รวมพลังสร้างชุมชนเข้มแข็ง (๒)


ให้มีความมั่นใจ-เชื่อมั่นในพลังของทีมงานและชุมชน ใช้เวลาและโอกาสในการเสริมเติมต่อพลังซึ่งกันและกันให้เข้มแข็ง...

เมื่อวันที่ ๒๐ -๒๑ สิงหาคมที่ผ่านมา คปสอ.เมืองได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "รวมพลังสร้างชุมชนเข้มแข็งรุ่นที่ ๒ ขึ้น ครังนี้ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย แกนนำชุมชน อสม. และผู้แทนจาก อบต. ใน ๔ ตำบล คือ ตำบลตะกุด ตลิ่งชัน ดาวเรือง และนาโฉง  โดยตำบลดาวเรืองและนาโฉงร่วมคิดกลุ่มเดียวกันเนื่องจากเป็นตำบลข้างเคียงที่ใช้บริการศูนย์สุขภาพชุมชนเดียวกัน

กิจกรรมการประชุมเป็นไปตามโครงร่างหลักสูตรรวมพลังสร้างชุมชนเข้มแข็ง ที่ได้จัดไปแล้วในรุ่นแรก มีการปรับปรุงกระบวนการเล็กน้อย คือ ตั้งแต่กิจกรรมที่ ๖ (การกำหนดตัวชี้วัดของวิสัยทัศน์ร่วม)เป็นต้นไป ทีมวิทยากรได้จัดให้ผู้เข้าประชุมคละกลุ่มใหม่และหมุนเวียนฐานคิดเพือสร้างความรู้สึกร่วมว่าเป็นการร่วมคิดของทั้งภาคี ไม่ใช่ความคิดของแต่ละตำบล

ในท้ายที่สุดผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้ง ๔ ตำบลได้กำหนดเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า "เมืองน่าอยู่ เศรษฐกิจเฟื่องฟู เชิดชูวัฒนธรรม เลิศล้ำการศึกษา ก้าวไกลพัฒนา ชาวประชาสามัคคี" มีการจัดตั้งภาคีเครือข่ายชื่อ "กลุ่มป่าสักสามัคคี สระบุรีน่าอยู่" โดยกลุ่มได้เลือกท่านรองประธานอบต.ดาวเรืองเป็นประธาน และเลือกคณะกรรมการอื่น ๆ ครบถ้วนเหมือนรุ่นแรก  มอบหมายให้แต่ละตำบลเลือกกิจกรรมโครงการที่ร่วมกันคิดได้ไปดำเนินการตำบลละ ๒ โครงการ และนัดหมายประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งต่อไปใน ๒ เดือนข้างหน้า โดยทางตำบลดาวเรืองรับจะเป็นเจ้าภาพด้านสถานที่

ข้อสังเกตที่ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ พอสรุปดังนี้

  • แรก ๆ ทีมงานมีความวิตกในการมีส่วนร่วมของผู้เข้าประชุม เนื่องจากสถานที่จัดประชุมอยู่ใกล้บ้าน และผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เลือกเดินทางมาเอง แต่เมื่อถึงวันประชุมพบว่า ทั้งหมดอยู่ร่วมประชุมตลอด ไม่มีการหลบเลี่ยงหรือกลับก่อน แม้บางท่านจะไม่พักค้าง แต่ก็กลับมาร่วมประชุมในวันที่ ๒ ตรงเวลาจนเสร็จสิ้น
  • ยังคงมีปัญหาข้อจำกัดด้านเวลาในวันแรกจากการที่มีกิจกรรมที่ต้องให้คิดจำนวนมาก อัดแน่นจนทำให้บรรยากาศในช่วงบ่ายเริ่มเครียดและอ่นล้าไปบ้าง ซึ่งทีมงานได้ทบทวนและตกลงว่ารุ่นต่อไปจะปรับลดรายละเอียดในช่วงเช้าให้กระชับลง เพื่อให้มีเวลาทำกิจกรรมสำคัญให้ทันตามกำหนดการในช่วงบ่าย
  • มีข้อขัดข้องเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลเพื่อค้นหาความเป็นจริงในปัจจุบันคล้ายรุ่นแรก กล่าวคือข้อมูลพื้นฐานที่ฝากให้ผู้เข้าประชุมและพี่เลี้ยงเตรียมมาไม่ครบถ้วนในบางกลุ่ม  และรูปแบบของข้อมูลที่กำหนดให้เตรียมมาเป็นแบบปลายปิด ทำให้รู้สึกว่ากลุ่มถูกจำกัดความคิดอยู่บ้าง ทีมพี่เลี้ยงได้ตกลงปรับปรุงแบบสำรวจข้อมูลครั้งต่อไปให้เปิดกว้างไว้ และเตรียมแก้ไขการตั้งประเด็นคำถามเพื่อค้นหาปัญหาในปัจจุบันของชุมชนโดยให้มองกว้างกว่าข้อมูลที่เตรียมมา แต่ให้กลุ่มหาเหตุผลยืนยันให้ได้ว่ารู้ได้อย่างไรว่าเรื่องนั้นเป็นปัญหาจริง
  • ครั้งนี้มีผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมคิดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำบลดาวเรืองส่งท่านรองประธานอบต.และท่านกำนันเข้าร่วมประชุม ทำให้มีฐานความคิดในการพัฒนาที่กว้างกว่าการปรับปรุงพัฒนาเรื่องทางสาธารณสุขเพียงด้านเดียว  แต่มีการคิดด้านอื่น ๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาสุขภาพ และมีโอกาสนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น
  • บางตำบลอย่างตำบลตลิ่งชัน ได้เลือกส่งผู้เข้าประชุมจากหมู่บ้านเดียวกันทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าต้องการสร้างทีมที่แข็งแกร่งให้ได้ทีมหนึ่ง แล้วจะไปทำหน้าที่ร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการขยายผลสู่หมู่บ้านอื่น ๆ ต่อไป
  • ในครั้งนี้บางตำบลสามารถค้นหาทุนทางสังคมของตนเองได้มากมาย จนกลุ่มเองก็รู้สึกทึ่งเพราะไม่เคยคิดรวบรวมมาก่อนว่าตำบลของเขาจะมีทุนมากมายขนาดนั้น และก็คิดต่อว่าจะนำกลับไปรวบรวมไว้ให้เป็นระบบเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาต่อไป

ผมได้มีโอกาสพูดคุยส่วนตัวกับผู้เข้าประชุมบางท่าน และได้รับทราบข้อคิด-ข้อกังวลบางอย่างที่บังเอิญตรงกับใจอยู่ ๒ ประเด็น คือ

  • ท่านรองประธาน อบต.ดาวเรืองได้แสดงความเป็นห่วงกับผมว่าเราจะมีแนวทางติดตามสร้างความต่อเนื่องของโครงการและประเมินผลได้อย่างไร มีความกังวลว่าหลังจากร่วมคิดกันแล้วจะเลือนหายไปไม่มีการร่วมทำ หรือร่วมทำในตอนต้นแล้วไม่มีการติดตามแล้วจางหายไปในที่สุด

เรื่องนี้อยู่ในแผนของทีมงานอยู่แล้ว คือจะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินโครงการที่แต่ละตำบลได้เลือกไปทำภายใน ๒ เดือนข้างหน้า  ในระหว่างนี้วิทยากรกระบวนการ(พี่เลี้ยง)แต่ละตำบลจะต้องลงไปกระตุ้น สนับสนุน และช่วยเหลือคลี่คลายปัญหาให้กับกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ต้องช่วยให้เกิดความเคลื่อนไหวแบบ"ร่วมทำ"ในพื้นที่ให้ได้ เพราะเราเชื่อมั่นว่า ผลการดำเนินงานในพื้นที่ของกลุ่มเอง(ทั้งที่ทำได้ดีแล้วและที่ยังมีอุปสรรค) และของกลุ่มอื่นในภาคีจะเป็นปัจจัยเสริมพลังให้กับกลุ่มในการร่วมคิดและร่วมทำในรอบต่อ ๆ ไป

  • ผู้เข้าประชุมท่านหนึ่งกังวลว่า สิ่งที่เราร่วมกันคิดไว้หลายเรื่องอาจไม่สามารถนำไปร่วมทำในพื้นที่ได้เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือหรือทุนจากหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้มาร่วมคิดด้วย ทำให้เขาอาจไม่เข้าใจและไม่เต็มใจสนับสนุน

เรื่องนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่สุดของโครงการซึ่งทีมงานของเราก็ตระหนักดี ทีมงานบางท่านคิดว่าถ้าไม่สามารถรวบรวมหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะองค์การส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมหรือร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการด้วยได้ ก็ไม่อยากจะดำเนินการ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ออกแรงสูญเปล่า เพราะชาวบ้านจะโดดเดี่ยวขาดการสนับสนุน และร้ายกว่านั้นอาจจะถูกรบกวนด้วยกิจกรรมหรือโครงการแบบสั่งให้ทำจากส่วนกลางผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ทำให้สิ่งที่เขาร่วมกันคิดและต้องการทำกลับถูกละเลยไม่เหลียวแล ... ข้อกังวลนี้อาจคลี่คลายด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ

๑. เราจะไม่ละเลย และจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการชักชวนหาแนวร่วมจากหน่วยงานข้างเคียงภาครัฐ ทั้งส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้เข้าร่วมคิด ร่วมกระบวนการด้วย แต่ในขณะที่ยังไม่สามารถหาแนวร่วมได้ หรือได้ไม่มากนักเราก็จะไม่หยุดรอที่จะสร้างพลังให้กับชุมชนที่พร้อมจะเรียนรู้ เพราะการหยุดรออยู่นิ่งก็เท่ากับเสียโอกาสและถอยหลัง

๒. เราจะเปิดโอกาสให้ชุมชนคิดกิจกรรมพัฒนาอย่างเต็มที่ แล้วจัดหมวดหมู่กิจกรรมออกเป็น... ประเภทแรก สิ่งที่เขาทำได้เองด้วยทุนภายในชุมชน ประเภทที่ ๒ สิ่งที่เขาต้องทำร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานอื่น  และประเภทที่ ๓ สิ่งที่เขาต้องพึ่งพาอาศัยหน่วยงานอื่นไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้  หลังร่วมคิดแล้วแนะนำให้เขาเลือกเรื่องประเภทแรกกลับออกไปร่วมทำก่อน  อาจเลือกบางเรื่องของประเภทที่ ๒ กลับออกไปร่วมทำได้ทันที(ถ้าเรื่องนั้นต้องทำร่วมกับหน่วยงานของทีมวิทยากรกระบวนการ) ส่วนเรื่องอื่น ๆ ของประเภทที่ ๒ และ ๓ แนะให้เขาเก็บเอาไว้เพื่อรอโอกาสขอความร่วมมือหรือขอรับการสนับสนุนในโอกาสต่อไป  ทั้งนี้ต้องพยายามชักชวนให้ใช้เวลาและโอกาสในการเรียนรู้จากการร่วมทำในสิ่งที่เขาทำได้ มากกว่าทบทวนท้อแท้กับสิ่งที่ยังไม่มีโอกาส

๓. เราเชื่อมั่นว่ากระบวนการเรียนรู้จากการ"ร่วมทำ" และจากผลงานของการ"ร่วมทำ" จะเป็นปัจจัยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มให้เกิดพลังในการ"ร่วมคิด" และ "ร่วมทำ"ในรอบต่อไป รวมทั้งเสริมพลังให้สามารถหาแนวร่วมในชุมชนและแนวร่วมภาครัฐหรือภาคเอกชนได้ง่ายขึ้นในอนาคต

ขอให้กำลังใจกับทีมงานและกลุ่มภาคีที่ผ่านการประชุมตามโครงการอีกครั้ง ให้มีความมั่นใจ-เชื่อมั่นในพลังของทีมงานและชุมชน ใช้เวลาและโอกาสในการเสริมเติมต่อพลังซึ่งกันและกันให้เข้มแข็งดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ในที่สุด....

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3169เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2005 02:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล
อ่านเรื่องราวที่คุณหมอสมพงษ์นำมาบันทึกไว้ครั้งใดก็ประทับใจทุกครั้งเลยครับ  ได้ทั้งกระบวนการและเนื้อหาที่เป็นผลจากการประชุม  ได้ข้อสังเกต ข้อคิดเห็น บทเรียน และแนวทางที่จะปรับปรุงกันต่อ  เป็นกำลังใจและแนวทางให้กับทีมงานของ รพ.อื่นๆ ที่จะเข้ามาในเส้นทางนี้ครับ 
ศิริพร สิทธิโชคธรรม

1.เห็นด้วยกับความคิดของรองประธาน อบต.ดาวเรืองนะคะ แต่ของเพิ่มเติมว่า  การสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นก็ยากอยู่แล้ว แต่การ maintain ยากยิ่งกว่า

2. ขอชื่นชมและให้กำลังใจทีมงานที่ทุ่มเทและเสียสละนะคะ ใจเป็นสุข กายก้อหายอ่อนล้าค่ะ

3. มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมค่ะ

3.1 เทคนิค AIC นั้นมีข้อจำกัดในการประยุกต์เพื่อการพัฒนาสาธารณสุข เพราะเทคนิคนี้ เริ่มกระบวนการแก้ปัญหาในแนวเชิงรับ โดยอาศัยเทคนิคการวาดภาพปัจจุบันโยงสู่อนาคต แต่การที่เริ่มจากสภาพปัจจุบันนั้นทำให้ภาพที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อแนวความคิดในการวาดภาพในอนาคต ซึ่งทำให้ภาพฝันนั้นออกมาในรูปของภาพโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ(physical infrastructure) ที่ชุมชนปรารถนามากกว่าเพราะในส่วนที่พึงปรารถนาที่เป็นนามธรรม เช่น ความมีสุขภาพดี นั้น ยากที่จะวาดออกมาเป็นภาพได้ ทำใหเการระบุปัญหาขาดการมองสถานการณ์เชิงระบบ แต่จะเป็น (fragmented)

3.2 จึงควรเริ่มจากภาพอนาคตที่พึงปรารถนา เพื่อป้องกันการครอบงำทางความคิดที่เกิดจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะจินตนาการจะได้มีอิทธิพลมากกว่า เกิดความท้าทายที่จะทำให้ฝันเป็นจริง รวมทั้งจินตนาการจะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับแนวการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ(ready made solution ) และไม่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างที่ผ่านๆมา

3.3 หากชุมชนมองไม่เห็นปัญหา ทั้งๆที่เป็น real need ตามเกณฑ์ มาตรฐาน ก็มิได้หมายความว่า "ไม่เป็นปัญหา" เพราะอาจเนื่องมาจาก ขาดข้อมูลที่สมบูรณ์ในปัญหานั้นๆ หรือ จำยอมรับสภาพกับสภาวะไม่พึงประสงค์นั้น หรือทำตามความเชื่อแบบดั้งเดิม

3.4 ใครล่ะ จะเป็นผู้ใช้ทักษะการสื่อความที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง felt need (ความรู้สึกของชุมชน) กับ real need (ความจำเป็นตามเกณฑ์มาตรฐาน) เครื่องมือที่สำคัญ คือ web of causation /Problem map เพราะจะเสริมให้เกิดแนวคิดอย่างเป็นระบบ

3.5 ใครล่ะ จะเป็นผู้เสนอข้อมูลที่สมบูรณ์ในปัญหาสุขภาพ อันได้แก่

3.5.1 อัตราการขาดนัด

3.5.2 อัตราการป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้

3.5.3 ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรัง

3.5.4 จำนวนครั้งของการเข้าพักรักษาในรพ.

3.5.5 จำนวนผู้ที่ไม่ฝากครรภ์

3.5.6 จำนวนเด็กไม่ได้รับวัคซีน ฯลฯ  

ขอบคุณครับ สำหรับทุกความคิดเห็นและกำลังใจ......  เราจะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ มาทบทวนและปรับใช้ต่อไป.....
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท