การวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุนและความอยู่รอดระยะยาว


การวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุนและความอยู่รอดระยะยาว, ความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้กรณีกิจการที่ไม่หวังผลกำไรอย่างสถานบริการสาธารณสุข, หากเราทำการวิเคราะห์โดยใช้การจำลองภาพให้เป็นกิจการที่เสมือนหนึ่งเป็นกิจการที่หวังผลกำไรเช่นเดียวกับภาคธุรกิจทั่วไป และในขั้นตอนของการอภิปรายผลเราถึงจะได้พิจารณาบริบทและข้อจำกัดนั้น ๆ ไปทีละประเด็นเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้าก็อยู่ในวิสัยที่จะทำได้

การวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุนและความอยู่รอดระยะยาว
(Analysis of Capital Structure and Long Term Solvency)
ความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้กรณีกิจการที่ไม่หวังผลกำไรอย่างสถานบริการสาธารณสุข [1]

      การวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุน (Analysis of Capital Structure) เพื่อทำนายความอยู่รอดของกิจการที่ดำเนินการอยู่ในระยะยาว จะมีความจำเป็นมากในการประกอบธุรกิจ กล่าวคือธุรกิจที่มีโครงสร้างเงินทุนที่ประกอบด้วยหนี้ (ระยะยาว) เป็นส่วนใหญ่จะมีผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน และเสี่ยงต่อสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ลงทุน และความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่ลงทุนนั้น ในขณะที่การวิเคราะห์ความอยู่รอดของธุรกิจ (Analysis of Long Term Solvency) ก็ไม่อาจจะดูเพียงแต่ฐานะทางการเงินระยะยาวว่าดีเท่านั้น แต่จะต้องดูความคล่องตัวทางการเงินระยะสั้นว่าดีหรือไม่ ที่สำคัญจะต้องให้ความสนใจกับกำไรในปัจจุบัน และโอกาสในการทำกำไรในอนาคตด้วย[2] การนำแนวความคิด หรือวิธีการคิดดังข้างต้นมาปรับใช้ในการวิเคราะห์ฯ กรณีสถานบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นกิจการที่ไม่หวังผลกำไร จึงมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่ในขณะเดียวกันหากเราทำการวิเคราะห์โดยใช้การจำลองภาพให้เป็นกิจการที่เสมือนหนึ่งเป็นกิจการที่หวังผลกำไรเช่นเดียวกับภาคธุรกิจทั่วไป และในขั้นตอนของการอภิปรายผลเราถึงจะได้พิจารณาบริบทและข้อจำกัดนั้น ๆ ไปทีละประเด็นเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้าก็อยู่ในวิสัยที่จะทำได้

     การวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุนเพื่อทำนายความอยู่รอดของกิจการนั้น มีหลายวิธีที่สามารถกระทำได้[3] และในแต่ละวิธีก็จะมีความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้แตกต่างกัน หรืออาจจะต้องนำมาใช้วิเคราะห์ร่วมกัน เช่นการวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุนโดยวิธีย่อส่วนตามแนวดิ่ง การวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาว การหาอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายเงินต้น การวัดความสามารถชำระรายจ่ายทางการเงิน หรือที่จะกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ คือ การวิเคราะห์เพื่อคาดคะเนภาวะล้มละลายของธุรกิจ ด้วยเหตุผลที่เลือกเพราะมีความใกล้เคียงกับบริบทของสถานบริการสาธารณสุข มีความง่ายต่อการอภิปรายผลและง่ายต่อการสืบค้นไปยังต้นตอของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่ขนาดของสถานบริการสาธารณสุขที่แตกต่างกันก็ไม่ได้เป็นปัจจัยกำหนดความแตกต่างของผลการวิเคราะห์ที่ได้ อีกทั้งในปัจจุบันการรวบรวมรายงานตามระบบ 0110 รง.5 ของสถานบริการสาธารณสุขก็มีความครอบคลุมของข้อมูลที่จะใช้วิเคราะห์อยู่แล้ว

     การวิเคราะห์เพื่อคาดคะเนภาวะล้มละลายของธุรกิจ ผู้เขียนเห็นว่าในรายงานนี้ต่อไปจะเรียกใหม่เป็น “การวิเคราะห์เพื่อทำนายความมั่นคงทางการคลัง” ของสถานบริการสาธารณสุข แทน โดยใช้สูตรของศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด อัลท์แมน (Edward I. Altman)[4] ที่ได้จากการทดสอบภาวะล้มละลายของธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตจำนวน 66 แห่ง ซึ่งพบว่าปัจจัย 5 ประการที่มีอิทธิพล คือ 1.) อัตราส่วนความคล่องตัว 2.) เงินทุนสะสมจากแหล่งภายใน 3.) ความสามารถในการทำกำไร   4.) สัดส่วนแห่งภาระผูกพันทางการเงิน และ 5.) ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของกิจการ  ผลการทำนายจะใช้ทำนายได้ใน 1 – 2 ปี ซึ่งเพียงพอต่อการปรับตัวและเหมาะสมสำหรับสถานบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ได้นำมาคัดแปลงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาพิเศษเพียงตัวแปรเดียวคือ สัดส่วนแห่งภาระผูกพันทางการเงิน ซึ่งได้มาจาก

          สัดส่วนแห่งภาระผูกพันทางการเงิน = มูลค่าตลาดของหุ้นสามัญ / มูลค่าตามบัญชีของหนี้สินรวม

     ประเด็นคือ มูลค่าตลาดของหุ้นสามัญ จะเทียบเคียงได้กับอะไรในระบบบัญชีของสถานบริการสาธารณสุข ในกรณีของภาคธุรกิจจะให้ความหมายของเงินลงทุนว่าเป็นเงินที่ลงทุนในรูปของหลักทรัพย์โดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน ซึ่งประกอบด้วย หุ้น พันธบัตร หนี้จำนอง หรือเงินกองทุนที่ตั้งขึ้น[5] ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความหมายของทุนว่า เป็นสินทรัพย์สุทธิที่รัฐบาลได้จัดสรรให้แก่หน่วยงานแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นผลต่างระหว่างยอดรวมของสินทรัพย์กับหนี้สินของหน่วยงาน ทั้งนี้หน่วยงานจะเริ่มบันทึกบัญชีทุนเมื่อเริ่มตั้งหน่วยงาน หรือเริ่มปฏิบัติตามระบบบัญชีเกณฑ์คงค้าง[6] ฉะนั้นในการวิเคราะห์เพื่อทำนายความมั่นคงทางการคลังจึงใช้ “มูลค่าตลาดของหุ้นสามัญ” เท่ากับ “สินทรัพย์รวม – หนี้สิน ณ วันที่ 30 กันยายน ของปีบัญชีก่อนหน้า” เพื่อทำการวิเคราะห์ในปีบัญชีปัจจุบัน

          Z (ความมั่นคงทางการคลังของสถานบริการสาธารณสุข) = 1.2 (อัตราส่วนความคล่องตัว) + 1.4 (เงินทุนสะสมจากแหล่งภายใน) + 3.3 (ความสามารถในการทำกำไร) + 0.6 (สัดส่วนแห่งภาระผูกพันทางการเงิน) + 0.999 (ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของกิจการ)

     โดยการคำนวณจะใช้สมการคะแนนมาตรฐาน (Z-score) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตัวแปรที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการทำนายความมั่นคงทางการคลังนี้ คือ ความสามารถในการทำกำไรของสถานพยาบาล รองลงไปคือ เงินทุนสะสมจากแหล่งภายใน อัตราส่วนความคล่องตัว ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของกิจการ และที่มีอิทธิพลน้อยที่สุดคือ สัดส่วนแห่งภาระผูกพันทางการเงิน

     โดยการคำนวณจะใช้สมการคะแนนมาตรฐาน (Z-score) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตัวแปรที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการทำนายความมั่นคงทางการคลังนี้ คือ ความสามารถในการทำกำไรของสถานพยาบาล รองลงไปคือ เงินทุนสะสมจากแหล่งภายใน อัตราส่วนความคล่องตัว ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของกิจการ และที่มีอิทธิพลน้อยที่สุดคือ สัดส่วนแห่งภาระผูกพันทางการเงิน

     ในการแทนค่าตัวแปรในแต่ละตัวนั้นได้มาจากการคำนวณดังนี้
          1. อัตราส่วนความคล่องตัว = เงินทุนหมุนเวียน / สินทรัพย์รวม
          2. เงินทุนสะสมจากแหล่งภายใน = กำไรสะสม / สินทรัพย์รวม
          3. ความสามารถในการทำกำไร = กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี / สินทรัพย์รวม
          4. สัดส่วนแห่งภาระผูกพันทางการเงิน = (สินทรัพย์รวม – หนี้สิน) ณ วันที่ 30 กันยายน ของปีบัญชีก่อนหน้า / มูลค่าตามบัญชีของหนี้สินรวม
          5. ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของกิจการ = ขาย / สินทรัพย์รวม

     การแปลผลโดยนำค่าคะแนนมาตรฐาน (Z-score) ที่คำนวณได้มาเปรียบเทียบและให้ความหมายดังนี้
          ต่ำกว่า 1.81  หมายถึง คาดหมายได้ว่าในปีหรือสองปีนี้สถานบริการแห่งนี้จะขาดความมั่นคงทางการคลังอย่างแน่นอน ต้องค้นหาสาเหตุและแก้ไขโดยด่วน
          1.81 – 2.67  หมายถึง ความมั่นคงทางการคลังของสถานบริการแห่งนี้ ยังไม่สามารถระบุชัดได้ ยังเป็นที่น่าสงสัย และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
          สูงกว่า 2.67  หมายถึง สถานบริการแห่งนี้มีความมั่นคงทางการคลัง และภายในปีหรือสองปีนี้จะไม่เกิดปัญหาขึ้น
          2.99 ขึ้นไป   หมายถึง มั่นใจได้ว่าสถานบริการแห่งนี้มีความมั่นคงทางการคลัง และภายในปีหรือสองปีนี้จะไม่เกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน

     เมื่อแปลผลแล้วผู้ทำการวิเคราะห์จะต้องพยายามอธิบายโดยการสืบค้นไปยังต้นเหตุของปัญหา และพยายามดูว่าค่าที่ได้จากบัญชีหมวดใด รายการใดที่มีการแปรผันตรง หรือแปรผกผัน หรือจะทำการทดลองใส่ค่าที่เป็นเป้าหมาย (ประมาณการ) ลงไปในสมการเพื่อทดสอบรูปแบบที่จะใช้แก้ปัญหาของสถานบริการที่ใช้วิเคราะห์ก็จะได้รูปแบบในหลาย ๆ ลักษณะก่อนนำไปประเมินความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการต่อไป

     การวิธีการวิเคราะห์เพื่อทำนายความมั่นคงทางการคลังของสถานบริการสาธารณสุข โดยใช้สูตรที่ดัดแปลงมาจากสูตรของศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด อัลท์แมน นี้ ผู้เขียนได้พยายามสืบค้นว่าผลการทำนายจะมีประสิทธิภาพเท่าไหร่ (สัมประสิทธิ์ในการทำนายจากสมการ) แต่ยังไม่สามารถหาได้ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะได้ตัดสินใจใช้เพื่อการวิเคราะห์ แต่การตัดสินใจในการนำเสนอตามรายงานฉบับนี้นั้นผู้เขียนได้ให้ความเชื่อถือต่อการกล่าวอ้างของศาสตราจารย์เพชรี  ขุมทรัพย์ ที่ได้กล่าวถึงการนำมาใช้กันอย่างกว้างขวางเป็นสำคัญ และหากสืบค้นได้ในภายหลังจะได้นำเสนอเป็นฉบับเพิ่มเติมให้ทราบต่อไป

     ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ http://gotoknow.org/file/chinekhob/CapitalAnalysis.zip

เอกสารและแหล่งข้อมูลอ้างอิง


[1] ผู้เขียน : อนุชา  หนูนุ่น  นักวิชาการสาธารณสุข 5  ประจำกลุ่มงานประกันสุขภาพ  สสจ.พัทลุง (9 ส.ค.48)
[2]  เพชรี  ขุมทรัพย์. 2546. วิเคราะห์งบการเงิน หลักการและการประยุกต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[3]  อ้างถึงแล้ว 2
[4]  Keith V. Smith, David K Eiteman. 1974. Modern Strategy for Successful Investing. Down Jones : Irwin Inc.
[5]  เสนาะ  ติเยาว์ และกิ่งกนก  พิทยานุคุณ. 2543. การบัญชีบริหาร. พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ : คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[6]  ชาญวิทย์  ทระเทพ และคณะ (บรรณาธิการ). 2547. คู่มือบัญชีกระทรวงสาธารณสุข ระดับ รพศ./รพท./รพช. นนทบุรี : สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข.

หมายเลขบันทึก: 3140เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2005 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท