ประสาร สุขสุคนธ์
นาย ประสาร ประสาร สุขสุคนธ์ สุขสุคนธ์

5 ประเด็น การวิจัย


ประเด็นที่ 1

กรอบแนวคิดการวิจัย (Conceptual Framework) คืออะไร


กรอบแนวคิดการวิจัย (Conceptual Framework) คือ โครงสร้างที่เป็นระบบซึ่ง
แสดงทิศทางความสัมพันธ์ระหว่าง แนวทางทางทฤษฎีสำหรับตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา
และนำไปสู่กระบวนการวิจัยเพื่อตอบสมมติฐานการวิจัย

ซึ่งกรอบแนวคิดการวิจัยสามารถนำเสนอได้หลากหลายรูปแบบ (Shields, P. & Tajalli, H. 2006: 313-334)
ให้สอดคล้องกับรูปแบบการวิจัยและสมมติฐานของการวิจัย เช่น
การนำเสนอกรอบแนวคิดการวิจัยโดยการบรรยาย แบบจำลอง หรือ แผนภาพ เป็นต้น

ตัวอย่างกรอบแนวคิดการวิจัย จากวิทยานิพนธ์ครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาจิตวิทยาการศึกษา
ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2547

ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการพัฒนาเชาวน์อารมณ์แบบผสมผสาน
(Development of an integrated model of emotional intelligence development)

ชื่อผู้วิจัย ปิยะวรรณ เลิศพานิช

ปีที่วิจัย พ.ศ. 2547

วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาเชาวน์อารมณ์แบบผสมผสาน
2. เพื่อทดสอบผลการใช้รูปแบบดังกล่าวกับเยาวชนวัยรุ่น

มีกรอบแนวคิดการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. แนวคิดการพัฒนาเชาวน์อารมณ์ในแนวคิดจิตวิทยา ได้แก่ แนวคิดของ
D. Goleman (1995: 46-47; 1998: 95) R. BarOn, R. (2000: 102)
C.G. Morris & A.A. Maisto (1999: 284) B.B. Lahey (2001: 370)
L. Barker (2002: 535)

2. แนวคิดการพัฒนาเชาวน์อารมณ์ในแนวคิดศาสนา ได้แก่ แนวคิดของ
พระธรรมปิฎก (2542: 159, 811; 2543: 6-7) พระราชวรมุนี (2542: 9-11)
พิทูร มลิวัลย์ (2528: 106-107) พระเทพเวที (2532: 842-845) วนิดา ขำเขียว (2541: 131)

3. แนวคิดการพัฒนาเชาวน์อารมณ์ในแนวคิดสังคม ได้แก่ แนวคิดของ
จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ และคณะ (2543: 46) ปฬาณี ฐิติวัฒนา (2542: 73-74)
คณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2527: 25-26)
สุดา ภิรมย์แก้ว (2541: 65-66) นิพนธ์ คันธเสวี (2528: 31-32) บรรยงค์ โตจินดา (2543: 374)

4. การพัฒนาเชาวน์อารมณ์ในแนวคิดจิตวิทยา + แนวคิดศาสนา + แนวคิดสังคม
--> การการผสมผสานแนวคิดการพัฒนาเชาวน์อารมณ์แนวคิดจิตวิทยา แนวคิดศาสนา และแนวคิดสังคม
--> รูปแบบการพัฒนาเชาวน์อารมณ์แบบผสมผสาน
--> องค์ประกอบของการพัฒนาเชาวน์อารมณ์แบบผสมผสาน 5 ประการ ได้แก่
(1) การรู้จักอารมณ์ตนเอง
(2) การจัดการกับอารมณ์ตนเอง
(3) การสร้างแรงจูงใจให้กับตนเอง
(4) การรู้จักอารมณ์ของผู้อื่น
(5) การมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

จะเห็นได้ว่า ... กรอบแนวคิดในการวิจัยมีความสำคัญมาก ทำให้เห็นแนวทางเบื้องต้นของตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
และนิยามปฏิบัติการของตัวแปรที่ทำการศึกษา
นำไปสู่การตั้งสมมติฐานการวิจัยต่อไปครับ...

ท่านใดจะมาร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการวิจัยร่วมกัน..ก็ยินดีอย่างมากเลยครับ...สู้ๆๆ

ประเด็นที่ 2 บันทึก:

การออกแบบวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร การออกแบบวิจัยประกอบด้วยการออกแบบด้านใดบ้าง



การออกแบบการวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1) ระบุขอบเขตของการวิจัยให้มีความชัดเจน
และมีความเป็นไปได้ (Kerlinger, F.N. & Lee, H.B. 2000: 481)

(2) นอกจากนั้นการออกแบบการวิจัยยังทำให้การเก็บข้อมูลและ
การวิเคราะห์ตอบปัญหาการวิจัยมีความครบถ้วนอีกด้วยครับ

การวิจัยทุกครั้ง จึงต้องมีการออกแบบ...
เหมือนกับการทำโครงการอะไรสักอย่าง ก็ต้องมีการออกแบบ
การจะตัดเสื้อผ้าสักชุด ก็ต้องมีการออกแบบ
การจะทำงานปั้นอะไรสักชิ้น ก็ต้องมีการออกแบบ (แหะ แหะ เพิ่งไปปั้นกันมา 3 ชิ้น)
เป็นต้น

การออกแบบวิจัย (Research design) ประกอบด้วย

(1) การออกแบบรูปแบบการวิจัย (Research strategy design)

(2) การออกแบบเลือกกลุ่มตัวอย่างและการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง (Sampling design)

(3) การออกแบบเครื่องมือวิจัย (Instrumental design)

(4) การออกแบบวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล (Data collection design)

(5) การออกแบบวิเคราะห์ข้อมูล (Data analysis design)

(สมคิด พรมจุ้ย 2550: 16-17)

การออกแบบการวิจัยแต่ละขั้นตอน จะนำไปสู่การเขียนโครงการวิจัย
การดำเนินการวิจัย และการประเมินโครงการวิจัยต่อไป

กระบวนการวิจัย เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ทุกๆท่าน สามารถนำมาปรับประยุกต์
กับการดำเนินการอะไรสักอย่างในชีวิตประจำวันได้เช่นกันครับ...

เนื่องจากตอนนี้ เริ่มมีบางท่านสนใจการทำวิจัย ก็คงจะมานำเสนอ แลกเปลี่ยนกันในนี้เป็นระยะๆ นะครับ..

สู้ๆๆ..

 

ประเด็นที่ 3 บันทึก:

เหตุใดการวิจัยเชิงนโยบายจึงต้องอาศัยคณะนักวิจัยจากสหสาขาวิชา



การวิจัยเชิงนโยบายมีความเกี่ยวข้องกับคณะนักวิจัยจากสหสาขาวิชา เนื่องจาก

(1) การวิจัยเชิงนโยบายมีลักษณะการศึกษาตัวนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ ผลของนโยบาย

(2) ผู้วิจัยเชิงนโยบายมีความสนใจว่านโยบายเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะอะไร มีผลยาวนานแค่ไหน มีการปรับปรุงหรือไม่
ทัศนคติอย่างไรต่อนโยบาย การเปรียบเทียบนโยบายที่มีลักษณะใกล้เคียง ข้อดีข้อเสียของนโยบาย เป็นต้น

(3) การวิจัยเชิงนโยบายมีกระบวนการที่ต่อเนื่อง เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อนโยบาย

(อรรณพ จีนะวัฒน์ 2550: 4-5; สุพักตร์ พิบูลย์ 2549: 21-22)

นอกจากนั้นกระบวนการออกแบบวิจัยเชิงนโยบายที่แตกต่างจากกระบวนการออกแบบการวิจัยทั่วไป คือ ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย

ขั้นตอนการติดต่อสื่อสารระหว่างนักวิจัยกับผู้กำหนดนโยบาย (อรรณพ จีนะวัฒน์ 2550: 6-10)

ซึ่งทำให้การวิจัยเชิงนโยบายมีความเกี่ยวข้องกับคณะนักวิจัยจากสหสาขาวิชา และคณะนักวิจัยจากหลายสหสาขาวิชา

มีส่วนสำคัญทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างของตัวนโยบาย การนำไปปฏิบัติ รวมถึงผลของนโยบายที่ทำการศึกษาวิจัยนำไปสู่ประสิทธิผลของการวิจัยเชิงนโยบายอย่างแท้จริง

การวิจัยเชิงนโยบายมีประโยชน์มาก.. เลยนำมาแลกเปลี่ยนกันนะครับ... สู้ๆๆ

ประเด็นที่ 4 บันทึก:

เหตุใดการวิจัยเชิงปฏิบัติการจึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้วิพากษ์วิจารณ์



การวิจัยเชิงปฏิบัติการจึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้วิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากหลักการของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
จากอรรณพ จีนะวัฒน์ (2550: 4-5) สุพักตร์ พิบูลย์ (2549: 21-22) สรุปได้คือ

(1) การป้อนกลับของผลการปฏิบัติงาน
(2) เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมวิจัย และได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างทั่วถึง
(3) มีการดำเนินงานเป็นวงจรต่อเนื่องและเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติงาน
(4) นำผลจากการวิจัยไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงาน

นอกจากนั้น กระบวนการออกแบบวิจัยเชิงปฏิบัติการ ที่แตกต่างจากกระบวนการออกแบบการวิจัยทั่วไป คือ
ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อเสนอแนะที่ได้จากการวิจัย
ขั้นตอนการติดต่อสื่อสารระหว่างนักวิจัยกับผู้เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนการสะท้อนผลเพื่อให้เกิดการวิพากษ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เกี่ยวข้องร่วมกัน

สอดคล้องกับขั้นตอนการเสนอวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ขั้นตอนที่ 4 จากวงจร PAOR หรือ Plan, Act, Observe and Reflect (สุวิมล ว่องวาณิช 2544: 13)
ทำให้การวิจัยเชิงปฏิบัติการจึงต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างทั่วถึง

ประเด็นที่ 5 บันทึก:

ความแตกต่างระหว่างการวิจัยแบบผสมกับการวิจัยแบบบูรณาการคืออะไร



สรุปความแตกต่างระหว่างการวิจัยแบบผสมกับการวิจัยแบบบูรณาการ จากนักวิชาการหลายท่าน
โกศล มีคุณ (2550: 4-5) Kerlinger, F.N. and Lee, H.B. (2000: 590-592) Parker, C.A. (1997: 68-69) สรุปได้ว่า

การวิจัยแบบบูรณาการ (Integrated research) เป็นการวิจัยที่ถือว่ามีเป็นลักษณะของการวิจัยขั้นสูงเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง
คำตอบ องค์ความรู้ แนวคิด ทฤษฎี ตลอดจน วิธีวิทยาจากหลายศาสตร์ และความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา
เพื่อเสริมเติมเต็ม ในการแสวงหาความรู้ที่ต้องการคำตอบด้วยการวิจัย

โดยมีลักษณะบูรณาการ 5 รูปแบบ คือ

(1) แบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinarity)
(2) แบบอเนกวิทยาการ (Pluridisciplinarity)
(3) แบบปฏิวิทยาการ (Cross disciplinarity)
(4) แบบสหวิทยาการ (Interdisciplinarity)
(5) แบบอภิวิทยาการ (Trandisciplinarity)

ในขณะที่การวิจัยแบบผสม (Mixed research) เป็นกระบวนการวิจัยที่ได้นำเอาวิธีการวิจัยแบบต่างๆ มาผสมผสานกัน
ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการวิจัย

หมายเลขบันทึก: 314236เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2009 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เพิ่งตามบล๊อกเจอครับ..น่าจะเป็นเพื่อนที่มีบล๊อก กับบันทึกมากที่สุด และบทความหลากหลาย น่าสนใจ สมเป็นนักการศึกษาอันดับต้น ๆ ของไทยในอนาคต...

ขอบพระคุณครับที่ตามหาจนเจอ อิอิ

อาจารย์ประสารครับผม

ผมไปปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาแล้วครับ....ได้เรื่อง...และก็ได้เรื่องจริงๆ.ครับ...

ชื่อว่า สภาพปัญหาการจัดการศึกษาตามการรับรู้ของคณะกรรมการสถานศึกษาเทศบาลอำเภอเมืองจังหวัดชลบุรี

ผมขอคำแนะนำตัวแปรต้นและตัวแปรตามด้วยครับ....เนื่องจากต้องการ สถิติ t-test ถ้าเป็น anova คงไม่จบแน่ๆ ครับ

อีกประการครับ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่มีงานวิจัยที่มีชื่อตรงๆเลยครับ แล้วในส่วนการอภิปรายผลจะลำบากรึเปล่าครับ

ถ้าลำบากจะทำอย่างไรดีครับ

ขอบพระคุณอาจารย์ประสารล่วงหน้าครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท