ประวัติพ่อหลวง


 

• ในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในเดือนมิถุนายนนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการรวบรวม 60 เรื่องในหลวงของเรา รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ให้พสกนิกรชาวไทยได้เทิดไท้องค์เหนือหัวของคนไทยทุกคน

• วันที่ 5 ธันวาคม 2470 ตรงกับวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ ปีเถาะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช พระราช โอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ ประสูติ ณ โรงพยาบาลเมานท์ ออเบิร์น เมือง เคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุที่ประสูติที่อเมริกา เพราะขณะนั้น พระบรมราชชนก เสด็จทรงศึกษาและปฏิบัติ หน้าที่ราชการในต่างประเทศ ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรม หลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

• พระนาม "ภูมิพลอดุลยเดช" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีความหมายว่า "ผู้ทรงกำลังอำนาจไม่มีอะไรเทียบในแผ่นดิน"

• หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชจักรีวงศ์ จากนั้น วันที่ 10 กรกฎาคม 2478 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้ รับเฉลิมพระนามเป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช" ในครั้งนั้น ทั้งสองพระองค์ยังประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

• ในปี 2480 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สายพระเนตรสั้นลง เป็นเหตุให้ต้องทรงฉลองพระเนตรนับ ตั้งแต่นั้นมา

• ในปี 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นทรงพระชนมายุครบ 20 พรรษา เสด็จกลับมาประทับเป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทย ในการเสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยครั้งนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จกลับมาด้วย โดยได้เสด็จถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 อันตรงกับวันพระราชสมภพ ขณะมีพระชนมายุครบ 18 พรรษาบริบูรณ์

• ใน วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ประชาชนชาวไทยต้องประสบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต อย่างกะทันหันด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และในวันเดียวกันนี้เอง พระบรมวงศานุวงศ์และคณะรัฐมนตรีก็ได้กราบบังคมทูล อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้มีการประกาศเฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" แต่เนื่อง จากในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองได้ อีกทั้งยังมีพระราชภารกิจเรื่องการศึกษา จึงได้มีการแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวรราชเสวี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

• วันที่ 19 สิงหาคม 2489 ได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พร้อมสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธออีกครั้ง โดยก่อนจากประเทศไทยในครั้งนั้น ได้ทรงเสด็จไปถวายบังคมลาพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราชที่พระบรมมหาราชวัง ขณะที่ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังสนามบินดอนเมือง ได้มีประชาชนคนหนึ่งตะโกนว่า "อย่าละทิ้งประชาชน" ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมีพระ ราชนิพนธ์เรื่อง "เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์" ว่าทรงอยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า "ถ้าประชาชนไม่ "ทิ้ง" ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ "ละทิ้ง" อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว..." เมื่อเสด็จกลับไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อ ก็ได้ทรงเปลี่ยนจากสาขาวิทยาศาสตร์ มาทรงศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ในการเป็นพระประมุขของประเทศ

• ในปี 2493 เมื่อเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยแล้ว ได้ทรงกำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2493 อันเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ
• หลังจากนั้นใน วันที่ 28 เมษายน 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ก็ได้ทรงจัดพระราชพิธีราชาภิเษก สมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก สำหรับพระมหากษัตริย์ไทยในยุคประชาธิปไตย ที่ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับปวงชนชาวไทย

• ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ได้ทรงจัด พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ โดยมีพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" ซึ่งในครั้งนั้นได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" พร้อมกันนี้ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติ
ยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสี ขึ้นเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี"

• ในวันที่ 22 ตุลาคม 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราช ได้ถวายพระสมณฉายานามว่า "ภูมิพโล ภิกขุ" ทรงประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตอยู่ 15 วัน จึงลาผนวชเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 ในระหว่างทรงผนวช ได้มีพระบรม ราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชกรณียกิจในตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี นาถ ในปีเดียวกันนี้เอง

• ในปี 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ เสด็จพระ ราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล โดยเริ่มจากสาธารณรัฐเวียดนาม อินโดนีเซีย และสหภาพพม่า และในปี 2503 ก็ได้เสด็จพระราชดำเนิน
เยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป รวม 14 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2503-วันที่ 18 มกราคม 2504 ซึ่งในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งนั้น นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ กับมิตรประเทศแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังได้ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจจนบังเกิดผลสำเร็จ นำผลประโยชน์ มาสู่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยมากมาย ทรงเป็นที่กล่าวขานถึงพระบารมีเลื่องลือขจรไกล

• ในปี 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวโรกาสมหามงคลข้างต้นตามโบราณราชประเพณี ที่นิยมเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุเสมอด้วย สมเด็จพระบรมราชบุพการี

• ในวันที่ 9 มิถุนายน 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำ "พระราชพิธีรัชดาภิเษก" อันเป็นพิธีเฉลิม ฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี และในปี 2520 คณะบุคคลอันประกอบด้วยประชาชนทุกสาขาอาชีพ ได้พร้อมกันแสดงความจงรักภักดีและสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "มหาราช" พร้อมจัดงานถวายพระพรและเฉลิมพระเกียรติในวันเฉลิมพระ ชนมพรรษา โดยใช้ชื่อว่า "5 ธันวามหาราช" ต่อมา เพื่อความพร้อมเพรียงในหมู่พสกนิกรชาวไทย ในอันที่จะถวายพระราชสมัญญา "มหาราช" จึงได้มีการสำรวจประชามติทั่วประเทศ ปรากฏว่าประชาชนมีความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระราชสมัญญา "มหาราช" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530

• วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2529 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการ วัฒนธรรมแห่งชาติ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา "อัครศิลปิน" แด่พระองค์ ด้วยทรงเป็นเลิศในศิลปะหลายสาขา เช่น ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และนฤมิตศิลป์ เป็นต้น คำ ว่า "อัครศิลปิน" หมายถึง ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือผู้เป็นใหญ่ในศิลปินก็ได้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งปวงแล้ว ยังทรงมีคุณูปการได้ทรงอุปถัมภ์แก่ศิลปินทั้งหลายด้วย

• วันที่ 2 กรกฎาคม 2531 ได้มีการจัด "ราชพิธีรัชมังคลาภิเษก" อันเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องใน อภิลักษขิตสมัยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานกว่าสมเด็จ พระมหากษัตราธิราชเจ้า แห่งราชอาณาจักรไทยทุกพระองค์ในอดีต ซึ่งเป็นมหามงคลวโรกาส ที่หาได้ยากยิ่ง คือ ทรงครองราชย์สมบัติเป็นเวลา 42 ปี 22 วัน ซึ่งเป็นเวลาจำนวนปีและ วันเท่ากับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จพระอัยยิกาธิราช

• วันที่ 9 มิถุนายน 2539 เป็นวันที่ ทรงครองราชย์สมบัติครบ 50 ปี รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เพื่อถวายเป็นราช สักการะและถวายพระพรชัยมงคล พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่องานว่า "พระราชพิธีกาญจนาภิเษก" นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษ อีกวาระหนึ่งที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

• วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ได้มีงาน "พระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุ 73 พรรษา เท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราช" (สมมงคล อ่านว่า สะ-มะ-มง-คล) คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุได้ 26,469 วัน เท่ากับพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

• วันที่ 9 มิถุนายน 2549 ปีนี้ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่องานว่า "พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี" ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งพสกนิกรชาวไทยต่างร่วมใจ กันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อถวายเป็นราชสักการะ และร่วมเฉลิมฉลอง โอกาสมหามงคลครั้งนี้ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือจะมีประมุขและพระบรมวงศานุวงศ์จากมิตรประเทศมาร่วม ถวายพระพรด้วย

• และใน วันที่ 5 ธันวาคม 2550 จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ซึ่งได้ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อมา แล้วว่า "พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550" ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่ เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช "ในหลวง ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย" ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่ง การทรงครองราชย์ นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 ตราบจนปัจจุบัน เป็นเวลา 60 ปีเต็ม จนกล่าวได้ว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ทรงครอง ราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ได้ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาบำเพ็ญ พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวงเพื่ออาณาประชาราษฎร์ของพระองค์อย่างมากมายมหาศาลตลอดมา จนยากยิ่งที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใด หรือประมุขของประเทศใดในโลก มาเทียบเคียงได้ ดังนั้น ในโอกาสมหามงคลสมัยนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ท่าน ด้วยการตั้งใจ "ทำความดี" และ "รู้รักสามัคคี" ถวายเป็นพระราชสักการะ ให้สมกับที่พวกเรา ได้มีบุญเกิดบนผืนแผ่นดินไทยที่มี "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" เป็นพระประมุขของชาติ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

คำสำคัญ (Tags): #ประวัติพ่อหลวง
หมายเลขบันทึก: 319530เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2009 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท