78. เยี่ยมชมวัดรุมเต็ก (Rumtek) วัดสำคัญของสิกขิม (4)


 

 

           

          ตอนเช้าทุกวันจะมีพราหมณ์ประกอบพิธีบูชาพระ

ศิวะ เพราะมีศาลาที่มีศิวลึงก์อยู่ด้านหน้าของโรงแรม รวม

ทั้งโคนนทิด้วย อยู่ในรั้วของโรงแรมเหมือนเป็นส่วนหนึ่ง

ของโรงแรม มีพราหมณ์สองคน ดิฉันได้ยินเสียงพราหมณ์

คนหนึ่งสวด อีกคนตักน้ำรดลงที่ศิวลึงก์ ดิฉันเข้าไปใกล้ๆ

ยกมือไหว้ และขอถ่ายรูปท่านก็ทำพิธีไป จนเสร็จ ท่านก็

ให้ดิฉันร่วมพิธีโปรยดอกไม้ที่ศิวลึก์ ท่านเจิมที่หน้าผากให้

ดิฉันมอบเงินสัก 20 รูปีมอบให้ท่าน วัดนี้มีทั้งพุทธ ทั้งฮินดู

เป็นสิ่งที่ดีเพราะนอกจากให้ผู้ที่เคารพเลื่อมใสได้มีโอกาส

กราบไหว้ ร่วมพิธีแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่มี

ความหลากหลายของชาวสิกขิมให้ชาวต่างชาติได้ทราบ

ด้วย

      หลังอาหารเช้าเสร็จ เรากลับไปเตรียมตัวจนได้เวลา

เจ้าภาพมารับ 9.00 น. แต่ยังเสร็จไม่พร้อมเพรียง พวก

เราเตร่ๆ ผลัดกันถ่ายรูป วันนี้อากาศเปิด แดดออกแต่เช้า

เห็นวิวสวยงาม ด้านหน้าเราเป็นแนวภูเขาเขียวขจีที่

สะท้อนแสงอาทิตย์ พวกเราพร้อมเวลา 9.30 น. เจ้าภาพ

พาไปทัศนศึกษา  

    สถานที่แห่งแรกที่จะไปคือวัด Rumtek ซึ่งเป็นวัดพุทธ

ทิเบตที่ใหญ่ที่สุดของสิกขิม เรานั่งรถไปอีกทางหนึ่ง (ไม่

ใช่ทางที่วิ่งไปมาเมื่อวานนี้) ถนนดีบ้างไม่ดีบ้าง ไปตาม

เนินเขาไต่ไปเรื่อยๆ จนมาหยุดอยู่ฝั่งตรงข้ามของกังต๊อก

และโรงแรมที่พัก เพื่อถ่ายรูปหมู่กัน วิวที่เห็นสวยงามมาก

บ้านคนที่เรียงรายเต็มด้านของภูเขาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแปลก

ตามากสำหรับคนที่มาจากพื้นที่ราบภาคกลางของประเทศ

ไทยเช่นดิฉัน แม้จะเกิดที่ภาคเหนือแต่ยังไม่เคยเห็น

สถาปัตยกรรมบ้านคนไทยที่แปะไว้ตามเขาเต็มไปหมด

เช่นนี้ มีเมฆหมอกลอยพาดบางส่วนของภูเขาอยู่บ้าง สวย

งามแปลกตาดี บ้านคนก็มีสีสันสวยงาม เสร็จแล้วเราเดิน

ทางต่อไปอีกจนถึงหน้าประตูใหญ่ของวัด เจ้าหน้าที่ของ

สิกขิมที่ไปกับคณะเราเข้าไปติดต่อที่ประตู มีตำรวจ

อารักขาที่ประตูด้วย เขาเปิดให้เราแล่นรถเข้าไป มีชาว

บ้านทยอยเดินเข้าไป เราไปจอดหน้าวัด มีเจ้าอาวาสมา

ต้อนรับหน้าวัด ท่านพาไปชมโบสถ์ซึ่งพวกเรารอด้านนอก

สักครู่เพราะพระกำลังสวดมนต์อยู่ด้านใน วัดพุทธแบบ

ทิเบตมีภาพวาดที่ผนังสีสันสวยงาม เป็นพุทธประวัติบ้าง

 

 

ประวัติวัดรุมเต็ก

     วัดรุมเต็กหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าศูนย์กลางธรรมจักร

(Dharmachakra Center) เป็นวัดพุทธทิเบตที่อยู่ห่าง

จากกังต็อก 24 กิโลเมตร

      ในศตวรรษที่ 16 วัดนี้สร้างโดยผู้นำทางศาสนาคือ

 การมาปา วังชุก โดรจีองค์ที่ 9 (Karmapa Wangchuk

 Dorje)  เดิมเคยเป็นวัดหลักของนิกายกากยู (Kagyu)

ในปี 1959 การมาปาที่ 16 (16th (Karmapa)) หนีจาก

ทิเบตมาถึงสิกขิม สมัยนั้นวัดนี้ปรักหักพังมากท่านไม่ยอม

ไปสร้างวัดใหม่ กลับบูรณะวัดรุมเต็กเพราะท่านเห็นว่า

สถานที่ตั้งมีสภาพแวดล้อมที่เป็นมงคล (ฮวงจุ้ยดี) เช่น

 ด้านหน้ามีลำธารไหลผ่าน ด้านหลังมีภูเขา มีแนวเทือก

เขาหิมะด้านหน้าและสายน้ำด้านล่าง ด้วยความอุปถัมภ์

ของราชวงศ์สิกขิมและรัฐบาลอินเดียทำให้วัดนี้กลายเป็น

ที่ลี้ภัยของการมาปาที่ 16 ใช้เวลา 4 ปีในการบูรณะวัดจน

เสร็จสมบูรณ์ มีการขนสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระธาตุ

พระพุทธเจ้ามาจากวัด Tsurphu ในทิเบตมาประดิษฐานที่

นี่ ในวันปีใหม่ของทิเบตในปี 1966 มีการสถาปนาวัดนี้ให้

เป็นศูนย์กลางธรรมจักร ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาและปฏิบัติ

ธรรม เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดของสิกขิม

(http://en.wikipedia.org/wiki/Rumtek_Monastery)

        

  หลังจากพระสวดมนต์เสร็จ เจ้าอาวาสพาคณะเข้าไปชม

ภายในโบสถ์ที่มีพระพุทธรูปองค์ประธาน และมีพระพุทธ

รูปปางต่างๆ ที่อยู่ด้านหลัง เห็นท่านลามะองค์น้อยอายุ 10

ขวบที่เชื่อว่ากลับชาติมาเกิดนั่งสวดมนต์อยู่ เราเข้าไป

ไหว้ท่านให้พรแตะศีรษะ และถ่ายรูป เดินชมภายในเสร็จก็

ออกมา

       เจ้าอาวาสพาขึ้นไปไหว้ golden stupa เดินขึ้นบันได

ไปอาคารอีกชั้นที่อยู่บนเขา ผ่านกุฏิพระที่เหมือนแฟลต

เข้าไปไหว้พระพุทธรูปและภาพดาไลลามะหลายองค์ จน

ถึงองค์ปัจจุบัน หน้าพระพุทธรูปปางต่างๆ มีการบูชาด้วย

ขันใส่น้ำ 7 ใบเพื่อแทนของบูชา 7 อย่างได้แก่ ดอกไม้

ตะเกียง ผลไม้ อาหาร ธูป น้ำ และข้าว ขันน้ำวางเรียงราย

กันไปตลอดแถวที่มีพระพุทธรูปอยู่

 

         เสร็จแล้วไปดูอาคารที่อยู่ติดกันเป็นสถาบันการ

ศึกษาทางพุทธศาสนาชั้นสูงชื่อ Karma Shri Nalanda

Institute for Higher Buddhist Studies พระกำลังฉัน

เพลกัน ท่านฉันในบาตรรวมกัน

        พวกเราลงมาเพื่อไปยังห้องรับแขกของวัด เจ้า

อาวาสเชิญดาไลลามะน้อย (พวกเราเรียกท่านเจ้าคุณ

น้อย)มาร่วมด้วย พระอาวุโสเสิร์ฟชาอินเดียกับขนมให้

โยมคนไทยและเจ้าหน้าที่สิกขิมทุกคน เราคุยกันว่าที่นี่พระ

ทำทุกอย่างไม่มีโยมช่วยเหมือนวัดไทย เรารู้สึกเขินๆ ที่

พระเสิร์ฟโยม ดิฉันดูดาไลลามะน้อยแล้วสงสารท่าน

เหมือนกันที่ท่านต้องวางตัวเป็นผู้ใหญ่โดยมีพระอาวุโส

คอยบอกบท สงสารที่ท่านไม่ได้ใช้ชีวิตวัยเด็กเหมือนเด็ก

คนอื่นๆ ท่านก็เขินๆ เหมือนกันที่ต้องออกมารับแขก แต่

ดิฉันมองเห็นความศรัทธา และความใจกว้างของพระนิกาย

มหายาน แบบทิเบตที่ไม่แย่งชิงความเป็นใหญ่ ในหมู่สงฆ์

หากเชื่อว่าองค์นี้ใช่ ท่านก็ยกย่องเด็กได้เหมือนกัน

          ท่านทูตก็พูดคุยกับเจ้าอาวาส เสร็จแล้วลงนามใน

สมุดเยี่ยมทุกคน เราร่วมกันบริจาคเงินเพื่อให้ท่านทูต

ถวายให้ท่านดาไลลามะน้อยเพื่อให้วัดต่อไป พระมอบ

หนังสือให้พวกเราทุกคน ถ่ายรูปหมู่เสร็จแล้วเราลา

ท่านกลับ

          พวกเราเดินทางไปอีกวัดหนึ่งชื่อ วัด Lingdum ซึ่ง

อยู่ไม่ไกลนัก แต่ไม่ได้เข้าไปข้างในเพราะเป็นวัดแบบ

เดียวกัน แต่เล็กกว่า หน้าวัดมีราวติ้วมันตราสำหรับให้คน

เดินหมุนเป็นแถวยาว พวกเราไปหมุนกันเล็กน้อยก็ขึ้นรถ

เดินทางต่อ (โปรดติดตามตอนต่อไป)

___________

บอกกล่าว ข่าวแจ้ง

 ด่วน!

ท่านที่สนใจหลักสูตรปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา เอกอินเดียศึกษา (Indian Studies) โปรดสมัครได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โทร. 02-800-2308-14 ต่อ 3309 ข้าชม www.lc.mahidol.ac.th

 

หมายเลขบันทึก: 319896เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2009 03:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณมากค่ะ ที่นำความรู้ดีๆ มาให้รู้ค่ะ

เรียน ครูอ้อย

    ยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ค่ะ ขอบคุณที่ติดตามนะคะ

ทราบว่าลามะน้อยมีการสืบทอดตำแหน่งที่น่าสนใจนะครับ

วันหนึ่งคงได้ไปเยี่ยมบ้างครับ

ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆ ครับ

ศรัทธามาก อยากไป สักการะ องค์เกียลา กรรมาปาที่17 ดูท่านมีบารมีสมเป็นพุทธอาวาตาร เป็นที่พึงของชาวทิเบตและชาวพุทธได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท