Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

มงคลสูตร


มงคลสูตร: พระสูตรว่าด้วยมงคลแห่งชีวิต (มงคลสูตร พระสุตตันทปิฎก ขุททกปาฐะ ขุททกนิกาย)

        สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ครั้นปฐมยามล่วงไปเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงามยิ่งนัก  ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

        [๖] “เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล

(พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ  หน้าที่ ๒-๓)

คือว่า  คืนหนึ่งขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ  เชตวันมหาวิหาร ใกล้เมืองสาวัตถี  ท้าวสักกเทวราชได้นำหมู่เทวดาเข้าเฝ้า และบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามพระองค์ว่า อะไรคือมงคลของชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงหลักมงคลสูตร ซึ่งมีทั้งหมด 38 ประการดังกล่าวให้เทวดาทั้งหลายฟังค่ะ

 (อ่านมูลเหตุเกิดมงคลปัญหา อย่างละเอียดได้ที่นี่ค่ะ  http://gotoknow.org/blog/favorable38/320946)

แพรได้ให้ อ.ญาณภัทร  ยอดแก้ว  ช่วยค้นพระไตรปิฎก  ก็ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า....

 

เทพบุตรนั้น  แลเห็นเทวดาในหมื่นจักรวาลชุมนุมกันในจักรวาลนี้   เพราะอยากจะฟังมงคลปัญหา  พากันเนรมิตอัตภาพอันละเอียด  ๑๐ บ้าง  ๒๐  บ้าง  ๓๐ บ้าง  ๔๐ บ้าง  ๕๐ บ้าง  ๖๐ บ้าง  ๗๐  บ้าง  ๘๐ บ้าง  ขนาดโอกาสปลายขนทรายขนหนึ่ง   ยืนห้อมล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า  ซึ่งประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันประเสริฐที่จัดไว้   เปล่งพระรัศมีครอบงำเทวดามารพรหมทั้งหมด   ด้วยพระสิริและพระเดช   และหยั่งรู้ปริวิตกแห่งใจของเหล่ามนุษย์ชาวชมพู  ที่ไม่ได้มาประชุมในสมัยนั้น   ด้วยใจตนเอง กล่าวคาถา  เพื่อถอนลูกศร คือความสงสัยของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงว่า

 

“เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก  ปรารถนาความสวัสดี  จึงพากันคิดมงคลทั้งหลาย   ขอพระองค์โปรดตรัสบอกมงคลด้วยเถิด  พระเจ้าข้า.”

 

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า   พระองค์เป็นผู้ซึ่งข้าพระองค์ทูลถามแล้วโดยอนุมัติของเทวดาเหล่านั้น  และโดยอนุเคราะห์มนุษย์ทั้งหลาย   มงคลอันใดเป็นอุดมสูงสุด  เพราะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ข้าพระองค์หมดด้วยกัน  โปรดอาศัยพระกรุณาตรัสบอกมงคลอันนั้น แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายแล.”

 

พระผู้มีพระภาคเจ้า   ทรงสดับคำของเทพบุตรนั้นอย่างนี้แล้ว   จึงตรัสพระคาถานี้ว่า  อเสวนา  จ พาลาน  เป็นต้น. ดังนี้.

 

สัตว์ทั้งหลายผู้ปรารถนาสุขในโลกนี้โลกหน้าและโลกุตรสุขเหล่านั้น  ละการคบคนพาลเสีย  อาศัยแต่บัณฑิต,  บูชาผู้ที่ควรบูชา.  อันการอยู่ในปฏิรูปเทส,  และความเป็นผู้ทำบุญไว้ในก่อนตักเตือนในการบำเพ็ญกุศล.  ตั้งตนไว้ชอบ  มีอัตภาพอันประดับด้วยพาหุสัจจะ  ศิลปะ  และวินัย,  กล่าวสุภาษิตอันเหมาะแก่วินัย.  ยังไม่ละเพศคฤหัสถ์ตราบใด,  ก็ชำระมูลหนี้เก่าด้วยการบำรุงมารดาบิดา,   ประกอบมูลหนี้ใหม่ด้วยการสงเคราะห์บุตรและภรรยา   ถึงความมั่งคั่งด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก   ด้วยความเป็นผู้มีการงานไม่อากูล,   ยึดสาระแห่งโภคะด้วยทาน และสาระแห่งชีวิตด้วยการประพฤติธรรม,  กระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนของตน  ด้วยการสงเคราะห์ญาติ   และประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนอื่น ๆ ด้วยความเป็นผู้มีการงานอันไม่มีโทษ.  งดเว้นการทำร้ายผู้อื่นด้วยการเว้นบาป  การทำร้ายตนเอง   ด้วยการระวังในการดื่มกินของเมา,  เพิ่มพูนฝ่ายกุศลด้วย  ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย,  ละเพศคฤหัสถ์ด้วยความเป็นผู้เพิ่มพูนกุศล  แม้คงอยู่ในภาวะบรรพชิต   ก็ยังวัตรสัมปทาไห้สำเร็จด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้าและอุปัชฌายาจารย์เป็นต้น และด้วยความถ่อมตน,   ละความละโมภในปัจจัยด้วยสันโดษ,  ตั้งอยู่ในสัปปุริสภูมิด้วยความเป็นผู้กตัญญู,   ละความเป็นผู้มีจิตหดหู่ด้วยการฟังธรรม,  ครอบงำอันตรายทุกอย่างด้วยขันติ,  ทำคนให้มีที่พึ่ง    ด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย,   ดูการประกอบข้อปฏิบัติด้วยการเห็นสมณะ  บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย  ด้วยการสนทนาธรรม,  ถึงศีลวิสุทธิ  ด้วยตปะคืออินทรียสังวร ถึงจิตตวิสุทธิ  ด้วยพรหมจรรย์คือสมณธรรม  และยังวิสุทธิ ๔  นอกนั้นให้ถึงพร้อม,  ถึงญาณทัสสนวิสุทธิอันเป็นปริยายแห่งการเห็นอริยสัจด้วยปฏิปทานี้   กระทำให้แจ้งพระนิพพานที่นับได้ว่าอรหัตผล,  

ซึ่งครั้น  กระทำให้แจ้งแล้วเป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม  ๘ เหมือนสิเนรุบรรพต  ไม่หวั่นไหวด้วยลมและฝน  ย่อมเป็นผู้ไม่เศร้าโศก   ปราศจากละอองกิเลส  มีความเกษมปลอดโปร่ง   และความเกษมปลอดโปร่งย่อมเป็นผู้แม้แต่ศัตรูผู้หนึ่งให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง   ทั้งจะถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน.

 

สัตว์ทั้งหลาย   กระทำมงคลเช่นนี้เหล่านั้น  อันข้าศึก๔ ประเภท   คือ  ขันธมาร   กิเลสมาร   อภิสังขารมารและเทวปุตตมาร   แม้แต่ประเภทเดียวทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้ สัตว์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้  เป็นผู้อันมารทั้ง ๔ ทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้แล้ว  ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง  คือ ในโลกนี้ และโลกหน้า   และที่ยืนและที่เดินเป็นต้น  อาสวะเหล่าใดที่ทำความคับแค้นและเร่าร้อน  พึงเกิดขึ้นเพราะการคบพาลเป็นต้น  เหตุไม่มีอาสวะเหล่านั้น  จึงถึงความสวัสดี  ท่านอธิบายว่า  เป็นผู้อันอุปัทวะไม่ขัดขวาง  อันอุปสรรคไม่ขัดข้อง   เกษมปลอดโปร่ง  ไม่มีภัยเฉพาะหน้าไป

ทรงจบว่า  ดูก่อนเทพบุตร  เพราะเหตุที่ชนผู้กระทำมงคลเช่นที่กล่าวนี้ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวงอย่างนี้  ฉะนั้น  ท่านจึงถือว่า มงคลทั้ง ๓๘ ประการ  มีการไม่คบพาลเป็นต้นนั้นสูงสุด  ประเสริฐสุด  ดีที่สุด  สำหรับชนเหล่านั้น  ผู้กระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้.

ตอนสุดท้าย  เทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบอย่างนี้  เทวดา  แสนโกฎิบรรลุพระอรหัต.  จำนวนผู้บรรลุโสดาปัตติผล  สกทาคามิผล  อนาคามิผลนับไม่ได้. 

 

ครั้งนั้น  วันรุ่งขึ้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก พระอานนท์เถระมาตรัสว่า   ดูก่อนอานนท์  เมื่อคืนนี้  เทวดาองค์หนึ่งเข้ามาถามมงคลปัญหา  ครั้งนั้นเราได้กล่าวมงคล ๓๘ ประการแก่เทวดาองค์นั้น  ดูก่อนอานนท์   เธอจงเรียนมงคลปริยายนี้  ครั้นเรียนแล้วจงสอนภิกษุทั้งหลาย.  พระเถระเรียนแล้วก็สอนภิกษุทั้งหลาย.  มงคลสูตรนี้นั้น   อาจารย์นำสืบ ๆ  กันมาเป็นไปอยู่จนทุกวันนี้  พึงทราบว่า  ศาสนพรหมจรรย์นี้มั่นคงเจริญแพร่หลาย  รู้กันมากคนพาแน่น   ตราบเท่าที่เทวดาและมนุษย์ประกาศดีแล้ว.

 

ด้วยเหตุนั้น    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

 

สัตว์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้แล้วเป็นผู้อันมารให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน   นั้นเป็นมงคลอุดมของสัตว์เหล่านั้น. 

จากพระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๑๓-๒๑๔

 

กล่าวโดยสรุปว่า

มงคลสูตร  เป็นพระสูตรว่าด้วยมงคลแห่งชีวิต  การนำมงคลสูตรมาสวด  ก็เพื่อจะทำให้มงคลต่างๆ ตามที่ปรากฏในพระสูตรเกิดขึ้นกับชีวิต  นอกจากนั้น มงคลสูตร ยังมีอานุภาพในการป้องกันภัยอันตราย อันจะเกิดจากความไม่เที่ยงธรรมของเหล่าคนพาลสันดานหบาบทั้งหลาย  ในงานทำบุญโดยทั่วไป  พระสงฆ์นิยมสวดมงคลสูตรพร้อมกับเจ้าภาพจุดเทียนมงคล  อันแสดงถึงความส่องสว่าง  รุ่งเรืองแห่งมงคลชีวิต 

การสวดมงคลสูตรก่อนสูตรอื่นทั้งหมด  เป็นการแนะนำผู้ฟังว่า  ผู้ที่ดำเนินชีวิตตามหลักมงคลทั้ง ๓๘ ประการ  ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนนั้นเป็นชีวิตที่มีมงคล  ชีวิตเช่นนั้น  ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหามงคลภายนอกจากที่ไหน  เพราะเป็นชีวิตที่มีมงคลอยู่ในตัวแล้ว  และหากทำได้ก็จะปราศจากทุกข์ โศก โรค ภัย ในการดำเนินชีวิต และถึงความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด

(เทวดา  กราบทูลถามว่า)

พะหู เทวา มะนุสสาจะ
มังคะลานิ อะจินตะยุง

อากังขะมานา  โสตถานัง
พรูหิ มังคะละมุตตะมัง

เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก
ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันขบคิดถึง มงคลอันเป็นเหตุให้ถึงความเจริญทั้งหลาย
ขอพระองค์ตรัสบอกมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด

(พระพุทธเจ้า  ตรัสตอบว่า)

อะเสวะนา จะ พาลานัง
ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา
ปูชา จะปูชะนียานัง
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

การไม่คบคนพาลทั้งหลาย
การคบแต่ผู้รู้ (บัณฑิต) ทั้งหลาย
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
3 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ
ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา
อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

การอยู่ในถิ่นที่มีสิ่งแวดล้อมดี
ความเป็นผู้ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น
การตั้งตนไว้โดยชอบธรรม
3 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

พาหุสัจจัญจะ สิปปัญจะ
วินะโย จะ สุสิกขิโต
สุภาสิตา จะ ยา วาจา
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

ความเป็นผู้เรียนรู้มาก ชำนาญในวิชาชีพ  

ความเป็นผู้มีระเบียบวินัยที่ดี

การพูดแต่วาจาที่ดี
4 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

มาตาปิตุอุปัฎฐานัง
ปุตตะ ทารัสสะ สังคะโห
อะนากุลา จะ กัมมันตา
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

การสงเคราะห์บิดาและมารดา
การสงเคราะห์ลูก การสงเคราะห์ภรรยา
ความเป็นผู้ทำงานไม่คั่งค้าง
4 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

ทานัญจะ ธัมมะจะริยา จะ
ญาตะกานัญจะ สังคะโห
อะนะวัชชานิ กัมมานิ
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

การให้(ทาน) การประพฤติธรรม
การสงเคราะห์ญาติทั้งหลาย
การทำงานที่ไม่มีโทษ ทุจริต
4 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

อาระตี วีระตี ปาปา
มัชชะปานา จะ สัญญะโม
อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

การงดเว้นจากความชั่ว
การละเว้นจากสิ่งเสพติดมึนเมา
ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
3 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

คาระโว จะ นิวาโต จะ
สันตุฏฐี จะ กตัญญุตา
กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

การมีสัมมาคาระวะ การอ่อนน้อมถ่อมตน
มีความสันโดษ มีความกตัญญู
การฟังธรรมตามกาลเวลา
5 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

ขันตี จะ โสวะจัสสะตา
สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง
กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

มีความอดทน เป็นผู้ว่าง่ายอ่อนโยน
การได้พบเห็นสมณะ คือ ผู้สงบระยับ
การสนทนาธรรมตามเวลาอันสมควร
4 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

ตะโป จะ พรัหมะจะริยัญจะ
อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง
นิพพานะ สัจฉิกิริยา จะ
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

ความเพียรเผากิเลส
การประพฤติพรหมจรรย์ การเห็นอริยสัจ 4
การรู้แจ้งเห็นจริงพระนิพพาน
4 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง
ยัสสะ นะ กัมปะติ
อะโสกัง วิระชัง เขมัง
เอตัมมังคะละมุตตะมัง

จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้ง 8
จิตไม่เศร้าโศก จิตไม่มีกิเลสธุลี
จิตเกษมสุข (จิตเป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง)
4 ข้อนี้นำความเจริญรุ่งเรืองอันสูงส่งมาสู่ชีวิต

เอตาทิสานิ กัตวานะ
สัพพัมถะมะปะราชิตา
สัพพัตถะ โสตถิง คัจฉันติ
ตันเตสัง มังคะละมุตตะมันติ

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทำตามมลคลเหล่านี้แล้ว
ย่อมเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง
ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง
ข้อนั้นเป็นมงคล (คือสิ่งอันนำความเจริญรุ่งเรือง)
อันสูงสุดของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

 

 

อ่านมงคล 38 ประการ  อย่างละเอียดได้ที่นี่ค่ะ

 

 http://gotoknow.org/blog/favorable38

 

หมายเลขบันทึก: 320945เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 07:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท