SWIT
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ .

มึดา นาวานาถ สาวน้อยนักสู้-ฉบับ 8 กันยายน 2552


จนวันนี้ มึดา ยืนยันหนักแน่นถึง ความฝันที่ต้องการเป็นนักกฎหมายว่าด้วยเรื่องสัญชาติ ทำเรื่องสัญชาติ ต่อสู้เรื่องสัญชาติ ผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา ประสานร่วมกับหน่วยงานแห่งรัฐ ในการให้สถานะความเป็นคนไทยแก่เธอและพี่น้องของเธอ สร้างที่ยืนและการมีตัวตนแก่เธอและพี่น้องของเธอ ปัจจุบันความฝันของเธอเป็นจริงอีกก้าว ด้วยการเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยพายัพ พร้อมกับความฝันที่เธอได้มาจากการต่อสู้มาโดยไม่เคยย่อท้อ คือ การมีสัญชาติไทย

มึดา นาวานารถ สาวน้อยนักสู้    

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว SWIT

วันที่ 8 กันยายน 2522

 

มึดา นาวานารถ เธอคือเด็กผู้หญิงชาวปกากะญอ คนที่ยืนร้องไห้หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันเด็กปี 2550 เพราะท่านนายก "หนี" เธอและเพื่อนๆ ออกทางหลังทำเนียบรัฐบาล

“ การไร้สัญชาติจะทำให้เราขาดไร้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานและการมีส่วนร่วมกับรัฐ การรักษาพยาบาล ชีวิตความเป็นอยู่ถูกผลักให้เป็นคนชั้นสอง ถึงวันนี้ หนูคิดว่าสังคมรับรู้ว่ามีเด็กหลายคนไม่มีสัญชาติ รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไร้สัญชาติ รับรู้ความรู้สึกว่า เด็กไร้สัญชาติคิดอย่างไรที่พวกเค้าถูกเรียกว่าพวกต่างด้าว พวกถ่วงความเจริญหรือขยะของสังคม พูดไม่ออกแต่บอกกับตัวเองตลอดเวลาว่าเราจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เรา คือ ขยะของสังคมจริงหรือ เป็นต่างด้าวแล้วถ่วงความเจริญจริงหรือ หนูผิดใช่ไหม แบบนี้”  

จนวันนี้ มึดา ยืนยันหนักแน่นถึง ความฝันที่ต้องการเป็นนักกฎหมายว่าด้วยเรื่องสัญชาติ ทำเรื่องสัญชาติ ต่อสู้เรื่องสัญชาติ ผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา ประสานร่วมกับหน่วยงานแห่งรัฐ ในการให้สถานะความเป็นคนไทยแก่เธอและพี่น้องของเธอ สร้างที่ยืนและการมีตัวตนแก่เธอและพี่น้องของเธอ ปัจจุบันความฝันของเธอเป็นจริงอีกก้าว ด้วยการเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยพายัพ พร้อมกับความฝันที่เธอได้มาจากการต่อสู้มาโดยไม่เคยย่อท้อ คือ การมีสัญชาติไทย

ในวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2545  ณ บ้านม้งร่องส้าน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เด็กและเยาวชนจากหลายชนเผ่า ทั้งม้ง เมี่ยน ลาหู่ อาข่า และปกากญอ ที่มาจากจังหวัดพะเยา เชียงราย เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน  ได้นำเสนอปัญหา ความคับข้องใจ และค้นหาแนวทางแก้ไข โดยคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านเด็กของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานในเวที พร้อมกับผู้ใหญ่หลายท่าน อาทิ คุณเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย คุณสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา  สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันรับฟังเรื่องราวของเด็ก ๆ

ในฐานะตัวแทนของเด็กและเยาวชนเผ่าปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) มึดาได้สะท้อนปัญหาของตนเองในหัวข้อสถานะบุคคล สิ่งที่มึดานำเสนอในเวทีวันนั้น คือ หมู่บ้านท่าเรือซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ตั้งอยู่ในตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีประชากร 70 กว่าคน

“ที่หมู่บ้านของหนู ชาวบ้านไม่มีบัตรอะไรเลย ไม่มีเอกสารซักชิ้นจากทางราชการว่า พวกหนูเป็นคนที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินนี้ ตัวหนูเองยังโชคดีกว่าเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันหลายคน   ที่มีโอกาสออกมาเรียนหนังสือ เพราะเป็นเด็กในโครงการของศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน พอเรียนจบชั้นประถมหนูก็ไม่ได้รับวุฒิบัตรนะคะ แต่โรงเรียนออกหนังสือรับรองให้ ตอนนี้หนูเรียนอยู่ชั้น ม.2 ไม่รู้ว่าพอเรียนจบแล้วจะไปเรียนต่อได้อีกหรือเปล่า หนูยังมองไม่เห็นว่า อนาคตของหนูจะเป็นไปอย่างไร หนูจึงอยากให้ท่านผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านช่วยหนูกับคนในหมู่บ้านด้วย อย่างน้อยหนูก็อยากให้ท่านแวะไปเยี่ยมพวกเราบ้างค่ะ”  

มึดา มีโอกาสเป็นตัวแทนของเด็กไร้สัญชาติเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาอีกหลายครั้ง ทั้งการขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอของขวัญแก่เด็กไร้สัญชาติ ในวันเด็กปี 2547 แต่เธอต้องเสียน้ำตาอีกครั้งที่ไม่ได้รับโอกาสให้เข้าพบจากผู้นำของประเทศในคราวนั้น เวทีการประชุมสะท้อนปัญหาอีกครั้งตอนปลายปี 2547 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ มึดายังคงนำเสนอเรื่องราวของเธอต่อสาธารณชน และในเวทีนั้นเอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยพายัพ ประกาศให้ทุนศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับมึดา ครั้งนี้เธอเสียน้ำตาอีกครั้งด้วยความดีใจ 

วันที่ 15 มกราคม 2548 มึดา ร่วมเป็นตัวแทนเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 7 ทวิ ที่ทำให้เด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ที่เข้าเมืองมา กลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด มึดาในเวทีนี้ ไม่มีน้ำตา มีแต่คำสัญญาให้กับผู้ใหญ่ใจดีของเธอว่า

“ต่อไปนี้ หนูจะไม่ร้องไห้อีกแล้ว หนูจะเข้มแข็ง จะตั้งใจเรียนและศึกษาให้สำเร็จคณะนิติศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมดค่ะ”

หลังจากต่อสู้และรอคอยมานาน มึดาบอกว่าเธอรอลุ้นผลการพิจารณา พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 จนคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา หรือ อาจารย์แหวว แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ได้โทรศัพท์บอกเธอว่า... "ดีใจด้วยนะมึดา พวกเธอได้สัญชาติไทยแล้ว เพราะ พ.ร.บ.สัญชาติผ่านการพิจารณาแล้ว..."  เมื่อเธอได้ยินเช่นนั้น ความรู้สึกดีใจที่บอกหรือบรรยายไม่ถูกว่ามันเป็นอย่างไร ดีใจจนน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว เป็นข่าวที่เธอรอมาตลอดชีวิต ทำให้เธอคิดถึงเพื่อนๆ พี่น้องที่ไร้สัญชาติ เขาคงดีใจไม่น้อยกว่าเธอ

วันที่ 28 พฤษภาคม 2551 เธอไปอำเภอพร้อมเอกสารและสำเนาคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เตรียมไว้ด้วยความมั่นใจ เมื่อไปถึงตั้งใจจะยื่นขอลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แต่ทางอำเภอก็บอกว่ายังไม่มีคำสั่งจากทางจังหวัด ทางอำเภอจึงไม่สามารถดำเนินการก่อนมีคำสั่งได้ หากต้องการยื่นก็ต้องยื่นตามมาตรา 7 ทวิ  เธอได้แต่บอกตัวเองว่าไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ต้องติดตามสอบถามต่อไป

หลังจากวันนั้นเธอเพียรพยายามใช้ความรู้ทางกฎหมายที่เธอมีสื่อสารและยืนยันกับนิติกรอำเภอ ทำหนังสือทวงถาม  และติดตามความคืบหน้ากับทางอำเภออย่างต่อเนื่อง แล้วสุดท้ายความพยายามของมึดาก็บรรลุผล เธอได้รับสัญชาติไทยและบัตรประชาชนไทย ในวันที่ 3 กันยายน 2551

“หนูเป็นคนแรกของอำเภอสบเมยที่ได้สัญชาติไทย ภายใต้ มาตรา 23 จนปัจจุบัน สิ่งที่หนูได้ทำและต่อสู้นอกจากจะช่วยเหลือตัวเองแล้ว อย่างน้อยมันก็ส่งผลให้คนอื่นๆที่ตามมาเขาไม่ต้องเจอเหตุการณ์เหมือนอย่างหนู เช่น ตอนแรกเขาอ้างว่าไม่มีคำสั่งจากจังหวัด หรือเรียกพยานบุคคลที่เป็นข้าราชการ และเรื่องล่าช้า ซึ่งตอนนี้ไม่มีปัญหาเหล่านี้กับชาวบ้าน และทุกขั้นตอนก็ไม่มีเรื่องเรียกรับผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง พอเราทำสำเร็จชาวบ้านเขาก็เริ่มทำตาม ” เธอเล่าด้วยความภาคภูมิใจ และบอกว่าหลายครั้งมีชาวบ้านที่เธอไม่รู้จักโทรมาขอคำปรึกษาจากเธออีกด้วย

เมื่อย้อนไปถึงแรงผลักดันที่ทำให้เธอก้าวมาถึงจุดนี้ มึดาบอกว่าช่วงที่เธอเรียนอยู่ชั้นป.6 แล้วเธอถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้รับทุนการศึกษาเพราะเธอไม่มีสัญชาติไทย และทางดรงเรียนยังไม่ยอมออกใบรับรองการจบการศึกษาให้เธอ นับแต่นั้นมาเธอจึงได้รู้ว่าสิทธิของเธอมันแตกต่างจากเพื่อนๆในโรงเรียนที่มีสัญชาติไทย

มึดาโชคดีกว่าเพื่อนๆหลายคน เพราะเธอได้รับการช่วยเหลือให้มาพักที่ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน เพื่อมาเรียนต่อในระดับมัธยม รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการแก้ไขปัญหาสัญชาติ และสนับสนุนให้เธอได้มีโอกาสบอกเล่าปัญหาต่างๆของเธอและพี่น้องผ่านเวทีต่างๆ

ในช่วงที่ไร้สัญชาติเธอเองแทบจะมองไม่เห็นทางว่าจะมีโอกาสได้เรียนต่อได้อย่างไร เพราะความไร้สัญชาติทำให้เธอไม่มีโอกาสกู้ยืมเงินกองทุนจากรัฐบาล ไม่มีแม้โอกาสจะได้รับทุนการศึกษา นอกจากนั้นหากเธอได้เรียนจนจบนิติศาสตร์สมใจเธอก็ไม่อาจประกอบวิชาชีพทนายความได้ เธอบอกว่าเธอโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนต่อ และเธอตัดความท้อแท้ออกจากใจและมุ่งมั่นแม้ต่อการเรียนให้ดีที่สุด เพื่ออย่างน้อยให้สามารถนำความรู้ไปช่วยตนเองและชุมชนต่อไป

และในระหว่างทาง พ่อของเธอซึ่งยังถือบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง ก็จากล้มเจ็บด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย ครอบครัวเธอต้องขายบ้านเพื่อนำเงินมารักษาพ่อ และต้องเซ็นต์รับสภาพหนี้กับทางโรงพยาบาลจำนวนนับแสนบาทเนื่องจากไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือหลักประกันสุขภาพใดๆ และครอบครัวยังต้องกังวลใจกลัวว่าจะถูกจับเนื่องจากเดินทางออกนอกเขตอำเภอในระหว่างไปรักษาตัว สุดท้ายพ่อของเธอต้องจากไปก่อนที่จะได้ชื่นชมบัตรประชาชนของลูกสาว

หลังจากผ่านพ้นบททดสอบมานับครั้งไม่ถ้วน มึดาได้ชักชวนเพื่อนๆและอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กว่า 30 คน ไปร่วมกิจกรรมวันเด็กไร้สัญชาติ ที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่อ่องสอน ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากนั้น “ชมรมหัวรถไฟ” จึงก่อตัวขึ้น ด้วยเป้าหมายที่ต้องการใช้ความรู้ความสามารถจากการเรียนไปช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคล ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆที่สามารถทำได้ เช่น รับบริจาคเครื่องนุ่งห่มเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในฤดูหนาว

ในฐานะประธานชมรม เธอมุ่งมั่นว่าอยากใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำประโยชน์ช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบปัญหา และสิ่งที่เธอย้ำกับเพื่อนๆน้องๆในชมรมเสมอคือ

“แค่ความสงสารและมีใจอยากช่วยชาวบ้านยังไม่พอที่จะไปช่วยแก้ไขปัญหา แต่ต้องมีความรู้ด้วย ต้องเอาความรู้ไปช่วย”

ในปีนี้เป้าหมายแรกสำหรับพวกเธอคือการพัฒนาศักยภาพแกนนำนักศึกษาในชมรมให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายด้านสถานะบุคคล เพื่อให้สามารถสานต่อเป้าหมายของชมรมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 320220เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2009 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาถึงวันนี้ มึดา ในฐานะที่เป็น"หัวรถไฟ"ที่มีความมุ่งมั่นที่จะลากตู้บรรทุกบุคคลที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ให้เคลื่อนไปตามสิทธิและคุณสมบัติในการอาศัยอยู่อย่างถูกต้องและยั่งยืนในประเทศไทย ก็ยังทำหน้าที่ต่อไปด้วยความแน่วแน่ พี่มา...นะ ขอเป็นกำลังใจให้ "มึดา"และทุกฅนที่เดินตามมาด้วยความหวัง อีกไม่นานความสำเร็จ คงมาถึงแน่นอน เราต้องร่วมมือ ร่วมพลังกัน ผมมา...นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท