SLE : The Palliative care


ความตายเป็นสมบัติของมนุษย์

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2552

น้องปลา อายุ 14 ปี ป่วยเป็นเอสแอลอีมา 6 เดือน ดิฉันพบน้องปลาครั้งนี้เป็นครั้งแรก  ที่หลังห้องตรวจเด็ก  พี่พยาบาลเห็นว่าน้องปลานอนแปลมา  เลยนำมาแยกไว้จากผู้ป่วยคนอื่นๆ  น้องปลานอนบนรถนอน  รู้สึกตัวดี  พูดคุยโต้ตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม   ขาของน้องปลาบวมทั้ง 2 ข้าง  บวมตั้งแต่ปลายนิ้วเท้าถึงบริเวณขาหนีบ  กดไม่บุ๋ม  มีลักษณะแข็งมาก  ต้องใช้แรงกดมากกว่าปกติ  ที่บริเวณข้อพับจนถึงขาหนีบมีรอยเนื้อแตกเป็นริ้วสีขาว   เห็นชัดเจน  เมื่อถามว่ารอยแตกแบบนี้มีที่ไหนอีก  น้องปลาเปิดให้ดูที่บริเวณท้องน้อย  เหนือขาหนีบขึ้นไป  มีรอยแตกสีขาวมากพอๆกับที่ข้อพับ  แต่บริเวณอื่นผิวเรียบดีไม่มีรอยใดๆ  ท้องบวมตึง  กดไม่เจ็บ  ไม่แข็ง  เมื่อถามว่าเจ็บท้องไหม  น้องปลาบอกว่าไม่เจ็บ  สบายดี  นิ้วมือและแขนไม่มีอาการบวม  หนังตาไม่บวม

ดวงตาน้องปลามีแววแจ่มใส  พูดคุยกับคุณป้าๆ(~5-6 คน)ที่พามาตรวจ  คู่แฝด(พี่สาว)ก็มาด้วย  พูดคุยหยอกล้อกัน  ดิฉันเพิ่งพบน้องปลาเป็นครั้งแรก  ได้ซักประวัติการเจ็บป่วยคร่าวๆ  สังเกตว่าอาการบวมมีลักษณะแตกต่างจากโรคไตและโรคหัวใจ  จึงรายงานให้แพทย์ทราบ  ขณะนั้นเวลาเลยเที่ยงไปเล็กน้อย  แพทย์เตรียมไปรับประทานอาหารกลางวัน  แต่ก็ได้มาตรวจน้องปลาก่อน  แล้วสั่งให้น้องปลาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (Admitted)  คุณป้าดำเนินการติดต่อทำเรื่องเพื่อเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลใช้เวลาชั่วโมงกว่า  น้องปลาจึงเข้านอนที่เด็กโตในช่วงบ่ายๆ

เวลาประมาณ 18.00 น.  น้องปลาบอกคุณป้าว่ารู้สึกเหนื่อย  พยาบาลให้ออกซิเจนแบบใส่จมูก 2 รู (Cannula) น้องปลานอนคุยกับคุณป้าจนถึงเที่ยงคืนจึงหลับไป 

ประมาณตีสามน้องปลาบอกว่าอึดอัดหายใจไม่ออก  คุณป้าได้บอกพยาบาล  มีหมอเวรมาดูแล้วบอกว่าหัวใจน้องปลาเต้นช้าลงเรื่อยๆ  หมอเวรจะใส่ท่อช่วยหายใจ  แต่น้องปลาบอกคุณป้าว่าไม่อยากใส่  หลังจากนั้นก็เงียบไป  หมอใส่ท่อทางปาก  แล้วปั๊มหัวใจ  หมอพยาบาลพยายามช่วยน้องปลาเต็มที่  แล้วบอกคุณป้าว่าจะย้ายน้องปลาไปไอซียู 

ตีห้าเกือบหกโมงเช้า  หมอย้ายน้องปลาไปไอซียู  พยาบาลที่ไอซียูบอกว่าน้องปลามาอยู่ที่นี่ได้สัก 15 นาที  หัวใจก็หยุดเต้น  ไม่สามารถปั๊มขึ้นมาได้ 

น้องปลาเสียชีวิตเวลา 7.00 น.  ของวันที่ 14 พฤศจิกายน 2552  ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน  รวมระยะเวลาอยู่ที่โรงพยาบาลตั้งแต่ Admitted ถึง Discharged (Dead) 17 ชั่วโมง

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2552 เวลา 08.30 น. ดิฉันโทรศัพท์ไปหาคุณป้าเพื่อถามอาการน้องปลา  คุณป้าบอกว่าน้องปลาเสียชีวิตแล้ว  ศพตั้งอยู่ที่วัดพุปลาไหล อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา กำหนดฌาปนกิจศพเวลา 15.00 น.  ดิฉันได้เขียนบันทึกข้อความยื่นขออนุญาตหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลเพื่อไปร่วมในพิธีศพ  ซึ่งก็ได้รับอนุญาตให้ไปได้

ดิฉันชวนเพื่อนพยาบาลคนอื่นๆไปด้วย  แต่ทุกคนมีภารกิจที่ต้องทำไม่สามารถไปร่วมได้  จึงได้โทรชวนพี่สาวให้ไปเป็นเพื่อน  เราไปถึงวัดพุปลาไหลเวลา 15.00 น.  มีแขกมาร่วมงานจำนวนมาก  ครึ่งหนึ่งเป็นนักเรียนที่เรียนร่วมชั้นเดียวกับน้องปลา  ดิฉันขึ้นไปวางดอกไม้จันทน์เกือบคนสุดท้าย  เมื่อคุณป้า 2-3 คนของน้องปลาเห็นว่าดิฉันไปร่วมงานศพ  ก็เข้ามากอดดิฉันไว้แล้วร้องไห้สะอึกสะอื้น  พลอยให้ดิฉันน้ำตาคลอไปด้วย  ดิฉันได้พูดปลอบใจให้คลายความเศร้าโศก  และบอกให้คุณป้าสามารถติดต่อสอบถามปัญหาสุขภาพได้  แม้เป็นการเจ็บป่วยอื่นๆ  หากดิฉันสามารถช่วยได้ก็ขอให้บอก  คุณป้าบอกให้ดิฉันไปที่บ้านเพราะได้เตรียม “ข้าวเม่า” ไว้ให้  แต่ดิฉันคิดว่างานศพยังไม่เรียบร้อยและไม่ได้หวังเรื่องของฝาก  จึงกล่าวขอบคุณคุณป้าทั้ง 2 คน แล้วลากลับ

การเรียนรู้ที่ได้รับ

  1. เมื่อญาติเห็นเจ้าหน้าที่ไปร่วมงานศพ  มีสีหน้าดีใจอย่างเห็นได้ชัด  การเข้ามากอดเหมือนญาติคนหนึ่งทำให้ได้รับรู้ว่าความรู้สึก “ร่วมทุกข์” เป็นอย่างไร
  2. ญาติไม่ได้คาดหวังที่จะได้เงินช่วยงานศพจากเรา  แต่เขารู้สึกดีใจที่เราให้เกียรติไปร่วมงานของเขา 
  3. ญาติบอกว่าไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตามมาดูแลแบบนี้  ซาบซึ้งใจจริงๆ  สิ่งเหล่านี้เป็นความประทับใจที่เราสร้างให้เกิดขึ้นในใจของญาติ  โดยไม่สามารถแลกด้วยของมีค่าใดๆ  เป็นการประสานสัมพันธ์แบบ “ใจถึงใจ” อย่างแท้จริง
  4. เมื่อแขกวางดอกไม้จันทน์บนเมรุเรียบร้อยแล้ว  ได้เดินลงมาที่พื้นแล้วล้างมือ  ล้างเท้า  ล้างหน้า  ในถังน้ำที่เจ้าภาพเตรียมไว้  เป็นความเชื่อว่าเมื่อมางานศพแล้วก่อนกลับบ้านต้องล้างมือล้างเท้าให้สะอาด  เพื่อไม่ให้ความตายติดตามไปที่บ้านของตน
  5. ดอกไม้จันทน์ไม่มีวางใส่พานไว้เหมือนในอดีต  แต่ใช้ดอกไม้จันทน์ที่นำมาประดิษฐ์เป็นพวงหรีดแทน  โดยให้คนถือพวงหรีดดอกไม้จันทน์แจกให้แก่แขกทุกคน  ดอกไม้จันทน์มีหลายสี  ไม่จำกัดเฉพาะสีขาวเท่านั้น  เช่น  สีแดง  สีฟ้า  สีเขียว  เป็นต้น  ลักษณะของดอกไม้จันทน์เป็นทั้งดอกไม้ที่ทำจากไม้จันทน์สีขาว  และที่ทำเหมือนดอกไม้ประดับแจกันทั่วไป100_1942
  6. หลังใส่ไฟเผาแล้ว  มีการจุดปะทัดเสียงดัง  ตามความเชื่อว่าให้ดวงวิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์
  7. โรคเอสแอลอีมีการดำเนินของโรคไม่แน่นอน  ไม่สามารถคาดเดาได้ชัดเจน  บุคลากรสุขภาพควรตะหนักเสมอว่าโรคนี้สามารถทำให้เสียชีวิตได้ตลอดเวลา  การประเมินผู้ป่วยอย่างละเอียดถี่ถ้วนในทุกขั้นตอนของระบบการตรวจ  เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
  8. ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือระดับตติยภูมิ  มักมีแนวคิดว่ากิจกรรมส่วนใหญ่คือการดูแลรักษาในสถานที่ตั้ง  บางครั้งละเลยที่จะคำนึงถึงการบริการเชิงรุก (ลุก) คือลุกออกจากโต๊ะ  เก้าอี้  ตึกสี่เหลี่ยม  แล้วออกไปตั้งกำแพงสกัดกั้นไม่ให้ผู้ป่วยเพิ่มปริมาณมากขึ้น  จนไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง   หากไม่พัฒนาแนวคิดเชิงรุกแล้ว  ต่อให้สร้างอาคารกี่ร้อยหลังก็ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย
คำสำคัญ (Tags): #palliative care#sle
หมายเลขบันทึก: 314033เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2009 06:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เศร้าจัง ไม่รู้ว่าน้องเป็นมาเร็วช้าอย่างไร

ชีวิตไหลไปตามกรรมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท