พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย


พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย

          ลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้พระมหากษัตริย์มีสถานะที่สูงส่งดุจดังเทพเจ้า  ทำให้พราหมณ์มีอิทธิพลต่อพิธีกรรมในราชสำนักเป็นอย่างมาก  โดยรับแบบอย่างมาจากอาณาจักรขอมในสมัยพระนคร  ที่เจริญรุ่งเรืองในดินแดนประเทศไทยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ ด้วยพิธีกรรมที่ประกอบขึ้นเนื่องในวาระสำคัญต่างๆ  ล้วนเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์  เต็มไปด้วยขั้นตอนและพิธีการที่เข้มงวด  และมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมฐานะของพระมหากษัตริย์  เช่น  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดในบรรดาพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์  เนื่องจากเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์  ที่เป็นการสถาปนาบุคคลให้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์  เป็นองค์สมมุติเทพที่จะรับภาระแทนทวยเทพ  เป็นเสาหลักและที่พักพิงแก่สรรพสัตว์ในมนุษย์โลก  ให้ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข นอกเหนือจากพระราชพิธีรัฐเนื่องในการปกครองแล้วยังมีพระราชพิธีประจำเดือนคือ  พระราชพิธีสิบสองเดือน

                พระราชพิธีที่ปฏิบัติประจำในแต่ละเดือน เป็นมูลเหตุให้สังคมไทยที่ยึดมั่น ผูกพัน และจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์ บางพระราชพิธีเป็นประเพณีมาแต่ก่อนสุโขทัย บางพิธีเป็นของศาสนาพราหมณ์ทั้งหมด บางพิธีเป็นพราหมณ์เจือพุทธ พิธีกรรมในพระราชพิธีสิบสองเดือนนี้แตกย่อยไปอีกมากมาย ทั้งนี้ความมุ่งหมายและความสำคัญของการปฏิบัติพระราชพิธีสิบสองเดือนในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ก็เพื่อแผ่พระเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินทางสถลมารถและทางชลมารถนั้นจะมีขบวนใหญ่โต  ความเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่พระนคร อาณาประชาราษฎร์  และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง  ตลอดจนเป็นการเตรียมความพรักพร้อมด้านกำลังและอาวุธในคราวที่บ้านเมืองจะต้องรบพุ่งเพื่อรักษาเอกราชจากอริราชศัตรู เพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ เป็นเครื่องการันตีความสุขใจของประชาชนในการดำเนินชีวิตภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ผู้เปรี่ยมไปด้วยพระบารมีและ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้กับสังคมในยุคนั้น ๆ ด้วย

           ปรากฏร่องรอยของพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ที่เก่าที่สุดในประเทศไทยคือ จารึกปราสาทพนมรุ้ง หลังที่ ๙   ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จังหวัดบุรีรัมย์ จากนี้ก็ปรากฏหลักฐานกระประกอบพิธีตรียัมปวายเรื่องมาตั่งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ โดยได้กำหนดในมณเฑียรบาล เป็นพระราชพิธีสิบสองเดือนสำหรับพระนคร การประกอบพิธีตรียัมปวาย – ตรียัมปวายนั้นสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามสถานการณ์บ้านเมือง และมิได้ถือกำหนดไว้ตายตัว  

               พระราชพิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย  ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งต่อบ้านเมือง, ผู้ปกครอง, ผู้อยู่ภายใต้ปกครอง, ศาสนาพราหมณ์,  คติความเชื่อที่มีต่อความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง   เนื่องจากพระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธีในเดือนอ้ายอันถือเป็นเดือนแรกของปีตามคติพราหมณ์  และเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหาเทพ  ๓  องค์  ซึ่งเป็นที่นับถือสูงสุดของศาสนาพราหมณ์  คือ  พระพรหม  (ผู้สร้าง)  พระนารายณ์  (ผู้ปกปักรักษา)  และพระอิศวร  (ผู้ทำลาย  เพื่อสร้างใหม่) พระราชพิธีนี้เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับการตำนานการสร้างโลกของศาสนาพราหมณ์ตามคติพราหมณ์กล่าวคือ

                เมื่อพระพรหมสร้างโลก  และเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกแล้ว  พระอิศวรทรงทรงเกรงว่าโลกยังไม่แข็งแรงพอ ประสงค์จะตรวจสอบด้วยพระองค์เองว่าโลกที่สร้างขึ้นนั้นแข็งแรงหรือไม่ โดยการเสด็จมายังโลก   เสด็จลงเหยียบโลกด้วยพระบาทเดียว  จากนั้นจึงทรงให้พญานาคอันทรงฤทธิ์ใช้ลำตัวยึดขุนเขาทั้งสองที่คั่นด้วยมหาสมุทร  แล้วไกวตัวเพื่อทดสอบความแข็งแรงของโลก  โล้ยื้อยุดฉุดขุนเขาสองฝั่งมหาสมุทรดู  ผลปรากฏว่าเมื่อพญานาคไกวตัวพระอิศวรยังทรงยืนอยู่ได้ซึ่งแสดงว่าโลกมีความมั่นคงแข็งแรงดี  ยังมีความโสมนัสแก่พระอิศวร  พญานาคทั้งหลายพากันยินดี  ต่างลงสู่สาครใหญ่  เล่นน้ำเฉลิมฉลองเป็นที่สนุกสนาน

                พราหมณ์ได้สร้างเสาชิงช้าขึ้น  โดยสมมุติว่าเสาชิงช้าคือขุนเขาทั้งสอง  แล้วตั้งขันสาครบรรจุน้ำเบื้องหน้าเสาชิงช้าระหว่างกลางเสาทั้งสองแทนมหาสมุทร  มีนาลิวันสวมเครื่องประดับศีรษะรูปพญานาค  สมมุติเป็นตัวแทนพญานาคขึ้นไปโล้กระดานที่ขึงไว้กับเสาชิงช้า  ดุจดังพญานาคกำลังไกวตัวระหว่างขุนเขาทั้งสอง  มีเจ้าพระยาพลเทพ  เป็นพระยายืนชิงช้า  สมมุติว่าคือพระอิศวรเป็นประธานของการโล้ชิงช้า  เมื่อโล้ชิงช้าเสร็จสิ้นและไม่ตกลงมาจากชิงช้า เป็นอันว่า บ้านเมืองที่สมมติแทนโลกมีความมั่นคงสมบูรณ์ เหล่านาลิวันจะทำการรำเสนงรอบขันสาคร โดยผู้ที่รำเสนงถือเขาโควักน้ำจากขันสาครสาดไปรอบๆ  เปรียบเสมือนพญานาคมาแสดงความยินดี  พ่นน้ำถวายพระอิศวร  เหล่าเทพก็มาเข้าเฝ้าพระอิศวร  มีการสร้างแผ่นไม้จำหลักภาพพระแม่ธรณี  พระแม่คงคา  พระอาทิตย์  พระจันทร์  ขุดหลุมปักแผ่นไม้จำหลักสมมุติว่าเทพเหล่านั้นลงมาเฝ้าพระอิศวร

           พิธีตรียัมปวาย - ตรีปวาย  เป็นพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสปีใหม่ของพราหมณ์  โดยถือเอาต้นฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นตามการนับเวลาแบบสุริยคติ  มีการประกอบพิธีสวดอัญเชิญเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์จากสรวงสวรรค์ลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อที่จะได้กระทำการสักการบูชา  เป็นการระลึกถึงพระเมตตาและความสำคัญของเทพที่ได้ช่วยอำนวยพรให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหารแก่มนุษย์  อาจจะถือได้ว่าเป็นพิธีที่ต่อเนื่องมาจากพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งก่อนที่จะมีการเพาะปลูกได้มีการขอพรจากเทพเจ้า  และถือเป็นการขอพรให้บ้านเมืองมีความมั่นคงสถาพรและมีความอุดมสมบูรณ์  เหล่าพราหมณ์ได้ทำการถือพรตสวดบูชาตลอดพิธีด้วย

           พิธีตรียัมปวาย กระทำต้อนรับพระอิศวรที่จะเสด็จจากเขาไกรลาสมาเยือนโลกมนุษย์ปีละครั้ง  ครั้งละ  ๑๐  วัน  คือในวันขึ้น  ๗  ค่ำ  เดือนอ้าย  จนถึงวันแรม  ๑  ค่ำ  ในช่วงที่อยู่บนโลกนั้น  มนุษย์มักนิยมมาขอพรและถวายสิ่งของสักการะ  เพราะถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตน  เป็นโอกาสที่จะได้เข้าเฝ้าเทพเจ้า  ผู้ที่ทูลขอประทานพรและได้รับตามความปรารถนาจะได้แก้บนและรับพรใหม่เป็นประจำทุกปี พราหมณ์จะทำพิธีโล้ชิงช้าถวายต้อนรับพระอิศวร ในตลอดระยะเวลา ๑๐ วันจะมีการอ่านโศลกสรรเสริญถวายข้าวตอกดอกไม้ผลไม้ต่าง ๆ ในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เป็นการสำนึกบุญคุณของพระเจ้าที่ทรงมีพระเมตตากรุณาต่อมมวลมนุษย์ ในวันสุดท้าย พราหมณ์จะประกอบพิธีช้าหงส์เป็นพิธีส่งเสด็จพระอิศวรขึ้นสู่เขาไกรลาส

           พิธีตรีปวาย  เป็นพิธีที่ต่อเนื่องกับพิธีตรียัมปวาย  เป็นการรับพระนารายณ์ที่เสด็จจากเกษียรสมุทรมาให้พรแก่มวลมนุษย์  ในวันแรม  ๑  ค่ำ  เดือนยี่  จนถึงวันแรม  ๕  ค่ำ  เดือนยี่  รวมระยะเวลาที่ประทับอยู่บนโลกมนุษย์เป็นเวลา  ๕  วัน  ตลอด ๕ วันนั้นพราหมณ์จะประกอบพิธีคล้ายกับพิธีตรียัมปวาย ขาดแต่เพียงการโล้ชิงช้าใหญ่และเปลี่ยนบทสวดบางบทเท่านั้น ในวันสุดท้ายจะมีพิธีช้าหงส์ส่งพระนารายณ์

           พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวายในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น ผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายไปตามยุคตามสมัยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งภูมิประเทศ สภาพเศรษฐกิจ การปกครอง ในบทนี้จะกล่าวถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย ของแต่ละยุคสมัย 

 

โดย : วาทิน ศานติ์ สันติ

อ้างอิง

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน.  พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ :แพร่พิทยา. ๒๕๑๔.

ศิลปากร, กรม จารึกในประเทศไทย เล่ม ๑ – ๕. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร. ๒๕๒๙.

บำรุง คำเอก. ายงานการวิจัยเรื่องอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น. ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดีได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและการพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.

ท. กล้วยไม้ ณ อยุธยา, ศาสตราจารย์พิเศษ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. เทวสถานโบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้า. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อัมรินทร์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์.

ชลมารคพิจารณ์, พระยา. พระราชพิธีตรียัมปวาย – ตรีปวาย (จากพระราชพิธี ๑๒ เดือน) พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ ๑. พระนคร : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์. ๒๔๗๗.

ชวิน รังสิพราหมณ์กุล, วามเทพมุนี, พระราชครู. การพิธี – ช้าหงส์. ไม่ปรากฏครั้งที่พิมพ์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ๒๕๐๕.

สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร. จดหมายเหตุบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า พุทธศักราช ๒๕๔๙. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (หนึ่งในกลุ่มบริษัททีม). ๒๕๕๑.

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. “ช้าเจ้าหงส์ ต้นเค้าพิธีโล้ชิงช้าในสยาม.” มติชน, ฉบับที่ ๑๐๖๖๐, ปีที่ ๓๐ (๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐) ๓๔.

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 313620เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท