ภูมิปัญญาท้องถิ่น กำลังรอสืบสานด้วยวิธีการที่แท้จริง (ตอนที่ 1)


จะมีวิธีการใดบ้าง ครับ ที่มองเห็นเป็นความจริง ในการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านเพลงพื้นบ้านและด้านอื่น ๆ ให้คงอยู่ได้อย่างเป็นรูปธรรม มิใช่แค่ได้ทำแล้วก็ปล่อยไป

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

กำลังรอสืบสาน

ด้วยวิธีการที่แท้จริง (ตอนที่ 1)

โดย ชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลพุ่มพนมมาลา ราชมงคลสรรเสริญ 2547

        ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของในแต่ละท้องถิ่น ได้ถูกนำเอามาปัดฝุ่น ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ทำให้ได้เห็นรากเหง้าของแผ่นดินผุดขึ้น โผล่ขึ้นมาอยู่เหลือผืนแผ่นดินอีกครั้ง ทั้งที่ศิลปวัฒนธรรมบางอย่างถูกลืมไปนานแล้ว

        ครูศิลปะอย่างผมซึ่งเรียนจบมาทางจิตรกรรมและศิลปศึกษา,เทคโนโลยีทางการศึกษา อดที่จะตื่นเต้นดีใจไม่ได้ อาจพูดได้ว่ามาถึงจุดที่ตนเองใฝ่ฝัน เพราะตลอดเวลาที่เข้าไปศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นตั้งแต่เด็ก ๆ มาจนถึงปัจจุบัน (ปี  พ.ศ. 2537) ผมเดินเข้าไปหาปราชญ์ชาวบ้าน (ผู้ที่รอบรู้)  ได้สืบค้น ฝึกปฏิบัติ รวมทั้งได้ฝนตนเองในหลาย ๆ ด้าน เป็นต้นว่า ได้ฝึกร้องขับเสภา ฝึกร้องเพลงแหล่ ฝึกหัดทำขวัญนาค เส้นผีคู่บ่าว-สาว ฝึกหัดวาดภาพขึ้นศาล ฝึกวาดภาพพระบท ฝึกหัดแสดงเพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด ฯลฯ ที่ประทับใจมากในช่วงเด็ก ๆ คือ ได้ฝึกหัดแสดงนาฏดนตรี (ลิเก) จนถึงสามารถด้นกลอนสดได้โดยไม่ต้องเขียนเนื้อร้องเอาไว้ท่องจำ และร้องเพลงเชียร์รำวงได้ทั้งคืน โดยที่ในวันนั้นผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่า สิ่งที่ผมได้รับการถ่ายทอดจากผู้รู้ชาวบ้านจะมีคุณค่ามหาศาลต่อแผ่นดิน 

         

       

        

        ตลอดเวลาที่ผ่านมา เหมือนมีมนต์ดลใจให้ผมต้องตระเวนไปในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อที่จะไปพบกับครูเพลงที่ท่านเคยสร้างสรรค์ผลงานเอาไว้ในท้องถิ่น ผมได้พบกับสัจธรรม ได้พบกับความเป็นจริงว่า “ที่คนเก่า ๆ เขาหวงแหนวิชากันนัก ไม่ยอมถ่ายทอดให้กับใครง่าย ๆ ก็เพราะเขาต้องเก็บเอาไว้ให้ทายาท คือลูกหลานได้สานต่อ” และอีกอย่างหนึ่งคือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวตนของที่ผู้มาเรียน เพราะเมื่อได้วิชาไปแล้วจะนำเอาไปในทางใด รักษาเอาไว้ได้ยั่งยืนแค่ไหน”

        พ่อคุณวัน (คุณตาของผม) ท่านมีลูกชายหลายคนแต่ว่าลูก ๆ ของท่านก็ไม่มีใครสนใจในวิชาอาชีพหมอขวัญ วาดภาพขึ้นศาล เมื่ออายุท่านมากขึ้นวัยล่วงเลย 80 ปี ท่านก็เรียกทาทายาทรุ่นหลานที่ใกล้ชิด และห่างออกไปรวมได้ 9 คนมารับรู้และฝึกปฏิบัติทำขวัญนาค เส้นผี วาดภาพต่อจากท่าน หลานทั้ง 9 คน รับความรู้และปฏิบัติตามหน้าที่ได้ทั้งหมด แต่ความยั่งยืนในการสืบสานมีเพียงคนเดียว นอกนั้นก็วางเฉยไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและชัดเจน  

        นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความเป็นจริงที่ผมได้รับจากประสบการณ์ตรง และจากคำสั่งสอน ที่ป้าอ้น จันทร์สว่างเคยพูดฝากกับผมไว้ เมื่อ ปี 2520 ท่านกล่าวว่า “ครู(หมายถึงผม) ฝึกหัดเพลงอีแซวไปแล้วขอให้รักให้ตลอด อย่าไปทิ้งมันจะได้มีเชื้อไฟคุกรุ่นไม่มีวันมอดไหม้หรือดับลงได้” ผมบอกกับป้าอ้นว่า “ผมขอให้สัญญาว่าจะสืบสานเพลงอีแซวและเพลงพื้นบ้านของสุพรรณบุรีไปตลอดชีวิต” 

        วันที่ผมไปฝึกหัดร้องเพลงกล่อมเด็กที่บ้านแม่บัวผัน จันทร์ศรี ปี พ.ศ. 2539 แม่บัวผันนั่งปอกแห้วอยู่ที่แคร่หน้าบ้านกับลูกสาวของท่าน พอไปถึงแม่ก็จำได้ว่าผมเคยยืนอยู่บนเวทีศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดกับแม่ เมื่อ ปี พ.ศ.2538 แม่ถามว่า “ครูมายังไง” ผมก็บอกว่า “ผมจะมาขอฝึกหัดเพลงกล่อม จะต้องใช้อะไรบ้าง” แม่บอกว่า “เพลงกล่อมมีหลายเพลง แม่จะร้องให้ฟัง” ผมนั่งฟังแม่บัวผันร้องเพลงกล่อมเรื่องไอ้ขุนทองจนจบ แม่ร้องหลายเที่ยว มาถึงตาที่ผมร้องบ้าง พอผมร้องจบ แม่ก็บอกว่า”ครูร้องใช้ได้ ร้องได้ดีทีเดียว” แม่บอกว่า “เอาไปสอนเด็กบ้าง กลัวว่ามันจะสูญ น่าเสียดาย”

        จาก 3 เหตุการณ์ที่ผมกล่าวมา ถ้าท่านผู้อ่านบทความนี้ได้คิดตามไปด้วยคงพอที่จะมองเห็นภาพนะครับว่า เมื่อมีคน ๆ หนึ่งไปขอรับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากบุคคล คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้และดำเนินชีวิตมาด้วยความรู้ความสามารถของท่าน เอาตัวรอด ช่วยเหลือครอบครัว พึ่งตนเองได้ด้วยลำแข้ง ท่านมีความมั่นใจในตัวเราจึงมอบสิ่งที่ท่านหวงแหนมาให้ และคำฝากที่ได้รับมาก็จะคล้าย ๆ กัน คือ “มีความรู้แล้วนำเอาไปใช้ อย่าไปทิ้งเสีย”

       

       

       

        การที่คนรุ่นใหม่จะสืบสานภูมิปัญญาด้านใดด้านหนึ่งให้มีความยั่งยืนยาวนานต่อไปได้ จะต้องมีคนมารับช่วงต่อ ๆ กันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผมไม่อาจที่จะบอกได้ว่า คนที่รับการถ่ายทอดความรู้ เพลงพื้นบ้าน ทำขวัญนาค วาดภาพ เขียนสีลวดลายสด ๆ รวมทั้งแหล่ด้นกลอนสดจากผม เขาจะรักในสิ่งที่เรามอบให้และเก็บรักษาเอาไว้ได้นานสักแค่ไหน เพียงแต่เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ จะต้องทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด คือ

       1. รักษาสิ่งที่เราสืบสานงานเพลงพื้นบ้านเอาไว้ให้คงอยู่ไปตลอดชีวิตของเรา

       2. ถ่ายทอดความรู้ที่เรามีไปยังคนรุ่นต่อจากเราทั้งนักเรียนและผู้ที่สนใจ

       3. สามารถนำความรู้ไปรับใช้สังคมให้เกิดประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง

       ผมทำหน้าที่รักษา (ให้คงอยู่) ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว ทำขวัญนาค เพลงแหล่ด้นสด มายาวนานเท่ากับชีวิตของผม และเมื่อถึงเวลาอันสมควร ผมก็ถ่ายทอดความรู้ไปสู่นักเรียนที่สอน มีทั้งนิสิต นักศึกษาและประชาชนที่สนใจ ผมรวบรวมกำลังคนที่มีความสามารถทางการแสดงในชุมชุมศิลปะการแสดงท้องถิ่น เพลงอีแซว ตั้งวงเพลงอีแซวของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ใช้ชื่อว่า “วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ” นำผลงานไปแสดงและรับใช้สังคมมายาวนานถึง 18 ปี ผ่านประสบการณ์ในการแสดงบนเวทีมาแล้ว 600 ครั้ง (ไม่นับงานส่วนตัวที่ผมไปเดี่ยว ๆ อีกจำนวนมาก)

       มีผลงานเป็นที่ปรากฏมายาวนาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 (เป็นภาพถ่ายการแสดงสดบนเวที ในระดับจังหวัด) มีภาพแสดงเพลงฉ่อยของนักเรียนตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2535 มีบันทึกการแสดงสดเพลงพื้นบ้านของครูและนักเรียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ร่องรอยเหล่านี้หาชมได้ในเว็บไซต์ Yuotube.com (ความจริงในบล็อก gotoknow.org นี้ก็มีครบ ทั้งบทความ ถาพการแสดง เสียงร้อง และภาพเคลื่อนไหว)

      

       สำหรับผมแล้ว “ภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังรอสืบสานด้วยวิธีการที่แท้จริง” เป็นภาระงานที่หนักและยิ่งใหญ่มาก เพราะมันไม่ใช่แค่ทำแล้วก็ปล่อยไป ได้ทำแล้วภาคภูมิใจ ได้เห็นเด็ก ๆ มาฝึกหัดเพลงกับเราแล้วเชื่อมั่นว่าจะต้องมีผู้สืบสานต่ออย่างแน่นอน ความจริงแล้วไม่ใช่ ครับ  เพราะนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ยังมองไม่เห็นผลที่แท้จริงเลย  แม่แต่การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนก็ไม่อาจที่จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ผู้เรียนมีค่านิยมต่อสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอด ในรูปแบบใดอย่างไร โดยจะต้อง

       แสดงความมีตัวตนที่แท้จริง เป็นจริง ๆ ในสิ่งนั้นจนเป็นที่ยอมรับของสังคม

       - รวมกลุ่มได้อย่างเหนียวแน่นและเป็นเวลานาน แสดงถึงความมั่นคง

       - เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่น ใครไปมาหาชมได้ตลอดเวลา

       - มีการพัฒนาจนถึงระดับมืออาชีพ รับงานแสดงได้อย่างมหรสพทั่วไป

       - สามารถถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นต่อไปได้อย่างน่าเชื่อถือและภาคภูมิใจ

       แล้วจะมีวิธีการใดบ้าง ครับ ที่มองเห็นเป็นความจริง ในการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านเพลงพื้นบ้านและด้านอื่น ๆ ให้คงอยู่ได้อย่างเป็นรูปธรรม มิใช่แค่ได้ทำแล้วก็ปล่อยไปตามกรรม ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะกี่ครั้งก็ยังอยู่ที่เดิม มิได้มีการพัฒนาให้ก้าวหน้าจริง ๆ เสียที น่าเสียดายเวลา งบประมาณการลงทุนทั้งที่ความจริงลงแรงแค่เพียงอย่างเดียว (เสียหยาดเหงื่อ) ก็สามารถทำงานนี้ได้อย่างแน่นอน 

ติดตามตอนที่ 2 ภูมิปัญญาท้องถิ่นกำลังรอสืบสานด้วยวิธีการที่แท้จริง

ชำเลือง มณีวงษ์ กับ วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ยืนยาวมานาน 18 ปี

หมายเลขบันทึก: 314081เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2009 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีครับ รักษาไว้ ความภูมิใจท้องถิ่น

วิธีการที่น่าจะดำเนินการได้ ครับ

   1. จัดตั้งกองทุน เพื่อสนับสนุนกิจกรรม และ ทายาทสืบสาน  (มีเงินช่วยเลี้ยงชีพ)

   2. จัดตั้งทุนการศึกษาในสาขานี้ ให้มากขึ้น 

   3. หาเครือข่ายสนับสนุนกิจกรรม  แลกเปลี่ยนกิจกรรม พัฒนาสู่อาชีพ เหมือนงานทั่วไป 

  4. ชุมชนคนในท้องถิ่น ต้องพร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทยในท้องถิ่น 

  5. รัฐควรมีองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรง (น่าจะเป็น กรมทรัพย์สินฯ หรือ วัฒนธรรม)

ตอบความเห็นที่ 1 อาจารย์พรชัย

  • ขอบคุณในความเห็นของท่าน ที่ให้ช่วยกันรักษาไว้
  • ครับ เป็นความภาคภูมิใจในท้องถิ่น แต่ว่ามีคนเดินหน้าทำงานนี้ น้อยลงไปทุกที

ตอบความเห็นที่ 2 อาจารย์นิรันดร์

  • ผมเห็นด้วยกับท่าน ศน.นิรันดร์ในข้อ 1 ถึง ข้อ 4 มากครับ
  • ส่วนข้อที่ 5 เรื่องขององค์กรที่รับผิดชอบงานด้านนี้มักจะทำงานลงลึกไม่ถึงวิถีชีวิตจริง ส่วนมากก็เป็นการจัดทำโครงการพอให้ได้งาน มีผลงานเท่านั้น
  • หากภาครัฐมองให้เห็นส่วนลึกที่คนทำงาน แล้วสนับสนุนตรงไปเลยยังคนกลุ่มนั้น รับรองว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นยังมีผู้สืบทอดต่อไปอีกนานแน่นอน
  • ขอบคุณท่าน ศน.จาก จ.กระบี่ มากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท