บางมุมของการศึกษา


ในเมืองไทย ไม่ค่อยมีเด็กนักเรียนมัธยมมาฝึกงานกัน หรือเรียนรู้ดูงาน และมักจะได้รับคำถามว่า ยังเป็นแค่เด็กนักเรียนที่เรียนไม่จบ จะมาฝึกงานทำไม ในขณะที่ต่างประเทศนั้น จะมีการต้อนรับอย่างเป็นระบบกว่า...
อะตอมเล่าว่า เริ่มฝึกงานตั้งแต่เรียนอยู่ Year 11 ที่วินเชสเตอร์ คอลเลจ กับธนาคาร Standard Chartered ในประเทศไทย ตอน Year 12 ฝึกงานกับ HSBC ที่ลอนดอน ล่าสุดฝึกงานในทีมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์ จาติกวณิช...
เขาเล่าว่า การฝึกงานกับธนาคารในประเทศไทย และต่างประเทศนั้นให้ประสบการณ์ที่แตกต่างและหลากหลาย เพราะในเมืองไทย ไม่ค่อยมีเด็กนักเรียนมัธยมมาฝึกงานกัน หรือเรียนรู้ดูงาน และมักจะได้รับคำถามว่า  ยังเป็นแค่เด็กนักเรียนที่เรียนไม่จบ จะมาฝึกงานทำไม ในขณะที่ต่างประเทศนั้น จะมีการต้อนรับอย่างเป็นระบบกว่า...
ในต่างประเทศเขาเข้าใจว่าเราไม่ได้มาเป็น In put ให้เขา เพราะเราเป็นนักเรียนแต่จะไม่มีการสั่งให้เราไปชงกาแฟ ไปถ่ายเอกสาร แต่เขาจะจัดการให้เราได้ learning ด้วยการไปดูการทำงานของทุกแผนก โดยอาจจะใช้เวลาครึ่งวันไปที่แผนก อีกครึ่งวันก็เรียนรู้จากการดูเอกสาร
บรรยากาศการทำงานก็แตกต่างกัน ในต่างประเทศเขาค่อนข้างจะ Serious มาก แต่คนไทยก็จะดูผ่อนคลายกว่า ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงานที่หลากหลาย....
นี่คือส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ พศุตม์ วัชรสินธุ์ หรืออะตอม วัย 19 ปี หลานของนายกรัฐมนตรี่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ “พรายแสงดาว” ถ่ายทอดในหน้า “เยาวชนของเรา” ในสกุลไทยรายสัปดาห์ ฉบับที่ 2877 หน้า 130
ผมติดใจเรื่องการฝึกงานของนักเรียน และการให้ความร่วมมือของหน่วยงาน และกระบวนการฝึกงานของนักเรียนเหล่านี้ในต่างประเทศ
ที่ผมติดใจเพราะเมื่ออ่านบทความนี้แล้วนึกถึงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542 ที่ลูกสาวผมปิดเทอมที่ NZ กลับมาบ้านที่ขอนแก่นแล้วบอกผมว่าอยากไปฝึกงาน เราแปลกใจที่ลูกสาวเสนอในสิ่งที่เด็กที่เรียนมัธยมศึกษาทั่วไปไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เธอบอกว่า “เพื่อนๆเขาไปหางานทำกันทั้งนั้นช่วงปิดเทอม หนูก็อยากทำงานบ้าง” ผมแอบยิ้มแล้วก็ติดต่อโรงแรมห้าดาวแห่งหนึ่งที่ขอนแก่น ว่ามีเด็กมัธยมต้องการมาฝึกงาน โดยไม่ต้องการค่าตอบแทน ตอนนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ถึงกระบวนการนี้ แต่เห็นดีด้วย เพราะมิเช่นนั้นเด็กวัยรุ่นวัยนี้ก็จะเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง ถลุงเงิน พ่อแม่ แต่นี่เธออยากฝึกงาน จึงสนับสนุน และโรงแรมก็รับเธอเข้าทำงาน
วันแรกเท่านั้นเธอก็ร้องให้กลับมาเลย อิอิ...
ทำไมล่ะลูก.... ผมถามเธอ  เธอก็เล่าให้ฟังว่า เหมือนเหยื่อแรงงานที่จะมาทำงานขยะที่หัวหน้างานทิ้งขยะงานไว้ เธอถูกให้ไปเชคสต๊อคถ้วย ชาม แก้ว ฯลฯ ที่เป็นงานค้าง ตรวจเช็คใบสำคัญรับเงิน จัดระบบเข้าแฟ้ม เป็นงานที่หัวหน้างานทิ้งค้างไว้ทำไม่เสร็จก็โยนมาให้เด็กมาใหม่ทำต่อ ...1 สัปดาห์ผ่านไปเธอบอกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย นอกจากหัวหน้างานสั่งให้ไปทำโน่นทำนี่ ล้วนเป็นงานค้างที่ทำไม่เสร็จนั่นเอง....
เธอเกือบทนไม่ได้.. แต่เราก็นั่งคุยกับเธอว่า ไม่มีใครมาฝึกงานแล้วมาแต่งตัวสวยๆนั่งหน้าเคาท์เตอร์ ต้องผ่านงานพื้นฐาน งานขยะแบบนี้ก่อนทั้งนั้น (ทั้งๆที่ผมก็ไม่รู้เรื่องงานโรงแรม หรืองานระบบธุรกิจสักนิดเดียว)  แต่ก็พยายามให้กำลังใจเธอ  และเธอก็ทำงานแบบนั้นจนสิ้นสุดระยะเวลาที่ตกลงกันไว้คือประมาณ 1 เดือน ก่อนที่เธอจะเดินทางกลับไปเรียน ไฮสคูลต่อ เธอก็บอกว่า ก็ได้เรียนรู้มากเหมือนกัน เห็นหลังฉากของโรงแรมหรูระดับห้าดาวว่าเป็นเช่นไรบ้าง ...ขออนุญาตไม่กล่าวถึงเพราะจะไปกระทบชื่อเสียงเขานะ...
ปีถัดมาเธอขอฝึกงานอีก คราวนี้ไปติดต่อบริษัทเอเยนซี่ขายตั๋วเครื่องบินที่ขอนแก่น ก็เป็นสำนักงานสาขาของบริษัทหนึ่ง เมื่อผู้บริหารเขาทราบว่า มีเด็กพูดอังกฤษได้อยากมาฝึกงานแบบฟรีๆไม่ต้องจ่ายค่าแรง ก็ยินดีรับ คราวนี้เธอได้นั่งโต๊ะและช่วยงานหน้าฟร้อนท์มากขึ้น เข้าใจระบบการจัดการเรื่องตั๋วเครื่องบิน การจอง การเปลี่ยนแปลง การนัดหมาย ..ฯลฯ และเหนือกว่านั้นคือ การเรียนรู้ระบบการบริหารจัดการธุรกิจในประเด็นต่างๆ ขณะที่เธอยังเรียนไฮสคูล  แต่เด็กที่เรียนมหาวิทยาลัยในเมืองไทย ปิดเทอมก็ยังไม่มีใครมาฝึกงานแบบนี้เลย ไปสุมหัวอยู่โน่น ดิพาทเมนท์สโตร์
ประเด็น:
  • แนวความคิดเรื่องการฝึกงานในกรณีคุณอะตอม นั้น ยังไม่เกิดขึ้นในค่านิยมของเมืองไทย อาจจะมีบ้างแต่น้อยมาก
  • แนวความคิดเรื่องการฝึกงานแบบนี้ ทำไมไม่เกิดจากความคิดของนักวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ หรือ สถาบันอื่นๆ และขอรับการสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจให้เป็นการเข้ามาเพื่อเรียนรู้มิใช่มาใช้แรงงาน ก็เห็น ธุรกิจเมืองไทยกำลังทำ CSR กันมิใช่หรือ
  • ความหมายของการศึกษานั้นกว้างขวางมากกว่าการเรียนในห้อง การฝึกงานแบบดังกล่าวก็เป็นกระบวนการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่น่าสนับสนุนยิ่งนัก ทำไมไม่เกิดขึ้นในเมืองไทย
  • การฝึกงานแบบนี้ไม่มีคะแนนมาเกี่ยวข้อง เด็กเรียนรู้เต็มๆโดยไม่ต้องกังวลเรื่องคะแนน
  • การฝึกงานแบบนี้ช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่าตัวเองถนัดอะไร และไม่ถนัดอะไร จะช่วยให้เธอ เขา ตัดสินใจเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ชัดเจนมากขึ้น
ผมตั้งประเด็นได้อีกเยอะ แต่ให้ท่านลองตั้งประเด็นบ้างก็ดีเหมือนกันนะ..
หมายเลขบันทึก: 317517เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2009 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • คงเป็นเช่นนั้นจริงๆ นะครับ
  • บ้านเราไม่ค่อยใส่ใจเรื่องการฝึกงานเท่าไร
  • ไม่ว่าจะเป็นที่ตัว นศ.
  • สถานศึกษา หรือที่ที่ฝึกงาน
  • เห็นแต่ใช้ให้ทำโน่นนี่(บางครั้งเกี่ยวกับระบบงานน้อยมาก)
  • เขียนมากกว่านี้เดี๋ยวเขาจะว่าเอา 
  • อิอิ...
  • สบายดีนะครับ

สวัสดีครับสิงห์

  • เข้าใจครับน้องสิงห์ เวลาเราพูดเรื่องนี้มันเหมือนเข้าตัวเอง หน่วยงาน เพราะพี่เองก็รับเด็กมหาวิทยาลัยมาฝึกงาน แต่ไม่ใช่เด็กมัธยม และไม่มีวี่แวว หรือไม่มีในความคิดของโรงเรียนด้วยซ้ำไป
  • แต่ยกเว้นเด็กมัธยมจนๆที่ต้องไปทำงานเพื่อแลกเงินมาเรียนหนังสือหรือช่วยครอบครัว  แต่เป็นคนละวัตถุประสงค์ คนละเงื่อนไข กรณีนี้เรายกเว้น
  • ตอนแรกพี่เองก็เหมือนคนไทยอื่นๆที่ไม่ได้คิดตรงนี้เลย และคิดเหมือนคนไทยทั่วไปที่ว่า อ้าวก็ยังเด็กอยู่ ทำไมให้ไปฝึกงานแล้วล่ะ...  แต่ฝรั่งไม่ได้คิดเช่นนั้น(ไม่ได้ชมฝรั่งดีกว่านะครับ)
  • เมื่อลูกสาวไปฝึกงาน สักพักแล้วมาคุยกัน พบว่า เกิดแนวโน้มที่มีทัศนคติต่อชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม อาจจะเป็นเพราะว่าในครอบครัวเราคุยกันบ่อยๆ
  • พี่สบายดีครับ

สวัสดีค่ะพี่ท่านบางทราย

อาจเพราะจากทัศนคติ ค่านิยม การเลี้ยงดูของสังคมไทยก็ได้ค่ะ

ที่มักเห็นว่า ลูกยังเด็กเสมอ กว่าจะเริ่มทำงานจริงจัง ก็รอจบป.ตรี หรือบางคนป.โท

ช่วงระยะฝึกงาน เพียงแค่ ๓ เดือน ก็ยังน้อยไปสำหรับการเรียนรู้นะคะ เห็นด้วยค่ะ

นักเรียนจะได้ทราบว่า

ตัวเองถนัดอะไร และไม่ถนัดอะไร จะช่วยให้เธอ เขา ตัดสินใจเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ชัดเจน

พี่ท่านสบายดีนะคะ รักษาสุขภาพค่ะ

สาวปูที่คิดถึง สังคมไทยมองเด็กเป็นเช่นนั้นจริงๆ พี่ว่านะ บังเอิญลูกสาวพี่มีคนเดียว เขาเลยอยู่กับผู้ใหญ่ จึงได้รับอิทธิพลของผู้ใหญ่ไปเยอะครับ

 

ขอบคุณครับ

สวัสดีคะท่านบางทราย

พี่คอยอ่านบันทึกมานานมาก กว่าจะได้เจอ

เห็นและคิดอะไรหลายอย่าง

แต่ไม่อยากแสดงความคิดเห็นเพราะไม่อยากตอบคำถามว่าทำไมคุณพูดอย่างนั้น

เสียภาพพจน์หมด คุณต้องรักษาภาพพจน์ซิ

พี่ละเซ็งเป็ดเลย..แล้วเมื่อไหร่สังคมจะยอมรับภาพแห่งความจริง

เพื่อสังคมจะได้ร่วมกันแก้ไขให้ถูกต้อง....

พี่เองก็ให้ลูกฝึกงานตั้งแต่เล็กๆ

 อยากรู้ อยากทำอะไรบอกจัดให้

เพราะประสบการณ์แบบนี้ไม่มีในตำรา

ตำรามีแต่หลักการที่มักสวนทางกับความจริง

เพราะเรื่องจริงๆๆบ้านเราทำได้ยาก

คงติดขัดที่วัฒนธรรมความคิด

ขอบคุณค่ะที่เปิดประเด็นค่ะ

รักษาสุขภาพนะคะ

 

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

อ่านบันทึกนี้ตั้งแต่เมื่อวาน คิด ๆ อยู่นานค่ะ

คนไม่มีรากเองก็โตมาด้วยระบบการศึกษาไทย...เช่นกัน แถมยังมาทำงานในหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายการศึกษาของชาติเสียอีกด้วย...

...ไม่ได้ตำหนิว่าการศึกษาไทยล้มเหลวค่ะ เพราะระบบการศึกษาก็คือหนึ่ง "ในปัจจัยภายนอก" ที่มีหลาย ๆ ปัจจัย  แต่... "ปัจจัยภายในตัวเอง" ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้คิด รู้เลือก รู้ทำ...

คิดเพียงแต่ว่า การศึกษาของไทย ควรจะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองมี "ทางเลือก" ที่หลากหลายกว่านี้  เมื่อมีทางเลือกที่หลากหลาย เขาก็จะเห็นและรู้จัก "เลือก" สิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองค่ะ

ขอบคุณค่ะ

(^___^)

สวัสดีครับคุณครูต้อยติ่ง

ขอบพระคุณหลายๆเด้อครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนกันครับ

เดิมทีผมก้ไม่ได้เห็นประเด็นนี้ แถมแปลกใจอย่างที่น่าจะเป็นคนไทยส่วนใหญ่ที่ว่า ยังเด็กอยู่ไปฝึกงานทำไม...แต่เมื่อลูกเอ่ยปากเองและดี แทนที่เขาจะไปหาเพื่อนๆและนัดเที่ยวเล่นกันมากเกินไปอย่างที่เราเห็นๆกัน เธอกลับอยากไปทำงาน....

เราเป็นพ่อเป็นแม่ก็ดีใจที่ลูกคิดเช่นนั้นก็สนับสนุนทันที เราก็พอมีเพื่อนฝูงบ้างลองติดต่อดูก็ได้รับการตอบรับที่ดี  ยิ่งเราบอกว่ามาฝึกงานหาประสบการณ์ไม่ต้องการเงินตอบแทน เขายิ่งชอบ อิอิ...

แต่มันก็เป็นสังคมไทย และเป็นกิจกรรมใหม่ที่เป็นเช่นนี้ หัวหน้างานก็ดีใจที่มี "แรงงานเพิ่ม" เมื่อไม่ได้เอาคะแนน ก็สั่งเก็บขยะซะเลย

แม้เด็กจะผิดหวังในระยะแรก  แต่ต่อมาก้เข้าใจครับ  ผมเองก็คิดว่า จะอย่างไรก็ได้ประสบการณ์ครับแม้ว่าจะต่างจากเมืองนอก แต่สังคมเราก็คงค่อยๆพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นน่ะครับ  รวมทั้งระบบกา่รศึกษาด้วย

น้องคนไม่มีรากครับ  แม้ว่าพี่จะจบการศึกษามา และดุดันกับระบบการศึกษามาพอสมควร แต่ก็ไม่ต้องการล้มกระดาน ส่วนดีๆก็มีมากมาย ส่วนบกพร่องก็พัฒนากันไป ปรับกันไปครับ

 

เมื่อวานฟังรายการทีวีรายการหนึ่ง วิทยากรกล่าวถึงว่า ระบบการศึกษาในกลุ่มอาชีวศึกษา ราชภัฏ ราชมงคล ก็มีหลักสูตรเชิงปฏิบัติค่อนข้างมาก แต่ก็ยังไม่พอ

วิทยากรท่านนั้นแสดงทัศนะว่า อย่างวิทยาลัยที่สอนเรื่องการเกษตร ก็น่าที่จะเอาเด็กลงไปทำการเกษตรตลอดฤดูกาลเลย แล้วครุก็ไปสอนไปสรุปไปแนะนำกันในแปลงนั้นเลย เอาชาวบ้านมาเป็นวิทยากรร่วม เห็นภาพเลย..

พี่เองคิดว่ามีคนคิดเรื่องนี้เยอะ แต่ระบบอาจจะไม่เปิดให้มากเท่าไหร่ ยกเว้นกลุ่มเอกชนที่สามารรถจัดทำได้กว้างกว่า

นึกถึงสำนักตักศิลาสมัยโบราณนะครับ ที่ใครสนใจอะไรก็เดินทางข้ามป่าข้ามเขาไปฝากเนื้อตัวกับสำนักนั้น  แล้วอาจารย์สำนักนั้นก็มีการทดสอบความตั้งใจ หากไม่ผ่านขั้นตอนใด ก็ต้องเริ่มใหม่  และทำทุกอย่างที่อาจารย์สั่ง  ซึ่งบางทีงานที่ทำไม่เกี่ยวกับวิชาที่ต้องการเรียนรู้ในสายตาคนเรียน แต่สายตาอาจารย์นั้น มันเกี่ยวเนื่องกัน...

บางทีเราก็ทึ่งที่สาวบ้านนอกได้สามีฝรั่ง พูดอังกฤษเป็นไฟแลบ ดีกว่าคนที่เรียนมาสิบกว่าปี สอบถามเธอก็บอกว่า ไม่ได้เรียน ฝึกพูดเอาเอง งูๆปลาๆไปก่อนแล้วก็ดีขึ้นมาเอง  แบบนี้เราก็รู้กันดี

ในบทความที่น้องคนนี้ให้สัมภาษณ์นั้นบอกอีกว่า เมื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยก้เรียนเพียงแค่ 4 วิชาเอง  ไม่มากมายเหมือนบ้านเรา

อย่างไรก็ตามพี่คิดว่า น้องคนไม่มีรากนั้นย่อมรู้กระจ่างมากกว่าพี่น่ะครับ สนับสนุนการศึกษาที่เข้าใจวัฒนธรรมตะวันออกของเราครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท