ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

นพ.ประเวศ วะสี กับ"จากขัดแย้ง..."แดง-เหลือง" สู่...แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง" พวกเราเข้าใจว่าอย่างไร?


การ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นจุดร่วมที่ทุกสี ทุกฝ่ายจะร่วมกันได้ เพื่อให้ประเทศไทยรอดจากมิคสัญญีกลียุคไปสู่จุดลงตัวใหม่ที่เปิดโอกาสให้ ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ยุคศรีอาริยะได้ เมื่อแก้ปัญหาเชิงโครง สร้าง ได้ การพัฒนาจิตใจตามหลักศาสนาก็เกิดง่ายขึ้น ความเป็นธรรมทางสังคมก็เหมือนศีล เมื่อสังคมมีศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกิดง่ายขึ้น สังคมที่มีศีล สมาธิ ปัญญา คือสังคมศรีอาริยะ

จากขัดแย้ง..."แดง-เหลือง" สู่...แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

โดย ประเวศ วะสี




1.ดื้อยา จนเข้าไอซียู

ถ้า ว่าประเทศไทยป่วย ก็เป็นความป่วยที่ดื้อยามาก ทั้งๆ ที่เรามีอะไรดีๆ มาก เช่น มีพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐ มีพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบและทรงคุณวิเศษ มีพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันผู้ทรงทำเรื่องดีๆ สอนเรื่องดีๆ มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน มีคนไทยอีกมากหลายที่พยายามทำเพื่อบ้านเมือง แต่ประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานได้ คือปัญหาความยากจนและการขาดความเป็นธรรม ความยากจนไม่ได้เกิดจากขาดการพัฒนาแต่เกิดจากการขาดความเป็นธรรม เมื่อพัฒนาไปบนพื้นฐานการขาดความเป็นธรรม ความไม่เป็นธรรมยิ่งเพิ่มขึ้น ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยยิ่งห่างมากขึ้น การใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมยิ่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่มีทางออก และความป่วยของประเทศทรุดหนักลงประดุจประเทศไทยเข้าไอซียู คนไข้ที่เข้าไอซียูถ้าฟื้นไม่ได้ก็ตาย

2.ขาดวิธีคิดเรื่องโครงสร้าง

ตาม หลักธรรมชาติ โครงสร้างกำหนดคุณสมบัติ แต่สังคมไทยขาดความคิดเชิงโครงสร้าง มักคิดเรื่องจิตใจโดดๆ แล้วพยายามพัฒนาจิตใจ ซึ่งก็เป็นของดี แต่ไม่ได้ผลเชิงมหภาค สังคมไทยก็ยังขาดศีลธรรมและขาดรุนแรงขึ้น ท่านอาจารย์พุทธทาสพยายามตะโกนบอกอย่างแรงๆ ว่า "ถ้าศีลธรรมไม่กลับคืนมา โลกาวินาศ" แต่ศีลธรรมก็ดิ่งไปลงเหวมากขึ้น เพราะโครงสร้างของสังคมทำให้ศีลธรรมเสื่อม ที่ว่าโครงสร้างกำหนดคุณสมบัตินั้น ที่เห็นได้ง่ายๆ ก็เช่น โต๊ะ เรือ บ้าน ทั้งๆ ที่ทำด้วยไม้เหมือนกัน ถ้าโครงสร้างมันเป็นโต๊ะมันก็มีคุณสมบัติเป็นที่วางของได้ ถ้าโครงสร้างเป็นเรือ มันก็มีคุณสมบัติลอยน้ำได้ ถ้าโครงสร้างเป็นบ้าน มันก็มีคุณสมบัติเป็นที่อยู่อาศัยได้

ธาตุออกซิเจนกับธาตุเหล็กมี คุณสมบัติต่างกันลิบลับ ทั้งๆ ที่ประกอบด้วยอนุภาคเหมือนๆ กันคือ โปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน แต่โครงสร้างต่างกัน หรือน้ำประกอบด้วยไฮโดรเจนและออกซิเจน แต่คุณสมบัติของน้ำเป็นของใหม่โดยสิ้นเชิง ไม่เหมือนไฮโดรเจนหรือออกซิเจนแต่อย่างใดเลย เพราะเมื่อไฮโดรเจนจับกับออกซิเจนเกิดโครงสร้างใหม่ขึ้น จึงกล่าวว่าโครงสร้างกำหนดคุณสมบัติ

ในสังคมมีโครงสร้าง โครงสร้างของสังคมกำหนดคุณสมบัติของสังคม โครงสร้างของสังคมไทยทำให้เศรษฐกิจไม่ดี การเมืองไม่ดี และศีลธรรมไม่ดี ทั้งๆ ที่เรามีศาสนาที่ดี และพระมหากษัตริย์ที่ดีในฐานะปัจเจกบุคคล เศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรม จะยังคงไม่ดีต่อไป หรือรุนแรงมากขึ้นจนเกิดมิคสัญญี กลียุค ตราบใดที่ยังไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

3.อย่าเหมาเข่งเรื่อง แดง-เหลือง

การ เหมาเข่งว่าพวกแดงคือพวกทักษิณหรือพวกคิดล้มเจ้า พวกเหลืองคือพวกอำมาตยาธิปไตยนิยมกษัตริย์ เป็นการลดทอนไปสู่การแบ่งขั้วมากเกินไป ทำให้ไม่เป็นความจริงและนำไปสู่ความรุนแรง

ในแต่ละสีมีความหลากหลาย เช่น ในพวกสีแดงมีคนจนที่ไม่มีทางออก มีพวกที่รักทักษิณด้วยหัวใจ พวกรับจ้าง พวกได้ประโยชน์จากทักษิณ พวกไม่ชอบสถาบัน ด้วยเหตุต่างๆ รวมทั้งพวกแดงอุดมการณ์ รวมทั้งอาจมีแดงที่ชอบสถาบันด้วยซ้ำไป ถ้าเราวิเคราะห์แยกแยะโดยพยายามเข้าใจเหตุปัจจัย ไม่เข้าไปสู่อารมณ์มากเกินไป ยิ่งถ้าเห็นทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วย ก็จะยิ่งเข้าใจ เห็นใจ และเข้าถึงความจริง

ในสังคมพหุลักษณ์ จะมีคนชอบสถาบันบ้าง ไม่ชอบสถาบันบ้าง เป็นธรรมดา คนที่ไม่ชอบก็อาจมีเหตุผลต่างๆ กัน เช่น ความแค้นจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม หรือเพราะพฤติกรรมของคนบางคนในแวดวงราชสำนัก คนที่เรียกว่าแดงอุดมการณ์นั้น คิดเชิงโครงสร้างและเห็นว่าสถาบันเป็นปัจจัยให้ดำรงโครงสร้างเดิมที่ไม่ ยุติธรรม ยากต่อการแก้ไข

พวกฝ่ายเหลืองนั้นมีจุดร่วมที่ "เกลียดทักษิณ" เพราะเห็นว่าทักษิณนั้นประกอบด้วยตัณหา มานะ ทิฐิ อย่างรุนแรง จะพาบ้านเมืองไปสู่ความเสื่อมเสียศีลธรรมและความรุนแรง ฝ่ายเหลืองนี้ใช่จะนิยมอำมาตยาธิปไตยไปเสียทั้งหมด ที่เกลียดรัฐประหารก็มี เป็นพวกที่คิดเชิงโครงสร้างเช่นเดียวกับฝ่ายแดงอุดมการณ์ก็มี อาจเรียกว่าเป็นพวกเหลืองอุดมการณ์

4.จุดร่วมคือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

ใน เมื่อทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดงก็มีผู้คิดเชิงโครงสร้าง และการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศไทยพ้น จากความติดขัดทางประวัติศาสตร์ไปสู่จุดลงตัวใหม่ได้ จึงควรมีความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง คนไทยทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกสถาบัน ควรคุยกันเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าสีน้ำเงินหรือผู้นิยมกษัตริย์เข้าร่วมและสนับสนุนความเคลื่อนไหวแก้ปัญหา เชิงโครงสร้างด้วย ก็จะเป็นคุณค่าแก่สถาบัน และแก่อนาคตของประเทศ

5.ร่วมสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด

ประเทศ ไทยมีทรัพยากรต่างๆ มากมาย เกินพอที่จะสร้างความสุขให้คนไทยทุกคน ลองพิจารณาประเทศที่ขึ้นชื่อว่าน่าอยู่ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ประเทศไทยมีทรัพยากรมากกว่าประเทศเหล่านั้น ทั้งในเรื่องที่ดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรายังมีทุนทางศาสนธรรมมากกว่า คนไทยควรจะร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด ที่คนไทยทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นคน มีความเสมอภาค ภราดรภาพ มีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา -ประชาธิปไตย อย่างเชื่อมโยงเป็นบูรณาการทั้ง 8 ประการ เมื่อมีการพัฒนาอย่างบูรณาการก็มีดุลยภาพ เมื่อมีดุลยภาพก็มีความเป็นปกติและความยั่งยืน

วิกฤตการณ์เกิดจากการ พัฒนาอย่างขาดดุลยภาพ การขาดดุลยภาพเกิดจากการพัฒนาอย่างแยกส่วน การสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่คือการพัฒนาอย่างบูรณาการไปสู่ดุลยภาพ

6.การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อพัฒนาไปสู่ดุลยภาพ

โครง สร้างที่ไม่เป็นธรรมนำไปสู่การเสียดุลยภาพ ความขัดแย้ง และความรุนแรง การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับความเป็นธรรมในทุกด้าน เช่น

(1) โครงสร้างทางจิตสำนึก วิธีคิด และจิตใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกที่สุด สังคมไทยเป็นสังคมชนชั้นมาแต่โบราณ จึงขาดการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน การเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเป็นศีลธรรม พื้นฐานทางสังคม ซึ่งเป็นรากฐานของสิ่งดีงามทั้งปวง เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม เมื่อประเทศไทยขาดศีลธรรมพื้นฐานนี้สิ่งดีงามทั้งปวงก็ไม่เกิดขึ้น ความที่มันเป็นโครงสร้างทางจิตสำนึก วิธีคิด และจิตใจ ความรังเกียจและอคติต่อชนชั้นล่างจึงเป็นไปโดยอัตโนมัติอย่างทั่วถึง ที่เผลอๆ ไปพระก็อาจรังเกียจคนจนเสียด้วยซ้ำไป สังเกตกันหรือเปล่าว่าหมามันเกลียดคนจนเพราะมันเอาอย่างคน

เราต้องสร้างจิตสำนึก วิธีคิด และจิตใจใหม่ ที่เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

(2) โครงสร้างทางวัตถุ เช่น ถ้าประชาชนมาก่อน ทางคนเดินต้องใหญ่กว่าทางรถวิ่ง ซึ่งจะทำให้ประหยัดพลังงาน คุณภาพอากาศดี และสุขภาพประชาชนดีขึ้น

(3) การใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เช่น การจัดสรรให้คนไทยมีที่ทำกินมากที่สุดจะทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข

(4) ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ต้องมีมาตรการต่างๆ ที่ไม่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากเกิน สภาพรวยกระจุกจนกระจาย นำไปสู่ความขัดแย้งในบ้านเมืองและวิกฤตการณ์ที่ทำอย่างไรก็แก้ไม่ได้

(5) ระบบความยุติธรรม ที่ยุติธรรมต่อคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน

(6) โครงสร้างทางสังคม สังคมไทยมีโครงสร้างทางดิ่ง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่าง โครงสร้างแบบนี้จะมีการโกงกินมากและมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ นานา เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี และจะไม่มีวันดีตราบเท่าที่โครงสร้างยังเป็นทางดิ่ง ต้องส่งเสริมให้ผู้คนสามารถรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง เกิดเป็นสังคมทางราบหรือประชาสังคม ควรส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานก็ดี เกษตรกรก็ดี รวมตัวกันเพื่อพัฒนาตัวเอง และมีเครื่องมือต่างๆ ของตัวเอง ตลอดจนสามารถต่อรองผลประโยชน์ของอาชีพของตนได้ และมีส่วนในการกำหนดนโยบายของประเทศ

(7) โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง ต้องกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งทุกด้าน และสามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีความสามารถในการนำประเด็นเชิงนโยบายที่เกิดในชุมชนท้องถิ่นไปสู่ นโยบายระดับชาติ

(8) ความเป็นธรรมทางสุขภาพ ลูกคนจนยังตายมากกว่าลูกคนรวยสามเท่า คนจนยังเจ็บป่วยและตายโดยไม่จำเป็น แม้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค จะขจัดความเดือดร้อนของคนจนในการรักษาพยาบาลไปได้มาก

(9) ระบบการศึกษาที่ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การศึกษาที่ท่องวิชาไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

(10) ระบบการสื่อสาร เพื่อความเป็นธรรม ระบบการสื่อสารเป็นเครื่องมือของรัฐและเงินเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ได้สื่อสารเพื่อความป็นธรรมแก่ประชาชนคนยากจน

ทั้ง 10 ประการเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างมีอีกลึกซึ้ง กลุ่ม องค์กร และสถาบันต่างๆ ควรนำเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างมาพูดคุยกันให้เกิดความชัดเจนถึงขั้นเอาไปลง มือปฏิบัติได้ คณะกรรมาธิการของรัฐสภาทุกชุดควรมีระเบียบวาระร่วมในเรื่องการแก้ปัญหาเชิง โครงสร้าง รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านควรมีระเบียบวาระเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง มหาวิทยาลัย และสื่อมวลชนควรยกการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างขึ้นมาศึกษาค้นคว้าสื่อสารกัน ให้การคิดเชิงโครงสร้างและการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นปกติวิสัยของสังคม ไทย

ตามปกติการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากมีความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น การปฏิวัติ การแพ้สงคราม ยามวิกฤตสุดสุด เป็นโอกาสที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ในยามที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งสุดสุด จนมาถึงชายขอบมิคสัญญีกลียุค หวังว่าทุกฝ่ายจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยร่วมกันแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

การ แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นจุดร่วมที่ทุกสี ทุกฝ่ายจะร่วมกันได้ เพื่อให้ประเทศไทยรอดจากมิคสัญญีกลียุคไปสู่จุดลงตัวใหม่ที่เปิดโอกาสให้ ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ยุคศรีอาริยะได้

เมื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้ การพัฒนาจิตใจตามหลักศาสนาก็เกิดง่ายขึ้น ความเป็นธรรมทางสังคมก็เหมือนศีล เมื่อสังคมมีศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกิดง่ายขึ้น สังคมที่มีศีล สมาธิ ปัญญา คือสังคมศรีอาริยะ

หมายเลขบันทึก: 319522เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2009 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

อ่านเรื่องยากที่ขัดแย้งกันแต่ก็ทำให้เย็นได้เพราะมีเหตุผลและก็เกิดปัญญาอีกด้วย

นมัสการพระคุณเจ้า

มองว่าทั้งแดง ทั้งเหลือง ต่างก็มาจากความคิดหลากแง่มุม ความคิดหลักตรงกันกับสีใด ก็เข้าร่วมกับสีนั้น

อย่างที่ในบทความว่า ฝ่ายเหลืองบางกลุ่มก็มีความคิดตรงกับฝ่ายแดง แต่ความคิดหลักคงขัดแย้งจึงเลือกที่จะรวมกับฝ่ายเหลือง

อีกนานไหมเจ้าคะ เราจึงจะพบทางออก

นมัสการพระคุณเจ้า

ความคิดเห็นทางการเมือง เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล ไม่ว่าทั้งแดง และ เหลือง ประชาธิปไตยจะเบ่งบานถ้าทุกคนรู้จัก สิทธิ และหน้าที่และดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดี แต่หากเมื่อใดต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมรับกติกา ความวุ่นวายย่อมเกิดขึ้น ประชาธิปไตยของไทยต่อให้มีรัฐธรรมนูญอีกซัก 100 ฉบับก็แก้ไขได้ยาก หากคนไทยยังไม่พร้อมที่จะเปิดอ่าน หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง เราก็ไปตามพวกพ้องน้องพี่ ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ยังน่าเป็นห่วง...ผลต่างตอบแทน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ยังมีให้เห็นพระคุณเจ้าฯ ....เมื่อไหร่ที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง (เป็นคนดีจริง ๆ) เมื่อนั้น การเมืองไทยคงเปลี่ยนไปอีกเยอะ...แต่คงอีกนานนนนนนนนนนเจ้าค่ะ

นมัสการด้วยความเคารพ

ขอบคุณและอนุโมทนาสำหรับทุกมุมมอง

สีก็คือสี ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง หรือสีน้ำเงิน เมื่อมองสีสามารถตีความได้อย่างน้อยสองอย่างคือ (๑) ในเชิงอัตวิสัย สีมีคุณค่าในตัวของมันเอง ถึงแม้ใครจะไม่ให้ค่าหรือตีความก็ตาม และ (๒) ในเชิงปรวิสัย สีไม่ได้มีคุณค่าในตัวของมันเอง มันจะมีค่าหรือไ่ม่มีค่าขึ้นอยู่กับการให้ค่าของมนุษย์

เราโชคดี หรือโชคร้ายก็ไ่ม่รู้ที่ได้เกิดในเมืองไทย และได้เห็นเทศกาลการเล่น หรือการแข็งขัน "กีฬาสี" มาหลายปีแล้ว

กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ

ผมว่าไม่ว่าจะสีใดก็ล้วนแต่อยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ ทุกสีก็ล้วนแต่เป็นคนไทยเหมือนกัน ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมมนุษย์ เพียงแต่อย่าเอาความคิดที่แตกต่างนั้นมาเป็นความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็แล้วกัน เพราะไม่ว่าจะโจมตีฆ่าฟันกันอย่างไรเราก็หนีความจริงไม่พ้นว่าเราก็คนไทยเหมือนกัน ทุกคนล้วนเป็นญาติพี่น้อง เป็นเพื่อนผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เอาความเห็นที่แตกต่างกันมาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญจะดีกว่า สาธุครับ.....

อาจารย์พระมหาประเสริฐครับ

ขอบคุณครับสำหรับมุมมองที่ดีและมีคุณค่า และหวังว่าจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่แวะเวียนมาแลกเปลี่ยนกัน

ขอบคุณและอนุโมทนาสำหรับทุกมุมมอง

สีก็คือสี ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือง หรือสีน้ำเงิน เมื่อมองสีสามารถตีความได้อย่างน้อยสองอย่างคือ (๑) ในเชิงอัตวิสัย สีมีคุณค่าในตัวของมันเอง ถึงแม้ใครจะไม่ให้ค่าหรือตีความก็ตาม และ (๒) ในเชิงปรวิสัย สีไม่ได้มีคุณค่าในตัวของมันเอง มันจะมีค่าหรือไ่ม่มีค่าขึ้นอยู่กับการให้ค่าของมนุษย์

เราโชคดี หรือโชคร้ายก็ไ่ม่รู้ที่ได้เกิดในเมืองไทย และได้เห็นเทศกาลการเล่น หรือการแข็งขัน "กีฬาสี" มาหลายปีแล้ว

นมัสการพระคุณเจ้า

นับว่าเป็นประโยชน์ที่ให้แนวคิดสำหรับประชาชน

โยมชัยวัฒน์ ขอบใจมากที่เข้ามาให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท