ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

เพราะเหตุใด มนุษย์จึงจำเป็นต้องให้อภัยซึ่งกันและกัน


การให้อภัยมีคุณค่าและความสำคัญแก่มนุษย์ในหลายมิติด้วยกัน กล่าวคือ การให้อภัยเป็นจุดเริ่มของมิตรภาพที่ยั่งยืน การให้อภัยเป็นหว่านเมล็ดพันธุ์ของมิตรภาพให้งอกงาม การให้อภัยเป็นการชำระใจ และให้ใจได้พักผ่อน การให้อภัยเป็นการเคาะสนิมแห่งความเลวร้ายออกจากใจ และการให้อภัยเป็นการสร้างบารมีขั้นสูงสุด

                พระพุทธศาสนาได้ชี้ให้เห็นจุดเด่นของ “การให้” อย่างน้อยสองประการ กล่าวคือ ว่า “ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้” และ “ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนหมู่มากย่อมคบเขา” หลักการเช่นนี้เป็นการให้ความสำคัญแก่ “ผู้ให้”  ซึ่งได้รับการยอมรับจาก “ผู้รับ” หรือบุคคลทั่วไปที่แสดงความชื่นชมต่อการให้  แม้จะไม่ได้เป็นผู้รับโดยตรงก็ตาม   ฉะนั้น  การให้ที่นำไปสู่การผูกมิตร  และนำมาซึ่งความสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในบรรยากาศของความขัดแย้งกันก็คือ “การให้อภัย”  ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ การให้อภัยจึงมีความสำคัญแก่วิถีชีวิต และการดำรงอยู่ของมนุษย์ทั้งในเชิงปัจเจกและสังคมในหลายมิติด้วยกัน  คือ

               ๑. การให้อภัยเป็นจุดเริ่มของมิตรภาพที่ยั่งยืน   

               “มิตรภาพ” เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข และสามารถทำงาน หรือดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในทิศทางที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้  เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคลในสังคม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ความสัมพันธ์ของคู่กรณีที่เสื่อมโทรมลงไป  ฉะนั้น การขออภัย และการให้อภัยนั้น จึงนำไปสู่การรื้อฟื้นมิตรภาพขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าการรื้อฟื้นดังกล่าว   จะนำไปสู่แง่มุมในเชิงบวกต่อสัมพันธภาพที่ดีระหว่างมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้นดังคำกล่าวที่ว่า “หากว่าในโลกนี้    โทษไม่มี    ความผิดไม่มี   และเวรทั้งหลายไม่สงบ  บุคคลในโลกนี้พึงเป็นผู้ฉลาดได้อย่างไร”  ฉะนั้น  ความฉลาด หรือปัญญาจะเกิดขึ้นจากคู่กรณีได้ตระหนักรู้ความผิดพลาดบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต 

               ๒. การให้อภัยเป็นหว่านเมล็ดพันธุ์ของมิตรภาพให้งอกงาม

               การให้อภัยจัดได้ว่าเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ของมิตรภาพระหว่างคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันให้งอกเงยและงอกงามขึ้น  จะเห็นว่า ในขณะที่คู่กรณีขัดแย้งกันในประเด็นต่างๆ เช่น  ข้อมูล ค่านิยม หรือผลประโยชน์ อันจะนำไปสู่การสร้างกำแพงระหว่างกัน  ฉะนั้น การให้อภัย หรือการขออภัยจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้คู่กรณีได้มีโอกาสหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความรัก และความรู้สึกที่ดีต่อกัน 

               ๓. การให้อภัยเป็นการชำระใจ และให้ใจได้พักผ่อน

               การให้อภัยจัดได้ว่าเป็นการสละอารมณ์ขุ่นมัวที่เกิดภายในใจของเรา  และเป็นการพื้นที่ให้อารมณ์ที่เป็นกุศลได้เจริญงอกงามขึ้นภายในใจ  จะเห็นการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเก็บความโกรธแค้นไว้นานโดยไม่ยินยอมพร้อมใจที่จะให้อภัยเพื่อนมนุษย์นั้น ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการ “สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ความโกรธ” อันจะนำไปสู่การให้คุณค่า และราคาของความโกรธแค้นั้นสูงขึ้น เนื่องจากค่าเก็บรักษาอารมณ์ชนิดนี้มีราคาค่างวดที่แพง บิลของโกรธจะประกอบไปด้วยรายการค่าหัวใจเสื่อม ความดันโลหิตพุ่งสูง นอนไม่หลับ เครียด อาจตามมาด้วยมะเร็งและความตายก่อนวัย คิดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว แพงกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นตอนแรกหลายร้อยเท่า  ด้วยเหตุดังกล่าว  หากเราสามารถปล่อยวางความโกรธแค้นนี้ได้เร็วเท่าใด ความเสียหายโดยภาพรวมก็ลดลงเท่านั้น และเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถปล่อยวางก็มีเพียงชนิดเดียวคือ การให้อภัย

              ๔. การให้อภัยเป็นการเคาะสนิมแห่งความเลวร้ายออกจากใจ

              สนิมที่มักจะเกาะกัดกินเราอยู่เนืองๆ คือ “สนิมในใจ” กล่าวคือ สนิมในลักษณะนี้เมื่อเกิดขึ้นจะเป็นตัวบั่นทอนศักยภาพทางการคิด  การพูด และการกระทำให้เป็นไปในเชิงลบมากยิ่งขึ้น  ไม่ว่าเราจะทำงาน นอน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ใดก็ตาม  มักจะมีภาพของความขุ่นมัวทางใจที่เกิดจากความผิดพลาดของเรา หรือสิ่งที่คนอื่นๆ ทำให้เราไม่สบายใจ  ในขณะเดียวกัน เราก็มักจะเก็บอารมณ์แห่งความขุ่นมัวต่างๆ มาปรุงแต่ง มาย้ำคิด ย้ำทำ  ผลที่จะเกิดขึ้นตามก็คือ “หัวใจที่ถูกสนิมทางอารมณ์กัดกินอยู่ตลอดเวลา”

            ๕. การให้อภัยไม่ใช่การสูญเสีย แต่เป็นการ “ได้” อย่างไม่มีขีดจำกัด

            บางครั้งเรามักจะคิดว่า “การให้อภัย” เป็นการสูญเสีย  เช่น การเสียศักดิ์ศรี เสียหน้า และเสียเปรียบ  เนื่องจากเราได้ยอมคู่กรณีที่เคยล่วงละเมิด หรือทำให้เราประสบกับความทุกข์ หรือเจ็บปวดในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  การแสดงออกด้วยการให้อภัยในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็น “การได้อย่างมีขีดจำกัด” 

           การได้ที่เกิดจากการให้อภัยสามารถประเมินได้จากหลายด้าน กล่าวคือ  (๑) ได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้พัฒนา  ปรับปรุง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น  (๒) ได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้รับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้เคยกระทำผิดพลาด  (๓) ได้เปิดโอกาสให้ใจของตัวเองได้เรียนรู้ที่จะให้อภัยคนอื่นๆ และผลที่เกิดต่อตัวเองก็คือ การปล่อยวาง ไม่น้อมใจเข้าไปแบกรับความเลวร้าย หรือความขุ่นมัวที่จะเกิดตาม ซึ่งจะทำให้ใจเข้าถึงอิสรภาพอย่างแท้จริง โดยไม่ขึ้นตรงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อาจจะส่งผลต่อความทุกข์ หรือปัญหาที่จะเกิดขึ้น (๔) ได้เพื่อน หรือมิตรภาพที่ยั่งยืนจากคนอื่นๆ ในสังคม 

           ๖. การให้อภัยเป็นการสร้างบารมีขั้นสูงสุด

            พระพุทธศาสนาถือว่า การให้อภัยเป็นการบำเพ็ญบารมีขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียกการให้ (ทาน) ชนิดนี้ว่า “มหาทาน” เพราะว่าการให้ในลักษณะนี้เป็นห้วงบุญห้วงกุศล  นำสุขมาให้ ให้อารมณ์อันเลิศมีสุขเป็นผล  เป็นไปเพื่อสวรรค์  ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ทุกฝ่าย

            จะเห็นว่า การให้อภัยเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปจะทำได้ยากอย่างยิ่ง  เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากนี่เอง  การให้อภัยจึงได้ชื่อว่าเป็นมหาทาน หรือเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ และยากต่อการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแสดงออกหรือกระทำได้  ถึงกระนั้น พระพุทธเจ้าจึงพยายามที่จะย้ำว่า ความดีเป็นสิ่งที่คนดีทำได้ง่าย  แต่ความดีเป็นสิ่งที่คนไม่ดีทำได้ยาก  ฉะนั้น ตามนัยนี้  คนที่มีพื้นฐานทางจิตใจดีจะสามารถให้อภัยคนอื่นๆ ได้ง่ายกว่า แสดงออกในการที่จะไม่ผูกใจเจ็บได้ง่ายกว่า

หมายเลขบันทึก: 315416เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 02:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระคุณเจ้า

มาเข้าห้องเรียนออนไลน์เจ้าค่ะ

_/|\_

นมัสการค่ะ ท่านธมฺใหสโวภิกขุ

มาเรียนรู้ธรรมะยามเช้าค่ะ

อนุโมทนากับโยมทั้งสองท่านที่กรุณาแวะมาให้กำลังใจพระ

เจริญพร

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

ตั้งใจมาร่วม ให้อภัยอย่างเข้าใจ เจ้าค่ะ

สาธุ...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท