.2)บทบาทของหน่วยสนับสนุนในพื้นที่(ราชการภูมิภาคและองค์กรเอกชน)ในการพัฒนาชุมชนตามภารกิจ/นโยบายโดยใช้องค์กรการเงินชุมชนเป็นเครื่องมือ 2.3)บทบาทของหน่วยสนับสนุนจากส่วนกลางหรือด้านนโยบายหรือแหล่งทุนและอื่นๆในการพัฒนาชุมชนโดยใช้องค์กรการเงินชุมชนเป็นเครื่องมือ แต่ละคนเล่าประสบการณ์ของงานที่ตนเองรับผิดชอบที่เป็นความตั้งใจ เป็นความสำเร็จ ความภูมิใจให้เพื่อนร่วมกลุ่มฟัง จากนั้นร่วมกันให้คะแนนเรื่องเล่ายอดเยี่ยมในกลุ่มเพื่อนำมาเล่าให้ที่ประชุมใหญ่ฟังกลุ่มละ 1 เรื่อง (ในการเรียนรู้โดยใช้เรื่องเล่า หลายท่านเป็นคนเก่งจึงมักจะสรุปเนื้อหาจากประสบการณ์ของตนเป็นประเด็นต่างๆเพื่อให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย ซึ่งเป็นประโยชน์มาก แต่ในวงเรียนรู้นี้จะขอให้เล่าเรื่องเหมือนเล่านิทาน/เหตุการณ์ในหมู่บ้านให้เพื่อนๆฟัง โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความคิดฝันและการทำงานของเราที่เราประทับใจหรือเป็นวิธีการทำงานที่เราค้นพบใหม่และได้นำมาใช้ประโยชน์ในการทำงาน)

การเรียนรู้จากประสบการณ์ในเช้านี้จะเชื่อมโยงกับการนำเสนอเมื่อวานคือ เป็นการลงรายละเอียดของเรื่องราวที่หลากหลายที่ล้วนน่าประทับใจของคนทำงานถ่ายทอดให้เพื่อนฟัง ดังนั้นวิธีการจะเน้นการฟังเป็นหลัก สำหรับการคิดและการพูดเกือบจะไม่ต้องเตรียมเลย เพราะเมื่อถึงตาเรา ก็เป็นการเล่าจากประสบการณ์หรืออารมณ์ความรู้สึกที่เราทำมา ไม่ใช่ความคิดหรือคิดจะทำ บางคนอาจจะปิ้งแวบตอนนั้นก็ได้ ยิ่งใช้ความคิดมากจะทำให้เล่าได้ไม่ดี ที่ควรเตรียมคือรู้ว่ามีกระบวนการอย่างนี้ รู้ว่าต้องเล่าเรื่องกับเขาด้วย แต่จะเป็นเรื่องอะไร ทำใจว่างๆ ไม่ต้องเตรียมเป็นการดี ที่สุด)

ภายบ่ายเราจะลงพื้นที่เรียนรู้จากการเห็นทั้งสภาพชุมชนและกิจกรรมการดำเนินงานของกลุ่มสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาทตำบลน้ำขาว และรับฟังประสบการณ์ของคนทำงานและสมาชิกโดยจะเรียนรู้ว่าเป้าหมาย กระบวนการจัดการความรู้และผลที่เกิดขึ้นของกิจกรรมสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาทที่ต้องการสร้างสังคมดี คนมีความสุขนั้นเป็นอย่างไร?

กระบวนการนี้จะจัดกลุ่มเรียนรู้โดยให้คณะทำงานตำบลน้ำขาวเป็นแกนในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วม โดยจัดเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ8-10คน

กิจกรรมนี้เป็นการเรียนรู้กระบวนการจัดการความรู้เชิงลึก โดยใช้ตัวอย่างที่ตำบลน้ำขาว ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมสัมมนานำไปใช้ในการสรุปผลการเรียนรู้ของแต่ละคนในลำดับต่อไป

จบรายการเป็นอาหารค่ำและชมการแสดงของตำบลน้ำขาว สังสรรค์พูดคุยกันในวงข้าวตามอัธยาศัย จนถึงเวลา 19.30-20.00น. เดินทางกลับโรงแรมที่พัก

วันที่ 2 มิ.ย. 2549 เริ่มรายการเวลา 8.30-10.00น. จะนิมนต์พระอาจารย์สุบินปณีโต พระอาจารย์มนัส ขันติธัมโม และครูชบ ยอดแก้ว พูดถึง ขบวนองค์กรการเงินชุมชนในฐานะสถาบันการเงินเพื่อสวัสดิการชุมชน เวลา 10.30-12.00 น. จะเชิญผู้ใช้งานและผู้ให้ทุนอภิปรายในหัวข้อ "แนวทางในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินชุมชน" ประกอบด้วยตัวแทน ศตจ. ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย และผอ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

ช่วงบ่ายเวลา 13.00-15.00น. เป็นการสรุปผลการสัมมนาวันที่ 30 มิ.ย. - 2 ก.ค. (AAR)

เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงานมหกรรมจัดการความรู้ต่อกระบวนการสัมมนาในครั้งนี้ และสิ่งที่ผู้เข้าร่วมจะนำความรู้ที่ได้กลับไปดำเนินการในกลุ่ม/ชุมชน หน่วยงานของตนต่อไป

ปิดการสัมมนา เวลา 15.00 น.

คำสำคัญ (Tags): #มหกรรม30มิ.ย.-2ก.ค.
หมายเลขบันทึก: 32125เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2006 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท