ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

พุทธวิธีการของการให้อภัย


การที่บุคคลได้มองเห็นความผิดที่ได้กระทำว่าเป็นความผิดจริง และได้ให้สัญญาประชาคมว่า จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำ อีกทั้งจะระมัดระวังต่อโอกาสต่อไป” นี้ เพราะประโยคนี้ เป็นการย้ำเตือนว่า มิใช่ทำผิดแล้ว ทุกอย่างจะจบลงโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ทุกครั้งที่มีการผิดพลาดบกพร่อง ตัวเองจะต้องยอมรับผิดที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเยียวยาผลของความผิดพลาด

                การให้อภัยในพระพุทธศาสนานั้น  พบว่ามีประเพณีนิยมที่ถือว่าเป็น “อริยประเพณี” ใน  ๓  ด้านใหญ่   กล่าวคือ

                ๑. วิธีการให้อภัยทางใจ  การให้อภัยในลักษณะนี้   ต้องเริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้ว่า การจับความโกรธ ความเกลียด  ความชิงชัง  ความอาฆาตมาขังเอาไว้ในใจนั้น  ก่อให้เกิดผลร้ายแก่จิตใจของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการบั่นทอนศักยภาพแห่งความสุข สงบ เย็นที่พึงเกิดขึ้นในใจของเรา ในขณะเดียวกัน  ก็เป็นการบั่นทอนศักยภาพในการทำงาน หรือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้  การตระหนักรู้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์ไม่มีใครเลยที่มิมีโอกาสทำผิดพลาดและบกพร่อง  ฉะนั้น การมีท่าทีในลักษณะนี้ ย่อมเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทอดสะพานไปสู่การขออภัย และให้อภัยได้  จะเห็นว่า ในพระพุทธศาสนาจะเน้นที่เจตนาเป็นสำคัญ  เจตนาที่ผู้กระทำได้ตระหนักรู้ด้วยตัวเองว่า สิ่งที่ทำลงไปได้เกิดความผิดพลาดบกพร่อง และตัดสินใจที่จะแสดงออกโดยการรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

                ๒. วิธีการให้อภัยทางกาย   ในพระพุทธศาสนาจะขออภัยทางกายด้วยการน้อมกายของตัวเองเข้าไปหาคู่กรณีที่ได้ล่วงละเมิดในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งในกลุ่มพระสงฆ์ใช้คำว่า “สามีจิกรรม” อันเป็นการขอขมา หรือขออภัย ซึ่งอาจจะผ่านสัญลักษณ์ของดอกไม้ ธูป เทียน  ดังจะปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเนืองๆ ว่า “ได้ยินว่า    พระศาสดาของเราเสด็จมาถึงแล้ว    ได้ยินว่า    พระสุคตของเราเสด็จมาถึงแล้ว    ได้ยินว่า    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเสด็จมาถึงแล้ว    จึงลุกขึ้นจากอาสนะ    ห่มผ้าเฉวียงบ่า    หมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า”  การแสดงออกทางกายในลักษณะนี้  เป็นการสื่อให้คู่กรณีได้มองเห็นถึงภาษากายว่า ยินยอมพร้อมใจที่รับผิดชอบ  และเป็นการง่ายที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการให้อภัยโดยผ่านสัญลักษณ์ดังกล่าว

                ๓. วิธีการให้อภัยทางวาจา  วลีที่มักจะปรากฏขึ้นในคัมภีร์พระพุทธศาสนาในกรณีนี้ก็คือ  หากมีผู้ใดผู้หนึ่งได้กระทำผิดพลาดบกพร่องมักจะกล่าวขออภัย หรือขอโทษว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ    ข้าพระองค์ผู้โง่    เขลา    เบาปัญญา    มีความผิดที่ข้าพระองค์  ได้สำคัญพระผู้มีพระภาคว่าควรเรียกด้วยวาทะว่าผู้มีอายุ    ขอพระผู้มีพระภาค    จงให้อภัยโทษแก่ข้าพระองค์    เพื่อสำรวมต่อไป”   พระพุทธเจ้าก็จะตรัสตอบเพื่อเป็นการให้อภัยว่า   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า    “เอาเถอะ    เธอผู้โง่    เขลา    เบาปัญญา    มีความผิดที่ได้สำคัญเราว่าควรร้องเรียกด้วยวาทะว่าผู้มีอายุ    แต่เธอเห็นความผิดโดยเป็นความผิดแล้วกระทำคืนตามธรรม    เราก็ยกโทษให้เธอ    ภิกษุ    ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิด    แล้วกระทำคืนตามธรรม    ถึงความสำรวมต่อไป    นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย”

                จากนัยดังกล่าวจะเห็นประโยคที่ถือได้ว่าสำคัญที่สุดว่า “การที่บุคคลได้มองเห็นความผิดที่ได้กระทำว่าเป็นความผิดจริง  และได้ให้สัญญาประชาคมว่า จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้กระทำ อีกทั้งจะระมัดระวังต่อโอกาสต่อไป” นี้   เพราะประโยคนี้ เป็นการย้ำเตือนว่า มิใช่ทำผิดแล้ว ทุกอย่างจะจบลงโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น  แต่ทุกครั้งที่มีการผิดพลาดบกพร่อง  ตัวเองจะต้องยอมรับผิดที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเยียวยาผลของความผิดพลาด

                ถึงกระนั้น  พระพุทธศาสนาถือว่า การน้อมรับความผิดพลาด หรือการรับผิดชอบดังกล่าว ต้องไม่เกิดจากการเรียกร้องคู่กรณี  หากแต่เกิดจากสามัญสำนึกของผู้ที่ได้ทำผิดพลาดโดยตรง  จะเห็นว่า การยกโทษ หรือให้อภัยนั้น จึงไม่มีข้อผูกพันกับวัตถุ ข้อเรียกร้อง หรือเงื่อนไขใดๆ จากผู้ให้อภัย  เพราะการให้อภัยดังกล่าวเป็นการให้โดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้อเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น

หมายเลขบันทึก: 315415เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 01:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท