มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย


ขณะนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยต่างวางเป้าหมายที่มุ่งจะให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย พร้อมไปกับการขยายการศึกษาจากระดับปริญญาตรี ไปสู่บัณฑิตศึกษา อันนับเป็นความก้าวหน้าเจริญขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่แปลความหมายและดำเนินการแต่ในนาม มิได้เป็นความเจริญที่แท้จริง บางแห่งมุ่งให้คณาจารย์หันเหจากการสอนไปทำการวิจัยเพื่อบุกเบิกหาความรู้ใหม่ หรือจัดบัณฑิตศึกษา เพียงเพื่อให้เป็นปริญญาที่สูงขึ้น มีการเติมเนื้อหาให้มากขึ้น มิได้เป็นการสร้างความสามารถที่จะรู้เท่าทันความรู้ หรือการสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของปริญญาโทและเอกตามลำดับ ความพยายามปรับให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย หรือการให้การศึกษาเพื่อปริญญาโทและเอกในทำนองนี้ เป็นการเสื่อมลงของสถาบันอุดมศึกษา การศึกษาจะด้อยคุณภาพลง ปริญญาก็ลดค่าที่แท้จริงลง

มหาวิทยาลัยมีบทบาทหน้าที่อยู่หลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการศึกษา และการวิจัยอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน การศึกษามีทั้งที่เป็นและไม่เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เช่นการศึกษาระดับพื้นฐาน และการเตรียมบุคลากรเพื่อเข้าทำงานโดยสถานกิจการ ย่อมไม่ใช่บทบาทโดยตรงของมหาวิทยาลัย ส่วนการวิจัยก็มีทั้งที่เป็นและไม่เป็นของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยอาจทำการวิจัยอย่างเดียวโดยไม่เกี่ยวกับการศึกษา หรือไม่อยู่ภายในมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยอาจมีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสอน โดยไม่เน้นการวิจัย ขณะเดียวกันมีบางมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยเพื่อบุกเบิกหาความรู้ใหม่ โดยไม่คำนึงถึงการสอน สิ่งที่กำลังพิจารณากันอยู่ในที่นี้เป็นส่วนที่การศึกษากับการวิจัยอยู่ร่วมกัน และผสมผสานกัน ในเชิงที่ใช้การวิจัยเป็นฐานของการศึกษา

การเปลี่ยนแปลงที่พึงจะเป็นในความหมายของมหาวิทยาลัยวิจัยนั้น น่าจะเป็นการปรับหลักการพื้นฐานของการศึกษา ที่ให้การศึกษาและการวิจัย สอดคล้องสัมพันธ์กันเป็นเนื้อเดียว และเสริมคุณภาพของกันและกัน การศึกษาที่มีการวิจัยเป็นฐาน หรือ research-based education จึงเป็นประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ ในที่นี้จะยกมาพิจารณาเป็น ๕ ตอน ได้แก่ การศึกษา ซึ่งจะมอง ในลักษณะการสร้างระบบประสาทและการสร้างคน การวิจัย ซึ่งจะเน้นบทบาทในการเป็นเครื่องมือในการศึกษา การศึกษาที่มีวิจัยเป็นฐาน เป็นการรวมการศึกษากับกระบวนการวิจัย ทำอย่างไรจึงจะเกิดการศึกษาที่มีวิจัยเป็นฐาน และท้ายที่สุด จะดูถึง กลยุทธการเปลี่ยนแปลง สำหรับสถาบันที่มีการศึกษาแบบเดิมอยู่ก่อนแล้ว

๑. เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษา

ขอย้อนกลับไปพิจารณาพัฒนาการของระบบประสาท หรือสมองมนุษย์ เมื่อเด็กทารกอายุโดยเฉลี่ย ๑ ปีจะสามารถตั้งไข่และหัดเดินได้ ทารกมีกล้ามเนื้อของแขนขาและลำตัว ที่มีระบบประสาทควบคุม เมื่ออายุ ๑ ปี เซลล์ประสาท ซึ่งมีอยู่ถึงหนึ่งพันล้านตัว ได้จัดจำนวนหนึ่งมาต่อกันเข้า ทำให้กล้ามเนื้อประสานสัมพันธ์กันสามารถทรงตัวยืนบนขาสองข้างของตนเองได้ โดยที่เกิดมาเป็นทารกของมนุษย์ จึงมีพันธุกรรมที่กำหนดให้เซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่ดังกล่าวมาต่อกันเข้า ทำให้ยืนสองขาและเดินได้ ทั้งนี้สัตว์สี่เท้าไม่มีพัฒนาการส่วนนี้ ที่นี้พอเด็กโตขึ้นอายุหลายปีจะขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำไม่ได้ เพราะพันธุกรรมไม่ได้กำหนดให้ทรงตัวในสภาพล้มทางข้าง หรือลอยตัวในน้ำ ต้องใช้การฝึกหัดจึงจะขี่จักรยานเป็น หรือว่ายน้ำเป็น ซึ่งเมื่อเป็นแล้วก็จะคงอยู่ไปตลอดชีวิต แม้จะไม่ได้กระทำเป็นเวลาหลายปี ก็ยังทำได้อยู่ เพราะเซลล์ประสาทที่ใช้เพื่อการนั้น ได้ไปต่อกันเป็นระบบแล้ว หากพิจารณาการที่นักฟุตบอลทีมประเทศบราซิล ชื่อ โรนัลโด สามารถยิงประตูสร้างชัยชนะให้แก่ทีมได้ เกิดจากความสามารถเฉพาะตัวที่ได้ฝึกฝนมาเป็นพิเศษ สามารถพลิกตัวและใช้เวลาสั้นเตะลูกฟุตบอลด้วยกำลังแรงไปตามทิศทางที่ประสงค์ได้ นี่เป็นตัวอย่างของการฝึกฝน เพื่อสร้างความสามารถทางกาย ด้วยการพัฒนาระบบประสาทเพื่อการนั้น ๆ

ทีนี้ มาดูการฝึกฝนในด้านอื่นเหนือจากทางกาย เช่น ความจำ มีการจัดต่อเซลล์ประสาททำนองเดียวกัน เพื่อให้เกิดความจำ ระบบนี้มีบางส่วนเป็นกระบวนการในการจำ ทำให้จำได้เร็วหรือช้า นานหรือไม่ที่จะระลึกได้ บางส่วนเป็นสาระของสิ่งที่จำ มนุษย์บางคนที่ได้ฝึกฝนดีจึงมีความสามารถในการจำได้ดี จำได้เร็ว จำได้แม่น และจำได้นาน ต่างไปจากผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝน ซึ่งแตกต่างกันตามเนื้อเรื่องและสาระด้วย การฝึกฝนด้านภาษาเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างความสามารถในการจำ ซึ่งขยายไปถึงการรำลึกได้ และนำสิ่งที่จำไปใช้ได้ การจำเรื่องราวที่เป็นความรู้ หรือสิ่งที่เชื่อกันไว้แล้วจึงเป็นส่วนสำคัญของสิ่งที่เราเรียกว่า การศึกษา

การใช้เหตุผลเป็นการโยงเรื่องราวอย่างหนึ่งกับอีกอย่างหนึ่ง ในลักษณะที่สิ่งหนึ่งเป็นเหตุของอีกสิ่งหนึ่ง หรือสิ่งหนึ่งนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่งในเวลาที่ต่างกัน หรือในสถานที่ที่ต่างกัน หรือในมิติต่างกัน หลักการของความเป็นเหตุ เป็นหลักการพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ที่มีข้อกำหนด หรือเกณฑ์ที่ทำให้บางอย่างเชื่อถือได้ และยอมรับได้ว่าถูกต้อง ต่างจากบางอย่างที่เชื่อถือไม่ได้ ในการเกิดความสามารถในการใช้เหตุผล ต้องมีการต่อเซลล์ประสาทในหลายระบบ เชื่อมโยงสมองส่วนต่าง ๆ เป็นวงหรือโยงใย พร้อมทั้งแยกใช้วงที่พึงประสงค์ได้อย่างเหมาะสม บุคคลจึงมีความสามารถในการใช้เหตุผล หรือการมีวิจารณญาณที่ไม่เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับทั้งพันธุกรรมของบุคคลนั้น และการฝึกฝนอบรมสร้างการเชื่อมโยงและความสามารถในการแยกแยะ

กระบวนการทางจิตมีอยู่มากมาย ประกอบกันเป็นปัญญาของมนุษย์ ขอยกด้านหนึ่งมาเป็นตัวอย่าง มีการทดสอบทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ใช้ไพ่สำรับหนึ่งให้ผู้ถูกทดสอบแจก เปิดทีละใบ หงายหน้าขึ้น แล้วแจกเป็นกอง ๔ ถึง ๖ กอง เมื่อเปิดใบต่อไปก็ให้วางลงไปบนกองใดกองหนึ่ง ผู้ทดสอบบอกว่าถูกหรือผิด โดยผู้ทดสอบเป็นผู้วางเกณฑ์ไว้ในใจไม่บอกผู้ถูกทดสอบ แต่บอกว่าผู้ถูกทดสอบวางถูกกองหรือไม่ เช่น อาจคิดเกณฑ์เป็นการแยกกองตามสี หรือแยกตามชนิดเครื่องหมายบนไพ่ หรือตามตัวเลขสูงต่ำ เมื่อกระทำในระยะหนึ่ง ผู้ถูกทดสอบจะจับได้ว่าเกณฑ์เป็นเช่นไร ต่อไปก็วางได้ถูกเกือบทั้งหมด คงผิดเฉพาะเมื่อเผอเรอ ทีนี้เมื่อทำไประยะหนึ่ง ผู้ทดสอบเปลี่ยนเกณฑ์ในใจโดยไม่บอก คงบอกว่าถูกหรือผิดโดยใช้เกณฑ์ใหม่ ผู้ถูกทดสอบจะงง เพราะไม่ตรงกับที่กำหนดไว้เดิม เมื่อลองต่อไประยะหนึ่ง ผู้ถูกทดสอบก็จะรู้ว่าเป็นเกณฑ์ใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม วิธีการนี้เป็นการทดสอบความสามารถของสมองอีกอย่างหนึ่งที่สูงขึ้นไปจากเดิม คือความสามารถในการปรับแก้ หรือความอ่อนตัวของสมอง (plasticity) ผู้ที่สมองบางส่วนเสียไปหรือสมองเสื่อมจะมีความลำบากมากในเรื่องนี้ และใช้เวลามากในการเปลี่ยนเกณฑ์ จะเห็นได้ว่าความสามารถในการจับเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นความสามารถอย่างหนึ่ง แต่ความสามารถในการรู้ว่าเกณฑ์เปลี่ยนไปเป็นความสามารถอีกระดับหนึ่งที่สูงกว่า ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาระบบประสาทด้วยการฝึกฝน

ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมยิ่งเป็นความสามารถในระดับสูงขึ้น ต้องมีการวิเคราะห์แยกแยะได้ สังเคราะห์เอาสิ่งต่างๆ มาโยงกันได้ทั้งจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งสิ่งที่สัมพันธ์โดยตรง หรือโดยอ้อม จนเกิดภาพที่มีบูรณาการ แล้วอาศัยวิสัยทัศน์คาดการณ์ และมองไปสู่อนาคตได้ จึงเกิดสิ่งใหม่หรือความคิดใหม่ขึ้น

ความสามารถของสมองในด้านและระดับต่าง ๆ นี้ บางทีเป็นบันไดที่ขั้นตอนหนึ่งจำเป็นต้องมีก่อน เพื่อก้าวขึ้นไปสู่ขั้นต่อไป บางกรณีความสามารถหนึ่งอาจกลายเป็นเครื่องขวางกั้นการเจริญขั้นต่อไป ความจำอาจจำเป็นต้องมีจึงจะสามารถเชื่อมโยงไปเป็นเหตุผลได้ แต่ความจำในลักษณะความเชื่ออาจนำไปสู่สภาพงมงายที่ไม่เอื้อให้เกิดเหตุผล

กระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองนี้ ทำให้บุคคลแตกต่างกัน เกิดเป็นบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล นับได้ว่าเป็นผลของการศึกษา เป้าหมายของการศึกษาจึงมีได้หลากหลาย สร้างได้ทั้งผู้ที่เก่งในการเชื่อ และผู้ที่ขี้สงสัย

ในความคิด ปัญญา และบุคลิกภาพ จะมีการสร้างความเชื่อ ค่านิยม เจตคติ หรือเกณฑ์คุณธรรมจริยธรรม อันเป็นฐานของความดี น่าจะถือว่าด้วยพันธุกรรม มนุษย์มีฐานความดี รู้ดีรู้ชั่วอยู่ คู่กับกิเลสและความอยากทั้งหลาย การศึกษาและการฝึกฝนอบรมมีส่วนอย่างมากในการสร้างคนที่ดี ระดับปัญญาทางอารมณ์ (emotional intelligence quotient) จึงเป็นผลขั้นสูงของการศึกษา

กล้ามเนื้อและการประสานให้เป็นฝีมือ สามารถพัฒนาขึ้นได้ด้วยการออกกำลังกาย เช่น การเล่นแอโรบิก จึงมีผู้คิดคำ neurobics ขึ้นให้หมายถึงการฝึกเพื่อพัฒนาสมอง ทั้งมีบางคนตั้งทฤษฎีว่า มนุษย์สามารถฝึกฝนให้เกิดสมองที่เหนือธรรมดาได้ เรียกว่า superbrain

ได้เคยวิเคราะห์คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิตที่จบจากอุดมศึกษาไว้ในบทความเรื่อง บัณฑิตที่พึงประสงค์ ตีพิมพ์ในหนังสืออุดมศึกษาไทยแล้ว พอจะแบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม ดังนี้

  1. กลุ่มคุณลักษณะด้านวิชาชีพ
  2. กลุ่มความเป็นนักวิชาการ
  3. กลุ่มกระบวนการความคิด
  4. กลุ่มความสามารถที่จะพัฒนา
  5. กลุ่มความเป็นพลเมืองดีของประเทศ
  6. กลุ่มคุณธรรมจริยธรรม

การอุดมศึกษาจึงมีเป้าหมายอันพึงประสงค์ได้มากมายหลายอย่าง ที่อาจเกินกำลังความสามารถของมหาวิทยาลัย หรือของผู้เรียน ในเวลาอันจำกัด จึงจำเป็นต้องเลือก และจัดลำดับความสำคัญ แตกต่างกันได้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ

๒. บทบาทของการวิจัย

การวิจัยมีบทบาทในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถาบันอุดมศึกษาอยู่หลายประการ ได้เคยวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง บทบาทการวิจัยกับสถาบันอุดมศึกษา ตีพิมพ์ในหนังสือ อุดมศึกษาไทย ได้กล่าวถึงบทบาทการวิจัยในการสร้างความรู้ อันเป็นเครื่องมือในการแข่งขัน บทบาทในการย่อยและจัดการกับความรู้ บทบาทในการสร้างพลัง และบทบาทเป็นเครื่องมือในการศึกษา จึงจะไม่ลงรายละเอียดในที่นี้ แต่จะยกบทบาทในการศึกษามาขยายความ ได้แก่
  1. การสร้างความรู้ เป็นเป้าหมายเบื้องต้นของการวิจัย ที่มีผลผลิตเป็นความรู้ใหม่ ทั้งที่เป็นความรู้สากล และความรู้เฉพาะกรณี อันจะเป็นประโยชน์เพื่อประกอบเป็นฐานความรู้ (การวิจัยพื้นฐาน) หรือใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา หรือการพัฒนา (การวิจัยประยุกต์) หรือเป็นบันไดไปสู่การสร้างนวัตกรรม ตลอดจนสร้างความสามารถในการแข่งขัน การศึกษาจึงสร้างคนที่มีความรู้ สามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ ทำให้สามารถแก้ปัญหาของตน และการงานได้ ตลอดจนสร้างความสามารถในการแข่งขันของตน ของงาน และของชาติ
  2. การวิจัยสร้างคุณลักษณะของคน การวิจัยใช้ในการสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิต เช่น วิจารณญาณ การใช้เหตุผล นวัตกรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความใจกว้าง รับฟังผู้อื่น และปรับเปลี่ยนได้ การสื่อสารทางวิชาการ ตลอดจนจรรยาบรรณทางวิชาการ
  3. การวิจัยสร้างความสามารถจัดการความรู้ การวิจัยเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ สามารถค้นคว้าจากเอกสาร จากห้องสมุด และจากอินเตอรเนตได้ แล้วสามารถย่อยความรู้เพื่อจัดการกับความรู้ที่มีมากและเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในสังคมความรู้ โดยสามารถประเมินความเชื่อถือได้ ความคุ้มค่า แล้วสามารถปรับให้อยู่ในรูปที่เหมาะสำหรับใช้และใช้ได้ง่าย กระบวนการเหล่านี้ต้องอาศัยกระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือ การที่จะบอกว่าข้อมูลใดเชื่อถือและใช้การได้หรือไม่ ต้องดูว่าวิธีและกระบวนการวิจัยที่สร้างข้อมูลนั้นว่าถูกต้องตามวิธีวิทยาการวิจัยหรือไม่ ส่วนการปรับความรู้เพื่อใช้ ก็ต้องอยู่ภายในขอบเขตความถูกต้องของการวิจัยต่าง ๆ ในเรื่องนั้น ๆ
  4. การวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างพลัง (empowerment) ผู้ที่รู้จักตนเอง และสามารถจัดการกับตนเองและสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง ย่อมมีพลังสามารถยืนหยัดด้วยตนเองได้อย่างเป็นอิสระ การวิจัยเป็นกระบวนการที่ผู้วิจัยต้องคิด กระทำ และสื่อสารอย่างเป็นระบบ โดยใช้ปัญญาเป็นฐาน อันนับเป็นการสร้างคุณลักษณะระดับสูง ของการเป็นนักวิชาการ

ในการที่จะเป็นนักวิจัยที่ดีนั้น จะต้องมีคุณลักษณะหลายประการ ได้แก่

  • ความเป็นผู้ชอบสงสัย ไม่เชื่อง่าย
  • ความเป็นผู้มีวิจารณญาณ สามารถเลือกเชื่อได้อย่างถูกต้อง
  • ความเป็นผู้มีใจกว้าง สามารถรับฟังข้อมูล และเหตุผลใหม่ และยอมเปลี่ยนความคิด ความเชื่อได้
  • ความเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ สุจริต ทั้งในการสังเกต การบันทึก การบอกเล่า สื่อสาร และการคิด
  • การมีความสุขจากการได้ค้นพบ

คุณสมบัติเหล่านี้ เป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์สำหรับบัณฑิต การวิจัยจึงเป็นเครื่องมือในการสร้างคุณลักษณะดังกล่าวนั้น

๓. การศึกษาที่มีการวิจัยเป็นฐาน

การศึกษาเป็นปาฏิหาริย์ที่ปรับเปลี่ยนบุคคลให้มีสมรรถนะ ศักยภาพ และเจตคติ ตลอดจนค่านิยม และคุณธรรม จริยธรรม ตามที่ประสงค์ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า คุณลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งกำหนดไว้ที่ใด

หากพิจารณาพัฒนาการของอุดมศึกษาจากสมัยดึกดำบรรพ์ จะตั้งต้นด้วยการสร้างความเชื่อในแนวคิด หรือหลักการที่ยึดถือว่าเป็นความรู้และสิ่งที่ถูกต้อง ยึดถือคัมภีร์ต่าง ๆ เป็นสรณะ ขณะเดียวกันก็มีการอุดมศึกษา ที่มุ่งสร้างสติปัญญา ดังเช่น โรงเรียนของโซเครตีส หรือหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ให้พิจารณาด้วยความคิดและปัญญาให้เห็นจริงด้วยตนเอง ไม่ใช่บนฐานของความเชื่อตามที่ปรากฏในกาลามสูตร

พัฒนาการของวัฒนธรรมตะวันตก มีจุดหันเหในยุค renaissance ที่มีกำเนิดของวิทยาศาสตร์ เป็นกระบวนการหาความจริงของธรรมชาติด้วยการสังเกต วัด และทดลอง โดยพยายามกำจัดจุดอ่อนและอคติ แล้วนำไปสู่ความเข้าใจในระดับใหม่ถึงทฤษฎีความสัมพันธ์ที่เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ จนสามารถพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดตามธรรมชาติได้ และสามารถควบคุมธรรมชาตินำมาใช้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์ได้ เกิดเป็นเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งมีความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์และสังคม ตลอดจน จัดวางจารีตประเพณี และค่านิยมในสังคม แยกแยะคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ได้ หรือแยกสิ่งดีจากสิ่งชั่วได้

อุดมศึกษาปัจจุบันในประเทศไทย ได้พัฒนาด้วยการลอกเลียนมาจากตะวันตก เน้นการมีองค์ความรู้อยู่แล้วที่พึงจะนำมาถ่ายทอดเพื่อไปใช้ประโยชน์ การศึกษาจึงอยู่บนฐานของความเชื่อ ในสิ่งที่กำหนดว่าเป็นความรู้ หรือความจริงที่พึงเชื่อได้ การศึกษาด้วยการบรรยาย หรือจากตำรา มีการฟัง จด และจำ ให้เพียงพอตามที่กำหนด ก็เป็นสัมฤทธิผลของอุดมศึกษานั้น ๆ ซึ่งวัดได้ด้วยการเข้าฟังการบรรยาย และทบทวนแสดงออกในการสอบ ใครได้ฟังมาก จดจำได้มาก รำลึกกลับออกมาได้มาก ก็เป็นผู้ได้รับการศึกษาดี มีบางกรณีที่ถึงขั้นมีความเข้าใจและดัดแปลงความรู้ไปใช้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วย

หากพิจารณาสภาพของวิทยาการในปัจจุบันที่มีปริมาณมาก และปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ตลอดจนสังคมที่มีสภาพหลากหลาย และผันแปรเร็วแล้ว การศึกษาที่มุ่งการสร้างความจำองค์ความรู้ และการปรับไปใช้ได้ ย่อมไม่เพียงพอสำหรับบัณฑิต ที่ต้องใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันและอนาคต จำเป็นต้องปรับให้เกิดผลสัมฤทธิที่ดีขึ้นกว่าเดิม มีสมรรถนะ ศักยภาพ และเจตคติตามที่แต่ละสถาบันได้เลือกและกำหนดขึ้น ตามที่กล่าวไว้แล้วเกี่ยวกับคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของบัณฑิต

กระบวนการเรียนการสอนที่กระทำกันอยู่ในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอ อาจถือได้ว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่จะต้องก้าวขึ้นไปยังขั้นสูงต่อไปอีกหลาย ๆ ขั้น

กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการศึกษาเครื่องมือหนึ่งที่สามารถสร้างคุณลักษณะหลายอย่างที่พึงประสงค์ การศึกษาจึงต้องใช้การวิจัยเป็นวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนจากฐานความเชื่อ ไปเป็นฐานสติปัญญาที่ตั้งอยู่บนข้อมูลและเหตุผล มีวิจารณญาณ วิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์ และเกิดนวัตกรรมได้ ขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงความรู้ การประเมินความเชื่อถือได้ การตีค่า การปรับรูปแบบเพื่อนำไปใช้ได้ ตลอดจนสร้างพลัง ความเป็นอิสระทางความคิดและเป็นตัวของตัวเอง ย่อมนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการศึกษาได้ทั้งสิ้น

กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่อาจเข้าถึงได้ด้วยสื่อทั้งเอกสาร และสื่ออีเลกโทรนิก เป็นสมรรถนะพื้นฐานของการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต ระบบการศึกษาที่เน้นการหาความรู้เองอย่างกว้างขวาง และรู้เท่าทันข้อมูล หรือความรู้ที่หามาได้ เป็นการใช้ขั้นตอนแรกของการวิจัย ที่อาจเรียกว่า การทบทวนเอกสาร หรือการวิจัยเอกสาร

กระบวนการเรียนรู้ด้วยกลุ่มสัมพันธ์ เป็นการสร้างความเข้าใจ และสร้างวิจารณญาณในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์จากข้อมูลที่หามาได้ในแต่ละเรื่อง การอภิปรายถกเถียงในกลุ่มด้วยเหตุผล จะนำไปสู่สมรรถนะที่พึงประสงค์ ตัวอย่างเช่น การศึกษาแพทย์แนวใหม่ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ problem-based learning เน้นการศึกษาในกลุ่มย่อย ๘ ถึง ๑๒ คน โดยมีปัญหาในสถานการณ์จำลองที่สร้างเป็นบทเรียน เพื่อให้สมาชิกกลุ่มช่วยกันไปหาข้อมูล และข้อความรู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาแลกเปลี่ยน อภิปรายกันในกลุ่ม สร้างความเข้าใจ ตลอดจนวิจารณญาณ และความสามารถในการเลือกเชื่อ หรือไม่เชื่อข้อมูลที่ได้มา ในการนำไปใช้ในการแก้ปัญหานั้น ๆ การเรียนรู้ในกลุ่มในรูปสัมมนาที่อาจารย์มิใช่ผู้บอกความรู้ แต่เป็นผู้ช่วยเหลือประคับประคองให้ปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสม

กระบวนการเรียนรู้ด้วยการสืบสอบ หรือ learning by enquiry เป็นการตั้งต้นจากฐานความสงสัย แทนที่จะเป็นความเชื่อในความรู้ เป็นการปรับจากการเรียนรู้ทฤษฎี หรือสิ่งที่เชื่อว่าเป็นความรู้ และจดจำไปเพื่อนำไปใช้เมื่อต้องการใช้ความรู้ ไปเป็นการเรียนรู้จากข้อสงสัยหรือปัญหา แล้วหาทางสืบสอบจากข้อมูลต่าง ๆ ที่มีการสะสมไว้ หรือหาความจริงจากธรรมชาติ แล้วนำมาวิเคราะห์วิจารณ์จนเข้าใจหลักกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่เป็นทฤษฎีกำกับสิ่งนั้น ๆ อยู่ วิธีการเรียนแบบหลังนี้จะทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้น สร้างความสามารถสังเคราะห์หลักการขึ้นมาจากความหลากหลายที่ปรากฏในธรรมชาติได้ เมื่อนำวิธีการนี้มาใช้ในการแก้ปัญหา ก็จะนำไปสู่การมีนวัตกรรม หรือริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการแก้ปัญหาบนฐานของทฤษฎี หรือความเข้าใจที่สังเคราะห์ขึ้นได้

กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง หรือ experiential learning เป็นการนำกระบวนการสืบสอบออกไปใช้ในโลกของความเป็นจริง สร้างความสามารถในการใช้วิจารณญาณ เรียนรู้จากประสบการณ์ ไม่ถูกหลอกจากสิ่งที่ปรากฏ หรือประจักษ์ คล้ายจะจริง รู้เท่าทันการรับรู้ของตนเอง แล้วมีวิจารณญาณ วิเคราะห์ สังเคราะห์ ริเริ่มสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม ทำการทดลองใช้ และตรวจสอบ โดยมีปัจจัยรอบด้านในชีวิตจริง เข้ามามีส่วนด้วยในลักษณะบูรณาการ นับเป็นกระบวนการการศึกษาที่เป็นประโยชน์มาก หากได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เกิดสมรรถนะและศักยภาพตามที่พึงประสงค์ บทบาทของอาจารย์ในการกระตุ้นความคิด กระตุ้นวิจารณญาณ และกระตุ้นบูรณาการ หรือความคิดแบบรวบยอด มีความสำคัญมาก และต้องมีความสามารถและทักษะเป็นพิเศษ จึงจะทำให้กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ ไม่ไปติด หรือหลง ณ ที่หนึ่งที่ใด หรือออกนอกทาง ทำให้หลงผิด หลอกตนเอง และพร้อมจะไปหลอกผู้อื่น การเรียนแบบนี้ยังมีส่วนอย่างมากในการสร้างเจตคติ จากการได้สัมผัสกับของจริง และมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่หลากหลาย

การใช้วิธีการเรียนรู้ต่าง ๆ นี้ประกอบกัน เช่น การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ร่วมกับการเรียนรู้ในกลุ่มสัมพันธ์ จะช่วยให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

กระบวนการเรียนรู้ด้วยโครงการวิจัย หากดำเนินการให้ดี ก็จะเป็นการรวมกระบวนการเรียนรู้แบบต่างๆ เหล่านี้ เข้ามาผสมผสานกันอย่างมีบูรณาการ ตั้งแต่การหาปัญหา การมองเห็นปัญหา การเลือกปัญหาให้ถ่องแท้ขึ้นจนปรับเป็นปัญหาเพื่อการวิจัยได้ มีการตั้งสมมุติฐานที่จะต้องพิสูจน์ แล้วมีการเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ซึ่งรวมในโลกของความเป็นจริงด้วย อาจมีการวัด การทดลองและการทดสอบ แล้วรวบรวมผลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดทำข้อสรุป ข้อเสนอแนะในการริเริ่มสร้างสรรค์ และมีนวัตกรรม ใช้ทั้งกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนด้วยกลุ่มสัมพันธ์ การสืบสอบ และการใช้ประสบการณ์จริง

ในการศึกษาระดับปริญญาตรี ต้องสร้างสมรรถนะและศักยภาพ ตลอดจนเจตคติ และค่านิยมที่พึงมีสำหรับผู้เป็นศึกษิต หรือผู้ได้รับการศึกษาดี เป็นคุณลักษณะขั้นพื้นฐานของบัณฑิต ที่จะนำไปใช้ได้ในการดำรงชีวิต เป็นนักวิชาการ หรือนักวิชาชีพ สามารถครองตน และดำรงความเป็นบัณฑิตไปได้ตลอดชีวิต สำหรับในระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาชีพอาจเป็นการมีสมรรถนะและศักยภาพในลักษณะที่เพิ่มขึ้น กว้างขวางขึ้น หรือเฉพาะทางลึกซึ้งมากขึ้น แต่สำหรับในสาขาวิชาการแล้วจะหมายถึง สมรรถนะในการรู้เท่าทันความรู้ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า master หรือเป็นนายของความรู้ สมรรถนะที่สำคัญ คือ วิจารณญาณ สามารถวิเคราะห์และเลือกเชื่อข้อมูลและความรู้ได้ ส่วนในระดับปริญญาเอก วิทยานิพนธ์จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ อันมีลักษณะเป็นองค์รวมที่สมบูรณ์ หรือมีบูรณาการ ปริญญาเอกในสาขาต่าง ๆ ที่มีใช่วิชาชีพ จึงไปรวมกันเป็น doctor of philosophy

จะเห็นว่า กระบวนการวิจัยทั้งกระบวน หรือส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่ดีในการศึกษาที่มุ่งสร้างคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์ของอุดมศึกษาในระดับและสาขาวิทยาการต่างๆ

๔. สร้างการศึกษาที่มีการวิจัยเป็นฐานได้อย่างไร

การวิจัยในฐานะเป็นเครื่องมือทางการศึกษาได้ใช้กันมานานแล้วในรูปของวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ การสัมมนา และการเรียนกลุ่มย่อย (tutorial) เรื่องนี้จึงมิใช่ของใหม่ แต่ก็ยังมีการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ไม่น้อย ที่ยังเน้นการบรรยาย และการถ่ายทอดความรู้ การสร้างการศึกษาที่มีการวิจัยเป็นฐาน จึงต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ หลายอย่าง พอจะยกมากล่าวเฉพาะส่วนที่สำคัญได้ ดังนี้

(๑) การสร้างและกำหนดค่านิยมหลักของสถาบัน สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง อาจมีค่านิยมหลัก หรือสิ่งที่กำหนดว่าดี หรือเป็นสิ่งพึงประสงค์แตกต่างกันได้ บางสถาบันอาจมุ่งที่การให้การศึกษาสำหรับประชากรจำนวนมาก และการบรรยายและถ่ายทอดความรู้ยังต้องเป็นวิธีการหลักในการเรียนการสอน การผสมผสานกระบวนการวิจัยเข้าไปสู่การศึกษาคงกระทำเพียงเท่าที่เป็นไปได้ เช่น การจัดการบรรยายในรูปที่กระตุ้นให้คิด การจัดการสอบให้มีการวัดความเข้าใจ และการนำไปใช้ให้มากขึ้น เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม บางสถาบันอาจมุ่งที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่จะเป็นความลึกซึ้งในศาสตร์ หรือจะไปใช้ประโยชน์ สถาบันนั้นก็อาจเน้นการวิจัยที่กระทำเป็นเอกเทศไม่ต้องร่วมไปกับการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม การศึกษาระดับปริญญาโทและเอกในสถาบันลักษณะนี้ ก็อาจจัดการให้การบัณฑิตศึกษาผสมผสานไปกับการวิจัย โดยนิสิตนักศึกษาในระดับนั้น เป็นผู้ช่วยวิจัย หรือผู้วิจัยพร้อมไปกับการศึกษา

ค่านิยมสายกลางที่เน้นการผสมผสานการวิจัยเข้าไปเป็นบูรณาการกับการศึกษา เป็นค่านิยมที่ต้องสร้างขึ้น และกำหนดให้ชัด โดยผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบเห็นงาม และยึดถือปฏิบัติ การกำหนดทิศทางให้ชัดเจนและมีเป้าหมายชัดเจน เป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้เกิดการศึกษาที่มีวิจัยเป็นฐาน

(๒) การสร้างความสามารถ และเจตคติที่เหมาะสมด้านการศึกษาที่มีวิจัยเป็นฐาน การวิจัยเป็นสิ่งใหม่ในสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่จำเป็นต้องสร้าง และเสริมความสามารถทางการวิจัย ส่วนการผสมผสานการวิจัยเข้ากับการศึกษาให้เป็นเนื้อเดียวกัน ต้องอาศัยความสามารถเพิ่มเป็นพิเศษขึ้นอีกชั้นหนึ่ง คือความสามารถในการให้การศึกษาอีกแบบหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการพัฒนาอาจารย์ให้มีความเข้าใจ ตลอดจนความสามารถ และความตั้งใจที่จะใช้กระบวนการนี้

อาจารย์จะต้องมีความสามารถและประสบการณ์ในการทำวิจัย เพื่อจะได้สามารถชี้แนะลูกศิษย์ได้ ขณะเดียวกันต้องพัฒนาทักษะในการสอนแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ผู้บอกความรู้ ต้องมีความอดกลั้นที่จะไม่ใช้ทางลัดในการบอก คงยอมให้นิสิตนักศึกษาอภิปรายถกกันให้เพียงพอที่จะนำไปถึงจุดสรุปเนื้อหาสาระ หรือหลักการที่ต้องการเรียนรู้ พฤติกรรมที่ต้องเปลี่ยนจากผู้สอนหรือ teacher ไปสู่ผู้ประคับประคองการเรียนรู้ หรือ mentor เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก ต้องมีการเน้น และฝึกกระทำไประยะหนึ่งจึงจะสามารถทำได้ดี

(๓) การสร้างระบบการศึกษาที่เอื้อให้ผสมผสานการวิจัย ระบบการศึกษาทั้งหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ และการสอบ เป็นส่วนสำคัญที่สกัดกั้นขัดขวางการบุกเบิกแสวงหาความรู้และการสืบสอบ หลักสูตรที่อัดเนื้อหาสาระแน่นเกินไปจนผู้เรียนไม่มีเวลาคิด กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนเป็นเผด็จการทางความคิด และการสอบที่จะได้คะแนนก็ต่อเมื่อตอบอยู่ในกรอบของสิ่งที่อาจารย์สอน เป็นตัวอย่างของวิธีการปฏิบัติที่จำเป็นต้องปรับแก้

การลดความแน่นของหลักสูตรลง ต้องร่วมไปกับการมีแรงกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใฝ่รู้ด้วยตนเอง การตรวจสอบความก้าวหน้าในสัมฤทธิผลของการเรียนรู้ ควรเริ่มจากผู้เรียนเองที่ประเมินตนเอง และมีการกำกับตรวจสอบจากผู้สอนอีกชั้นหนึ่ง กระบวนการสร้างรางวัลจากการกระทำดีอย่างเหมาะสม และการลงโทษเมื่อมิได้กระทำ เป็นกลไกสำคัญที่กำกับพฤติกรรมของผู้เรียน

ที่โรงเรียนแพทย์ฮารวารด ไม่แบ่งการศึกษาแพทยศาสตร์เป็นคณะ หรือภาควิชา แต่กำหนดเป็นสมาคม หรือ society ที่ถือว่าอาจารย์และลูกศิษย์ มาร่วมกันทำการศึกษาบุกเบิกหาความรู้ ต่างฝ่ายก็ค้นคว้ารวบรวมความรู้ โดยมีต้นทุนต่างกัน อาจารย์มีประสบการณ์ แต่ลูกศิษย์มีความคิดนอกกรอบ เมื่อมามีปฏิสัมพันธ์กัน ก็เกิดความลึกซึ้งและสิ่งใหม่ทางความคิดนับเป็นตัวอย่างของการจัดการอุดมศึกษาเชิงก้าวหน้า

การสอบเป็นกระบวนการที่ควรได้รับความสนใจและปรับปรุงให้ดีขึ้น การที่บุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งเป็นผู้วางหลักสูตรเอง จัดการสอนเอง และสอบเอง ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดความด้อยคุณภาพ ตามข้อจำกัดทางความคิดของผู้สอน ในประเทศอังกฤษกำหนดให้ ต้องมีผู้สอบจากภายนอกเข้าร่วมเสมอ เพื่อประกันคุณภาพ ส่วนมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยส่วนกลางเป็นผู้จัดสอบรวมในระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาทั่วไปที่มีผู้เรียนจากหลายคณะ ผู้สอนในแต่ละคณะไม่มีบทบาทหลักในการสอบกลาง

(๔) การสร้างสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่เอื้อต่อการศึกษาแบบที่มีวิจัยเป็นฐาน โดยทั่วไปมหาวิทยาลัยไทยได้ก่อสร้างอาคาร สถานที่เพื่อการบรรยายในกลุ่มใหญ่เป็นหลัก สถานที่เรียนที่เหมาะสำหรับกลุ่มเล็กจึงมักจะไม่เพียงพอ หากจะปรับระบบการศึกษา อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการในการใช้สถานที่ที่มีอยู่อาจช่วยลดปัญหานี้ลงได้

แหล่งความรู้ เช่น ห้องสมุด และเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับสื่อสารค้นคว้าด้วยอินเตอร์เนต จะมีความสำคัญ

ที่
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31470เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2006 03:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีใจจังที่พบคนหัวอกเดียวกัน แต่เรามีงานวิจัยนะ แต่วิจัยเกี่ยวกับกิจการนักศึกษา เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้เสนอผู้บริหารและนำมาพัฒนานักศึกษาจ้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท