รายการเกษตรยามเย็น211152


รายการเกษตรยามเย็น

เรื่อง  “ เตือนชาวนาชัยนาทเร่งเฝ้าระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาด”

ออกอากาศวันที่ 21  พฤศจิกายน  2552 เวลา 16.00 - 17.00 น. สถานีวิทยุชุมชนคนหันคา เอฟ.เอ็ม 90.00 MHz

  -----------------------

          มีชีวิต  มีให้ดี  ต้องมีชาติ 

ชาติวิลาศนั้นต้องมีศรีศาสนา

สองนั้นจะดีต้องมีธรรม-ราชา

เป็นหัวหน้าและตัวอย่างทุกอย่างไป

         ประเทศชาติเหมือนร่างกายให้คิดดู

ไม่มีกายใจจะอยู่อย่างไรได้

ศาสนานั้นเหมือนใจฝ่ายนามกาย

ไม่มีใจก็เหมือนตายซากก่ายกอง

        มหากษัตริย์เหมือนสติและปัญญา

ที่บัญชากายและใจให้เป็นสมร

ร่วมกันไปคล้ายกับงานสหกรณ์

ไม่ม้วยมรณ์ไทยเจริญ เกินเปรียบเอยฯ

       สวัสดีครับ ท่านผู้ฟัง ขอต้อนรับเข้าสู่รายการเกษตรยามเย็น ในระบบ เอฟ.เอ็ม ความถี่ 90.00 เมกะเฮิร์ต พบกันเป็นประจำทุกวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 16.00 ถึง 17.00 น. โดยประมาณ สำหรับรายการเกษตรยามเย็นในวันนี้   ได้นำบทกลกอนของหลวงพ่อพุทธทาส มาฝาก และจะนำเสนอเรื่อง “เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล” พบกันได้เลยครับ

                ปัจจุบันพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในหลายพื้นที่ของจังหวัดชัยนาทกว่า 60,000 ไร่ สร้างความเสียหายไปแล้วหลายพันไร่ เร่งออกโรงเตือนเกษตรกรรีบตรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมแนะวิธีป้องกันและแก้ไข

                เนื่องจากขณะนี้ เกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลดังกล่าวในหลายพื้นที่ของจังหวัดชัยนาท สร้างความเสียหายให้เกษตรกรไปแล้วหลายพันไร่ ดังนั้น จึงอยากให้เกษตรกรเร่งตรวจแปลงนาให้สม่ำเสมอ หากยังไม่พบการระบาดให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

                1.ตรวจนับจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและศัตรูธรรมชาติ เช่น แมงมุม มวนเขียวดูดไข่ แตนเบียนต่าง ๆ หากมีศัตรูธรรมชาติคือ แมงมุมหมาป่า และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในอัตรา 1 : 5 ก็ไม่ต้องใช้สารเคมี ถ้าสามารถควบคุมระดับน้ำในแปลงนาได้ ให้ระบายน้ำออกให้แห้งประมาณ 7 – 10 วัน เพื่อปรับสภาพไม่ให้เหมาะสมกับตัวอ่อน

                2.ในนาหว่านน้ำตมไม่ควรหว่านข้าวหนาแน่นเกินไป ถ้าปรับเปลี่ยนเป็นนาดำได้จะช่วยลดและป้องกันการระบาดของเพลี้ยกระโดดได้ ส่วนการใส่ปุ๋ยไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินไปเพราะลำต้นอ่อน น้ำมาก เพลี้ยจะชอบดูดกิน

          ในการนี้เกษตรอำเภอหันคา ได้ฝากแนวคิดเพื่อการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระดดดสีน้ำตาลมาด้วย แต่ก่อนอื่นรับฟังเพลงเพราะสัก 1 เพลงก่อนครับ

(เพลงลูกทุ่ง )

           นายวรทัศน์  จันทร์พยอม  เกษตรอำเภอหันคา กล่าวว่า แต่ถ้าในแปลงมีการระบาดมากให้ดำเนินการดังต่อไปนี้(เสียงบันทึก)

  1. ใช้กับดักแสงไฟล่อตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลแล้วนำไปทำลาย

  2.  ใช้เชื้อราขาวบิวเวอร์เรีย อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบฉีดเวลาเช้าหรือเย็น และควรพ่นให้เชื้อราสัมผัสกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยตรง ก็จะสามารถควบคุมได้

  3. การใช้สารสมุนไพร เช่นสารสะเดา หรือยาฉุน

  4. หากแมลงมีปริมาณสูงมากมีความจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงให้ปฏิบัติดังนี้

·       ใช้สารฆ่าแมลงในระยะที่แมลงเป็นตัวอ่อน เช่น ไดโนทีฟูเรน ( สตาร์เกิล )  หรือ บูโพรเฟซิน ( แอปพลอด ) หรือ  อีโทเฟนพรอกซ์ (ทรีบอน)

·       ไม่ใช้สารกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น ไซเพอร์มิทริน  ไซฮาโลทริน  เดลต้ามิทรินและสารเอ็นโดซัลแฟน  พาราไธออน เมทธิล  เมทามิโดฟอส และโมโนโครโตฟอส

  • ไม่ควรใช้สารฆ่าแมลงผสมกันหลายๆชนิดหรือใช้สารฆ่าแมลงผสมสารกำจัดโรค  หรือสารกำจัด

วัชพืช เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของสารฆ่าแมลงลดลง

  • เวลาพ่นสารให้หัวฉีดอยู่ระดับใกล้โคนต้นข้าวมากที่สุด

  • ถ้าสังเกตว่าข้าวไม่ออกรวงและข้าวเขียวเข้มกว่าปรกติให้รีบส่งข่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน

ท้องถิ่น

  • ใช้สารฆ่าแมลงเมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระยะตัวอ่อนมากกว่า 5-10 ตัวต่อข้าว 1 ต้น และพบมวนเขียวดูดไข่และแมงมุมปริมาณน้อยกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

        สำหรับการป้องกันในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดปัญหา  แต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย  ขอแนะนำว่าควรพิจารณาตามระยะการเจริญเติบโตของข้าว คือ  การเตรียมดินปลูกข้าวนาหว่าน  ควรทำตามระบบการปลูกข้าวนาหว่านน้ำตม  คือ เตรียมดินให้เป็นร่อง  เพื่อให้มีการระบายอากาศ  ถ้ายังไม่ได้ปลูกควรเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ปลูกมาใช้พันธุ์ที่ต้านทาน  โรคและแมลง  อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ใช้  15-20  กก./ไร่  ไม่ควรใช้อัตราสูง  เพราะจะทำให้ข้าวแน่น  การใส่ปุ๋ยเคมีให้ลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยลง    หมั่นตรวจดูโคนข้าว  เมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระยะตัวอ่อนมากกว่า 5-10  ตัวต่อข้าว 1 ต้น และพบมวนเขียวดูดไข่และแมงมุมปริมาณน้อยกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ให้ใช้สารฆ่าแมลง  ช่วงต่อไปจะได้พูดถึงภูมิปัญญาของพี่น้องเกษตรกรที่ได้นำเชื้อราบิวเวอร์เรียไปใช้แล้วได้ผล แต่ก่อนอื่นมาฟังเพลงลูกทุ่งสัก 1 เพลง ครับ

(เพลงลูกทุ่ง)

        หลังจากรับฟังเพลงแล้วมาพบกันตามสัญญาคือ การผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรีย นายสมาน  ทองบุญโท ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7  ต.วังไก่เถื่อน อ.หันคา จ.ชัยนาท และเป็นประธาน “กลุ่มผลิตสารชีวภัณฑ์”  ได้กล่าวถึงการเพาะเลี้ยงเชื้อราบิวเวอเรีย ว่า จะต้องเตรียมอุปกรณ์ คือ เมล็ดข้าวโพดแห้ง  ถุงพลาสติกเพาะเห็ด  คอขวด เชื้อราบิวเวอเรียบริสุทธ์ แอลกอร์ฮอร์  ลวดเขี่ยเชื้อ  ถังนึ่ง(แปลงมาจากถังน้ำมัน 200 ลิตร) และสำลี(หรือใช้จากไส้ในที่นอนซักให้สะอาดตากให้แห้งแล้วนึ่งฆ่าเชื้อขณะนึ่งห่อด้วยกระดาษกันความชื้น)

        วิธีทำ นำข้าวโพดแช่น้ำ 12 ชม. นำไปผึ่งลมหรือตากแดดอ่อนๆ ทิ้งไว้ให้หมาดๆ  กรอกลงถุงพลาสติกถุงละ 400  กรัม  ใส่คอขวดก่อนปิดด้วยสำลีที่เตรีมไว้เพื่อปิดกันแมลงและเชื้อโรคอื่นเข้าไป  หุ้มด้วยกระดาษใช้ยางรัดไว้เพื่อกันความชื้นหรือหยดน้ำลงไป   นำลงนึ่งในถังให้ห่างจากขอบถังประมาณ 2 ซม.เพื่อกันถุงเสียหายจากความร้อน วางทับหันประมาณ 2 ชั้น เพื่อให้ความร้อนเข้าถึงอย่างสม่ำเสมอ ใส่น้ำลงไปประมาณ 15  ซม. ปิดฝาให้มีช่องระบายไอน้ำเล็กน้อย  นึ่งโดยใช้ไฟแรงให้เดือนแล้ว จับเวลาตั้งทิ้งไว้จำนวน 2  ชม. นำออกมาไว้ในที่ร่มให้อุ่น (ทดสอบโดยวางบนหน้าแขนพอทนได้สักพัก  จึงเขี่ยเชื้อจากขวดที่ได้รับจากศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดชัยนาท

         การเขี่ยเชื้อ  เป็นขั้นตอนที่ต้องระวังความสะอาดเป็นพิเศษ จึงต้องดำเนินการในที่ปิดมิดชิดลมไม่โกรก  ผู้ปฏิบัติปิดปาก ปิดจมูกและสวมถุงมือ ก่อนเขี่ยต้องเตรียมจุดไฟด้วยการเทแอลกอร์ฮอร์ลงบนสำลีที่วางไว้บนถ้วยแก้วหรือกระเบื้อง ติดไฟไว้สำหรับฆ่าเชื้อลวดเขี่ยเชื้อ นำขวดเชื้อลงนอนตะแคง เขี่ยให้ได้ประมาณเท่าหัวไม้ขีด นำออกจากขวดพร้อมกับปิดจุกสำลีที่ขวดหัวเชื้อทันที  หย่อนหัวเชื้อที่ได้ลงถุงข้าวโพด ปิดสำลีทันที นำไปเก็บไว้ในที่เย็นไม่โดนแดด แต่จะต้องให้ได้รับแสงสว่างอย่างน้อยวันละ 6 ชม.และอย่าให้ถูกความร้อน (สำหรับตนเองเอาไว้ในห้องน้ำ) ทิ้งไว้ 15  วันสังเกตเส้นใยสีขาวเดินรอบถุงจึงนำออกเก็บไว้ในที่เย็นไม่ให้โดนความร้อน  ถ้าเป็นโรงเก็บรถหรือเก็บของจะต้องใช้วัสดุป้องกันไอร้อนกระทบกับก้อนเชื้อราบิวเวอเรียเสียหายได้  ก่อนที่จะนำไปใช้มาฟังเพลงอีกสัก 1 เพลงครับ

(เพลงลูกทุ่ง)

           วิธีใช้  นำเชื้อราบิวเวอเรีย 1-2  กก./น้ำ 20 ลิตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยนำน้ำ 5 ลิตร ใส่ถุงมือขยำก้อนเชื้อกับน้ำให้สปอร์เชื้อราหลุดจากเมล็ดข้าวโพดแล้วกรองด้วยผ้าบางๆ  แล้วจึงนำไปผสมกับน้ำอีก 15 ลิตร ผสมกับสารจับใบ(ตามฉลาก) คนให้เข้ากัน นำไปฉีดพ้นในช่วงเช้าตรู่หรือเย็นแดดอ่อน ควรปรับหัวฉีดให้พ่นเป็นฝอยละเอียดจะทำให้ได้ผลดีและได้พื้นที่เพิ่มขึ้น และควรติดตามตรวจสอบเมื่อฉีดพ่นได้ 2-3 วัน  ข้อควรระวังในการใช้คือ สวมถุงมือ ปิดปาก ปิดจมูก  เหมือนกับใช้สารเคมีทั่วไป  ไม่ควรใช้ร่วมกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทุกชนิด และควรล้างเครื่องฉีดพ้นที่เคยพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชให้สะอาด และเชื้อราบิวเวอเรียจะอยู่ได้นานจนถึงระยะเก็บเกี่ยวเมื่อใช้กับข้าวที่อายุ 40-50  วัน  เพราะจะมีใบข้าวที่ปกคลุมป้องกันแสงแดดส่อง 

           เมื่อกล่าวถึงเชื้อราบิวเวอร์เรียว่า เป็นเชื้อราที่สามารถให้เกิดโรคได้กับแมลงได้หลายชนิด โดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และหนอนศัตรูพืช  เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราบิวเวอเรียที่ตกที่ผนังลำตัวแมลง เมื่อมีสภาพที่เหมาะสมสปอร์จะงอกแทงทะลุผ่านลำตัวแมลงเข้าไปใชช่องว่างภายในลำตัวและเจริญเติบโตเป็นเส้นใยท่อนสั้นๆ ทำลายเซลล์เม็ดเลือดในตัวของแมลง  ทำให้แมลงเป็นอัมพาตและตายไปในที่สุด  หลังจากแมลงตายแล้วเชื้อราจะสร้างสปอร์แพร่กระจายได้ตามธรรมชาติ  เฝ้าระวังแปลงนาของเกษตรกรจากแมลงศัตรูข้าง เพราะสามารถทำลายแมลงได้ทุกระยะ  แต่เมื่อเกษตรกรฉีดพ่นสารเคมีหรือเชื้อราไตรโคเดอร์มา กำจัดเชื้อราสาเหตุของโรคข้าว  จะทำให้เชื้อราบิวเวอเรียถูกทำลายไปด้วย  เป็นการสร้างความสมดุลย์ให้แก่ระบบนิเวศน์วิทยาในนาข้าวต่อไป  ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล  เกษตรตำบล  สนง.เกษตรอำเภอ และ สนง.เกษตร

ยังคงมีภูมิปัญญาของพี่น้องเกษตรกรในหลายพื้นที่ รอรับฟังในรายการเกษตรยามเย็นครั้งต่อไป สำหรับวันนี้ขอขอบพระคุณเจ้าของสถานีวิทยุชุมชนคนหันคา และดีเจหนูแหม่ม ที่ได้ช่วยเลือกเพลงเพราะให้รับฟัง และลืมไม่ได้คือท่านผู้รับฟังทุกท่าน ขอให้ทุกท่านมีความสุขมกๆ สวัสดีครับ

(เพลง)

หมายเลขบันทึก: 315120เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2009 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 03:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ ความสุขที่ที่มอบให้ ก็ขอให้น้องได้รับ ด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท