ชมรมคนบวชใจ ลดเหล้าเข้าพรรษา


เรื่องเล่าจากความจริงอันแสนเจ็บปวดกลั่นออกมาจากใจ และจบลงด้วยชัยชนะอันงดงามของครอบครัวผู้ผ่านพ้น เรียกรอยยิ้มและน้ำตาจาก ผู้เล่า ผู้สัมภาษณ์ และผู้ฟังกันโดยถ้วนหน้า สร้างความหวังและแสงสว่างให้เกิดขึ้นในใจทุกผู้คนที่มาร่วมงาน

ช่วงเย็นวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2552 มีความสำคัญกับชาวพุทธเพราะตรงกับวันอาสาฬหบูชา พิธีการทางศาสนาได้รับการตระเตรียมและจัดทำขึ้นทั่วทุกวัดในประเทศไทย ที่วัดชุมพรรังสรรค์ อ.เมือง จ.ชุมพร หรือ “วัดเหนือ” ชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกขานกันเป็นส่วนใหญ่ มีคนกลุ่มหนึ่งจำนวนกว่า 200 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมพิเศษ “ชมรมคนบวชใจ ลดเหล้าเข้าพรรษา”

บรรยากาศภายในงานได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามในลักษณะของ ตลาดนัดความรู้ ด้วยซุ้มนิทรรศการจาก เครือข่ายชุมชน ลด-ละ-เลิกเหล้า จ.ชุมพร มีการนำผลงาน วิธีการ และเรื่องราวที่ประสบความสำเร็จมานำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างเป็นกันเอง พร้อมบริการอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายจากชาวบ้านที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายฯ ได้แก่ สภากาแฟจากอำเภอพะโต๊ะ มาพร้อมกับขนมข้าวต้มมัด น้ำมะพร้าวอ่อนจาก ต.บางสน อ.ปะทิว ขนมจีนซาวน้ำจากชุมชนบ้านเกาะแก้วเป็นตัวแทนของพื้นที่เทศบาลเมืองชุมพร น้ำสมุนไพรจากเครือข่าย อ.ปะทิว กล้วยเชื่อมและส้มตำจากชุมชนตำบลท่ายาง อ.เมือง ซุ้มถอดใจใส่งานฝีมือจากชุมชน อ.สวี และซุ้มนิทรรศการจากศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี (OSCC) โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตั้งโต๊ะเปิดรับสมัครสมาชิก “ชมรมคนบวชใจ ลดเหล้าเข้าพรรษา” กันอย่างคึกคัก

กิจกรรมเหล่านี้สร้างความประทับใจให้กับคณะผู้มาเยือนจากกรุงเทพมหานคร นำทีมโดยคุณสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง จากมูลนิธิเพื่อนหญิงมาพร้อมกับคณะอาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียว และเครือข่ายชุมชน ลด-ละ-เลิกเหล้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เดินทางมาเยี่ยมชมและศึกษาการทำงานของเครือข่ายฯ จ.ชุมพรเป็นกรณีพิเศษ

ก่อนเวลา 16.00 น. ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ เดินทางมาถึงพร้อม ๆ กับท่านนายกเทศบาลเมืองชุมพร ว่าที่ ร.ต.พิศาล นิลยกานนท์ เยี่ยมชมซุ้มนิทรรศการด้วยรอยยิ้มประทับใจในผลงานและความพร้อมของเครือข่ายฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และเป็นประธานในพิธีเปิด

ไฮไลท์ของงานบนเวทีเป็นช่วงของการพูดคุย ถอดบทเรียนจาก ผู้ผ่านพ้น ที่ประสบความสำเร็จลด-ละ-เลิกเหล้าเข้าพรรษาได้ในปีก่อน ๆ รวมทั้งผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัวจากสามีที่ติดเหล้า เรื่องเล่าจากความจริงอันแสนเจ็บปวดกลั่นออกมาจากใจ และจบลงด้วยชัยชนะอันงดงามของครอบครัวผู้ผ่านพ้น เรียกรอยยิ้มและน้ำตาจาก ผู้เล่า ผู้สัมภาษณ์ และผู้ฟังกันโดยถ้วนหน้า สร้างความหวังและแสงสว่างให้เกิดขึ้นในใจทุกผู้คนที่มาร่วมงาน

มีคนเคยบอกว่า การรณรงค์ให้ผู้ชายเลิกเหล้านั้น ยากเสียยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เพราะการดื่มเหล้าได้ฝังรากลึกจนกลายเป็นวัฒนธรรมของความเป็นชาย (ไทย) ไปเสียแล้ว เหล้าจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความเปลี่ยนผ่านจากเด็กชายสู่ความเป็นหนุ่ม ทว่าสิ่งที่ยากยิ่งกว่าก็คือ ความเชื่อ ความอ่อนแอ และยอมจำนนของผู้หญิงเองที่เห็นว่า การดื่มเหล้าของผู้ชายเป็นเรื่องปกติธรรมดา และการนั่งนับขวดเหล้า ขวดเบียร์ในบ้านก็เป็นภาพที่ชินตาของผู้หญิงจำนวนไม่น้อย ความเชื่อแบบนี้เองที่ทำให้ผู้ชายที่ดื่มเหล้าแล้วขาดสติใช้กำลังกับผู้หญิง เด็ก และสมาชิกในครอบครัว

สถิติที่น่าสนใจระบุว่า ผู้ที่ตั้งใจหยุดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษา กว่า 75% สามารถเลิกเหล้าได้เป็นการถาวรและยั่งยืน เรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง ? ถ้าเราช่วยกันขยายเครือข่ายชมรมคนบวชใจ ลดเหล้าเข้าพรรษา ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งแผ่นดินชุมพร สังคมจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง ? เหล่านี้คือคำถามที่ฝากให้คิดโดยเฉพาะท่านที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำ” ในชุมชน/ท้องถิ่น.

หมายเลขบันทึก: 320607เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2009 07:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท