หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ยอดแห่งภูมิปัญญาไทย


พระพุทธมหาธรรมราชา

ปรัชญาชาวบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่นในประเพณีอุ้มพระดำน้ำ  การสืบทอด และจรรโลงประเพณีของชาวเพชรบูรณ์

 

...ประเพณีอุ้มพระดำน้ำของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์  ประดุจปรัชญาชาวบ้านเป็นประเพณีที่สืบสานความเชื่อ  ความศรัทธา  ในองค์พระพุทธมหาธรรมราชา มาตั้งแต่ตำนานการก่อตั้งเมืองเพชรบูรณ์ในประวัติศาสตร์  อันถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาในระดับชาติ  ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก  อันเป็นหลักในการดำเนินวิถีชีวิตของกลุ่มชนในท้องถิ่น และคนพื้นเมืองในการประกอบสัมมาอาชีวะ รวมถึงการแสดงวิถีชีวิตของคนในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักที่มีอิทธิพลในการสร้างอาชีพทางเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีตกาล จนก้าวล่วงถึงกาลปัจจุบัน  รวมถึงเป็นกุศโลบายทางการเมืองในระดับท้องถิ่น เกี่ยวเนื่องถึงระดับชาติ และระบบการปกครองของข้าราชการไทยต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  ในการศึกษา สืบค้น สามารถสรุปเป็นสาระทางปรัชญาชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น  ดังนี้

 ประเด็นที่ ตำนานพระพุทธมหาธรรมราชา

รากศัพท์  คำว่า  พุทธมหาธรรมราชา  มาจากคำว่า  พุทธ+มหา+ธรรม+ราชา

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พุทธ

พุทธ, พทธ, พุทธะ

ความหมาย     [พุด, พุดทะ] น. ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็น

พระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).

มหา
          ความหมาย     [adj.] great
                                    [syn.] ใหญ่,ยิ่งใหญ่

ธรรม                      ธรรม,   ธรรมะ

ความหมาย       [ทํา, ทํามะ] น. คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม; คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า; หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม; ความความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม; ความยุติธรรมความถูกต้อง, เช่น เป็นธรรมในสังคม; กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ; กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ; สิ่งทั้งหลาย, สิ่งของ, เช่น เครื่องไทยธรรม. (ส. ธรฺม; ป. ธมฺม).

ราชา

ราชา ๑

          ความหมาย       น. พระเจ้าแผ่นดิน, พระมหากษัตริย์. (ป., ส.)

ราชา ๒

ความหมาย     ว. ตรง เช่น แผ่กิ่งก้านราชา. (ป. อุชุ; ส. ฤชุ).
            โดยนัยหนึ่ง  พระพุทธมหาธรรมราชา  มีความหมายว่า  พระอันเป็นที่เคารพสักการะของพระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่

            ตามประวัติศาสตร์ของเมืองเพชรบูรณ์ที่มีมาแต่ 400 ปีนั้น  กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวิเคราะห์ว่า เพชรบูรณ์สร้างขึ้นมาใน 2 ยุคร่วมสมัยแห่งเดียวกันกับวัดมหาธาตุ และวัดโบราณเป็นหลักฐานยืนยันว่า ยุคแรกสร้างเมื่อเมืองเหนือคือ กรุงสุโขทัย หรือ พิษณุโลกเป็นเมืองหลวงมีลำน้ำอยู่กลางเมือง กำแพงเมืองกว้างยาวด้านละ 800 เมตร  ยุคที่สอง สร้างในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีป้อมและกำแพงก่อด้วยอิฐปูนศิลาแต่เล็ก และเตี้ยกว่ามีแม่น้ำอยู่กลางเมืองกำแพงเมืองขนาดเล็กลง ตั้งอยู่ทางป่าด้านเหนือ เพื่อป้องกันศัตรู ส่วนทางด้านใต้เป็นไร่นา  จากหลักฐานการค้นพบซากโบราณสถาน  และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในเมืองศรีเทพ  เพชรบูรณ์ มีอายุมากกว่า 1,000 ปี สร้างขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับเมืองพิมาย  ลพบุรี และจันทบุรี ดังหลักฐานที่ประกฎ เช่น ซากตัวเมือง และพระปรางค์ บริเวณที่ตั้งเมืองเป็นที่ราบ มีกำแพงดินสูงรอบเมือง และล้อมรอบ ด้วยคูเมือง ภายในเมืองมีพระปรางค์ซากเทวสถานรูปเทพารักษ์ พระนารายณ์ รูปยักษ์สลักด้วยศิลาแลง เช่นเดียวกับเมืองพิมาย ลพบุรี และจันทบุรีจึงเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นฝีมือของขอมที่ได้รับอารยธรรมจากอินเดีย

            ตามตำนานการค้นพบพระพุทธมหาธรรมราชา เมื่อ 400 ปีที่แล้วมีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้นกับชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ทำอาชีพจับปลาในแม่น้ำป่าสัก คือ มีอยู่วันหนึ่ง เวลาผ่านไปครึ่งค่อนวันแล้ว แต่ชาวประมงที่นั่นไม่สามารถจับปลาได้เลย แล้วก็มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นเมื่อกระแสน้ำที่กำลังไหลเชี่ยวกรากบริเวณวังมะขามแฟบ (ไม้ระกำ) เริ่มหยุดนิ่ง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาคล้ายน้ำที่กำลังเดือด จนกลายเป็นวังน้ำวนขนาดใหญ่ค่อยๆ ดูดองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ชาวบ้านกลุ่มนั้นจึงลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ เพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชาสักการะ
            อีกตำนานหนึ่ง  ประวัติการสร้างพระนั้นไม่ปรากฏเด่นชัด ชาวเพชรบูรณ์มีความเชื่อว่าพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (อ.หล่มสัก) ได้รับพระราชทานจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์แห่งนครธม ในยุคโบราณให้นำไปประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง  หลังจากทรงอภิเษกสมรสกับพระนางสิงขรมหาเทวี แต่หลังจากพ่อขุนผาเมืองร่วมกับพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง(อ.นครไทย) พระสหาย ได้ร่วมกอบกู้อิสรภาพให้กับคนไทย ทำให้พระนางสิงขรมหาเทวี แค้นเคืองถึงกับเผาเมืองราดจนย่อยยับ  จากนั้นตัดสินใจกระโดดแม่น้ำป่าสักฆ่าตัวตาย ทำให้ไพร่พลเสนาอำมาตย์ ต้องอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงแพล่องไปตามแม่น้ำป่าสักเพื่อหลบหนีไฟแต่ปรากฏว่าแม่น้ำป่าสักคดเคี้ยว  กระแสน้ำไหลเชี่ยวกรากทำให้แพที่อัญเชิญ พระพุทธมหาธรรมราชา แตกจนองค์พระจมดิ่งลงสู้ก้นแม่น้ำหายไป กระทั่งต่อมาชาวประมงได้ไปพบจนก่อให้เกิดตำนานมหัศจรรย์

            พระพุทธมหาธรรมราชา  เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี  หล่อด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์  หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว  สูง 18 นิ้ว  ไม่มีฐาน  มีพุทธลักษณะพระพักตร์กว้างพระโอษฐ์แบะ  พระกรรณยาวย้อย จนจรดพระอังสา  ที่พระเศียรทรงชฎาเทริด  หรือมีกระบังหน้าทรงสร้อยพระศอพาหุรัด  และประคดเป็นลวดลายงดงามอีกทั้งแลดูน่าเกรงขามอย่างยิ่ง

             ภาพความศรัทธาที่มีต่อ  พระพุทธมหาธรรมราชา  เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำนานยาวนาน  และมีความเชื่อว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองเพชรบูรณ์  และใกล้เคียงทั้งในภาพประวัติศาสตร์ในอดีต  จนสืบสานความเชื่อและความศรัทธาจนถึงปัจจุบันอันมีรากฐานทางลัทธิพราหมณ์  เทวนิยม  และหลักทางศาสนาพุทธ  ที่ร้อยรัดกับประเพณีท้องถิ่นตั้งแต่อดีตกาลกลายเป็นสิ่งที่กระทำต่อๆกันมา  จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติประจำปี  และพัฒนาการตามกาลเวลาให้สอดคล้องกับวิถีชิตและความเป็นอยู่ของชาวเมือง  แฝงด้วยความเชื่อเรื่องโชคลางสิริมงคลต่อชีวิต  การสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานของคนทั้งภาคราชการ  และภาคการค้าตั้งแต่ระดับชาวบ้าน  กระทั่งถึงระดับนายทุน  รวมถึงตำนานว่าด้วยเจ้าเมือง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันที่มีตำนานการสร้างเสาหลักเมืองโดยเจ้าเมืองยุคนั้น  สั่งการให้ทหารนำเณรมั่น และเณรคง  ไปฝังในหลุมเสาหลักเมืองทั้งเป็นโดยมีความเชื่อว่า  การฝังวิญญาณที่ดุร้ายเพื่อปกปักรักษาเมืองตามลัทธิบูชายันต์ของพราหมณ์  จนเกิดคำสาปจากเจ้าอาวาสวัด ว่าใครก็ตามที่มาเป็นเจ้าเมืองนี้ต้องมีอันต้องอยู่ได้ไม่เกิน 3 ปี ก็ต้องมีอันต้องเป็นไปตามคำสาปแช่งของเจ้าอาวาสวัดที่สาปแช่งเอาไว้  ดังนั้นจึงเป็นความเชื่ออีกลักษณะหนึ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่าน  ที่มาดำรงตำแหน่งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จะต้องเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตและความก้าวหน้าในระบบราชการ  ด้วยการอุ้มพระดำน้ำเพื่อลบล้างคำสาปตามตำนานนั่นเอง
 

 

                                                                        นายไท   พานนนท์

                                                                        14 ธันวาคม 2552

หมายเลขบันทึก: 320301เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2009 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาร่วมอนุรักษ์มรดกแห่งวัฒนธรรมครับ

สวัสดีครับ

อือ บ้านเกิดผม ข้อมูลแน่นมากครับ

สาระดีดีครับ ว่างๆ จะมาดูครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท