ส่งขึ้นฝั่ง


พลังอำนาจของเอกซเรย์เฉกเช่นนี้ มีมาช้านานแล้ว อาจจะนับได้ตั้งแต่ยุคกำเนิดจักรวาล แต่มนุษย์เพิ่งรู้จักเอกซเรย์เมื่อประมาณ 114 ปีมานี้เอง

 

 

 

 

ดวงอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้า                 พุ่งผ่านปัทมาบนน้ำใส
      ทั้งที่ตูมแต่มองเห็นเด่นภายใน               แปลกฤทัยใยแสงจึงแรงนัก
         ดุจรังสีสาดส่องกายา                            ผ่านออกมาภายในจึ่งประจักษ์
    ธรรมชาติลิขิตไว้ประหลาดนัก               ให้ทายทักโรคได้สบายเอย

 

 

     “เอกซเรย์ถูกค้นพบโดยศาสตราจารย์เรินท์เกน (Wilhelm Conrad Roentgen) แห่งสถาบันฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Wurgburg ประเทศเยอรมัน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1895 เวลาบ่าย” เป็นข้อความที่ผมต้องกล่าวถึงเสมอ เมื่อเวลาที่สอนนักศึกษารังสีเทคนิค เพื่อให้ระลึกเสมอว่า วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์ทางด้านรังสีวิทยา เนื่องจากเรินท์เกนนำเอกซเรย์ไปถ่ายภาพมือของ Bertha ซึ่งเป็นภรรยาของเขาเอง ทำให้เกิดภาพเอกซเรย์ภาพแรกของโลกในวันนั้น

 อีกข้อความหนึ่งที่ผมจะกล่าวตามมาเสมอ คือ “ข้าพเจ้าไม่ชอบเดินตามถนนใหญ่ที่ผู้คนใช้กันมากๆ ข้าพเจ้าชอบปีนป่ายหน้าผา บุกป่าฝ่าหนาม ถ้าข้าพเจ้าหายไป อย่าไปตามหาตามถนนใหญ่” ซึ่งเป็นคำกล่าวของเรินท์เกนหลังจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์คนแรกของโลก เมื่อ ค.ศ. 1901

   เมื่อเวลาผ่านไป เอกซเรย์ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แสดงออกให้เห็นถึงพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรค์อย่างยิ่งยวด เอกซเรย์สามารถช่วยพยุงชีวิตของผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่มีการแยกชั้นวรรณะ ไม่ว่าใคร เด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย จะยากดีมีจนขนาดไหน จะเป็นคนดีหรือคนร้าย หรือแม้แต่สัตว์ ก็ไม่สามารถต้านทานพลังอำนาจในเชิงสร้างสรรค์ในการทะลุผ่านเข้าไปข้างในของมันได้ ความลับทางรังสีเชิงกายวิภาคศาสตร์ ที่อยู่ภายในร่างกายของเขาเหล่านั้น จึงถูกเปิดเผยออกมา มิใช่เพื่อดูเล่นสนุกๆหรือล้วงความลับอะไร แต่เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรค พลังอำนาจของเอกซเรย์เฉกเช่นนี้ มีมาช้านานแล้ว อาจจะนับได้ตั้งแต่ยุคกำเนิดจักรวาล แต่มนุษย์เพิ่งรู้จักเอกซเรย์เมื่อประมาณ 114 ปีมานี้เอง  

 

 
นักศึกษารังสีเทคนิค ที่กำลังจะสำเร็จเป็นบัณฑิตรังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผ่านการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยรวม 4 ปีเต็ม ทุกคนต่างได้รับการประสิทธิ์ประสาทความรู้ความสามารถ ทั้งวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ฯลฯ ทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ ตามสมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคอย่างสมภาคภูมิ จากสถาบันที่เป็นต้นน้ำแห่งวิชาชีพรังสีเทคนิคของประเทศไทย นับแต่นี้เป็นต้นไป นักศึกษาที่กำลังจะกลายเป็นบัณฑิตรังสีเทคนิคทุกคน พร้อมที่จะออกไปรับใช้สังคมอย่างเต็มกำลังความสามารถ และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคน จะมีหัวใจที่ยึดมั่นในความดี เสียสละ และใฝ่รู้ ดุจดังเอกซเรย์ที่ยังคงมีพลังอำนาจที่ไม่เคยเปลี่ยนแปร และจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ตราบนานเท่านาน 
 

ส่งขึ้นฝั่ง ตั้งจิต ให้คิดหวล
ก่อนเคยรวน บ้างเคยรั้น สุดสรรหา
มาวันนี้ มีเครื่องครบ สยบจักรา
ต้องจากลา เหล่าบัณฑิต สมจิตปอง

อันตัวครู แม้ตัวไกล ใจยังอยู่
ไม่หดหู่ สู้ต่อได้ ไม่หม่นหมอง
มองดูเจ้า ก้าวต่อไป ใฝ่ครรลอง
วันหนึ่งต้อง สำเร็จกิจ ที่คิดเอย 
 

 Facebook :

Radiological Technology, Mahidol University (RTMU): รังสีเทคนิค มหิดล

           

คำสำคัญ (Tags): #rtmu
หมายเลขบันทึก: 317508เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2009 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีครับ

ขอแสดงความยินดีกับทุกคนด้วย รังสีเทคนิคสายเลือดใหม่รับใช้สังคม ครับ

กราบสวัสดีอาจารย์

ด้วยความสำนึกในพระคุณที่อาจารย์ทุกท่านประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เป็นคนเต็มคน

จะน้อมรับคำสอน ตักเตือนของอาจารย์ไปปฏิบัติตลอดไป และภาคภูมิใจที่จะเป็น

บัณฑิตรังสีเทคนิคในอีกอึดใจนี้

กราบขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณอาจารย์มานัสและอาจารย์ทุกท่านเลยค่ะ ที่คอยช่วยรดน้ำพรวนดินจนต้นกล้าเล็ก ๆ ตอนนี้โตพอที่จะเอาออกไปปลูกข้างนอกได้แล้ว เปิ้ลโตจากที่นี่ และก็ยังไม่เคยลืมวันที่สอบ term paper ผ่านและรู้ว่าตัวเองจบ ซึ่งสำหรับเปิ้ลมันตื่นเต้นกว่าวันรับปริญญาเสียอีก

และก็ต้องขอแสดงความยินดีกับน้องๆ ทุกคน ที่ผ่านพ้นอุปสรรคทุกอย่างไปได้ ต่อไปนี้ชีวิตจริงกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว สำหรับเปิ้ลชีวิตจริงที่ต้องไปเผชิญข้างนอก ไม่เคยรู้สึกห่างไปจากอาจารย์ทุกท่านเลยค่ะ ยังได้รับความช่วยเหลือตลอดเวลาเป็นอย่างดี ถึงแม้จะจบไปแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้ลงทะเบียนเรียนแล้ว แต่มีอะไรก็ยังคงปรึกษาได้ตลอด ทุกเรื่องจริงๆ ค่ะ ขอบคุณค่ะ

ผลิตบัณฑิตดีๆ ออกมาอีกเยอะๆ นะคะ

น้องครับ สถานศึกษานั้นทำหน้าที่แค่ติดอาวุธ คือวิชาความรู้ให้กับน้องเท่านั้นนะ แต่เป็นหน้าที่ของน้องที่ต้องไปหาความชำนาญการใช้อาวุธในสนามรบเอง มีอยู่ 3 ทักษะที่จะทำให้น้องใช้อาวุธได้ชำนาญและป้องกันตนเองได้

1) ทักษะการทำงาน จงทำให้มาก อย่าเกี่ยงงาน การทำมากจะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ แต่อย่าทำอย่างเดียวจนเป็นแค่ทำตามความเคยชิน เป็น routine อย่างนี้เรียกว่าแค่ “ทำงานได้”

2) ทักษะการใช้ปัญญา ต้องรู้จักคิด หาเหตุผลว่าทำไมจึงต้องทำงานอย่างนั้น อย่างนี้ ทำงานอย่างรู้จริง รู้จักประยุกต์ พลิกแพลงการทำงาน ในการทำงานไม่มีใครจะมาคอยสอนเราหรอกนะ จึงต้องไม่กลัวที่จะถาม มีอยู่ 2 กลัว คือ กลัวถูกว่า กับ กลัวเสียหน้า การถามจะทำให้พี่ๆ หรือรังสีแพทย์ พอใจว่าเราเป็นคนกระตือรือร้น ชอบเรียนรู้ และเต็มใจที่จะสอน แต่ไม่ใช่ถามซ้ำเรื่องเดิมๆ นะ จะโดนด่าเอา การทำงานด้วยความรู้จริงไม่ใช่ตามความเคยชิน อย่างนี้จึงจะเรียกว่า “ทำงานเป็น”

3) ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหา เมื่อทำงานผิดพลาด ต้องยอมรับความจริงและเรียนรู้จากความผิดพลาด รู้ว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้ผิดซ้ำ และรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรหากเกิดขึ้นอีก ต้องกล้าตัดสินใจ โดยเทียบข้อดีข้อเสียและผลกระทบประกอบการตัดสินใจ อย่าโยนการตัดสินใจไปให้ผู้อื่น เพราะจะทำให้เราเสียนิสัยไม่น่าคบ แสดงถึงความเป็นคนไม่กล้ารับผิดชอบงาน เมื่อทำงานผิดพลาดมักจะเกิดอาการอยู่ 2 อย่าง คือ เสียใจและเสียความมั่นใจ ทำให้มักจะเลี่ยงที่จะทำงานชิ้นนั้นอีก ซึ่งใช้ไม่ได้เพราะจะทำให้เราไม่เก่งในงาน อีกอาการคือ ไม่ยอมรับความผิด แถมยังหยิ่งอีกต่างหาก อย่างนี้ก็จะไม่มีใครกล้าแนะนำหรือสอนในสิ่งที่ถูกต้องให้เรา

นอกจากนี้ในชีวิตการทำงานน้อง ๆ ยังต้องเรียนรู้การทำงานเป็นทีม การมีน้ำใจ การให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน และอารมณ์ของผู้คนอีกหลากหลาย ดังนั้น จงสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองด้วยการพยายามมองสิ่งต่างๆ รอบตัวในด้านบวก และมีรอยยิ้มตลอดเวลา ก็จะทำงานได้อย่างมีความสุข ขอให้น้อง ๆ ทุกคนจงโชคดีในสนามรบ เป็นนักรบที่เก่งกล้านะ

พี่บุ๊ง รุ่น 17

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท