สิ่งแวดล้อม


สิ่งแวดล้อม

 สิ่งแวดล้อม หมายถึง สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น

1. องค์ประกอบพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อม               

องค์ประกอบพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมแบ่งได้เป็น 4 มิติ ดังนี้
        1) มิติทรัพยากร                          
ทรัพยากร แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
        ก. ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเอง หรือมีอยู่เองตามธรรมชาติ และให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไดแก่ ป่าไม้ น้ำ ดิน ทุ่งหญ้า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
        - ทรัพยากรที่ใช้ไม่หมด เช่น น้ำ อากาศ
        - ทรัพยากรที่ทดแทนได้ เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป แต่สามารถทดแทนได้โดยต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เช่น น้ำใช้ ดิน ป่าไม้
        -  ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เป็นทรัพยากรที่เมื่อมีการใช้แล้วหมดไปไม่สามารถทดแทนได้ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่
        ข. ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น
สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ   
        - ทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นทรัพยากรชีวภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร ประปา   การใช้ที่ดิน
        -   ทรัพยากรคุณภาพชีวิต หรือทรัพยากรสังคม เป็นทรัพยากรที่ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ได้แก่ การสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนา/ศาสนสถาน นันทนาการ ฯลฯ


      2) มิติเทคโนโลยี
                        เทคโนโลยี หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาใช้สร้างเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการแปรรูป ป้องกัน หรือปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด          เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เป็นการมุ่งเน้นการให้ความรู้และการสร้างเทคโนโลยีในการนำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการบำบัด/กำจัดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการนำกลับมาใช้ใหม่
เทคโนโลยีมี 3 รูปแบบคือ
1. เครื่องจักรกล เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สร้างพลังงานและให้งานเกิดขึ้น  ได้แก่
               - เครื่องจักรกลธรรมชาติ เช่น การบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำ พืชริมตลิ่งช่วยลดการพังทลายของดิน        
               - เครื่องจักรกลชาวบ้าน เช่น ครก รถไถนา การผันน้ำ
               - เครื่องยนต์ เช่น เทคโนโลยีการคมนาคม การถลุงแร่
               - เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์
2. แบบผลิตภัณฑ์ เป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาสภาพเศรษฐกิจ สังคม สามารถซื้อขายได้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
               - แบบหล่อ เช่น หลอดไฟ แบบขนมปัง
               - แบบทาบ เช่น รูปแบบเสื้อผ้า
               - แบบพิมพ์ เช่น แบบพิมพ์หนังสือ แบบพิมพ์ภาพ
               - แบบโครงสร้างเหมือน เช่น แบบบ้าน แบบสินค้า

 3) มิติของเสียและมลพิษ

        ของเสีย หมายถึง ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสาร หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ซึ่งปล่อยทิ้งหรือมีที่มาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมทั้งการตกตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่อยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ
        มลพิษสิ่งแวดล้อม หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่มีมลสาร ที่เป็นพิษจนมีผลต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์
ของเสียและมลพิษ สามารถแบ่งได้ ดังนี้คือ
             1. ของเสียและมลพิษที่เป็นของแข็ง เกิดจากเศษเหลือใช้ หรือกากของเสีย เช่น ขยะมูลฝอย กากสารพิษ
             2. ของเสียและมลพิษที่เป็นของเหลว เป็นสารพิษที่อยู่ในสถานะของเหลว เช่น น้ำมัน จะเคลือบผิวน้ำทำให้พืชน้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้
             3. ของเสียและมลพิษที่เป็นก๊าซ มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ไอระเหย
             4. ของเสียและมลพิษที่มีสมบัติทางฟิสิกส์ ส่วนใหญ่จะสัมผัสได้โดยตรง เช่น เสียง         รบกวน  กัมมันตรังสี UV
             5. มลพิษทางสังคม เป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรง โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ เช่น ปัญหาการเพิ่มประชากร ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด

 

4) มิติมนุษย์
             มิติมนุษย์เป็นมิติที่มีความสำคัญมากในการที่จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรซึ่งก่อให้เกิดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อมตามมา มิติมนุษย์ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
             1. ประชากร การเปลี่ยนแปลงประชากรส่งผลต่อการใช้ทรัพยากร
             2. การศึกษา จะแสดงถึงคุณภาพประชากรในการที่จะช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
             3. การอนามัย/สาธารณสุข มนุษย์ถ้ามีสุขภาพอนามัยดี ก็จะมีศักยภาพในการที่จะทำหน้าที่ในสังคม จึงเป็นตัวควบคุมทรัพยากรทั้งทางตรงและทางอ้อม
             4. เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ เงินออม แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม

 2. การอนุรักษ์

              การอนุรักษ์ หมายถึง การใช้ประโยชน์ตามความต้องการที่พอเหมาะและประหยัดเพื่ออนาคต
               2.1 หลักการอนุรักษวิทยา สรุปได้ดังนี้
หลักการที่ 1 การใช้อย่างยั่งยืน การใช้อย่างสมเหตุสมผล หรือใช้อย่างฉลาด เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดของเสียและมลพิษ
หลักการที่ 2 การสงวนของหายาก ทรัพยากรที่กำลังจะสูญสิ้น ควรหลีกเลี่ยงการนำไปใช้ และทำนุบำรุง หรือทำให้ทรัพยากรนั้นมีเพิ่มขึ้น
หลักการที่ 3 การทำนุบำรุงทรัพยากรที่เสื่อมโทรม จากไม่สามารถนำไปใช้ได้ จนฟื้นสภาพนำมาใช้ได้
                 2.2 วิธีการอนุรักษ์ มีด้วยกัน 8 วิธีคือ
1. การใช้ หมายถึง การใช้หลายรูปแบบ เช่น การบริโภคโดยตรง เห็น ได้ยิน        พลังงาน ต้องใช้แบบยั่งยืน
2. การเก็บกัก หมายถึง การรวบรวมหรือการเก็บกักทรัพยากรที่มีแนวโน้มจะขาดแคลนในบางเวลา หรือคาดว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น
3. การรักษา/ซ่อมแซม หมายถึง การดำเนินการใดๆ ต่อทรัพยากรที่ขาดไป/ไม่ทำงานตามพฤติกรรม/เสื่อมโทรม/เกิดปัญหา สามารถฟื้นคืนสภาพได้ จนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
4. การฟื้นฟู หมายถึง การดำเนินการใดๆ ต่อทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้เป็นปกติ สามารถเอื้อประโยชน์ ในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป5. การพัฒนา หมายถึง การทำสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดผลผลิตที่ดีขึ้น
6. การป้องกัน หมายถึง การป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นมิให้ลุกลามมากกว่านี้  และป้องกันสิ่งที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น
7. การสงวน หมายถึง การเก็บไว้โดยไม่ให้แตะต้องหรือนำไปใช้ด้วยวิธีการใดก็ตาม
8. การแบ่งเขต หมายถึง ทำการแบ่งเขตหรือการแบ่งกลุ่ม/ประเภท ตามสมบัติของทรัพยากร เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมืองควบคุมมลพิษ
               2.3 ตัวอย่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
               1. ปัญหาเกี่ยวกับน้ำ
                    - ปัญหาด้านปริมาณน้ำไม่เหมาะสมในบางช่วงเวลาและสถานที่ที่ต้องการ เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน
                    - ปัญหาในด้านคุณภาพน้ำ ซึ่งได้แก่ปัญหาน้ำเน่าเสีย
               2. การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
                  1) การแก้ปัญหาปริมาณน้ำที่ไม่เหมาะสม โดยการอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ ป้องกัน/รักษา พื้นที่ป่าให้อุดมสมบูรณ์
                   - หยุดการบุกรุกทำลายป่าอย่างเด็ดขาด
                   - ปลูกสร้างต้นน้ำลำธารเพิ่มเติม
                   -  ศึกษาความเป็นไปได้ในการผันน้ำจากลุ่มน้ำอื่นมาใช้
                   - พัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
                   - การประหยัดน้ำในกิจกรรมต่างๆ
                  2) การแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ  น้ำที่ดีมีคุณภาพต้องมีความสะอาด ปราศจาก     เชื้อโรค สี กลิ่น รส และสิ่งเจือปน ควรปรับปรุงแก้ไขดังนี้
                   - การกำจัดสิ่งสกปรก หรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยให้มีการบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้ง
                   - ใช้บ่อซึมและถังส้วมแบบใหม่ที่ไม่รู้จักเต็ม
                   - ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากน้ำเสียแก่   ประชาชน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์แหล่งน้ำ

 

คำสำคัญ (Tags): #วิทยาศาสตร์
หมายเลขบันทึก: 313991เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2009 22:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วครับ

มีประโยชน์ดีมาก ตรงกับความสนใจ นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ทำให้เข้าใจแนวคิดและนิยามที่จำเป็นหลายอย่าง

ขอบคุณครับ

ขอบคุณค่ะมีสาระดีมากเลย สามารถนำไปสอนนักเรียนได้เพราะกำลังสอนชีววิทยาชั้นม.6

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท